xs
xsm
sm
md
lg

รากเหง้าเผ่าจีน-ไท

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

ในช่วงเริ่มเขียนเล่าเรื่องวัฒนธรรมจีนในคอลัมน์นี้ ผมเคยเขียนเล่าพัฒนาการของชนชาติจีนไว้อย่างย่อๆ ย่อมากๆ เลย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะทำความเข้าใจได้ดีสักหน่อยต้องอ่านหนังสือเล่มโตๆ หลายเล่ม

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคมนี้ ผมมีรายการอภิปรายเรื่อง “รากเหง้าเผ่าจีน-ไท” ร่วมกับอาจารย์ชลธิรา สัตยาวัฒนา ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ศูนย์สาธร บนตึกธนาคารชั้นแปด งานนี้ยิ่งยุ่งเข้าไปอีก เพราะต้องพูดถึงทั้งรากเหง้าเผ่าจีน และรากเหง้าเผ่าไท ตั้งแต่บ่ายโมงเป็นต้นไป

อันที่จริงผู้ที่ค้นคว้าเขียนเร่องรากเหง้าเผ่าจีนไว้เป็นเล่ม คือคุณอดุลย์ รัตนมั่นเกษม คอลัมนิสต์ข้างๆ ผมนี่แหละ คุณอดุลย์ควรจะเป็นผู้อภิปราย แต่เนื่องจากติดขัดไม่สามารถมาร่วมได้ ผมเลยต้องรับเหมาแทน

แต่ไหนแต่ไรมา คนไทยจะพูดกันว่า ไทจีนพี่น้องกัน ภาษาไท ภาษาจีนใกล้ชิดกันมาก โดยเฉพาะภาษากวางตุ้ง กระทั่งนักภาษาศาสตร์ยังจัดภาษาไทไว้ในตระกูลจีน-ทิเบต

เรื่องไทกับจีนพี่น้องกัน อันนี้จริงครับ ความจริงมนุษย์ทั้งโลกก็พี่น้องกันทั้งนั้นอยู่แล้ว ยิ่งชาวจีนชาวไทมีถิ่นฐานดั้งเดิมใกล้กันอยู่แล้ว สายเลือดสายสัมพันธ์ประสมประสานกันมานานแล้วครับ

แต่เรื่องภาษานี่ เห็นทีจะต้องเปลี่ยนความเข้าใจกันใหม่

ผมอยากจะให้แยกภาษาไทเป็นอีกตระกูลภาษาหนึ่ง ไม่ใช่สังกัดอยู่กับตระกูลภาษาจีน เพราะมันมีความแตกต่างกันอยู่มากด้านไวยากรณ์

จุดที่ตรงกันไม่น้อย คือคำศัพท์ คำศัพท์โบราณของจีนและไทมีที่ตรงกันไม่น้อย ทำให้นึกว่าเป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน

คำศัพท์นั้นแลกเปลี่ยนกันไปมาได้ง่าย อย่างเช่น ในภาษาไทยรุ่นกลาง เต็มไปด้วยคำศัพท์บาลี-สันสกฤต เราจะสรุปว่าภาษาไทอยู่ในตระกูลภาษาสันสกฤตได้หรือ ในภาษาไทยรุ่นนี้ เต็มไปด้วยคำศัพท์ภาษาอังกฤษ แล้วเราจะสรุปว่าภาษาไทยอยู่ในตระกูลภาษาอังกฤษได้หรือ ภาษาเวียดนามมีคำศัพท์หนึ่งในสามส่วนตรงกับภาษาจ้วง-ไท อีกหนึ่งในสามส่วนตรงกับตระกูลภาษามอญเขมร อีกหนึ่งในสามเป็นคำศัพท์ที่รับมาจากศัพท์จีน เลยไม่รู้จะจัดภาษาเวียดไว้ในตระกูลภาษาอะไร

ลองนึกย้อนไปก็จะไม่แปลกใจว่า ในภาษาไทรุ่นเก่าจะเต็มไปด้วยคำศัพท์จีน หรือคำศัพท์ที่ไทกับจีนใช้ร่วมกัน คือไม่รู้ว่าใครใช้ก่อนใคร ใครรับใครไปใช้ ตรงนี้หมายถึงภาษาของชาวจีนแท้ดั้งเดิมนะครับ ถ้าเป็นคำศัพท์พื้นเมืองของชาวจีนภาคใต้ เช่น กวางตุ้ง แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน แล้วละก็ มีคำศัพท์พื้นเมืองที่ตรงกับภาษาไท-จ้วงเป็นอันมาก ทั้งนี้ก็เพราะชาวพื้นเมืองในภาคใต้ของจีนส่วนหนึ่งคือภาคตะวันออกที่ติดกับทะเล (ตั้งแต่เซี่ยงไฮ้ ไล่เรื่อยลงมาเจียงซู ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง ไหหลำ) และยาวขวางมาตั้งแต่กวางตุ้ง กวางสี ยูนนาน ตังเกี๋ย ชนพื้นเมืองแถบนี้ จีนเรียกว่าพวกไป่เยวี่ย-เยวี่ยร้อยจำพวก ชนเผ่าไป่เยวี่ยนี้ ในทางวัฒนธรรมและภาษามีความใกล้ชิดกับวัฒนธรรมและภาษาของชาวจ้วง ชาวไทฯ ที่ใช้ภาษาตระกูลภาษาจ้วง-ไท มากๆ

ภาษาของชาวเยวี่ยมีไวยากรณ์แบบภาษาไทนะครับ ตรงนี้เรารู้เพราะว่าคนจีนจดบันทึกเนื้อเพลงของชาวเยวี่ย (สมัยราชวงศ์ฮั่นตอนต้น) เอาไว้ โดยใช้ภาษาจีนบันทึกการออกเสียงของเพลงเยวี่ยไว้ เพลงนี้เป็นเพลงที่ชาวเยวี่ยร้องเล่นขณะลอยเรือ (ก็ตรงกับวัฒนธรรมของไทยและวัฒนธธรรมของจ้วงที่ชอบร้องเพลงเรือ เพลงเรือของชาวจ้วงนั้นถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเพลงจีนไปแล้ว แม่เพลงชาวจ้วงที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง คือ “หลิวซานเจี่ย” คนไทยรู้จักเธอจากภาพยนตร์ชอว์ บราเดอร์ เรื่อง “เพลงรักชาวเรือ”)

เขียนมาถึงตรงนี้ ท่านอาจจะมีคำถามว่า ทำไมผมใช้ “ไท” บ้าง “ไทย” บ้าง

อธิบายว่าผมใช้คำว่า “ไท” ในความหมายกว้าง หมายรวมเอาชนชาติไท-ไต ทั้งหมด รวมทั้งที่อยู่นอกประเทศไทยด้วย ส่วนคำว่า “ไทย” ผมหมายถึงคนไทย วัฒนธรรมไทยในประเทศไทย

คำศัพท์ของชาวจีนภาคใต้ซึ่งดั้งเดิมเป็นถิ่นฐานของชาวเยวี่ย จึงตรงกับไทหรือใกล้เคียงกับไทมาก

ชาวเยวี่ยที่อยู่ตอนบน คือแถบเซี่ยงไฮ้ ซูโจว เจียงซี เจียงซี มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชนเผ่าในตงง้วนมาตั้งแต่ยุคบรรพกาล ชนเผ่าดั้งเดิมของคนจีนมีชื่อว่า “หัวเซี่ย” เผ่าหัวเซี่ยมีรกรากอยู่ทางตอนบนของลุ่มแม่น้ำเหลือง (ฮวงโห) บรรพชนของเผ่ามีสองสายใหญ่ๆ คือ เผ่าของหวงตี้กับเผ่าของเหยียนตี้ สายของหวงตี้มีอิทธิพลสูงกว่าเหยียนตี้จึงถูกยกย่องเป็นบรรพบุรุษของชาวหัวเซี่ย

ลุ่มแม่น้ำเหลืองตอนใต้และแถบชายทะเลตอนเหนือเซี่ยงไฮ้ขึ้นไปเป็นถิ่นฐานของเผ่าตงอี๋

ชาวหัวเซี่ยขยายอิทธิพลไปทางตะวันออก แล้วค่อยๆ ผนวกเอาเผ่าตงอี๋ รวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหัวเซี่ย จากนั้นก็ขยายอิทธิพลลงทางใต้ อันเป็นถิ่นฐานของพวก “จิงหมาน” และพวก “อู๋-เยวี่ย”

“จิงหมาน” คือพวกที่พัฒนาเป็นแคว้นฉู่ หรือฉ้อ ซึ่งต่อมาถูกผนวกเข้ารวมกับหัวเซี่ย สายที่ไม่ได้รวมกับหัวเซี่ย พัฒนาต่อมาเป็นชาวเย้า ชาวม้ง ชาวเซอ

“อู๋-เยวี่ย” คือพวกที่พัฒนาเป็นแคว้นอู๋ แคว้นเยวี่ย (เรื่องนางไซซี “ไซซี” เป็นคนเยวี่ยไม่ใช่คนหัวเซี่ย) ซึ่งต่อมาถูกผนวกรวมกับหัวเซี่ย สายที่ไม่ได้รวมกับหัวเซี่ย พัฒนาต่อมาเป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาตระกูลภาษาจ้วง-ไท (หรืออาจเรียกให้กว้างขึ้นว่าตระกูลภาษาไท – กะไต) เช่น ชนชาติจ้วง ชนชาติปู้อี (ผู้ญัย) ชนชาติมู่เหล่า ชนชาติเหมาหนาน ชนชาติสุ่ย ชนชาติหลี ชนชาติไต

ชาวเยวี่ยที่อยู่ตอนบน ปฏิสัมพันธ์กับพวกตงอี๋และจิงหนาน ต่อมาก็ได้ปฏิสัมพันธ์กับพวกหัวเซี่ยใกล้ชิดขึ้น มีการถ่ายเทแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันมาก ทำให้ชาวเยวี่ยตอนบนหลอมรวมไปกับกลุ่มหัวเซี่ย กลายเป็นจีนไปก่อนพวกชาวเยวี่ยที่อยู่ใต้ลงมา ชาวเยวี่ยที่อยู่ใต้ลงมาในฮกเกี้ยน กวางตุ้ง ถูกหลอมรวมเป็นจีนในยุคหลังๆ ลงมา ชาวเยวี่ยตอนใต้ลงมายังรักษาความเป็นชนชาติไว้ได้ เช่น จ้วง ต้ง ปู้อี สุ่ย มู่เหล่า เหมาหนาน หลี ไต เวียด เป็นต้น

ชนชาติไทจะเกี่ยวพันกับชาวเยวี่ยตอนบนเพียงใด ผมสรุปเพียงว่า มีวัฒนธรรมดั้งเดิมในยุคสำริด วัฒนธรรมการปลูกข้าว ภาษา ที่พักอาศัย (บ้านมีเสาสูง) ใกล้เคียงกัน แต่จะมีความใกล้ชิดทางสายเลือดอย่างไรหรือไม่ จะบอกว่าชาวเยวี่ยตอนบนเป็นบรรพชนของชนชาติไทหรือไม่ ผมยังไม่อาจสรุปได้ ขอรอให้พบข้อมูลมากกว่านี้ก่อนครับ

อันที่จริงกลุ่ม “ไป่เยวี่ย” นี่ ผมอยากจะนิยามว่ามันเป็นกลุ่มทางวัฒนธรรมมากกว่าจะเป็นกลุ่มของชาติพันธุ์ เพราะนอกจากเรื่องชาวเยวี่ยที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว เรื่องเยวี่ยยังเกี่ยวพันไปถึงชาวเกาะเกือบทั้งหมดในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย ชาวเกาะออสโตรนีเซียนเหล่านี้ มีต้นกำเนิดจากเกาะไต้หวัน กลุ่มต้นตอคือการผสมผสานระหว่างพวกเยวี่ยกับพวกตงอี๋

เรื่อง”รากเหง้าเผ่าจีน-ไท” เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะเขียนในคอลัมน์นี้ ท่านที่สนใจหาอ่านรายละเอียดมากขึ้นได้จากหนังสือ “รากเหง้าเผ่าจีน” เขียนโดยคุณอดุลย์ รัตนมั่นเกษม ตามร้านหนังสือใหญ่ๆ ได้ครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น