xs
xsm
sm
md
lg

เพลงพื้นบ้าน

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

มรดกอย่างหนึ่งที่ทุกชาติเผ่าพันธุ์มีสืบทอดมา คือเพลงพื้นบ้าน

เพลงพื้นบ้านเป็นต้นธารของกวีทั้งปวง

ทุกวันนี้ (ในไทย) เพลงพื้นบ้านตายไปแล้ว คือไม่มีการร้องเล่นกันในวิถีชีวิตจริง คงเหลือแต่การแสดงบนเวที ที่เมืองจีนก็เป็นทำนองเดียวกัน

ผมชอบเพลงพื้นบ้าน (ทั้งไทยและจีน) เพราะมันเป็นต้นธารแห่งกวี บทกวีมิได้ล่องลอยลงมาจากสวรรค์ มิใช่เทพประทานบันดาลขึ้นจากอากาศธาตุ กวีเริ่มรังสรรค์ขึ้นโดยหมู่ชาวบ้านหมู่มวลชน เพลงพื้นบ้านกำเนิดจากปากเปล่าแพร่หลายจากปากผ่านหูกระจายออกไป ระหว่างทางผ่านการปรับปรุงเปลี่ยนแปร จนสามารถกล่าวได้ว่า มันเป็นสิ่งที่มวลมหาชนร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนาขึ้น

เนื้อหาของเพลงพื้นบ้าน มักจะเกี่ยวพันกับวิถีชีวิจของชาวบ้าน ซึ่งก็วนเวียนอยู่กับเรื่องการทำมาหากิน ความรักของคนหนุ่มสาว ครอบครัว การเมือง

เพลงพื้นบ้านจีนมีข้อเด่นอยู่ตรงจุดที่มีเนื้อหาทางด้านการเมืองอยู่ไม่น้อย

และในสมัยโบราณ การเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่นจะล้มล้างการปกครองของราชวงศ์ใด ผู้คิดการนั้นก็มักจะใช้วิธีปล่อยข่าวลือในรูปแบบของเพลงพื้นบ้าน เมื่อมีผู้จดจำนิยมเอาไปร้องต่อๆ กัน ก็เท่ากับช่วยปลุกระดมสร้างกระแสการล้มล้างราชวงศ์ขึ้น

เพลงพื้นบ้านที่มีเนื้อหาทางการเมืองอีกแบบหนึ่ง คือเพลงสะท้อนความทุกข์ยากของชาวบ้าน เพลงแบบนี้มีเยอะมาก ยกตัวอย่างให้ดูสักสองสามเพลง

เพลงชักธงรบ (ยุคราชวงศ์หยวน)
ฟ้าสูงฮ่องเต้ห่าง         ชาวบ้านจางขุนนางเกลื่อน
วันหนึ่งเฆี่ยนสามรอบ  ไม่กบฏแล้วจะรอเมื่อใด

ตะวันแดงร้อนดั่งไฟ (ยุคราชวงศ์ซ่ง)
ตะวันแดงรุมเร้าเผาไฟร้อน       ต้นกล้าอ่อนในนาพาเหี่ยวเฉา
อกชาวนาดั่งน้ำร้อนลวกเอา      ลูกหลานลูกเจ้านายเย็นเล่นพัดวี

ขุนนางมาก โลกไม่สงบ (เพลงพื้นบ้านยูนนาน)
ดาวพราวนภา       เดือนไม่กระจ่าง
หลุมบ่อมาก        ทางไม่เรียบ
ปลามากไป         กวนน้ำให้ขุ่น
ขุนนางยิ่งมาก     โลกยิ่งไม่สงบ

หนังสือรวมเพลงพื้นบ้านฉบับที่เก่าแก่ที่สุด คือ “ซือจิง”

ซือจิงรวบรวมเพลงพื้นบ้านและเพลงในพิธีกรรมของราชสำนักยุคราชวงศ์โจวเอาไว้ หนังสือนี้มีมาก่อนปรมาจารย์ขงจื้อ ต่อมาขงจื้อทำการชำระเรียบเรียงใหม่ คัดสรรเอาไว้เพียง 305 บท แบ่งเป็นสามภาค ได้แก่ เฟิง风หย่า 雅และซ่ง 颂

เฟิง คือบทเพลงพื้นบ้าน รวบรวมจากแคว้นต่างๆ 15 แคว้น

หย่า คือบทเพลงในราชสำนักราชวงศ์โจวและก๊กบริวาร ภาคหย่ายังแบ่งย่อยออกเป็น ต้าหย่า大雅(หย่าใหญ่) และเสี่ยวหย่า 小雅(หย่าน้อย) ซึ่งเปรียบได้กับเพลงขนาดยาวและเพลงขนาดสั้น

ซ่ง คือบทเพลงบูชาบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในพิธีบวงสรวง

นักวิชาการเชื่อว่า มีบทเพลงพื้นบ้านที่เก่าแก่กว่าเพลงในซือจิง แล้วพวกเขาก็สืบค้นพบจนได้ เพลงเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ในหนังสือโบราณต่างๆ เหตุผลของนักวิชาการมีละเอียดละออ แต่เรื่องลึกซึ้งทางอักษรศาสตร์จีน จึงขอยกไว้ไม่กล่าวถึง

ตัวอย่างเพลงเก่าแก่เหล่านั้น ก็เช่น “เพลงกระสุน” บันทึกไว้ในหนังสือ “อู๋เยวี่ยชุนชิว 吴越春秋”

กระสุนเป็นอาวุธชนิดหนึ่ง คล้ายกับธนู เพียงแต่ใช้ยิงด้วยลูกดินปั้นกลมๆ แล้วตากแดดให้แข็งเรียกว่าลูกกระสุน

เพลงนี้ใช้คำทั้งสิ้นเพียงแปดคำเท่านั้น กระชับใจความดีมาก รูปแบบคำประพันธ์เป็นวรรคละสองคำ (เพลงในซือจิงใช้วรรคละสี่คำ)

เพลงกระสุน
ตัดไผ่          ต่อไผ่
ดินปืน         ไล่เนื้อ

อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นเพลง “คำสังเวยแด่อีฉี” บันทึกไว้ในหนังสือ “หลี่จี้” เรียบเรียงโดยโจวกงต้วน “อีฉี” คืออีกชื่อหนึ่งของ “เสินหนง กสิกรรมเทพ”

คำสังเวยแด่อีฉี
ทำนบมั่นคง      น้ำลงอยู่บึง
ตัวแมงบ่กวน    ไม้หญ้าล้วนบ่รกนา

เนื้อหาเพลงนี้สะท้อนภาพชีวิตของชาวนา คำสวดอ้อนวอนกสิกรรมเทพ ขอให้ปลอดจากภัยน้ำท่วม มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ปราศจากแมลงศัตรูพืชและวัชพืช

เพลงพื้นบ้านเป็นมรดกที่ล้ำค่า แต่ก็รักษาไว้ไม่ได้ เพราะวิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมาก เดี๋ยวนี้เขาส่งบทเพลงกันตามโทรศัพท์มือถือกันสะดวกกว่าครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น