xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ ‘เสินโจว 6’ ฟื้นชีพธุรกิจอวกาศจีน ลูกค้ามั่นใจหันจ้างมังกรยิงดาวเทียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไชน่าอิโคโนมิกเน็ต17/10/05-ผู้เชี่ยวชาญจีนชี้ความสำเร็จของการส่งเสินโจว 5 และเสินโจว 6 สู่อวกาศโดยจรวดขนส่งตระกูลลองมาร์ช จะช่วยฟื้นฟูธุรกิจการยิงดาวเทียมของจีนที่ซบเซามานาน 6 ปี แต่จีนจะต้องเผชิญกับคู่แข่งขันที่น่ากลัว เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งมุ่งมั่นที่จะเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจดังกล่าวที่คาดว่าจะขยายตัวถึง 200,000-300,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2010

“ความสำเร็จของการส่งยานอวกาศเสินโจว 5 และเสินโจว 6 ขึ้นไปโคจรรอบโลก เป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจการส่งดาวเทียมเชิงพาณิชย์ของจีน” หลิวฉุนจื้อ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอวกาศจีนกล่าว พร้อมเน้นว่า “การส่งเสินโจว 6 มีความหมายในเชิงพาณิชย์อย่างมาก เนื่องจากช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของการยิงดาวเทียมเชิงพาณิชย์ของจีน”

หลิวกล่าวว่า การส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศเป็นธุรกิจยุทธศาสตร์ในการทำตลาดอวกาศเชิงพาณิชย์ที่จีนกำลังบุกเบิกอยู่ในขณะนี้ ซึ่งยังต้องฝ่าฟันอุปสรรคอีกมาก

เมื่อปี 1990 จีนเข้าสู่ตลาดอวกาศเชิงพาณิชย์ของโลกอย่างเป็นทางการด้วยการยิงดาวเทียม “เอเชียแซท 1” ขึ้นสู่ท้องฟ้า หลังจากนั้นมา ด้วยข้อได้เปรียบด้านราคาและมีความปลอดภัย จีนให้บริการยิงดาวเทียมรวม 29 ดวง และครองส่วนแบ่งตลาดโลกอยู่ราว 9% กลายเป็นประเทศผู้ผลิตจรวดขนส่งใหญ่อันดับ 3 ของโลก

แต่เมื่อถึงปี 1996 เกิดความผิดพลาดติดต่อกันถึง 2 ครั้งขณะยิงดาวเทียม ทำให้ลูกค้าสูญเสียความมั่นใจต่อคุณภาพของบริการจีน นับเป็นยุคมืดของตลาดอวกาศเชิงพาณิชย์แดนมังกร โดยเฉพาะหลังจากปี 1999 ที่สหรัฐฯ สั่งห้ามดาวเทียมของสหรัฐฯ หรือดาวเทียมที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนจากสหรัฐฯ ใช้บริการจรวดขนส่งในตระกูลลองมาร์ช หรือฉางเจิง ของจีน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนแดนมังกรได้เรียกความมั่นใจกลับคืนมาอีกครั้งโดยการส่ง “เอเชียแซท 6” สู่วงโคจรเมื่อเดือนเมษายน ปีนี้

“ประเทศจีนกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูตลาด จำเป็นต้องมีการฝ่าทะลุเป็นครั้งที่ 2” รศ. เฉินจื้อหลุน แห่งมหาวิทยาลัยการบินการอวกาศปักกิ่ง กล่าวไว้ และเขาเชื่อว่า ความสำเร็จของเสินโจว 5 และเสินโจว 6 จะเป็นจุดหักเหของการฝ่าทะลุครั้งที่ 2 ได้เป็นอย่างดี

สื่อจีนระบุว่า จรวดลองมาร์ชรุ่น 2 เอฟ ที่นำพาเสินโจว 5 และเสินโจว 6 ทะยานสู่ห้วงอวกาศมีความน่าเชื่อถือด้านความปลอดภัยมากถึง 97% และ 99.7% ตามลำดับ ซึ่งได้ช่วยฟื้นฟูความไว้วางใจแก่ลูกค้า นอกจากนี้ แม้ว่าสหรัฐฯ ยังไม่ยกเลิกคำสั่งห้ามใช้จรวดขนส่งสายพันธุ์มังกร แต่หลังจากความสำเร็จของปฏิบัติการทางอวกาศ 2 ครั้งหลังของจีน ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการดาวเทียมในสหรัฐได้เริ่มเรียกร้องให้รัฐบาลอินทรีผ่อนปรนคำสั่งดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สื่อจีนได้ชี้ว่า แม้ว่าจีนจะได้หวนกลับสู่วงการอวกาศเชิงพาณิชย์อีกครั้ง แต่ 6 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ตลาดได้เปลี่ยนไปแล้ว จากเดิมในช่วงทศวรรษ 90 มีเพียง สหรัฐฯ รัสเซีย ยุโรป และจีน เท่านั้นที่มีศักยภาพในตลาดดังกล่าว แต่ในปัจจุบัน คู่แข่งที่มีศักยภาพใหม่ๆ ได้เพิ่มจำนวนขึ้น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และบราซิล โดยเฉพาะเพื่อนบ้านอย่าง ญี่ปุ่น มีเป้าหมายที่จะบุกเบิกตลาดด้านนี้อย่างจริงจัง ถึงกับรวมหน่วยงานด้านอวกาศ 3 แห่ง ก่อตั้งเป็นสำนักงานสำรวจอวกาศแห่งชาติญี่ปุ่นในปีที่แล้ว

ในปัจจุบันมูลค่าโดยรวมของตลาดอวกาศเชิงพาณิชย์ทั่วโลกสูงเกินกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตราวปีละ 10% ตามรายงานขององค์การนาซาแห่งสหรัฐฯ ระบุว่าในปี 1996 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้านอวกาศทั่วโลกได้สร้างผลกำไรสูงราว 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2000 ตัวเลขดังกล่าวได้ไต่ขึ้นเป็น 125,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อถึงปี 2010 คาดว่ารายได้จากกิจกรรมด้านอวกาศเชิงพาณิชย์จะขยายถึง 500,000-600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในจำนวนนี้ ธุรกิจการยิงดาวเทียมจะขยายตัวเป็น 200,000-300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนรายงานอีกฉบับชี้ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดว่าทั่วโลกจะมีการยิงดาวเทียมอีกราว 1,000 ดวง ซึ่งสัดส่วนของดาวเทียมเชิงพาณิชย์มีราว 70% ดังนั้น ประเทศที่มีศักยภาพเท่านั้นจึงจะครอบครองส่วนแบ่งของเค้กก้อนนี้ได้

ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอวกาศซื่อชวน (เสฉวน) ได้แสดงความเห็นว่า เส้นทางที่อุตสาหกรรมอวกาศของจีนจะพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์อย่างเต็มตัวยังอีกยาวไกล เนื่องจากขอบเขตของธุรกิจอวกาศเชิงพาณิชย์ นอกจากให้บริการยิงดาวเทียมที่จีนเชี่ยวชาญแล้ว ยังครอบคลุมถึง การสร้างดาวเทียม บริการสนับสนุนสังเกตการณ์และควบคุมภาคพื้นดิน ซึ่งจีนยังไม่มีประสบการณ์นัก.

ติดตามโครงการอวกาศจีน คลิก


กำลังโหลดความคิดเห็น