xs
xsm
sm
md
lg

การทูตแบบ “เหอ-เหอ”

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ก่อนที่ประธานาธิบดีหูจิ่นเทาจะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ (ได้ประกาศยกเลิกเนื่องจากสหรัฐฯประสบภัยพิบัติจากพายุเฮอริเคน “คัทลีน่า”) ได้มีการนำเสนอบทบาทบนเวทีโลกของจีนยุคใหม่ ว่าเป็นผลจากการดำเนินการทูตแบบ “เหอ-เหอ”
ตามความหมายภาษาจีน “เหอ”ตัวแรก หมายถึง “ความกลมกลืน /ปรองดอง” ส่วน “เหอ”ตัวที่สอง หมายถึงการรวมเข้าด้วยกัน
เป็นการเน้นให้เห็นว่า จีนดำเนินนโยบายการทูตบนฐานคิดแบบจีน มองโลกอย่างกลมกลืน ไม่แยกเขาแยกเรา เกิดผลในเชิงสร้างสรรค์ เอื้อต่อการพัฒนาและสันติภาพไปทุกที่ที่จีนเข้าไปถึง
การนำเสนอดังกล่าว ด้านหนึ่ง เป็นสัญญาณบอกว่า การเยือนของผู้นำจีนครั้งสำคัญนี้ (แม้ว่าจะระงับแล้ว แต่ผู้นำจีนยังมีโปรแกรมพบปะกับผู้นำสหรัฐฯในการประชุมใหญ่สหประชาชาติในกลางเดือนกันยายน) จีนมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯทั่วด้าน พร้อมแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการค้า และทางด้านอื่นๆอย่างเต็มที่ ด้วยวิธีการพูดคุย เจรจาตกลงกัน
อีกด้านหนึ่งก็เป็นการย้ำให้เห็นถึงความสำเร็จทางการทูตของจีนในช่วงหลังๆนี้ ว่ามีความสอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เป็นจริงของโลก ซึ่งประเทศอื่นๆกำลังให้ความสนใจ นำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินนโยบายทางการทูตของตน
อีกนัยหนึ่ง นโยบาย “เหอ-เหอ” สอดคล้องกับสภาวการณ์หรือลักษณะแห่งยุคสมัยของสังคมโลกยุคปัจจุบัน ที่ “สันติภาพและการพัฒนา”เป็นจุดมุ่งหมายร่วมกัน โดยประเทศต่างๆพากันรวมกันเข้าเป็นกลุ่มเป็นก้อน มุ่งสู่ความกลมกลืนและปรองดองมากกว่าอย่างอื่นใด ทั้งนี้เพื่อบรรลุสู่จุดมุ่งหมายของสันติภาพและการพัฒนาร่วมกันนั่นเอง
นี่คือกฎแห่งความเป็นจริง
ในสภาวะเช่นนี้ การใช้ “เหอ-เหอ”เป็นหลักนำ จะประสบความสำเร็จได้มากกว่า และจีนได้พิสูจน์ให้เห็นถึง “สัจธรรม”ข้อนี้แล้ว
ตรงกันข้ามกับประเทศที่เล่นบท “คุกคาม-ทำลาย” ใช้สงครามแก้ปัญหา หรือใช้อำนาจบีบคั้นกดดัน เพื่อให้ผู้อื่นทำตามความต้องการของตน ก็จะตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ ดังกรณีของสหรัฐฯที่กำลังติดหล่มสงครามอิรัก และไม่มีปัญหาแก้ไขปัญหาอาวุธนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือ ต้องให้จีนเป็นผู้เดินเกมการทูต ชักนำให้เกาหลีเหนือเข้าสู่โต๊ะเจรจา
แสดงว่า นโยบายการทูตแบบจีน ที่เน้น “เหอ-เหอ”อย่างพลิกแพลง ทั้งกับสหรัฐฯ มหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก กับอียู กับญี่ปุ่น กับอินเดีย กับอาเซียน กับกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา รวมทั้งกับไต้หวันที่กลุ่มเฉินสุยเปี่ยนพยายามสุดขีดที่จะแยกออกจากความเป็นจีน ทรงประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลยิ่งกว่าการทูตแบบเดิมๆของโลกทุนนิยม ที่เน้นใช้ความเหนือกว่าบีบคั้น คุกคาม-ทำลาย เพื่อให้ผู้อื่นปฏิบัติตามความต้องการของตน
ด้วยเหตุนี้เอง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนจึงสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองอย่างต่อเนื่อง ประสบความสำเร็จในทางการทูตบนเวทีโลก ทำให้จีนโลดแล่นไปบนเวทีโลกได้มากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะถูก “เตะสกัด”อยู่ตลอดเวลาก็ตาม

ความคิด “เหอ-เหอ” ชี้นำจีนยุคใหม่
จากการติดตามพัฒนาการที่กำลังดำเนินไปในจีน เราพบว่า ไม่เพียงจีนใช้ความคิด “เหอ-เหอ”ชี้นำทางการทูตเท่านั้น แต่ยังใช้ชี้นำการพัฒนาในประเทศด้วย เช่น กำหนดเป้าหมายการสร้างสังคมอยู่ดีกินอย่างรอบด้านภายในปี ค.ศ.2020
เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจีนได้ประกาศมาตรการสร้างสังคมจีนให้เป็นสังคมกลมกลืนและปรองดอง หรือ “เหอเสียเซ่อฮุ่ย” เร่งดำเนินการปฏิรูประบบ โครงสร้าง และกลไกต่างทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและกฎหมาย สังคม การศึกษา ฯลฯ ให้สอดคล้องและเอื้อต่อการพัฒนาไปสู่จุดหมายปลายทางดังกล่าว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขจัดความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจน เมืองกับชนบท เขตเจริญกับเขตล้าหลัง
การรณรงค์เสริมสร้างความแบบอย่างของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นพรรคบริหารประเทศ ก็เน้นไปในทางปลูกฝังแนวคิด “เหอ-เหอ” อุทิศตัวเพื่อการสร้างสรรค์ “สังคมกลมกลืน-ปรองดอง” พร้อมกันนั้นก็กระจายข่าว ประกาศแผนและนโยบาย ให้เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน เข้ามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและดำเนินการทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ใช้กรณีศึกษาต่างๆ เผยแพร่สู่สาธารณะ ให้การศึกษาแก่ประชาชน ทำให้การสร้างสรรค์สังคมกลมกลืน/ปรองดอง เป็นภารกิจร่วมกันทั้งสังคม
ประเทศจีนใหญ่มาก ประชากรก็มาก การรณรงค์เช่นนี้จึงต้องออกแรงกันมาก แต่ก็น่าเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ เพราะระบอบสังคมนิยมจีนเอื้ออำนวยต่อการระดมพลังแก่นแกนในสังคม และมีประสบการณ์มากในเรื่องปลุกระดมให้ประชาชนเข้าร่วมแบกภารกิจร่วมกัน ซึ่งแตกต่างจากบ้านเราหรือประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆที่ทำอะไรมักจะเหยาะแหยะ หย่อนยาน จะทำอะไรร่วมกันก็ยาก จนกว่าจะเกิดวิกฤติสุดขีด เช่นภัยพิบัติจากสึนามิหรือวิกฤติสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้พร้อมใจบริจาคเงินทองสิ่งของหรือพับนกกระดาษ แต่ก็ขาดพลัง ขาดแกนนำ เกิดปัญหาความขัดแย้งไม่หยุดหย่อน จากเรื่องไม่เป็นเรื่อง โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ที่ขัดกันของกลุ่มอำนาจที่แก่งแย่งกัน
ด้วยแนวคิด “เหอ-เหอ” ดังกล่าว ภาพลักษณ์จีนในสายตาชาวโลกจะโดดเด่นขึ้น และจะเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นปฏิบัติตาม.
กำลังโหลดความคิดเห็น