xs
xsm
sm
md
lg

สวัสดี ... ซีอาน (1)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


รถแท็กซี่วิ่งผ่านฟ้าครึ้ม กลางฤดูร้อน ผ่านถนนเส้นแล้วเส้นเล่าของย่านตะวันตกกรุงปักกิ่ง ผมมองออกไปนอกหน้าต่าง รายงานข่าวจากวิทยุแทรกเสียงขึ้นมาท่ามกลางความสงบ

"พายุไต้ฝุ่นไม่ซา (麦莎) กำลังเคลื่อนตัวจากทางทิศใต้มุ่งขึ้นมายังปักกิ่ง คาดว่าจะถึงปักกิ่งในช่วงเช้ามืดของวันพรุ่งนี้ ส่งผลให้พรุ่งนี้ปักกิ่งจะมีฝนตกหนัก ขอให้ประชาชนทุกคนโปรดระมัดระวัง และเตรียมตัวสำหรับการเดินทางออกไปทำธุระนอกบ้านสำหรับเช้าวันพรุ่งนี้ไว้ด้วย ......"

ไต้ฝุ่นหมายเลข 9 ของปีนี้นาม 'ไม่ซา' หรือ Matsa จริงๆ แล้วเป็นชื่อพายุไต้ฝุ่นที่ทางประเทศลาว บ้านพี่เมืองน้องของเราตั้งขึ้นมา ทำให้ผมพอจะระแคะระคายได้บ้างว่า Matsa ก็คือเสียงที่ถอดออกมาจากคำว่า มัทสา ในภาษาลาว หรือ มัจฉา (ปลา) ในภาษาบ้านเรา

เปิดหนังสือพิมพ์อ่าน เขาบอกว่าการตั้งชื่อของพายุไต้ฝุ่นนั้นเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยหน่วยงานที่เรียกว่า Joint Typhoon Warning Center ของกองทัพอเมริกัน ทั้งนี้ในตอนแรกกองทัพอเมริกันตั้งชื่อไต้ฝุ่นเป็นชื่อของผู้หญิงทั้งหมด

มองในแง่ดี ทหารหนุ่มอเมริกันที่ออกมาปฏิบัติหน้าที่ต่างบ้านต่างเมืองจะอาจจะต้องการแสดงความคำนึงถึงคนรักที่บ้าน หรือหากมองในมุมกลับ เหล่าทหารหาญอเมริกันอาจต้องการ ประชดประชัน เปรียบเทียบอารมณ์ของสาวๆ ที่บ้านเวลากราดเกรี้ยว กับเจ้าไต้ฝุ่นเหล่านี้ก็เป็นไปได้

กระทั่งปี พ.ศ.2522 จึงเริ่มมีการตั้งชื่อไต้ฝุ่นเป็นชื่อผู้ชายผสมกับผู้หญิงบ้าง และในปี 2543 จึงมีการโอนให้คณะกรรมการไต้ฝุ่นขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเป็นผู้ตั้งชื่อโดยขอความร่วมมือจากประเทศต่างๆ ซึ่งอยู่ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนบนและแถบทะเลจีนใต้รวม 14 ประเทศ เสนอชื่อพายุเป็นภาษาพื้นเมือง ชาติละ 10 ชื่อเพื่อนำมาใช้เรียก ......

ผมพับหนังสือพิมพ์สอดเข้าซิปหลังของกระเป๋ากล้อง สะพายเป้ลงจากรถที่สถานีรถไฟตะวันตกของกรุงปักกิ่ง โชคดีที่คืนนี้ผมต้องจับรถไฟสาย Z19 รอบสองทุ่มยี่สิบแปดไปต่างเมือง หลบเจ้าไต้ฝุ่นมัทสาไปได้ทันเวลาพอดิบพอดี

หัวค่ำของวันอาทิตย์สถานีรถไฟตะวันตกกรุงปักกิ่งดูคึกคัก ช่วงปิดเทอมเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมเช่นนี้มักจะได้เห็นการท่องเที่ยวแบบครอบครัวของชาวจีนอยู่เสมอ เช่นเดียวกัน ช่วงปิดภาคฤดูร้อนของจีนก็ไปตรงกับฝั่งอเมริกา-ยุโรป นักท่องเที่ยวจากฝั่งตะวันตกก็มีจำนวนไม่น้อย มีมาเป็นกลุ่มบ้าง จูงมือมากันสองคนบ้าง โดยเฉพาะที่กำลังรอขึ้นรถไฟสาย Z19 และมุ่งหน้าไปยังเมืองเก่าแก่ทางทิศตะวันตกของกรุงปักกิ่ง นามว่า ...... ซีอาน
...................................
เสียงล้อเหล็กกระทบกับรางดังมาเบาๆ พร้อมกับแสงอาทิตย์ที่ลอดหน้าต่างเข้ามา ......

ผมงัวเงียลุกขึ้นมาล้างหน้า-แปรงฟัน ก่อนเดินไปยังตู้เสบียงที่อยู่ถัดไปจากตู้นอน นาฬิกาที่ผนังบอกเวลา 6 โมงเช้าพอดี ผมหาที่นั่งว่างก่อนสั่งกาแฟมาหนึ่งแก้ว มองไปรอบๆ เริ่มมีคนออกมาสูดกลิ่นอายของบรรยากาศยามเช้ากันบ้างแล้ว แน่นอนผมก็เป็นคนหนึ่งในนั้น

แม้ในวันธรรมดาผมจะเป็นคนขี้เกียจนอนตื่นสาย แต่เวลาเดินทาง ผมมักจะข่มใจให้ตื่นนอนพร้อมกับเจ้าดวงอาทิตย์เสมอ บรรยากาศตอนเช้า ณ สถานที่ไม่คุ้นเคยมีคุณค่ามากกว่าการนอนอุตุอยู่บนเตียงหลายเท่านัก

ผมเลื่อนม่านที่บังหน้าต่าง เบนหน้าออกไปไปข้างนอก มองทิวทัศน์ที่อยู่ริมทาง ดูภูเขาซ้อนภูเขา ดูทุ่งข้าวโพดที่เริ่มผลิฝัก ดูทุ่งทานตะวันที่เริ่มชูช่อยื่นดอกมารับกับแสงแดดยามเช้า

โดยภูมิศาสตร์มณฑลส่านซี (陕西) ที่มีซีอานเป็นเมืองเอก ตั้งอยู่ ณ เขาใจกลางของประเทศจีนบนที่ราบดินเหลืองแถบลุ่มแม่น้ำเหลืองตอนกลาง มณฑลส่านซีมีภูมิประเทศคล้ายแอ่งที่อยู่ระหว่างภูเขาหลายแห่ง ทั้งยังมีทรัพยากรน้ำค่อนข้างอุดมสมบูรณ์คือ ตอนเหนือของเขาฉินหลิ่ง (秦岭) มีสาขาของแม่น้ำหวงเหออย่างเช่น เว่ยเหอ (渭河) จิงเหอ (泾河) ลั่วเหอ (洛河) ไหลผ่านขณะที่ตอนใต้ก็มีสาขาของแม่น้ำแยงซีเกียงไหลผ่าน

อาจเป็นด้วยภูมิศาสตร์อันเหมาะสมเช่นนี้เองที่ทำให้ดินแดนแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางการปกครองของแผ่นดินจีนยาวนานเกือบ 1,200 ปี และนับว่าเป็นดินแดนที่ถูกจารึกไว้ว่าเป็นศูนย์กลางของจีนยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ไล่เรื่อยมาตั้งแต่ สมัยโจวตะวันตก (西周) ที่ให้นามเมืองหลวงว่า เฟิงเฮ่า (丰镐)

ต่อมาในยุคสมัยที่ จิ๋นซีฮ่องเต้ (ฉินสื่อหวงตี้) สามารถรวมอาณาจักรเข้าเป็นหนึ่งเดียว ณ ดินแดนเก่าของรัฐฉิน จิ๋นซีฮ่องเต้ก็สถาปนา เมืองเสียนหยาง (咸阳) ขึ้นเป็นเมืองหลวงของ ราชวงศ์ฉิน (秦) อย่างไรก็ตามราชวงศ์ฉินอันเกรียงไกรกลับยืนยาวอยู่เพียง 18 ปีก็ล่มสลาย แต่ถึงกระนั้นปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่น ก็ยังคงยึดภูมิชัยตั้งเมืองหลวงขึ้นในพื้นที่ใกล้ๆ กับนครเสียนหยางของราชวงศ์ฉิน โดยให้นามนครแห่งใหม่นี้ว่า ฉางอาน (长安)

ฉางอาน อันมีความหมายแปลเป็นไทยว่า 'สันติสุขนิรันดร์'

ฉางอาน เป็นเมืองหลวงของจีนยาวนานกว่า 200 ปีจนกระทั่งสิ้นสุดรัชสมัย ฮั่นตะวันตก (西汉; 202 ปีก่อนคริสตศักราช-ค.ศ.8) หลังจากนั้นอีกราวเกือบ 600 ปี นครหลวงของประเทศจีนก็กลับมาตั้งอยู่ ณ ดินแดนแห่งนี้อีกในสมัยราชวงศ์สุย (隋; ค.ศ. 581-618) โดยคราวนี้ใช้นามว่า ต้าซิ่ง (大兴) อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับฉิน ราชวงศ์สุยมีอายุแสนสั้นเพียงสามสิบกว่าปีก็ล่มสลายด้วยน้ำมือของขุนนางตระกูลหลี่ ที่ในเวลาต่อมาได้ก่อตั้งราชวงศ์ถัง (唐; ค.ศ. 618-907) ขึ้นปกครองแผ่นดินจีนต่อ

บนรากฐานนครหลวงเก่าของราชวงศ์สุย ฮ่องเต้ราชวงศ์ถังได้อาศัยพื้นฐานเดิมของเมืองหลวงต้าซิ่งก่อสร้างและต่อเติมเมืองหลวงของถังให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเมืองกลับให้เป็น ฉางอาน (长安) ดังเดิมเหมือนในราชวงศ์ฮั่น อาจเป็นไปได้ว่าด้วยชื่อเมืองหลวงอันเป็นสิริมงคลนี้เองที่ส่งให้ราชวงศ์ทั้งสอง (ฮั่น-ถัง) ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นสองราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ เกรียงไกรที่สุด อย่างที่ประเทศจีนยุคใดมิอาจเทียบเทียมได้แม้กระทั่งประเทศจีนในยุคสมัยปัจจุบัน ฮั่นและถังเป็นสองยุคที่ชาวจีนสามารถอวดชาวโลกได้ว่าอารยธรรมของตนนั้นเหนือกว่าชนชาติใดในโลก ณ เวลานั้น

เมื่อราว 1,400 ปีที่แล้ว ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่าในกำแพงเมืองฉางอาน นครหลวงแห่งราชวงศ์ถัง มีขนาดใหญ่จนสามารถบรรจุประชากรได้นับล้านคน มีการวางผังเมืองอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งถนนหนทางก็กว้างขวางโดยถนนเส้นกลางที่ใหญ่ที่สุดนั้นมีความกว้างกว่า 150 เมตร มีอารามนับร้อยๆ แห่ง ระบบกำจัดของเสีย-ระบายน้ำก็ล้ำหน้ายิ่งกว่าเมืองอีกหลายๆ เมืองในปัจจุบัน

ผมเปิดดูแผนภาพในนิตยสารภูมิศาสตร์จีนที่ติดมือมา เมื่อเปรียบเทียบกับฉางอานเห็นได้ชัดว่าเมืองซีอานในสภาพปัจจุบันที่ถูกบูรณะโดยฮ่องเต้ของราชวงศ์หมิง (明; ค.ศ.1368-1644) อีกหลายร้อยปีถัดมากลับกลายเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของเมืองฉางอานในยุคถังเท่านั้น (ดูแผนภาพประกอบ : ที่ตั้ง 'เมืองเสียนหยาง' สมัยราชวงศ์ฉิน 'เมืองฉางอาน' สมัยราชวงศ์ฮั่น 'เมืองฉางอาน' สมัยราชวงศ์ถัง และ เมืองซีอานในปัจจุบัน)

พูดตามตรง ผมยังจินตนาการถึงเมืองในยุคพันกว่าปีก่อนที่มีความกว้างของถนนพอๆ กับถนนวิภาวดีรังสิต เมืองภายใต้กำแพงสูงที่มีผู้อยู่อาศัยนับล้าน ไม่ออกว่าเป็นเช่นไร?

ในตู้เสบียง เสียงประกาศดังขึ้นเตือนว่า รถไฟกำลังจะถึงจุดหมาย

ผมปิดหนังสือ กระดกกาแฟที่ก้นแก้วแล้วจึงเดินกลับไปยังตู้นอนเพื่อหยิบกระเป๋า ขบวนรถไฟเข้าเทียบสถานีเมืองซีอานตรงเวลา ผมสะพายเป้และขาตั้งกล้องเดินลงจากรถ

ณ ทางออก ผมยื่นตั๋วรถไฟให้เจ้าหน้าที่ตรวจ ก่อนเดินออกจากสถานีรถไฟที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองซีอาน อากาศเช้าวันนี้ดูครึ้มฟ้าครึ้มฝน

"อุตส่าห์หนีมาจากปักกิ่งแล้ว เจ้ามัทสาคงไม่ตามมาถึงนี่หรอกนะ" ผมนึกในใจ เมื่อเงยหน้าขึ้น ผมก็พบกำแพงเมืองขนาดสูงประมาณตึก 4 ชั้น ยืนตระหง่านอยู่เบื้องหน้า

"สวัสดี ... ซีอาน" ผมยิ้มบอกกับตัวเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น