xs
xsm
sm
md
lg

ไปฟ้อง 'ท่านเปา'

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ผมสาวเท้า ก้าวขึ้นบันไดหินอ่อนหน้า 'ศาลเปาบุ้นจิ้น (包公祠)' ณ ใจกลางเมืองไคฟง (ไคเฟิง:开封) ...... คงไม่ต้องอธิบายอะไรให้มากความว่า "เปาบุ้นจิ้น" นั้นเป็นใคร เพราะ ในใจของคนไทยจำนวนมากก็คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า นามนี้มีความหมายถึงคุณธรรมความดีประการใด?

ท่าน เปาบุ้นจิ้น ที่คนไทยรู้จักมีนามในภาษาจีนกลางว่า เปาเจิ่ง (包拯)

เปาเจิ่งเกิดเมื่อปี ค.ศ.999 ที่อำเภอหลูโจว เมืองเหอเฝย (ปัจจุบันคือเมืองเหอเฝย มณฑลอันฮุย) ตั้งแต่เล็กก็เป็นบุตรที่ขยันขันแข็ง ร่ำเรียนหนังสืออย่างตั้งใจ จนกระทั่งอายุเพียง 29 ปี จึงสอบจอหงวนได้ในระดับสูง (จิ้นซื่อ:进士)*

เปาเจิ่งมีความขึ้นชื่ออย่างมากในเรื่องความกตัญญู โดยขณะที่ถูกส่งไปรับราชการที่มณฑลเจียงซี เมื่อทราบว่าบิดา-มารดาแก่ชรามากแล้ว ท่านก็ลาออกจากราชการกลับมาปรนนิบัติผู้มีพระคุณทั้งสองจนกระทั่งเสียชีวิต โดยหลังจากบิดา-มารดาเสียชีวิตท่านก็ทำพิธีศพและไว้อาลัยให้กับบิดา-มารดา จนครบตามประเพณีอันเคร่งครัดของลัทธิขงจื๊อ ก่อนที่จะกลับไปรับราชการต่อ

ด้วยความที่เป็นคนฉลาดและซื่อตรงต่อหน้าที่ ตำแหน่งทางราชการของท่านเปาจึงมีความก้าวหน้าอย่างมาก จนสุดท้ายสามารถขึ้นไปดำรงตำแหน่งสูงถึง ตำแหน่งรองผู้บังคับบัญชาสูงสุดของซูมี่ย่วน (枢密院) ซึ่งในสมัยราชวงศ์ ซ่งเหนือ (ค.ศ. 960 - 1127) 'ซูมี่ย่วน' นี้ถือเป็นหนึ่งในสามหน่วยงานราชการในระดับสูงสุดของจีน ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมกำลังทหารทั่วแผ่นดิน

ทั้งนี้ในระหว่างรับราชการท่านเปามักจะลงพื้นที่ ออกไปดูแลไถ่ถามทุกข์สุของชาวบ้านอยู่เป็นประจำ จนเป็นที่ชื่นชอบ และคุ้นเคยของประชาชนโดยทั่วไป

กระทั่งฤดูใบไม้ผลิของปีหนึ่ง เกิดคดีลึกลับขึ้นในท้องที่ซึ่งอยู่ในความดูแลของท่านเปา เรื่องราวมีอยู่ว่า ชาวนาผู้หนึ่งเดินทางมาร้องเรียนโดยกล่าวว่า ตอนเช้าเขาพบว่าวัวตัวหนึ่งของเขาถูกขโมยเชือดลิ้นขาดไป

หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาอื่นก็คงจะไม่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอะไร แต่ในประเทศจีน ณ ขณะนั้นมีกฎหมายอยู่ว่า ในฤดูใบไม้ผลิที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทำไร่-ไถนา และพืชพรรณสามารถเติบโตได้ดีนั้น ประชาชนมิอาจจะฆ่าวัว สัตว์ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูกได้ตามใจชอบ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารของบ้านเมือง

เมื่อได้ยินและสอบไต่ถามอย่างละเอียดรอบคอบ ท่านเปา จึงสั่งกับชาวนาผู้นั้นว่า
"กลับไปเชือดวัว และนำเนื้อไปขายเงียบๆ แต่อย่าไปป่าวประกาศบอกใครว่าได้รับอนุญาตจากข้าแล้ว เดี๋ยวผู้ร้ายก็ปรากฎตัวออกมาเอง"

ผ่านไปไม่นาน ก็มีชาวบ้านอีกรายหนึ่งเดินทางมาขอเข้าพบกับท่านเปา โดยระบุว่า ตนพบเห็นคนที่เชือดวัว และนำเนื้อออกมาขายโดยพละการ เมื่อได้ยินดังนั้นท่านเปาจึง ถามคนผู้นั้นกลับไปด้วยเสียงอันดังว่า
"เหตุใดเจ้าจึงต้องขโมยตัดลิ้นวัวของผู้อื่น!!!"

ชาวบ้านผู้นั้นเมื่อได้ยินก็เกิดอาการอ้ำอึ้ง พูดไม่ออก ......
ท่านเปาจึงกล่าวต่อว่า "เจ้าคิดที่จะให้ร้ายชาวนาเจ้าของวัว จึงแอบขโมยตัดลิ้นวัวเพื่อที่จะทำให้วัวกินหญ้าไม่ได้ โดยหวังว่าเมื่อเจ้าของวัวไม่มีทางออกก็จะฆ่าวัวเพื่อนำเนื้อไปขายเสีย จากนั้นเจ้าก็จะได้นำเรื่องนี้มาแจ้งให้กับข้า เพื่อเอาผิดกับเจ้าของวัวใช่หรือไม่?"

เมื่อแผนการร้ายของถูกเปิดเผยเสียจนหมดเปลือก ชาวบ้านผู้นั้นจึงตกใจกลัว ขาแข้งอ่อน ก้นทรุดลงกระแทกกับพื้น และก้มหัวยอมรับผิดแต่โดยดี

ความยุติธรรมของท่านเปา มิได้เกิดขึ้นแต่เพียงในหมู่ของชาวบ้านธรรมดาเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงบุคคลทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐี ขุนนางชั้นผู้น้อย ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ หรือ แม้กระทั่งญาติฝ่ายสนมองค์โปรดขององค์ฮ่องเต้ หรือจะกล่าวง่ายๆ ก็คือในสายตาของท่านเปา ความยุติธรรมไม่แบ่งชนชั้น ว่ากันอย่างนั้น

ทั้งนี้นอกจากจะเป็นผู้ให้ความยุติธรรมแบบไม่แบ่งชนชั้นแล้ว ท่านเปายังถือเป็นผู้ที่ทำให้ 'ชาวบ้าน' สามารถ 'เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม' อย่างไม่แบ่งชนชั้นได้อีกด้วย กล่าวคือ ตามกฎเกณฑ์แต่ดั้งเดิมชาวบ้านมิอาจจะร้องเรียนเรื่องทุกข์ร้อนต่อทางราชการได้โดยตรง แต่ต้องกระทำผ่านข้าราชการชั้นผู้น้อย โดยจุดผ่านนี้เองที่เป็นเหตุให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ หรือ ไม่มีทรัพย์พอจะจ่ายค่าสินบนให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อยมิอาจเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้

โดยในปี ค.ศ.1057 เมื่อท่านเปาได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองไคเฟิงอันเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งเหนือ ท่านก็สั่งให้ล้มเลิกระบบร้องเรียนแบบเก่า และเปลี่ยนไปใช้ระบบที่ง่ายขึ้นคือ ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถมาเคาะกลองที่ตั้งอยู่หน้า ที่ว่าราชการของท่านเปาได้โดยตรง

แท้จริงแล้วในชีวิตราชการท่านเปามิได้มีบทบาทเป็นเพียงผู้พิพากษา ตัดสินคดีความต่างๆ ในศาลไคเฟิงอย่างที่เราเห็นกันแต่เพียงในละครโทรทัศน์ เพราะท่านเปาตัวจริงดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองไคเฟิงได้เพียงแค่ปีกว่าๆ เท่านั้น แต่ชั่วชีวิตท่านยังรับหน้าที่และตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมาย อย่างเช่น การเป็นผู้ตรวจราชการ ดูแล-รักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เสนอให้มีการลดภาระภาษีสำหรับประชาชนในช่วงที่เดือดร้อน ถวายคำแนะนำอันเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองแก่องค์ฮ่องเต้ สกัด-คัดค้านการแต่งตั้งคนเลวไม่ให้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูง อย่างเช่น กรณีการคัดค้านจางเหยาโย่ว (张尧佑) ผู้มีศักดิ์เป็นลุงของสนมคนโปรดของฮ่องเต้ซ่งเหรินจง ไม่ให้ขึ้นสู่ตำแหน่งซานซือสื่อ (三司使) หรือขุนนางใหญ่ผู้ดูแลท้องพระคลัง หนึ่งในสามตำแหน่งที่มีอำนาจสูงในสมัยซ่งเหนือ ฯลฯ

นอกเหนือจากคุณงามความดีของท่านเปา ที่งอกงามมาจาก ความซื่อสัตย์-ยุติธรรมจนชาวบ้านให้สมญานามว่า เปาชิงเทียน (包青天;เปากระจ่างฟ้า) เปากง (包公) เปาไต้จื้อ (包待制) และเปาหลงถู (包龙图) แล้ว หน้าประวัติศาสตร์จีนยังบันทึกไว้ด้วยว่า ท่านเปายังเป็นขุนนางที่ดำรงชีวิตอย่างสมถะ-เรียบง่าย มากกว่านั้น ในช่วงบั้นปลายท่านได้ตั้งกฎเกณฑ์เพื่อสั่งสอนลูกหลานและตกทอดกันในตระกูลไว้ด้วยว่า

"ลูกหลานของข้าที่เข้ารับราชการ ผู้ใดหากกระทำการฉ้อราษฎร์บังหลวง-รับสินบน เมื่อยังมีชีวิตอยู่ห้ามกลับมาเหยียบบ้านอีก หลังจากที่ตายไปแล้วศพก็ห้ามกล้ำกรายมาฝังรวมกับหลุมศพของตระกูล หากผู้ใดไม่ยึดถือในกฎเกณฑ์นี้ ก็จะไม่ถือเป็นผู้สืบสกุลของข้า"

วันหนึ่งกลางเดือนห้าของปี ค.ศ.1062 ท่านเปา ลาจากโลกนี้ไปด้วยอายุเพียง 63 ปี จากไปพร้อมกับความโศกสลดของชาวบ้านทั่วทั้งแผ่นดิน แม้กระทั่งองค์ฮ่องเต้ซ่งเหรินจง (宋仁宗) ก็ยังทรงหยุดว่าราชการหนึ่งวัน และเสด็จมาร่วมแสดงความอาลัยต่อขุนนางผู้ซื่อสัตย์-ยุติธรรมผู้นี้ด้วยพระองค์เอง

...... อันดีชั่วตัวตายเมื่อภายหลัง ชื่อก็ยังยืนอยู่มิรู้หาย ......

สำหรับคนจีนทุกวันนี้นั้น ถ้าหากกล่าวถึงสำนวนที่ว่า "เถี่ยเมี่ยนอู๋ซือ:铁面无私" อันมีความหมายถึง "ผู้ซื่อสัตย์ยุติธรรม ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน" ก็ต้องนึกถึงขุนนางหน้าดำผู้มีนามว่า 'เปาบุ้นจิ้น' ขึ้นมาทันที
............................
ณ ด้านในสุดของศาลเปาบุ้นจิ้น ผมเงยหน้าขึ้นพิศมองอย่างศรัทธา

ท่าน 'เปาบุ้นจิ้น' นั่งอย่างสงบนิ่งอยู่บนบัลลังก์ด้านหน้า สายตาของท่านจ้องเขม็งไปเบื้องหน้า มือซ้ายของท่านแบกดไว้กับเก้าอี้ ขณะที่กำปั้นขวาวางไว้บนที่เท้าแขน แสดงถึงความเด็ดขาดและน่าเกรงขาม

ในยุคที่บ้านเมืองกำลังวุ่นวาย ผู้ปกครองลุ่มหลงในอำนาจ-เงินตรา คอร์รัปชันกำลังกินเมือง ข้าราชการถูกมัดมือมัดเท้า ผู้แทนประชาชนส่วนใหญ่กำลังถูกขังอยู่ในคุก(ด้วยความสมัครใจ) องค์กรอิสระพิกลพิการและเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ สื่อถูกแทรกแซง ประชาชนทุกข์ยาก-ถูกปล้นกลางแดด ชาวบ้านถูกปิดหูปิดตา ประเทศชาติกำลังแตกออกเป็นเสี่ยงๆ คนคิดดี-ทำดีกำลังถูกกลั่นแกล้ง คนคิดชั่ว-ทำชั่วกำลังครองเมือง ......

สาเหตุของวิกฤตการณ์ชาติ ณ เวลานี้ก็คงไม่ผิดไปจาก คำกลอนบทหนึ่งที่ เปาบุ้นจิ้นหญิงแห่งเมืองไทย คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เคยกล่าวเอาไว้

"เร็วก็หาว่าล้ำหน้า ช้าก็ว่าอืดอาด โง่ก็ถูกตวาด ฉลาดก็ถูกระแวง ทำก่อนถามว่าใครสั่ง ทำทีหลังหาว่าไม่รู้จักคิด คนดีถูกถีบไปไกลตัว เอาคนชั่วมายืนใกล้ชิด เกลียดคนตรง หลงคนคดงอ ชอบกินลูกยอ แต่ให้ลูกโยน หัวตัวเองไม่พอ ชอบหาหัวใหม่ใส่หัวโขน คนดีจึงเผ่นหนีหายหน้า คนที่เดินหน้าจึงมีแต่โจร"

ขอให้คนดี-คนกล้า อย่างท่านเปาฯ ของบ้านเมืองเราปรากฎขึ้นอีกเยอะๆ และช่วยกันผลักให้ "ยุคมืด" อันยาวนานนี้ผ่านพ้นไปเสียที ...... ผม หลับตาและพนมมือภาวนาอยู่ในใจ

อ้างอิงจาก :
- หนังสือ 世界文化史故事大系•中国卷 โดย จูอี้เฟย และ หลี่รุ่นซิน (朱一飞,李润新) สำนักพิมพ์ 上海外语教育出版社 หน้า 296-300 และ เว็บไซต์ www.qianlong.com
กำลังโหลดความคิดเห็น