เอเอฟพี - ในท่ามกลางแรงกดดันอย่างดุเดือดจากสหรัฐฯ ที่ต้องการให้แดนมังกรรวบรัดรีบเร่งลอยตัวค่าเงินหยวน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีหัวหอกฟากฝั่งธุรกิจ 40 กลุ่มอเมริกันชน รวมตัวเรียกร้องต่อสภาคองเกรส ให้เร่งออกกฎหมายปะยี่ห้อตราหน้าจีน ว่าเป็นนักปั่นค่าเงิน จีนยังได้อังกฤษมาช่วยผ่อนกระแสกดดันอันเชี่ยวกราก ทั้งนี้ รมว.คลังแดนผู้ดีออกโรงแสดงจุดยืน สนับสนุนจีนปรับระบบแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวนอย่างค่อยเป็นค่อยไป
กอร์ดอน บราวน์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอังกฤษกล่าววันนี้ (14) ในงานแถลงข่าวร่วมกับรัฐมนตรีคลังจินเหรินฉิ่ง ของจีนที่กรุงปักกิ่งว่า "อังกฤษรู้สึกยินดีกับความก้าวหน้าในการปรับเปลี่ยนระบบแลกเปลี่ยนเงินตราของจีนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และได้ทราบมาจากท่านรัฐมนตรีว่า รัฐบาลจีนมีความตั้งใจที่จะให้มีความเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้นในขั้นตอนต่อๆ ไป"
ขุนคลังแดนผู้ดีระบุด้วยว่า อังกฤษเชื่อว่าการเกลี้ยกล่อมกันเงียบๆ ไม่โฉ่งฉ่าง น่าจะส่งผลกระทบต่อบรรดาผู้กำหนดนโยบายของจีนได้ดีมากกว่าวิธีการเรียกร้องโวยวายเป็นครั้งคราวของทางสหรัฐฯ
ทั้งนี้ จีนได้ประกาศยกเลิกการตรึงค่าเงินไว้กับสกุลเงินดอลลาร์ โดยปรับให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้น 2.1% อยู่ที่อัตรา 8.11 หยวนต่อดอลลาร์ และหันไปใช้ระบบลอยค่าเงินแบบมีการจัดการอย่างเข้มงวด เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ทว่า นับจากนั้นเป็นต้นมา จีนกลับยอมให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นได้เพียง 0.27% ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเคลื่อนไหวที่ระดับเพียงดอลลาร์ละ 8.0885 หยวนเท่านั้น ทั้งๆ ที่ในทางทฤษฎี ระบบการแลกเปลี่ยนใหม่นี้เปิดช่องให้ค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์เปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้มากที่สุดวันละ 0.3% ก็ตาม
รมว.จินเหรินฉิ่งกล่าวว่า "จีนได้มีย่างก้าวที่สำคัญมากๆ ออกมาแล้ว และจะเคลื่อนขึ้นหน้าต่อไปทีละขั้นทีละตอน" พร้อมเสริมว่า "เราหวังที่จะมีกลไกลอยค่าเงินแบบมีการจัดการ ซึ่งอิงอยู่บนพลังทางการตลาด และจะดูแลให้เงินหยวนมีเสถียรภาพโดยพื้นฐาน ณ ระดับที่สมเหตุผล และมีสมดุล"

อย่างไรก็ตาม เมื่อหนึ่งวันก่อนหน้า ขุนคลังจีนเพิ่งยืนยันว่า จีนเป็นผู้เดียวที่สามารถสั่งการให้แก่จังหวะก้าวของการปฏิรูปค่าเงิน โดยจีนจะให้การณ์ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับผลประโยชน์ของจีน
ภาคธุรกิจสหรัฐฯ รวมตัวชี้ จีนปั่นค่าเงิน
อีกด้านหนึ่งเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา (13) ผู้ประกอบการอเมริกันในภาคการผลิต เกษตรกรรม รวมไปถึงกลุ่มขาใหญ่ด้านแรงงานสายๆ รวม 40 กลุ่ม ประสานกำลังกันเรียกร้องต่อรัฐสภาให้เดินหน้าการตรากฎหมาย "พ.ร.บ.ค่าเงินจีน" ซึ่งจะมีการชี้ชัดลงเลยว่า จีนกระทำการอันเป็นการปั่นราคาค่าเงิน อีกทั้งจะส่งผลให้มีการจัดชั้นขึ้นมาว่านั่นเป็นการอุดหนุนภาคส่งออกซึ่งเป็นเรื่องต้องห้าม โดยให้ถือเป็นมาตรการไม้โหดเพื่อต่อต้านรัฐบาลปักกิ่งซึ่งยังใช้นโยบายที่ฝ่ายอเมริกาเรียกว่า เงินหยวนมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลของประธานาธิบดีบุช กล่าวโทษจีนเกี่ยวกับการปั่นค่าเงินนี้ ในรายงานรายครึ่งปีฉบับล่าสุดของกระทรวงการคลังที่มีกำหนดเผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยเนื้อหาของรายงานนี้จะเป็นการรายงานว่า มีชาติใดบ้างที่ปั่นราคาสกุลเงินเพื่อใช้เป็นข้อได้เปรียบทางการค้า
เดวิด ฮาร์ตควิสต์ ทนายความด้านการค้าระหว่างประเทศ และโฆษกของกลุ่มเผยว่า ขณะนี้ มีนักการเมืองฝั่งรีพับลิกันที่ให้การสนับสนุนแผนการตรากฎหมาย "ไชนีส เคอเรนซี่ แอค" นี้มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ ริชาร์ด ทรัมก้า เลขาธิการ-เหรัญญิก ของเอเอฟแอล-ซีไอโอ สหพันธ์แรงงานที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา กล่าวว่า กฎหมายนี้จะเป็นเครื่องมือที่ถูกต้องตามกฎขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นให้กับบรรดาผู้ผลิตและผู้บริหารในรัฐบาล เพื่อต่อสู้กับการปั่นค่าเงินตราอย่างผิดกฎหมายของจีน
กอร์ดอน บราวน์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอังกฤษกล่าววันนี้ (14) ในงานแถลงข่าวร่วมกับรัฐมนตรีคลังจินเหรินฉิ่ง ของจีนที่กรุงปักกิ่งว่า "อังกฤษรู้สึกยินดีกับความก้าวหน้าในการปรับเปลี่ยนระบบแลกเปลี่ยนเงินตราของจีนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และได้ทราบมาจากท่านรัฐมนตรีว่า รัฐบาลจีนมีความตั้งใจที่จะให้มีความเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้นในขั้นตอนต่อๆ ไป"
ขุนคลังแดนผู้ดีระบุด้วยว่า อังกฤษเชื่อว่าการเกลี้ยกล่อมกันเงียบๆ ไม่โฉ่งฉ่าง น่าจะส่งผลกระทบต่อบรรดาผู้กำหนดนโยบายของจีนได้ดีมากกว่าวิธีการเรียกร้องโวยวายเป็นครั้งคราวของทางสหรัฐฯ
ทั้งนี้ จีนได้ประกาศยกเลิกการตรึงค่าเงินไว้กับสกุลเงินดอลลาร์ โดยปรับให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้น 2.1% อยู่ที่อัตรา 8.11 หยวนต่อดอลลาร์ และหันไปใช้ระบบลอยค่าเงินแบบมีการจัดการอย่างเข้มงวด เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ทว่า นับจากนั้นเป็นต้นมา จีนกลับยอมให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นได้เพียง 0.27% ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเคลื่อนไหวที่ระดับเพียงดอลลาร์ละ 8.0885 หยวนเท่านั้น ทั้งๆ ที่ในทางทฤษฎี ระบบการแลกเปลี่ยนใหม่นี้เปิดช่องให้ค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์เปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้มากที่สุดวันละ 0.3% ก็ตาม
รมว.จินเหรินฉิ่งกล่าวว่า "จีนได้มีย่างก้าวที่สำคัญมากๆ ออกมาแล้ว และจะเคลื่อนขึ้นหน้าต่อไปทีละขั้นทีละตอน" พร้อมเสริมว่า "เราหวังที่จะมีกลไกลอยค่าเงินแบบมีการจัดการ ซึ่งอิงอยู่บนพลังทางการตลาด และจะดูแลให้เงินหยวนมีเสถียรภาพโดยพื้นฐาน ณ ระดับที่สมเหตุผล และมีสมดุล"
อย่างไรก็ตาม เมื่อหนึ่งวันก่อนหน้า ขุนคลังจีนเพิ่งยืนยันว่า จีนเป็นผู้เดียวที่สามารถสั่งการให้แก่จังหวะก้าวของการปฏิรูปค่าเงิน โดยจีนจะให้การณ์ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับผลประโยชน์ของจีน
ภาคธุรกิจสหรัฐฯ รวมตัวชี้ จีนปั่นค่าเงิน
อีกด้านหนึ่งเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา (13) ผู้ประกอบการอเมริกันในภาคการผลิต เกษตรกรรม รวมไปถึงกลุ่มขาใหญ่ด้านแรงงานสายๆ รวม 40 กลุ่ม ประสานกำลังกันเรียกร้องต่อรัฐสภาให้เดินหน้าการตรากฎหมาย "พ.ร.บ.ค่าเงินจีน" ซึ่งจะมีการชี้ชัดลงเลยว่า จีนกระทำการอันเป็นการปั่นราคาค่าเงิน อีกทั้งจะส่งผลให้มีการจัดชั้นขึ้นมาว่านั่นเป็นการอุดหนุนภาคส่งออกซึ่งเป็นเรื่องต้องห้าม โดยให้ถือเป็นมาตรการไม้โหดเพื่อต่อต้านรัฐบาลปักกิ่งซึ่งยังใช้นโยบายที่ฝ่ายอเมริกาเรียกว่า เงินหยวนมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลของประธานาธิบดีบุช กล่าวโทษจีนเกี่ยวกับการปั่นค่าเงินนี้ ในรายงานรายครึ่งปีฉบับล่าสุดของกระทรวงการคลังที่มีกำหนดเผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยเนื้อหาของรายงานนี้จะเป็นการรายงานว่า มีชาติใดบ้างที่ปั่นราคาสกุลเงินเพื่อใช้เป็นข้อได้เปรียบทางการค้า
เดวิด ฮาร์ตควิสต์ ทนายความด้านการค้าระหว่างประเทศ และโฆษกของกลุ่มเผยว่า ขณะนี้ มีนักการเมืองฝั่งรีพับลิกันที่ให้การสนับสนุนแผนการตรากฎหมาย "ไชนีส เคอเรนซี่ แอค" นี้มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ ริชาร์ด ทรัมก้า เลขาธิการ-เหรัญญิก ของเอเอฟแอล-ซีไอโอ สหพันธ์แรงงานที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา กล่าวว่า กฎหมายนี้จะเป็นเครื่องมือที่ถูกต้องตามกฎขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นให้กับบรรดาผู้ผลิตและผู้บริหารในรัฐบาล เพื่อต่อสู้กับการปั่นค่าเงินตราอย่างผิดกฎหมายของจีน