xs
xsm
sm
md
lg

มองโครงการอวกาศจากยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ของจีน

เผยแพร่:   โดย: อดุลย์ รัตนมั่นเกษม

พลันที่ยานอวกาศเสินโจว 6 ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ก็มีเสียงเรียกร้องจีนให้ใช้ห้วงอวกาศไปในทาง “สันติ” ดังตามขึ้นมาทันทีจากฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ นายเวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนพูดไว้ “อย่างหนักแน่น” ในพิธีปล่อยยานเสินโจว 6 ว่า โครงการอวกาศของจีนจะเป็นการใช้ห้วงอากาศอย่าง “สันติ”

แต่นั่นเป็นน้ำคำอัน “หนักแน่น” ที่เป็นแค่มธุรสาจาทางการทูต
เป็นน้ำคำอัน “หนักแน่น” ที่คนฟังไม่เชื่อ คนพูดเองก็ไม่เชื่อในน้ำคำนั้นเพราะต่างฝ่ายต่างรู้แก่ใจดีว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จีนจะใช้ห้วงอวกาศไปในทางสันติเพียงอย่างเดียว ว่าไปแล้ว มหาอำนาจทุกประเทศต่างก็ใช้ห้วงอวกาศเพื่อการทหารกันทั่วหน้า โดยเฉพาะกองทัพอมเริกันที่พึ่งพาระบบดาวเทียมทหารชนิดถอนตัวไม่ขึ้น

จีนเองก็ไม่เคยปฏิเสธเรื่องการใช้ห้วงอวกาศเพื่อการทหาร ทางฟีนิกส์ทีวีรายงานว่า แหล่งข่าวจากกองบัญชาการใหญ่ยุทโธปกรณ์ (the General Armaments Department) ของจีนเปิดเผยว่า กระทรวงกลาโหมจีนได้เสนอแนวคิดเรื่อง “กองทัพฟ้า” (Heaven Army) ซึ่งได้ระบุชัดไว้ในรายงานศึกษาเรื่องนี้ว่า จีนควรสร้าง “กองทัพฟ้า” หรือกองกำลังอวกาศขึ้นเป็นอิสระจากสามเหล่าทัพที่มีอยู่ในปัจจุบัน

กองบัญชาการแห่งนี้สำคัญอย่างไร
หน่วยงานที่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อ ปี 1998 นี้เป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งในโครงการอวกาศของจีน มีพลเอก เฉากังชวน รัฐมนตรีกลาโหมจีนคนปัจจุบันเป็นผู้บัญชาการ หน้าที่ของหน่วยงานนี้คือรับผิดชอบเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมดของทุกเหล่าทัพของจีน โดยเน้นปรับปรุงกองทัพจีนให้ทันสมัย ซึ่งรวมทั้งโครงการอวกาศของจีนด้วย หน่วยงานนี้จึงเป็นศูนย์รวมเทคโนโลยี วิทยาการความรู้ต่างๆ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญระดับหัวกะทิของจีนในทุกด้าน ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ การสื่อสาร อิเล็กทรอนิก ฟิสิกส์ เคมี ไปจนถึงเรื่องไดนามิกส์ และภูมิอากาศ

จึงเห็นได้ว่า โครงการอวกาศของจีนมีฝ่ายทหารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยตั้งแต่เริ่มแรก ดังนั้น แนวคิดเรื่อง “กองทัพฟ้า” (Heaven Army) ของจีน จึงน่าจับตามองอย่างยิ่ง

กองทัพฟ้ามีหน้าตาอย่างไร
นักวิชาการจากหลายสถาบัน เช่น สถาบันอวกาศจีน มหาวิทยาลัยการอุตสาหกรรมฮาร์บิน และศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิทยาศาสตร์การทหาร ต่างให้ความเห็นเกี่ยวกับกองทัพฟ้าว่า เป็นเหล่าทัพใหม่อิสระ มีภาระกิจสำคัญคือ ทำสงครามอวกาศ ให้การสนับสนุนการรบในภาคพื้นดิน อากาศ และทะเล รวมทั้งการบุกเบิกอวกาศห้วงลึก กองทัพฟ้าจึงต้องมีทหารเหล่าต่างๆประจำการอยู่ด้วยนอกเหนือไปจากกองบัญชาการและสถาบันอวกาศ เช่น กองยานอวกาศ กองกำลังภาคพื้นดิน กองบินอากาศและอวกาศ หน่วยจรวด และหน่วยที่เรียกว่าซี 41 (C-41)

เรื่อง กองทัพฟ้านี้เป็นทั้งแนวคิดและความใฝ่ฝันของนักการทหารและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งของจีน ดังนั้น เสียงเรียกร้องให้จีนใช้ห้วงอวกาศไปในทางสันติ จึงมีมูลความจริงมาจากแนวคิดโครงการอวกาศของฝ่ายจีนเองนั่นแหละ

ในความเป็นจริง จีนคงไม่ยอมลงทุนมหาศาล (ตัวเลขจากฝ่ายสหรัฐฯระบุว่า ปีละราว 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) กับโครงการอวกาศของตน เพียงเพื่อหวังผลประโยชน์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี หรือแม้แต่แค่ทดลองวิทยาศาสตร์อะไรเท่านั้นแน่ การใช้ห้วงอากาศเพื่อการทหาร จักเป็นเรื่องที่จีนให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะเรื่องอย่างนี้ประเทศอื่นๆที่มีขีดความสามารถด้านอวกาศก็ทำกันอยู่แล้ว

แล้วโครงการอวกาศของจีนเกี่ยวข้องอะไรกับยุทธศาสตร์นิวเคลียร์
ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผมขอย้อนเวลากลับไปเมื่อครั้งที่สหรัฐฯทดลองระเบิดปรมาณูลูกแรก ตามมาด้วยรัสเซีย (หรือสหภาพโซเวียตในสมัยนั้น) และแน่นอนว่า จีนตามหลังมาห่างๆ โดยห่างทั้งเทคโนโลยีและระยะเวลา ด้วยแนวคิด “ระเบิดสองลูกกับดาวเทียมหนึ่งดวง” (ระเบิดสองลูกคือ ระเบิดปรมาณูและระเบิดไฮโดรเจน) จีนลงมือสะสมอาวุะนิวเคลียร์ของตนในจำนวนจำกัด เพียงไม่กี่สิบลูก และความจริงก็พิสูจน์แล้ว ระเบิดนิวเคลียร์ไม่กี่สิบลูกนี้ก็มีความหมายต่อความมั่นคงของจีนมากเกินพอ จนพอที่จะส่งให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจหนึ่งที่กำหนดชะตาของโลกได้

แต่ ณ เวลานี้ ระบบอาวุธนิวเคลียร์ของจีนกำลังจะหมดความหมาย เพราะสหรัฐฯได้ทำให้เห็นแล้วว่า ระบบจีพีเอสหรือระบบติดตามค้นหาเป้าหมายทั่วโลก (Global Position System) ของดาวเทียมอเมริกัน และเทคโนโลยีอื่นๆด้านอวกาศ ช่วยให้สหรัฐฯสามารถโจมตีเป้าหมายในอิรักได้อย่างแม่นยำ และไม่ต้องสูญเสียชีวิตทหารมากนัก ระบบจีพีเอสของสหรัฐฯนี่เองที่กระตุ้นให้ยุโรปหันมาพัฒนาโครงการกาลิเลโอซึ่งเป็นระบบติดตามค้นหาเป้าหมายทั่วโลกเหมือนกันของตนบ้าง แถมยังดึงจีนเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
นอกจากนี้ สหรัฐฯยังมีโครงการโล่ป้องกันขีปนาวุธ ทั้งเอ็นเอ็มดีและทีเอ็มดี (National Missile Defense and Tactical Missile Defense) ประธานาธิบดีจอร์จ บุช ของหสรัฐฯก็ยังคงเดินหน้าโครงการสตาร์วอร์เวอร์ชั่นใหม่ต่อจากของอดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกนต่อไป

เทคโนโลยีด้านอวกาศที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วนี่แหละ ที่จะทำให้ระบบอาวุธนิวเคลียร์ของจีนไร้ค่าไปในทันที จีนจึงมองว่าตัวเองจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้เหมือนกัน และน่าเชื่อว่าจีนจะจำกัดโครงการอวกาศของตนให้อยู่ในขอบข่ายที่เหมาะสม ไม่ใหญ่โตเกินไป อาจเพราะจำกัดด้วยงบประมาณและเทคโนโลยี ดังนั้น ข้อสรุปที่ได้จึงเป็นว่า

หนึ่ง จีนจะยังคงเดินหน้าโครงการ “กองทัพฟ้า” ของตนต่อไปภายใต้คำพูดสวยหรูว่า จีนเต็มใจใช้อวกาศอย่างสันติ

สอง เมื่อจีนมียานอวกาศที่ใช้งานได้อย่างแท้จริง ส่งคนขึ้นไปโคจรรอบโลกได้ครั้งละหลายคนและหลายวัน มีสถานีอวกาศของตนเองแล้ว และ “กองทัพฟ้า” ของตนเป็นรูปเป็นร่างแล้วนั่นแหละ จีนก็จะบอกชาวโลกว่า จีนพร้อมจะเจรจาร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อใช้ห้วงอวกาศในทางสันติและป้องกันการแข่งขันด้านการทหารในห้วงอวกาศ
เหมือนเมื่อครั้งที่จีนมีระเบิดปรมาณู ระเบิดโฮโดรเจนและมีเทคโนโลยีจำลองการทดลองระเบิดนิวเคลียร์บนคอมพิวเตอร์ อยู่ในมือแล้ว จีนถึงได้ลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์หรือ NPT นั่นแหละ
กำลังโหลดความคิดเห็น