xs
xsm
sm
md
lg

ถังไท่จง กับ กระจกสามบาน (3)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ประตูเสวียนอู่ (玄武门) เป็นประตูทางทิศเหนือของพระราชวังไท่จี๋กง คู่กับประตูอานหลี่ (安礼门) ประตูนี้นอกจากจะเป็นประตูหนึ่งที่มีความสำคัญที่สุดในเมืองฉางอาน เนื่องจากเป็นหนึ่งในประตูหลักที่เชื่อมตรงเข้าถึงที่ประทับขององค์ฮ่องเต้แล้ว ประตูเสวียนอู่แห่งนี้ยังมีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงในการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถัง และ ถือเป็นจุดเปลี่ยนในการขึ้นสู่ตำแหน่งบุรุษนาม หลี่ซื่อหมิน (李世民)

หลี่ซื่อหมิน หรือ ที่เรารู้จักกันในนาม ถังไท่จง (唐太宗;ค.ศ.599-649) คือ ฮ่องเต้ผู้ถูกยกย่องว่ายิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์จีน

เรื่องราวเริ่มตั้งแต่ที่ หลี่ยวน (李渊) หรือ ถังเกาจู่ (唐高祖) ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถังมีทายาทที่เกิดจากพระมเหสี 4 คน

คนแรกนาม หลี่เจี้ยนเฉิง (李建成)
คนที่สองนาม หลี่ซื่อหมิน (李世民)
คนที่สามนาม หลี่เสวียนป้า (李玄霸) เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปีดี
คนที่สี่นาม หลี่หยวนจี๋ (李元吉)

หลังจากราชวงศ์สุยสิ้นภายใต้เงื้อมมือของขุนนางตระกูลหลี่นำโดยหลี่ยวน เมื่อตั้งราชวงศ์ถังขึ้นได้สักพักหนึ่งถังเกาจู่ หลี่ยวนที่มีบุตรชายคนโต หลี่เจี้ยนเฉิง เป็นผู้คุมทัพซ้าย และบุตรชายคนรอง หลี่ซื่อหมิน เป็นผู้คุมทัพขวา ก็พระราชทานตำแหน่งให้บุตรทั้งสาม โดยแต่งตั้ง หลี่เจี้ยนเฉิงเป็นรัชทายาท หลี่ซื่อหมินเป็น ฉินอ๋อง (秦王) และหลี่หยวนจี๋เป็นฉีอ๋อง (齐王)

ด้วยความที่ทั้ง หลี่เจี้ยนเฉิงและหลี่ซื่อหมิน ต่างเป็นผู้มีความสามารถ มักใหญ่ใฝ่สูง และต่างก็เปรียบเป็นมือซ้ายและมือขวาช่วยเหลือบิดาให้สามารถครองแผ่นดินได้สำเร็จด้วยกันทั้งคู่ ทำให้เกิดการเขม่นกันขึ้นมาระหว่างพี่-น้องจนกลายเป็น 'ศึกสายเลือด' ในที่สุด

พี่น้อง 3 คนถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายหนึ่ง หลี่หยวนจี๋ก็เข้าข้างพี่ชายคนโตหลี่เจี้ยนเฉิง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง คือ หลี่ซื่อหมินนั้นถูกโดดเดี่ยว

มีนักประวัติศาสตร์จีนวิเคราะห์เอาไว้ว่าสาเหตุที่น้องเล็กหลี่หยวนจี๋ ที่ขึ้นชื่อในวรยุทธ์อันสูงส่งมาเข้ากับหลี่เจี้ยนเฉิงนั้น ประการหนึ่งก็เนื่องมาจาก หลี่หยวนจี๋มองเห็นว่า สติปัญญา ความสามารถและชื่อเสียงของหลี่ซื่อหมินนั้นเหนือกว่าตนมาก หากตนเข้ากับฝ่ายหลี่ซื่อหมิน ถึงแม้จะปราบหลี่เจี้ยนเฉิงได้สำเร็จตนก็ไม่มีวันจะได้ขึ้นเป็นฮ่องเต้ แต่หากตนร่วมมือกับพี่ใหญ่ปะทะกับพี่รอง ในภายภาคหน้าโอกาสขึ้นเป็นฮ่องเต้ของตนน่าจะมีสูงกว่า

ด้านพระบิดา หลี่ยวน เมื่อรับทราบถึงความขัดแย้งระหว่างพี่-น้อง ที่รุนแรงถึงขั้นกลายเป็นศึกสายเลือดเช่นนี้ก็มิอาจเข้าข้างใครได้มากแต่ก็รู้สึกหวั่นพระทัยอยู่เช่นกันว่าหากปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิม คือ บุตรคนโตจะต้องเป็นรัชทายาทเป็นผู้สืบราชวงศ์ ก็กลัวอีกว่า หลี่เจี้ยนเฉิงที่มีนิสัยลุ่มหลงในสุรานารีจะนำพาราชวงศ์ถังของตนไปสู่จุดจบอย่างรวดเร็วดังเช่นราชวงศ์สุยที่ หยางกว่าง (杨广) เล่นละครตบตาพระบิดา ฮ่องเต้สุยเหวินตี้ จนได้ตำแหน่งฮ่องเต้ ดังนั้นพระองค์จึงไม่ได้ออกหน้าห้ามปรามศึกสายเลือดครั้งนี้อย่างโจ่งแจ้งเท่าใดนัก*

กระบวนการรุกไล่ของพี่ใหญ่และน้องเล็ก ต่อพี่รองหลี่ซื่อหมินนั้น มีตั้งแต่การทูลพระบิดาขอกำลังพลของหลี่ซื่อหมินไปออกรบจนไปถึงการร่วมมือกับสนมคนโปรดของพระบิดาใส่ร้ายหลี่ซื่อหมินว่ากำลังคิดไม่ซื่อ วางแผนยึดอำนาจจากพระบิดา

จนกระทั่งวันหนึ่งของเดือน 6 ค.ศ.626 หลี่ซื่อหมินจึงจัดการรุกฆาต ถือโอกาสที่พี่ใหญ่-หลี่เจี้ยนเฉิง และน้องสาม-หลี่หยวนจี๋เดินทางเข้าวัง วางกำลังและมือสังหารซุ่มไว้ที่ประตูเสวียนอู่ จากนั้นจึงลงมือขั้นเด็ดขาดสังหารคนทั้งสองเสีย โดย หลี่ซื่อหมินนั้นเป็นคนยิงธนูสังหารพี่ชายแท้ๆ ของตนเอง ขณะที่ น้องเล็กผู้มีวิทยายุทธ์สูงล้ำนั้นถูกปลิดชีพโดยขุนพลคู่ใจของหลี่ซื่อหมินนามเว่ยฉือจิ้งเต๋อ (尉迟敬德)**

จากนั้นเว่ยฉือจิ้งเต๋อก็เข้ากราบทูลกับองค์ฮ่องเต้ถังเกาจู่ ว่ารัชทายาทหลี่เจี้ยนเฉิง กับองค์ชายหลี่หยวนจี๋นั้นก่อกบฎ แต่ถูกฉินอ๋องหลี่ซื่อหมิน ระแคะระคายเสียก่อนจึงจัดการไปเรียบร้อยแล้ว

ศึกสายเลือดแห่งราชวงศ์ถัง ครั้งนี้มีชื่อเสียงระบือจวบจนปัจจุบัน โดยเป็นที่รู้จักกันในนาม เหตุการณ์ ณ ประตูเสวียนอู่เหมิน (玄武门之变)

เหตุการณ์ที่ประตูเสวียนอู่เหมินนี้เองที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนส่งให้ฮ่องเต้ถังเกาจู่ต้องสละราชสมบัติในที่สุด อันเนื่องมาจากแรงกดดันที่มาจากหลี่ซื่อหมิน โดยในปีต่อมา (ค.ศ.627) ฮ่องเต้ถังเกาจู่ก็สละราชสมบัติ และหลี่ซื่อหมินก็ขึ้นเป็นฮ่องเต้องค์ที่สองแห่งราชวงศ์ถัง นามว่า ถังไท่จง โดยใช้นามรัชสมัยว่า เจินกวน (贞观)

เพราะเหตุอันใดที่ทำให้หลี่ซื่อหมินตัดใจสังหารพี่-น้องร่วมท้องของตนเองได้อย่างไม่ลังเล?

หากกล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เหตุการณ์ความขัดแย้งที่นำมาสู่การฆ่าพี่-ฆ่าน้อง จะว่าไปก็ถือเป็นการฝืนประเพณี ธรรมเนียม และระบบคุณธรรมของสังคมจีนอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะมองผ่านแง่มุมของธรรมเนียมปฏิบัติในการให้บุตรชายคนโตสืบทอดอำนาจและทรัพย์สมบัติของตระกูล หรือ ในเชิงปรัชญาผ่านคำสอนของลัทธิขงจื๊อที่เน้นย้ำให้น้องเคารพต่อพี่ชาย (ที่:悌) ที่มีอาวุโสสูงกว่า อันเป็นสิ่งที่สังคมจีนยึดถือและเคร่งครัดมาจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ผมคงเป็นได้เพียงนกกระจอกที่มิอาจหาญกล้าไปทำความเข้าใจถึงจิตใจของพญาอินทรี อย่าว่าแต่จะรู้ซึ้งไปถึงสถานการณ์ และบ่อเกิดของศึกสายเลือดที่เกิดขึ้น กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตอันห่างไกลเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว

ผมคงได้แต่เพียงตั้งคำถามที่ไม่มีคำตอบที่แท้จริง แต่ก็อาจเป็นด้วยสิ่งนี้นี่เองที่ทำให้ใครต่อใครกล่าวว่า ความเลือนลาง ความที่ไม่มีคำตอบที่แน่ชัดนี่แลที่ทำ ประวัติศาสตร์จึงยังคงมีสเน่ห์ และน่าพิศวงสำหรับคนที่สนใจจะศึกษามัน ......

23 ปีของรัชสมัยเจินกวน ประเทศจีนภายใต้การปกครองของฮ่องเต้ถังไท่จง นับว่า มีความรุ่งเรืองก้าวขึ้นถึงจุดสูงสุดอีกยุคหนึ่ง (โดยในสมัยถังนอกจาก รัชสมัยเจินกวน (贞观之治) ของฮ่องเต้ถังไท่จงแล้วก็ยังมี รัชสมัยไคหยวน (开元盛世) ของฮ่องเต้ถังเสวียนจง (唐玄宗)) ที่ประเทศจีนถือว่า รุ่งเรืองสุดขีดทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม

ทั้งนี้เนื่องจากองค์ถังไท่จงฮ่องเต้แลเห็นว่า หลังจากผ่านช่วงความวุ่นวายในยุคเปลี่ยนราชวงศ์จากสุยมาเป็นถัง ประชาชนได้รับความลำบากอย่างมากและบ้านเมืองก็ทรุดโทรมอย่างหนักจากสงคราม พระองค์จึงปรึกษาหารือกับบรรดาขุนนางเกี่ยวกับความรุ่งเรืองและล่มสลายของราชวงศ์ต่างๆ โดยเฉพาะ การนำเอาความล้มเหลวและความฟอนเฟะของฮ่องเต้สุยหยางตี้แห่งราชวงศ์สุย มาเป็นบทเรียน

ฮ่องเต้ถังไท่จงทรงเปรียบเปรยไว้ว่า แท้จริงแล้วผู้ปกครอง (สมัยนั้นหมายถึง ฮ่องเต้-กษัตริย์) นั้นเป็นเสมือนผู้พึ่งพาประชาชน***

น้ำทำให้เรือลอยขึ้นได้ ก็ย่อมสามารถทำให้เรือจมลงได้เช่นกัน
สุ่ยเหนิงไจ้โจว อี้เหนิงฟู่โจว
水能载舟,亦能覆舟

ทั้งยังเคยตรัสไว้ด้วยว่า

ผู้ปกครองจะต้องมีทั้งคุณธรรมและความสามารถประชาชนจึงจะยอมยกให้เป็นนาย เมื่อใดที่ผู้ปกครองไร้คุณธรรม ขาดความสามารถ ประชาชนก็จะทอดทิ้ง
โหย่วเต้าเจ๋อเหรินทุยเอ๋อเหวยจู่
อู๋เต้าเจ๋อเหรินชี่เอ๋อเหวยย่ง
有道则人推而为主
无道则人弃而为用

นอกจากนี้ ในความเห็นของฮ่องเต้ถังไท่จง ผู้ปกครองที่มีคุณธรรม (有道之君) นั้น จะต้องไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่เพิ่มภาระและลดการเบียดเบียนประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด รวมถึงจะต้องเลือกใช้ขุนนางที่ใจซื่อมือสะอาดมาช่วยปกครองบ้านเมือง

ปรัชญาการปกครองเช่นนี้ในสมัยเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว นับว่าเป็นความคิดที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยส่วนหนึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิขงจื๊อที่เน้น การใช้คุณธรรมในการปกครองประเทศ โดยเมิ่งจื่อ (孟子:หนึ่งในปราชญ์จีนผู้สืบทอดแนวคิดต่อจากขงจื๊อ) มีคำสอนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึง ปรัชญาในการปกครองอันยิ่งใหญ่ระบุว่า

ประชาชนสำคัญที่สุด ประเทศชาติสำคัญรองลงมา ผู้ปกครอง(ฮ่องเต้) สำคัญน้อยที่สุด
หมินเหวยกุ้ย เส้อจี้ชื่อจือ จุนเหวยชิง
民为贵,社稷次之,君为轻****

ปรัชญาในการบริหารแผ่นดินของฮ่องเต้ถังไท่จง ถูกถ่ายทอดลงมาสู่ภาคปฏิบัติอย่างเห็นผลจนกระทั่งมีคำกล่าวว่าในช่วงเวลา 23 ปีของรัชสมัยเจินกวน (ค.ศ.626-649) การเมืองใสสะอาด สังคมมั่นคงปลอดภัย เศรษฐกิจรุ่งเรือง แสนยานุภาพของอาณาจักรแผ่ขยาย (อ่าน : ความรุ่งโรจน์ของศักราชเจินกวนในสมัยถัง ได้จาก ส่วนธารประวัติศาสตร์ มุมจีน ผู้จัดการออนไลน์)

นอกจากปรัชญาและวิธีการ ในการบริหารที่ยึดหลัก "ปกครองแผ่นดินโดยธรรม" แล้วนักประวัติศาสตร์จีนรุ่นต่อๆ มายังวิเคราะห์ถึงเคล็ดลับความสำเร็จในการบริหารราชการแผ่นดินของ ฮ่องเต้ถังไท่จงไว้ด้วยว่ายังมีปัจจัยหลักๆ อีกสองประการด้วยกันคือ

ประการแรก การให้โอกาสและเลือกใช้คนอย่างเหมาะสม ขณะที่ยังเป็นฉินอ๋อง ถังไท่จงได้ ซื้อใจ-รวบรวม บัณฑิตทางบุ๋นเอาไว้มากมาย โดยเปิดหอวรรณกรรมให้บัณฑิตเหล่านี้ได้มาสนทนา-ถกเถียงเรื่องราวต่างๆ กันจนคนเหล่านี้ถูกขนานนามว่า สิบแปดบัณฑิต (十八学士) อย่างเช่น ฝังเสวียนหลิง (房玄龄) ตู้หรูฮุ่ย (杜如晦) บุคคลสองผู้นี้ถือว่าเป็นบัณฑิตคู่กายของถังไท่จงในเวลาต่อมา เป็นต้น

ขณะที่ในเชิงบู๊ ถังไท่จงก็ได้รวบรวมจอมยุทธ์เก่งๆ เข้ามาเป็นพรรคพวกหลายต่อหลายคน อย่างเช่น เว่ยฉือจิ้งเต๋อ (尉迟敬德) ฉินฉง (秦琼 หรืออีกนามหนึ่งคือ ฉินซูเป่า (秦叔宝)) เป็นต้น

สำหรับ เว่ยฉือจิ้งเต๋อ และฉินฉง จอมยุทธ์สองคนนี้นอกจากจะจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะขุนพลเอกของฮ่องเต้ถังไท่จงแล้ว ต่อมายังปรากฎนามในนวนิยายอมตะอย่าง 'ไซอิ๋ว' อีกด้วย โดยในตอนหนึ่งระบุว่า

"ครั้งหนึ่งองค์ฮ่องเต้ถังไท่จงทรงประชวร และทรงพระสุบินไปว่าที่ประตูด้านนอกของตำหนักที่ประทับมีภูติผีมาร้องเรียกโหยหวน จนพระองค์รู้สึกไม่สบายพระทัยอย่างยิ่ง (ต่อมามีการเสริมแต่งเรื่องราวเล่าเพิ่มอีกว่าภูติผีที่ว่าก็ คือพระเชษฐา หลี่เจี้ยนเฉิง และพระอนุชา หลี่หยวนจี๋ ที่ถูกสังหาร ณ ประตูเสวียนอู่ - ผู้เขียน) วันต่อมาเมื่อพระองค์ตรัสเรื่องนี้ให้บรรดาขุนนางทราบ ฉินฉงจึงอาสากับเว่ยฉือจิ้งเต๋อมาเฝ้าประตูพระตำหนักให้พระองค์ โดยหลังจากขุนพลสองคนนี้มาเฝ้าประตูตำหนักให้ฮ่องเต้ก็บรรทมอย่างเป็นสุข อย่างไรก็ตามการเรียกคนทั้งสองมาอยู่เวรยามให้ฮ่องเต้ทุกคืนเป็นเวลาติดต่อกันนั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ฮ่องเต้ถังไท่จงจึงทรงรับสั่งให้ช่างหลวงวาดภาพขุนพลทั้งสองและปิดไว้ที่ประตูตำหนักแทน ..."

ด้วยความนิยมและอิทธิพลของเรื่องไซอิ๋วนี้เองทำให้ตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา ฉินฉง กับ เว่ยฉือจิ้งเต๋อ จึงค่อยๆ เปลี่ยนสถานะกลายเป็น 'เทพผู้คุ้มครองประตู (门神)' สำหรับชาวจีนไปในที่สุด

สำหรับการคัดเลือกคนเข้ามารับใช้พระองค์นั้น ฮ่องเต้ถังไท่จงมีหลักการอันเป็นที่เลื่องลืออยู่ด้วยกัน 4 ประการคือ ไม่จำกัดว่าเขาผู้นั้นจะเกิดที่ใด ไม่จำกัดว่าเขาผู้นั้นจะเกิดในตระกูลเช่นไร ไม่จำกัดว่าเขาผู้นั้นจะเป็นชนเผ่าไหน และไม่จำกัดว่าเขาผู้นั้นจะเคยเป็นศัตรูกับเราหรือไม่

โดยข้อสุดท้าย "ไม่จำกัดว่าเขาผู้นั้นจะเคยเป็นศัตรูกับเราหรือไม่" นั้น สาามารถพิสูจน์ได้จากหลักฐานที่ระบุว่ามีคนเก่งจำนวนมากมายที่แต่เดิมเคยสังกัดอยู่กับศัตรู แต่ในที่สุด หลี่ซื่อหมินก็ไม่คิดแค้นรับเข้ามาเป็นพวก จนในเวลาต่อมาคนเหล่านี้ได้กลายเป็น ขุนนาง-ขุนพลคู่กายพระองค์ ยกตัวอย่างเช่น ฉินฉง โดย ฉินฉง นอกจากเคยรับราชการให้ฮ่องเต้สุย แล้วยังเคยไปเข้าพวกกับ หลี่มี่ (李密) แห่งกองกำลังหว่ากัง (瓦岗) รวมถึงหวังซื่อชง (王世充) อีกด้วย

นอกจากนี้แล้วหนึ่งในจำนวน 'ปรปักษ์' ที่ต่อมากลายเป็น 'มิตร' ที่มีชื่อเสียงที่สุดนั้นก็รวมไปถึง ขุนนางผู้หนึ่งนาม เว่ยเจิง ด้วย

เคล็ดลับในการบริหารราชการแผ่นดินให้ อีกประการหนึ่งของฮ่องเต้ถังไท่จงก็คือ การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น สำหรับขุนนางที่ขึ้นชื่อที่สุดว่าถวายคำแนะนำให้แก่ ถังไท่จงอย่างตรงไปตรงมา ยึดความถูกต้องเป็นหลัก โดยมิได้คิดประจบสอพลอต่อองค์ฮ่องเต้นั้นก็คือ ขุนนางนักคิดและนักประวัติศาสตร์ผู้ทรนงแห่งราชวงศ์ถัง - - - เว่ยเจิง (魏征;ค.ศ.580-643)

เดิมทีเว่ยเจิง เป็นที่ปรึกษาของรัชทายาท หลี่เจี้ยนเฉิง (ก่อนหน้าเคยอยู่กับหลี่มี่ แห่งกองกำลังหว่ากัง เช่นกัน) เมื่อเว่ยเจิงสังเกตเห็นว่า สติปัญญาของหลี่ซื่อหมินนั้นล้ำเลิศทั้งยังเริ่มสะสมกำลังเพื่อมาต่อกรกับรัชทายาท เว่ยเจิงจึงแนะนำให้หลี่เจี้ยนเฉิง วางยุทธศาสตร์จัดการกับหลี่ซื่อหมินอย่างจริงจัง แต่หลี่เจี้ยนเฉิงก็ยังตกลงปลงใจไม่ได้ว่าจะทำเช่นไรดีกับน้องชาย

ในเวลาต่อมา หลังจากเกิดเหตุการณ์ ณ ประตูเสวียนอู่แล้ว เว่ยเจิงจำก็ต้องเข้ามารับใช้รัชทายาทองค์ใหม่ โดยครั้งหนึ่งหลี่ซื่อหมินได้ถามเว่ยเจิงตรงๆ ว่า
"เจ้าส่งเสริมให้พวกข้าพี่น้องต้องรบราฆ่าฟันกันเอง เพราะเหตุใด?"
เมื่อได้ยินเว่ยเจิงคำถามจากรัชทายาทองค์ใหม่ก็ตอบกลับอย่างไม่สะทกสะท้านว่า "หากรัชทายาทองค์ก่อนฟังคำจากเว่ยเจิง พระองค์ก็คงไม่ต้องจบชีวิตดังเช่นวันนี้"

สติปัญญา ความฉลาดเฉลียวและความซื่อตรงเช่นนี้นี่เองทำให้ หลี่ซื่อหมินถูกพระทัยในสติปัญญาของเว่ยเจิงเป็นอย่างมาก โดยหลังจากที่ครองราชย์แล้วโดยโปรดเกล้าฯ ให้เว่ยเจิงเป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด

ครั้งหนึ่งเมื่อฮ่องเต้ถังไท่จง ตรัสถามว่า ข้าจะแยกแยะถูก-ผิดได้อย่างไร เพื่อไม่ให้ถูกหลอก เว่ยเจิงจึงตอบว่า

ฟังรอบด้านย่อมพบความจริง ฟังด้านเดียวกลับกลายโง่งม
เจียนทิงเจ๋อหมิง เพียนซิ่นเจ๋ออ้าน
兼听则明,偏信则暗

ความหมายของเว่ยเจิงก็ คือ เป็นผู้ปกครองต้องเปิดใจรับฟังความเห็นที่หลากหลาย ทุกด้าน จึงจะเข้าใจความเป็นจริงของเรื่องราว และทำการตัดสินใจที่ถูกต้อง แต่หากฟังความเพียงข้างเดียว ฟังแต่ข้อความที่ไพเราะเสนาะหู ย่อมทำให้ป้ำๆ เป๋อๆ นับวันยิ่งเลอะเลือน ส่งผลให้ได้ข้อสรุปที่ผิดพลาด การตัดสินใจก็ผิดพลาด

อย่างไรก็ตามในระหว่างถวายคำแนะนำด้วยความตรงไปตรงมาของเว่ยเจิง ความที่ไม่ยอมโอนอ่อนตามพระราชประสงค์ ทั้งยังมักจะเสนอความเห็นที่ไม่ค่อยจะเห็นแก่พระพักตร์เจ้าแผ่นดิน จนถึงขั้นหลู่พระเกียรติ ทำให้หลายต่อหลายครั้ง องค์ฮ่องเต้ถังไท่จงเกือบจะลงโทษเว่ยเจิงถึงชีวิตอยู่แล้ว แต่ยังดีที่พระมเหสีขององค์ถังไท่จงนั้นเป็นสตรีที่เข้าอกเข้าใจและหวังดีต่อบ้านเมือง จึงช่วยทัดทานเอาไว้ได้

มีสถิติบันทึกไว้ว่าในช่วงที่รับใช้ฮ่องเต้ถังไท่จง เว่ยเจิงเสนอความคิดเห็นคัดค้านมากมายหลายร้อยเรื่อง โดยแต่ละเรื่องล้วนเป็นคุณประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองและองค์ฮ่องเต้อย่างมหาศาล ขณะที่หลายเรื่องก็เป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่เว่ยเจิงยินยอมแม้แต่จะเอาศีรษะของตนเองเข้าแลก

เมื่อเว่ยเจิงเสียชีวิตลงในปี ค.ศ.643 องค์ฮ่องเต้ถังไท่จง เสียพระทัยอย่างมาก จนถึงกับรับสั่งว่า

หากนำทองแดงมาส่องเป็นกระจก ก็จะสามารถจัดแจงเครื่องแต่งกายให้เป็นระเบียบได้
หากนำอดีตมาส่องเป็นกระจก ก็จะรับรู้ได้ถึงความรุ่งเรืองและล่มสลายของยุคสมัย
หากนำคนมาส่องเป็นกระจก ก็จะทราบถึงความสำเร็จและความผิดพลาด
ข้ามักจะใช้กระจกสามบานนี้เพื่อป้องกันความผิดพลาดของข้า
วันนี้เมื่อเว่ยเจิงตายไป ข้าก็เหมือนขาดกระจกไปบานหนึ่ง
以铜为镜,可以正衣冠
以古为镜,可以见兴替
以人为镜,可以明得失
朕常保此三镜,以防己过
今魏征殂逝,遂亡一镜矣!*****

ผมเงยหน้าแหงนมองท้องฟ้า หวนนึกไปถึงบ้านเกิด ...

"ณ เวลานี้แผ่นดินที่ผมถือกำเนิด เติบใหญ่ ผูกพัน และถือว่าเป็นบ้านหลังแรกและหลังเดียวในชีวิต สถานการณ์บ้านเมืองกำลังสับสนวุ่นวาย หากผู้ปกครองบ้านเมืองเห็นคุณค่าของกระจกบานที่สอง และ กระจกบานที่สามมากกว่านี้ ...... ก็คงจะดี" ผมนึกในใจ

อ่านเพิ่มเติม : เรื่องราวเกี่ยวกับถังไท่จงฮ่องเต้เป็นภาษาไทยได้ที่
- ถังไท่จงมหาราช 唐太宗 โดย สุขสันต์ วิเวกเมธากร จากคอลัมน์โต๊ะจีน ทางมุมจีน เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
- ถังไท่จง(ค.ศ. 599 - 649) โดย สุขสันต์ วิเวกเมธากร จากนิตยสาร Corporate Thailand

อ้างอิงจาก :
*หนังสือ 陕西历史百谜 หน้า 155-159
**หนังสือ 中国名人百传 (上) : สำนักพิมพ์ 北京出版社 ค.ศ.2004
***หนังสือประวัติศาสตร์จีนยุคเก่า (中国古代史) โดยกัวเผิง (郭鹏) สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง หน้า 162-164
****《孟子·尽心下》
*****อ้างอิงแล้วจาก*** และ เลคเชอร์วิชาประวัติศาสตร์จีนโบราณ ภาคการศึกษาฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ.2005 โดย ดร.หวงจิ้ง (黄静) มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง






กำลังโหลดความคิดเห็น