xs
xsm
sm
md
lg

สบตา 'ซีอาน' เหลียวมอง 'ฉางอาน' (2)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


หลังจากเหม่อมองกำแพงใหญ่อยู่ได้สักพัก ผมก็แวะที่แผงหนังสือ กวาดสายตาหาอาวุธคู่กายของนักท่องเที่ยวทุกคน "แผนที่"

การเดินทางแบบอิสระ ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะที่ใดหลีกหนีไม่พ้นสิ่งที่เรียกว่า "แผนที่" ตัวผมเองแต่ไหนแต่ไรแม้จะไม่ค่อยประสีประสาอะไรนักกับการดูแผนที่เพื่อการท่องเที่ยว แต่เมื่อเดินทางบ่อยเข้าๆ ก็เริ่มเรียนรู้ทีละนิดๆ ว่า ไอ้แผนที่นี่แหละคือ เครื่องช่วยชีวิตชั้นดีของเรานี่เอง

เช่นเดียวกับการรบทัพจับศึก หากวางแผนมาดี เตรียมตัวมาดี มีแผนที่ดี ก็จะได้ความรู้และความสำราญอันเป็นจุดหมายสูงสุดในการท่องเที่ยวตามเป้าประสงค์

ผมเลือกโรงแรมเล็กๆ ราคาย่อมเยา บริเวณหอระฆังย่านใจกลางเมืองเพื่อฝากกระเป๋าเป้ ก่อนหิ้วกล้องออกสำรวจเมืองที่รำลือกันว่ามีร่องรอยประวัติศาสตร์จารึกอยู่แทบทุกซอกทุกมุม ขุดตรงไหนก็เจอของเก่า เหยียบตรงไหนก็มีเรื่องเล่า ...... ฟังแล้วน่าตื่นเต้นชะมัด!!!

จะไม่ให้เมืองแห่งนี้มีร่องรอยจารึกทางประวัติศาสตร์มากมายได้อย่างไร อย่างที่ว่า ซีอานเป็นเมืองหลวงของประเทศจีนเกือบ 1,200 ปี หรือเอาตัวเลขแม่นๆ ขึ้นมาหน่อยก็ 1,140 ปี 13 ราชวงศ์ (มีบางตำราระบุว่า 12 บ้าง 14 บ้าง หรือ 17 บ้าง แต่ที่ยอมรับกันโดยทั่วไปก็คือ 13 ราชวงศ์) ประกอบไปด้วย โจวตะวันตก ฉิน ฮั่นตะวันตก ซินหม่าง (新莽;รอยต่อของยุคฮั่นตะวันตกกับฮั่นตะวันออก สถาปนาขึ้นโดยหวังหม่าง) ฮั่นตะวันออก (ในสมัยพระเจ้าฮั่นเสี้ยนตี้(汉献帝)) จิ้นตะวันตก เฉียนเจ้า เฉียนฉิน โฮ่วฉิน เว่ยตะวันตก โจวเหนือ สุย และ ถัง*

ในจำนวน 13 ราชวงศ์นี้ ราชวงศ์ที่ยังเหลือร่องรอยจารึกไว้ในเมืองซีอานมากที่สุดก็คือ 'ถัง' เพราะ เมืองซีอานในปัจจุบันนั้นสร้างทับอยู่บนเมืองฉางอานของสมัยราชวงศ์ถัง ขณะที่เสียนหยาง (ฉิน) และ ฉางอาน (ฮั่น) นั้นอยู่นอกบริเวณเมืองออกไป

อย่างที่กล่าว เนื่องจากในสมัยถัง นครฉางอานถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกในสมัยนั้น มีประชากรพลุกพล่าน ชาวต่างชาติจากทุกสารทิศ ทั้งตะวันออกกลาง จากยุโรปเดินทางเข้ามาสานสัมพันธ์ทางการทูต ทำการค้า มีบัณฑิตจากญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม (ในปัจจุบัน) เข้ามาศึกษาวิทยาการที่ล้ำหน้าในด้านต่างๆ รวมถึงการสอบจอหงวนเข้ารับราชการด้วย ร่ำลือกันว่าเพียงแค่ชาวต่างชาติที่เดินทางมาพักอาศัยอยู่ในฉางอานก็มีจำนวนมากถึงหมื่นหลังคาเรือน ส่งให้การออกแบบผังเมืองและการจัดการของนครฉางอานมีความอลังการและความทันสมัยที่สุดในโลกในเวลานั้น**

ลองจินตนาการดูสิครับว่า ในสมัยเมื่อพันกว่าปีที่แล้วการออกแบบและสร้างเมืองให้สามารถมีผู้อยู่อาศัยได้ล้านคนนั้นต้องใช้วิทยาการและความรู้ที่ล้ำหน้าขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรื่องประปา ระบายน้ำ กำจัดของเสีย คมนาคม การวางผังแบ่งเขตที่อยู่อาศัย เขตพระราชวัง เขตการค้า เขตศาสนสถาน ฯลฯ

ร่ำลือกันว่าในสมัยถัง ภายในกำแพงเมืองฉางอานซึ่งมีความยาวโดยรอบ 36.7 กิโลเมตร นั้นมีพื้นที่ราว 84 ตารางกิโลเมตร สามารถบรรจุประชากรได้ถึงหนึ่งล้านคน ถนนจูเชี่ยว์เหมิน (朱雀门) ถนนสายกลางเส้นหลักที่ทอดตัวสู่พระราชวังไท่จี๋กง (太极宫) ก็มีความกว้างกว่า 150 เมตร หรือเรียกได้ว่ากว้างกว่าถนนฉางอานบริเวณหน้าพระราชวังต้องห้ามที่กรุงปักกิ่งในปัจจุบันถึง 2 เท่า***

จากประตูหมิงเต๋อเหมิน (明德门) ประตูเมืองด้านทิศใต้ จรดประตูจูเชี่ยว์เหมินที่เป็นประตูสู่เขตพระราชวังที่ประทับขององค์ฮ่องเต้ซึ่งอยู่ตอนเหนือของเมือง ถนนจูเชี่ยว์เหมินแบ่งนครฉางอานออกเป็นสองส่วน ด้านตะวันออกและด้านตะวันตก (ดูแผนที่ : 'นครฉางอาน ในสมัยราชวงศ์ถัง' ด้านซ้ายประกอบ)

ด้านตะวันออกและด้านตะวันตกต่างก็มีการตัดถนนพาดผ่านเป็นเส้นตรง ทิศเหนือ-ใต้ 11 สาย (รวมถนนจูเชี่ยว์เหมิน) และทิศตะวันออก-ตะวันตก อีก 14 สาย ทำให้ในแต่ละด้านมีกลุ่มอาคารอยู่ด้านละ 55 กลุ่ม/ช่วงตึก (รวมสองด้าน 110 สิบกลุ่ม) ส่วนกำแพงเมืองทั้งสี่ด้านนั้นมีประตูเมืองอยู่ด้านละ 3 ประตู (รวม 12 ประตู)

จากแผนที่จะเห็นถึงความอัจฉริยะของสถาปนิกจีนในยุคโบราณสมัยพันกว่าปีที่ โดยนอกจากจะวางผังแบ่งเมืองออกได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ยังสามารถใช้ประโยชน์จากลักษณะทางภูมิศาสตร์ได้อย่างชาญฉลาด คือ แต่เดิมพื้นที่บริเวณนครฉางอานนี้จะลาดลงจากพื้นที่สูงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มายังพื้นที่ซึ่งต่ำกว่าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เขาก็ใช้วิธีดึงน้ำเข้ามาจากสามทิศทาง คือ ทางทิศตะวันออก ตะวันตกและใต้ เข้ามาใช้ภายในเมือง และปล่อยน้ำให้ไหลออกทางทิศเหนือลงสู่แม่น้ำสายหลักๆ ที่ล้อมรอบนครฉางอานแห่งนี้อยู่อย่างเช่น แม่น้ำเว่ย (渭河)

สำหรับย่านการค้า หรือ ตลาดของฉางอานในสมัยถังนั้นมีตลาดสำคัญอยู่ 2 แห่งคือ ตลาดตะวันตก และตลาดตะวันออก โดยตลาดสองแห่งนี้ต่างก็มีเนื้อที่กว้างใหญ่ถึงราว 1 ตารางกิโลเมตรโดยมีการสร้างกำแพงล้อมรอบเอาไว้ (ดูแผนที่ : คือ พื้นที่กว้างขนาดประมาณสองช่วงตึก อยู่ถัดจากกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกและตะวันตกมาประมาณ 1 ช่วงตึก โดยในแผ่นที่มีการขยายแยกส่วนออกมาสองส่วนเป็นหมายเลข 1 และ 2 ตามลำดับ) ภายในตลาดมีสินค้าจากทั่วทุกสารทิศวางขายในร้านค้าที่แยกประเภทสินค้า-บริการ ได้กว่า 220 ประเภท

บันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งระบุไว้ว่า "วันหนึ่งกลางเดือนหก ปี ค.ศ.843 เกิดเหตุอัคคีภัย ในตลาดตะวันออก ส่งผลให้มีบ้านเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนมากกว่า 4,000 ครัวเรือน" ...... ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เราเห็นอย่างชัดเจน ถึงสภาพของนครฉางอานในเวลานั้นได้ว่ามีความยิ่งใหญ่และความอลังการเพียงใด****

จริงๆ แล้วความโดดเด่นของนครฉางอานก็มิอาจยกความดีความชอบให้ชาวจีนในสมัยถังได้แต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากนครหลวงของราชวงศ์ถังแห่งนี้สร้างขึ้นบนรากฐานของนครต้าซิ่ง (大兴) แห่งราชวงศ์สุย โดยปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์สุย ฮ่องเต้สุยเหวินตี้ทรงมีดำริให้ อี่ว์เหวินข่าย (宇文恺) สถาปนิกชื่อก้องในประวัติศาสตร์จีนเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างเมืองแห่งนี้ขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ประวัติศาสตร์ของราชวงศ์สุยนั้นมีอายุสั้นเพียงแค่ 38 ปีเท่านั้น ส่งผลให้ประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองเกือบ 300 ปีของราชวงศ์ถัง กลบชื่อนครต้าซิ่งไปเกือบมิด เช่นเดียวกับ การปฏิรูปทางการเมือง-การปกครองหลายๆ ประการที่เริ่มจากราชวงศ์สุย ก่อนที่ราชวงศ์ถังจะรับมรดกมาสานต่อ

แต่ถึงกระนั้น เราก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าความเกรียงไกรทางการทหาร เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เกิดจากฝีมือการปกครอง การใช้คนและคุณธรรม ของฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ถัง ก็คงเปรียบได้กับดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงให้จันทรา ส่องแสงให้นครฉางอานแห่งนี้เปล่งประกายความสุกใส-รุ่งเรือง นับจากอดีตจวบจนทุกวันนี้

ผมกวาดตามองไปบนแผนที่นครฉางอานที่นักประวัติศาสตร์-โบราณคดีร่วมกันร่างขึ้น ......

ผมพบที่อยู่เก่าของไป๋จวีอี้ (白居易) ยอดกวีสมัยถังอยู่ไม่ไกลจากตลาดตะวันออก ไป๋จวีอี้กวีและขุนนางตงฉินผู้นิยมถวายคำแนะนำและแก่องค์ฮ่องเต้เป็นบทกลอน ถัดมาทางทิศใต้ไม่ไกลจากประตูฉี่เซี่ย (启夏门) เป็นวัดต้าฉือเอิน (大慈恩寺) วัดที่ พระเสวียนจั้ง (หรือที่เรารู้จักกันในนามถังซำจั๋งจากนิยายอมตะ 'ไซอิ๋ว') ใช้เป็นสถานที่จำวัดและแปลพระไตรปิฎกหลังจากเดินทางกลับมาจากอินเดีย ......

เมื่อมองไปยังพระราชวังไท่จี๋กง (太极宫) ที่ประทับขององค์ฮ่องเต้ถัง ที่อยู่ทางตอนเหนือของนครฉางอาน ณ ด้านเหนือของพระราชวังสายตาของผมก็ไปปะเข้ากับชื่อของประตูแห่งหนึ่ง ประตูแห่งนั้นมีนามว่า เสวียนอู่ (玄武门)

อ้างอิงจาก :
*หนังสือ 陕西历史百谜 : สำนักพิมพ์ 陕西旅游出版社 เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2001 หน้า 113-114
**นิตยสาร 中国国家地理 (Chinese National Geography) ฉบับที่ 536 เดือนมิถุนายน ค.ศ.2005
***หนังสือ 中国文化速成读本 : สำนักพิมพ์ 中国文史出版社 ฉบับเดือนมกราคม ค.ศ.2004
****อ้างอิงแล้วจาก**


กำลังโหลดความคิดเห็น