xs
xsm
sm
md
lg

เงินช่วยเหลือจากจีน: จริงใจหรือผลประโยชน์แอบแฝง (2)

เผยแพร่:   โดย: อดุลย์ รัตนมั่นเกษม

หลักเกณฑ์การให้เงินช่วยเหลือข้อที่สองของจีน เป็นการขยายความช่วยเหลือให้แก่ประเทศลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้มาตั้งแต่สิ้นปีที่แล้ว โดยอาจจะยกหนี้สินให้หรือหาวิธีอื่นช่วยลดจำนวนหนี้สิน ข้อเท็จจริงมีว่า ในจำนวนหนี้สินต่างประเทศหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯของบรรดาประเทศลูกหนี้เหล่านี้ มีสัดส่วนที่เป็นของจีนอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นของชาติร่ำรวยอย่างสหรัฐฯและอังกฤษ

ดังนั้น ถ้าจีนจะยกหนี้สินส่วนนี้ให้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ด้วยแต่แรกที่ให้กู้ยืมไป จีนก็คงแทงหนี้สูญอยู่แล้ว ถือเป็นความช่วยเหลือ เป็นการสร้างอิทธิพลทางบวกต่อประเทศเหล่านี้ อีกอย่างเงินที่กู้ยืมไป ส่วนใหญ่ก็ไหลกลับมาที่จีนอีกในรูปของสินค้าส่งออกจากจีนไปยังประเทศเหล่านี้ อาจมีคนถามว่า ในเมื่อตั้งใจแทงเป็นหนี้สูญตั้งแต่แรกแล้ว ทำไมไม่ให้เปล่าให้ฟรีไปเลย

การให้เงินช่วยเหลือกันเปล่าๆนี่ ไม่ค่อยมีประเทศไหนเขาอยากทำกัน เพราะหนึ่งอธิบายให้คน (ยากจน) ในประเทศตนฟังลำบาก เมื่อพี่น้องร่วมชาติยังจนอยู่ ทำไมกลับเอาเงินไปให้คนอื่นแทนที่จะใช้มาดูแลคนยากคนจนที่ยังมีอีกมากในประเทศ และสองการให้ไปเลยมันไม่ผูกมัดนโยบายต่างประเทศของประเทศเหล่านี้ อย่างน้อยการให้กู้ยืมก็อาจช่วยให้ประเทศเหล่านี้วางตัวเป็นกลางได้ในบางกรณี โดยเฉพาะการสนับสนุนนโยบายจีนเดียวกีดกันไต้หวัน

เอาละทีนี้มาถึงเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯที่จีนประกาศจะทยอยปล่อยกู้แก่ประเทศกำลังพัฒนาภายในระยะเวลา 3 ปี เงินจำนวนมหาศาลขนาดนี้ ทำไมจึงไม่นำไปแก้ปัญหาภาคเกษตรกรรมที่เรื้อรังหมักหมมมานานปี หรือแก้ปัญหาคนว่างงานจำนวนมหาศาล แต่กลับเอาเงินไปปล่อยกู้ให้ประเทศอื่น

บอกได้คำเดียวว่า ที่จีนทำอย่างนี้ก็เพื่อแย่งตลาดต่างประเทศมาเป็นของตน เพราะนั่นจะหมายถึงสินค้าจีนที่จะทะลักออกไปตามช่องทางที่เตรียมไว้ ทั้งยังเป็นการสร้างงานในประเทศ ซึ่งก็รู้กันว่า การสร้างงานในประเทศก็คือการสร้างจีดีพีนั่นเอง แน่นอนว่า ถ้าจีนไม่ปล่อยกู้เงินก้อนนี้ จีนก็อาจไม่สามารถเข้าไปทำตลาดในประเทศเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ก็ยังเป็นการสานสัมพันธไมตรีที่ดีในทางการเมืองด้วย

เงินให้กู้ 10,000 ล้านเหรียญเป็นเรื่องระยะสั้น แต่การมีส่วนแบ่งในตลาดนั่นจะเป็นเรื่องระยะยาว จีนคงดีดลูกคิดรางแก้วแล้ว หากไม่ใช้เงิน 10,000 ล้านเหรียญก้อนนี้ไปทำตลาด จีนจะสูญเสียโอกาสในตลาดเหล่านี้สักแค่ไหน เงินจำนวนนี้จึงเป็นเงินที่ซื้อได้ทั้งน้ำใจและตลาดของประเทศกำลังพัฒนาที่อยากได้เงินกู้จากจีน

ผมไม่ทราบจริงๆว่า การซื้อขายแบบต่างตอบแทน ที่เราอยากเอาสินค้าเกษตรไปแลกกับเครื่องจักรบ้างหัวรถจักรบ้างของจีนนั้น จะเข้าข่ายหลักเกณฑ์ข้อนี้ของจีนหรือไม่ แต่อยากให้คุณผู้อ่านนึกภาพนี้ไว้ในใจด้วย ผมกลัวว่าจีนจะเข้ามามีอิทธิพลครอบงำกำหนดราคาสินค้าเกษตรของไทย ที่เห็นตำตามมาแล้วคือ ความล้มเหลวกรณีลำใยอบแห้ง ผมจะไม่ขอพูดถึงเรื่องการทุจริตอะไรนั่น เพราะมันลึกลับซับซ้อนเกินกว่ามันสมองอันน้อยนิดของผมจะเข้าใจได้

แต่ผมกำลังจะบอกว่า หากจีนสามารถเข้ามาครอบงำตลาดสินค้าเกษตรของไทย นั่นจะหมายความว่า จีนกำลังแผ่อิทธิพลเข้ามากำหนดราคาและทิศทางการพัฒนาสินค้าเกษตรของไทยหรือไม่ และรวมไปถึงวิถีชีวิตของพี่น้องเกษตรกรด้วย แน่นอนว่า ท่านผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องทั้งหลายก็คงออกมาบอกกันว่า เรื่องนี้ต้องผ่านการเจรจากัน ต้องเป็นราคาที่เห็นชอบด้วยกันทั้งสองฝ่าย และไม่ไช่เราอยากขายสินค้าให้เขาเท่านั้น จีนเขาก็อยากขายสินค้าของเขาให้เราเหมือนกัน ทุกอย่างจึงควรตกลงกันได้

แต่ของที่จะซื้อจะขายนั้นมันต่างกัน เครื่องจักรหัวรถจักรของจีน มันไม่บูดไม่เน่า แถมอายุการใช้งานก็ยาวนาน สินค้าแบบนี้รอได้ แถมราคาไม่ค่อยตก ไม่เหมือนสินค้าเกษตรที่พอเก็บมาแล้ว ก็ต้องขายให้ได้ ไม่เช่นนั้น ของมันจะเน่าเสีย หรือไม่ก็คุณภาพด้อยลงจนราคาตกต่ำในระยะเวลาอันสั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็อยากถามว่า การที่เราต้องพึ่งพาจีนให้รับซื้อสินค้าเกษตรของเราเจ้าเดียวแบบนี้ เรายังจะเหลืออำนาจต่อรองราคากับเขาแค่ไหน เพราะไม่มีเจ้าอื่นให้ราคาเปรียบเทียบได้ แล้วพี่น้องเกษตรจะได้รับประโยชน์แค่ไหนอย่างไร

ทำไมเราไม่กระจายความเสี่ยง โดยไม่มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผลอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อขายให้แก่ประเทศเดียว ซึ่งมีความเสี่ยงสูง น่าจะสำรวจตลาดต่างประเทสหลายๆแห่ง ปลูกพืชเกษตรหลายๆตัว เพื่อกระจายขายไปในหลายๆประเทศ ลดความเสี่ยงนี้ลง กรณีลำใยนี่เห็นชัดที่สุดคือ พอจีนไม่รับซื้อขึ้นมา ทางการก็รีบผลักภาระให้ประชาชน ด้วยการจัดมหกรรมลำใยราคาถูกช่วยชาติช่วยเกษตรกร เราจะปล่อยให้มีมหกรรมสินค้าเกษตรแบบนี้กันทุกปี ปีนี้ลำใย ปีหน้าข้าวหอมมะลิเช่นนั้นหรือ แล้วพี่น้องเกษตรกรล่ะ พวกเขาจะมั่นใจได้อย่างไรว่า พืชผลที่ตัวเองปลูกนั้นจะขายได้ตามที่หน่วยงานของรัฐไปให้สัญญาส่งเสริมเอาไว้

ผมกลับมาที่ประเด็นความช่วยเหลือของจีนต่อ ข้อที่ 4 และ 5 นี่เหมือนกันคือ จะช่วยฝึกอบรมบุคลากรให้แก่ประเทศด้อยพัฒนา โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกา จีนจะเน้นฝึกอบรมบุคลากรและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นสำคัญ รวมทั้งให้ยารักษาโรคไข้มาลาเรียด้วย ส่วนประเทศอื่นๆ ก็จะเป็นการยกระดับศักยภาพของบุคลากรในประเทศเหล่านี้จำนวน 3 หมื่นคน

เรื่องนี้ดูผิวเผินคือการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ความช่วยเหลือสองข้อหลังนี้มันเข้าหลักการที่ซุนวูเคยพูดไว้คือ “การโจมตีเมืองเป็นแผนขั้นต่ำ การเอาชนะใจต่างหากคือแผนขั้นสูง” บุคลากรที่ผ่านการอบรมจากจีนย่อมมีทัศนคติที่ดีต่อจีน กระทั่งเชียร์จีนกันไปข้างเลยก็น่าจะมี และเมื่อใดที่มีคนในประเทศนั้นออกมาแสดงอาการเบื่อหน่ายหรือห่วงใยอนาคตของประเทศตนจากอิทธิพลของจีน นั่นแสดงว่า จีนประสบความสำเร็จหรือใกล้ความสำเร็จนั้นเข้าไปทุกที นั่นคือ การครองทั้งใจของผู้คนและตลาดของประเทศนั้นๆ

จีนเป็นประเทศใหญ่ เป็นมหาอำนาจประเทศหนึ่งของโลก แต่จีนก็ไม่ใช่มหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุด ยังมีประเทศมหอำนาจอื่นๆที่เข้มแข็งกว่าจีน น่ากลัวกว่าจีน และเป็นของธรรมดาที่จะมีการดำเนินนโยบายปัดแข้งปัดขากันเวทีโลก เงินช่วยเหลือที่จีนประกาศให้แก่ทั้งประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย จึงเสมือนเป็นคำประกาศว่า จีนพร้อมลงสู้ศึกแย่งชิงทั้งทรัพยากรโลก ตลาดโลก และน้ำใจของผู้คนในโลกแข่งกับประเทศมหอำนาจอื่นๆ

ประเทศเล็กๆบางประเทศอาจอ้าแขนรับจีนเต็มที่ กระทั่งโผเข้าสวมกอดก็น่าจะมี แต่อีกหลายประเทศก็จะตั้งหลักหรือกระทั่งขอรักษาระยะห่างจากจีนไว้ก่อน เพราะไม่ต้องการพาชาติไปผูกพันกับอิทธิพลจีนจนถอนตัวไม่ขึ้น

แล้วประเทศไทยเรา จะทำอย่างไร ลองตรึกตรองคิดกันให้ดี อย่าพาชาติไปอยู่ใต้เงาอิทธิพลของชาติใดจนถอนตัวไม่ขึ้น และอย่าลืมว่า ผลประโยชน์ของชาติและประชาชนต้องมาก่อนสิ่งอื่นใดเสมอ
กำลังโหลดความคิดเห็น