xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมจีน (12) ปรัชญา

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

วัฒนธรรม ค่านิยม รูปการจิตสำนึกของชาวจีนในปัจจุบัน มีรากเหง้าสืบเนื่องมาจากมรดกทางวัฒนธรรมทุกด้านในอดีต ถึงแม้ว่าชาวจีนจะรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกไว้มากตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมที่ได้เริ่มสัมผัสกับชาวตะวันตกแล้วก็ตาม และแม้ว่าชาวจีนในแผ่นดินใหญ่จะอยู่ภายใต้การปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งถือหลักทฤษฎีมาร์กซิสต์ (ซึ่งเป็นปรัชญาของชาวยุโรป) ส่วนชาวไต้หวันรับปรัชญาแนวทุนนิยมเสรีมาหลายสิบปีก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับช่วงเวลายาวนานหลายพันปีที่ผ่านมา รากเหง้าวัฒนธรรมเก่าของจีนก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่สูงมาก

สำหรับพวกที่ทิ้งราก กลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไร้รากก็ต้องมีอยู่แน่นอน แต่ก็น่าคิดว่าชนกลุ่มนี้จะกลายเป็นอะไร รับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างผิวเผิน ไม่อยากเป็นคนตะวันออก แต่ก็ไม่สามารถจะเป็นคนตะวันตกได้อย่างแท้จริง อีกทั้งสังคมตะวันตกเขาก็ไม่ยอมรับด้วย อย่านึกว่าการแบ่งแยกเชื้อชาติผิวพรรณจะสูญไปง่ายๆ คนจีนคนไทยที่ทิ้งรากอย่างนี้ น่าเป็นห่วง...

ชาวจีนเป็นชาติที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ ชาวจีนมีบันทึกประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุด ประชาชาติจีนจึงมีข้อเด่นประการหนึ่ง คือ “ความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์"

ข้อเด่นอีกประการหนึ่งคือ การหลอมรวมทางประชาชาติและวัฒนธรรมในขนาดที่ใหญ่โตมโหฬารกว่าชาติไหนๆ ประชาชาติจีนนั้น มีชาวหัวเซี่ย(จีนดั้งเดิม) ในตงง้วนเป็นแก่นในการหลอมรวมประสมประสารทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม เรื่องนี้ผู้เขียนเคยเล่าไว้ในบทก่อนๆ บ้างแล้ว ถ้าท่านผู้อ่านอยากทราบรายละเอียดมากๆ หาอ่านได้จากหนังสือเรื่อง “ รากเหง้าเผ่าจีน” ของคุณอดุลย์ รัตนมั่นเกษม ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แม่โพสพ ในนั้นมีข้อมูลที่ละเอียดมาก

การหลอมรวมทางวัฒนธรรมนี้ นอกจากจะได้หลอมรวมวัฒนธรรมชนเผ่าต่างๆ มากมายเข้าด้วยกันแล้ว ในทางปรัชญาความคิด ชาวจีนก็มีปรัชญาความคิดหลายแนวซึ่งได้ค่อยๆ หลอมรวมเกิดเป็นปรัชญาใหญ่ๆ สามแนว ได้แก่ ลัทธิหญูหรือลัทธิขงจื้อ ปรัชญาเต๋าและศาสนาเต๋า ศาสนาพุทธซึ่งในอดีตมีนิกายมากมาย แต่ภายหลังนิกายเซนมีอิทธิพลสูงที่สุด

จีนเป็นแหล่งกำเนิดปรัชญาแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่ง ในยุคใกล้เคียงกับพุทธกาล คือยุคราชวงศ์ตงโจว ที่แบ่งออกเป็นยุคชุนชิวและจั้นกั๋วนั้น จีนมีแนวปรัชญาหลากหลายจนเรียกกันว่า “ปราชญ์ร้อยสำนัก” (จู้จื่อไป่เจีย) ที่โดดเด่นได้แก่ หญูเจีย หรือลัทธิขงจื้อ ม่อเจียอันเป็นรากเหง้าของอุดามคติบู๊เฮี้ยบ ต้าวเจียหรือลัทธิเต๋า ฝ่าเจียหรือลัทธินิติวาท

ในช่วงปลายยุคจั้นกั๋ว ลัทธิเต๋าประสมประสานเข้ากับลัทธิโหงวเฮ้ง(ธาตุทั้งห้า อันประกอบด้วย ดิน ไม้ ไฟ น้ำ ทองหรือโลหะ) และไสยศาสตร์ พัฒนาเป็นศาสนาเต๋าในยุคต่อมา

ศาสนาพุทธเริ่มแผ่เข้าไปในจีนตั้งแต่ยุคราชวงศ์ฮั่น แล้วฝังรากขยายตัวได้มากขึ้นในยุคสามก๊ก เพราะโจโฉให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา และโจผีอนุญาตให้ชายจีนบวชเป็นภิกษุได้ (ก่อนหน้านั้นชายจีนที่อยากบวชเป็นภิกษุต้องออกไปบวชนอกประเทศ)

ในช่วงประมาณพันปีที่แล้ว ปราชญ์ลัทธิหญูปฏิรูปปรัชญาลัทธิหญูกันใหม่ เรียกกันว่า “ซินหญูเสวีย” เพราะต้องพัฒนาให้แข่งขันกับศาสนาพุทธและศาสนาเต๋าได้ การปฏิรูปครั้งนั้นสรุปให้ง่ายๆ ก็คือ รับเอาแนวความคิดทางพุทธและเต๋าเข้าไปผสมผสาน และทำให้เป็นระบบมากขึ้น ปรัชญาขงจื้อที่สั่งสอนกันมาจนถึงทุกวันนี้นั้น เป็นปรัชญาขงจื้อใหม่ที่ปฏิรูปกันในยุคราชวงศ์ซ่งแล้ว ปรัชญานี้เองที่ซึมซ่านอยู่ในสายเลือดคนจีนอย่างไม่รู้สึกตัว

นั่นก็คือชาวจีนรับเอาแนวคิดของขงจื้อ เต๋าและพุทธที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวพอเหมาะพอดี เป็นปรัชญาประจำชาติตนนั่นเอง

ปรัชญาแนวนี้ส่งอิทธิพลไปถึงประเทศข้างเคียงอย่างมาก เห็นได้ชัดในญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทรรศนะการมองแบบข้างต้นนี้ที่ผู้เขียนมองว่า ลัทธิขงจื้อใหม่ได้ผสมผสานเอาเต๋าและพุทธเข้ารวมกันจนแยกไม่ออกนั้น ก็ย่อมจะต้องมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งผู้เขียนมิได้ยึดมั่นว่าจะต้องสรุปให้ได้ว่าอะไรผิด อะไรถูก

ว่าไปแล้วผู้ที่นิยมปรัชญาขงจื้อ ผู้นิยมปรัชญาเต๋า ผู้นิยมศาสนาพุทธก็มีความต่างกันอยู่ ในจุดที่เน้นคุณค่าทางวัฒนธรรมด้านไหนมากกว่ากัน ผู้นิยมศาสนาพุทธนั้นส่วนมากจะมุ่งเน้นคุณค่าด้านศาสนา ผู้นิยมเต๋านั้นส่วนใหญ่มุ่งเน้นคุณค่าด้านศิลปกรรม ผู้นิยมลัทธิหญูนั้นส่วนใหญ่มุ่งเน้นคุณค่าด้านจริยศาสตร์ (หลุนหลี่伦理)

จริยศาสตร์ขงจื้อ ที่ให้ความสำคัญกับมรรควิถีแห่งฟ้า (เทียนต้าว 天道) และมรรควิถีแห่งมนุษย์ (เหญินต้าว 人道) ให้ความสำคัญกับการที่ “ฟ้ากับมนุษย์รวมกันเป็นหนึ่ง” (เทียนเหญินเหออี 天人合一) นั้น ก็มิได้ขัดแย้งกับความเชื่อ(ในระดับชาวบ้านทั่วๆ ไป)แบบพุทธและเต๋า

เทียนหรือฟ้านั้น มิใช่แต่เป็นเพียงฟ้าหรือจักรวาลในธรรมชาติ แต่ยังเป็นต้นกำเนิดของชีวิตและคุณค่าแห่งชีวิต(จริยธรรม)ทั้งมวลด้วย ฟ้าให้กำเนิดมนุษย์ที่มีภูมิปัญญาที่จะเปลี่ยนแปลงสรรพสิ่ง สร้างสรรค์ความรุ่งเรืองและดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป ขอเพียงแต่ให้การกระทำนั้นสอดคล้องกับมรรควิถีแห่งฟ้า กล่าวคือมนุษย์จะต้องเป็นหนึ่งเดียวกับฟ้า(เทียนเหญินเหออี) จึงจะปฏิบัติตนได้สอดคล้องกับมรรควิถีแห่งฟ้า

ข้างต้นเป็นระดับนามธรรม นักปรัชญาลัทธิหญูอธิบายให้เป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติว่า เพื่อเป็นหนึ่งเดียวกับฟ้า มนุษย์ต้องปฏิบัติตามหลักการใหญ่สองด้าน ได้แก่เหญิน 仁 กับหลี่ 礼

เหญิน คำนี้หมายถึงความรักที่ยิ่งใหญ่ รักมนุษย์ทุกคนอย่างไม่เห็นแก่ตัว นี่เป็นการแสดงออกเป็นรูปธรรมทางด้านจริยธรรม

หลี่ คำนี้หมายถึงการควบคุมตนเอง เอาชนะ(จิตใจด้านต่ำของ)ตนเอง จึงจะสามารถรักษาสภาวะสันติสุขของสังคมไว้ได้

การแสดงออกที่เป็นรูปธรรมของเหญินกับหลี่ ก็คือ เสี้ยว 孝 – ความกตัญญู ที่ 悌– ความปรองดองรักพี่น้อง จง 忠– ความจงรักภักดีต่อประมุข ต่อประเทศชาติ ซิ่น 信 – ความมีสัจจะ อี้ 义– การประพฤติถูกทำนองคลองธรรม เป็นต้น อิทธิพลแนวคิดเหล่านี้ฝังรากลึกในหมู่ชาวจีนมาก ดังเราจะพบว่า ชาวจีนมีความเคารพยำเกรงฟ้า (เทียนหรือสวรรค์) เคารพบูชาบรรพบุรุษ มีความกตัญญู เป็นลักษณะเด่นประจำชาติ .
กำลังโหลดความคิดเห็น