xs
xsm
sm
md
lg

เงินช่วยเหลือจากจีน : จริงใจหรือผลประโยชน์แอบแฝง (1)

เผยแพร่:   โดย: อดุลย์ รัตนมั่นเกษม

เรื่องความสำเร็จกรณีนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือของที่ประชุมหกฝ่ายเป็นเรื่องน่ายินดี และต้องยอมรับว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของทางการจีนที่สามารถเกลี้ยกล่อมให้ทุกฝ่ายตกลงกันได้ในเบื้องต้น โดยเฉพาะเกาหลีเหนือ จนนำไปสู่การออกแถลงการณ์ร่วมกัน

แต่นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งว่าไปแล้วความสำเร็จนี้ก็แค่ผลักดันให้เกาหลีเหนือกลับไปเริ่มต้นยังจุดเดิมเมื่อ 2 ปีก่อน ตอนที่เกาหลีเหนือประกาศถอนตัวออกจากสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ และตะเพิดผู้แทนจากองค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศหรือไอเออีเอกลับบ้านไป

แต่เพียงวันเดียวหลังออกแถลงการณ์ร่วมกัน เกาหลีเหนือก็เริ่มตีรวนเสียแล้วว่า ต้องให้สหรัฐฯ หยิบยื่นความช่วยเหลือเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำมวลเบาให้ตนเสียก่อน ถึงจะยอมกลับเข้าสู่สนธิสัญญาการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งสหรัฐฯ ก็บอกปัดข้อเรียกร้องนี้ทันทีเหมือนกัน และที่น่าห่วงคือ ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า เกาหลีเหนือจะไม่เปลี่ยนใจกลับไปกลับมา หรือใช้เรื่องอาวุธนิวเคลียร์เป็นเครื่องต่อรองเรียกร้องผลประโยชน์แก่ตนในทางสุ่มเสี่ยงอีกครั้งในวันหน้า เรื่องนี้จึงเป็นงานหนักที่ชาติที่เกี่ยวข้องต้องใช้ความอดทนอย่างมากเพื่อสานงานต่อให้สำเร็จ ไม่เช่นนั้น ความสำเร็จที่เพิ่งแถลงไป ก็จะกลายเป็นความสำเร็จบนหน้ากระดาษเท่านั้น ไม่มีผลที่เป็นจริงในทางปฏิบัติ

ผมจึงขอพักเรื่องนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือไว้ แต่จะขอคุยถึงเรื่องที่จีนออกมาแถลงให้ความช่วยเหลือแก่ชาติที่ยากจนและด้อยพัฒนาที่สุดรวม 39 ประเทศ คิดเป็นวงเงินมากถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 4 แสนล้านบาท

นายหูจิ่นเทากล่าวถึงเรื่องความช่วยเหลือนี้ในที่ประชุมสุดยอดว่าด้วยปัญหาการระดมเงินทุนเพื่อการพัฒนา ซึ่งมีผู้นำประเทศเข้าร่วมประชุมด้วยกว่า 40 ประเทศว่า จีนพร้อมจะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาโดยวางหลักเกณฑ์ไว้ 5 ข้อ หลักๆ คือ ยกเลิกภาษีสินค้าขาเข้าบางประเภท ขยายวงเงินช่วยเหลือให้มากขึ้น ยกหนี้หรือใช้วิธีอื่นหักล้างหนี้สินที่ติดค้าง ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปสร้างสิ่งสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานหรือส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังจะให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ เช่น การฝึกอบรมบุคลากร โดยเน้นไปที่ประเทศในแอฟริกา และสุดท้ายฝึกฝนและเพิ่มศักยภาพให้แก่บุคลากรในประเทศด้อยพัฒนา และดูเหมือนนายหูจิ่นเทา จะเน้นไปที่ปัญหาในแอฟริกาเป็นพิเศษ

คงจำกันได้ว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม กลุ่มประเทศจี 8 โดยเฉพาะอังกฤษก็เคยประกาศจะยกหนี้สินและเพิ่มความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจนในแอฟริกามาแล้ว ทั้งยังกระตุ้นให้สหรัฐฯ ทำตามแผนการของตนด้วย โดยอังกฤษมีแผนหาเงินช่วยเหลือประเทศยากจนในแอฟริกาให้ได้ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ประเทศเหล่านี้มีหนี้สินมากถึง 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในความเป็นจริง ความช่วยเหลือเหล่านี้ก็ช่วยแก้ไขปัญหาความต้องการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเจ้าหนี้ และยังแก้ปัญหาการค้าที่ประเทศเหล่านี้มีอยู่กับประเทศลูกหนี้ที่ยากจนทั้งหลายด้วย แม้จะมีบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ หยิบยื่นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่เอธิโอเปียและอิริเทรีย เพื่อแก้ไขปัญหาความอดอยากและโรคระบาด แต่ให้เงินช่วยเหลือเพียง 674 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งองค์การความช่วยเหลือระหว่างประเทศมองว่า มันเป็นเพียง “น้ำหยดเดียวในมหาสมุทร” ไม่พอช่วยแก้ปัญหาอะไรได้ จึงมีคนตั้งข้อกังขาว่า ประเทศร่ำรวยเหล่านี้จริงใจแค่ไหนที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินและความยากจนให้กับประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย

จีนไม่ได้อยู่ในกลุ่มจี 8 จึงไม่มีโอกาสแสดงท่าทีในเรื่องนี้ นายหูใช้เวทีสหประชาชาติพูดถึงเรื่องนี้ แสดงว่า จีนไม่อยากตกขบวนกิจกรรมของเหล่าชาติมหาอำนาจทั้งหลาย เพียงแต่ดูเหมือนว่า จีนจะต้องทำอยู่คนเดียว ไม่สามารถเข้าร่วมสังฆกรรมกับกลุ่มจี 8 ได้

แล้วทำไมจีนถึงอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหนี้สินของประเทศยากจนที่ยังติดหนี้จีนอยู่ เรามาเริ่มจากการให้สิทธิประโยชน์แก่ประเทศลูกหนี้เหล่านี้โดยไม่เก็บภาษีสินค้าขาเข้า ที่จีนยอมให้สิทธิพิเศษเช่นนี้ ก็เพราะสินค้าที่บรรดาประเทศลูกหนี้เหล่านี้ส่งไปยังจีน ส่วนมากมักเป็นพวกพืชผลเขตร้อนที่จีนปลูกเองไม่ได้ หรือปลูกได้ก็ไม่พอใช้เนื่องจากจีนมีพื้นที่เขตร้อนน้อย พืชผลพวกนี้ไม่ได้หมายถึงข้าวหรือธัญพืชอื่นๆ เพราะประเทศเหล่านี้อดอยากไม่มีข่าวจะกินอยู่แล้ว ไหนเลยจะมีข้าวเหลือส่งไปขายจีนได้ ดังนั้น พืชเขตร้อนที่พูดถึงจึงเป็นพวกฝ้าย ยางพารา อ้อย หรือไม้เมืองร้อน เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องฝ้าย เมื่อสหรัฐฯ ยังคงให้เงินอุดหนุนการปลูกฝ้ายในประเทศ ทำให้ฝ้ายจากแอฟริกาไม่สามารถแข่งขันราคาในตลาดโลกได้ และฝ้ายก็เป็นสินค้าสำคัญตัวหนึ่งที่จีนยังต้องการอีกมาก นี่ย่อมหมายความว่า จีนจะสามารถซื้อฝ้ายจากประเทศลูกหนี้เหล่านี้ได้ในราคาที่น่าจะถูกกว่าราคาตลาดโลก

นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่จีนต้องการและยังขาดแคลน เช่น แร่พลาตินั่มเหล็ก ถ่านหิน แม้กระทั่งทองคำ ข่าวเหมืองในจีนระเบิด ถล่ม หรือน้ำท่วม มีคนงานเหมืองตายกันปีละนับพันคนมีให้เห็นกันบ่อยๆ การไปขุดหาแร่ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศอื่น จึงเอื้อประโยชน์ต่อจีนได้ไม่น้อย และยังเป็นการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติในประเทศของตนด้วย เพราะทั้งพืชผลเขตร้อนและทรัพยากรธรรมชาติล้วนเป็นปัจจัยยุทธศาสตร์ที่จีนต้องการอย่างยิ่ง

เมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง ที่นายโรเบิร์ต มูกาเบ้ ประธานาธิบดีของซิมบับเวแบกหน้าไปขอคามช่วยเหลือจากจีน ให้จีนช่วยชำระหนี้จำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ยังติดค้างกับทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF แต่จีนกลับให้เงินกู้ซิมบับเวเพื่อซื้อข้าวจากจีนเพียง 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งที่ทางซิมบับเวยอมอ่อนข้อยกสัมปทานเหมืองแร่พลาตินั่มให้แก่จีน แต่ก็ยังไม่พอที่จะโน้มน้าวให้จีนหยิบยื่นความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจให้ตามที่ซิมบับเวต้องการ หนังสือพิมพ์ “ซันเดย์ อินดิเพนเด้นท์” บอกเลยว่า ไปจีนคราวนี้ นายมูกาเบ้ต้องกลับมามือเปล่า เพราะไม่มีความช่วยเหลือที่เป็นชิ้นเป็นอันอะไรติดมือกลับมาด้วยเลย

ความช่วยเหลือด้านภาษีศูนย์เปอร์เซ็นต์สำหรับสินค้าขาเข้าที่จีนมอบให้แก่ประเทศลูกหนี้ทั้งหลาย ในทางกลับกันก็เป็นการขยายตลาดสินค้าของจีนในประเทศเหล่านี้ไปในตัวด้วย เพราะเมื่อมองไปทั่วโลกแล้ว เวลานี้ มีน้อยประเทศนักที่จะผลิตสินค้าอุตสาหกรรมได้ในราคาที่ถูกกว่าจีน ประเทศยากจนเหล่านี้นอกจากไม่มีอุตสาหกรรมแล้ว ยังไม่มีเงินซื้อสินค้าประเภทเดียวกันแต่มีราคาแพงกว่า ตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนถึงเครื่องเล่นวีซีดี ด้วยการเอาทรัพยากรและพืชผลเขตร้อนของตนไปค้ำประกันการซื้อขายที่ว่านี้

ดังนั้น ความช่วยเหลือด้วยมาตรการทางภาษีที่จีนประกาศหยิบยื่นให้ เอาเข้าจริง มันก็เหมือนบอกให้ประเทศยากจนเหล่านี้เปิดเหมืองแร่ให้จีนไปขุด และเชื้อเชิญจีนเข้าไปเก็บเกี่ยวดอกฝ้ายที่พวกเขาปลูกไว้แล้ว ในขณะที่ประเทศเหล่านี้กลับต้องพึ่งพาสินค้าราคาถูกจากจีน เปิดตลาดให้แก่จีนมากขึ้น ไปๆ มาๆ งานนี้ใครได้ใครเสีย ก็คงเห็นๆ กันอยู่แล้ว

ผมอดนึกถึงอดีตเมื่อสัก 30-40 ปีที่แล้วไม่ได้ว่า สมัยนั้น แบบเรียนตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยมบอกเหมือกันหมดว่า สินค้าส่งออกสำคัญของไทยคือ ข้าว ดีบุก และป่าไม้ แต่ทุกวันนี้ ดีบุกและป่าไม้หมดไปจากประเทศไทยแล้ว ซึ่งครั้งหนึ่ง เราเคยเรียกพฤติกรรมเช่นนี้ของชาติมหาอำนาจว่า คือการปล้นสะดมทรัพยากรของไทย

ทุกวันนี้ ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายก็ยังคงใช้วิธีการเดิมๆ ภายใต้ชื่อที่สวยหรูว่า “ความช่วยเหลือ” ทำการ “ปล้น” ทรัพยากรธรรมชาติของชาติยากจนกันต่อไป ผิดกันตรงที่มีจีนขอเข้ามา “แย่ง” ทรัพยากรธรรมชาติจากชาติมหาอำนาจอื่นๆ ด้วย พฤติกรรมเช่นนี้ เราจะเรียกว่า “ช่วยเหลือ” หรือ “ปล้น” ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น