xs
xsm
sm
md
lg

พ่อเฒ่าขาเป๋ กับ ท่วงทำนองแห่ง 'ฮวงโห'(2)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


เสียงคำรามของใบพัด Hovercraft หยุดลงที่สันดอนเล็กๆ แห่งหนึ่ง กลางแม่น้ำ ......

ผมแทบไม่ได้สังเกตเลยว่า เรือแล่นออกมาไกลจากฝั่งเท่าไหร่แล้ว เพราะระหว่างทางมัวแต่เพลิดเพลินกับบรรยากาศแม่น้ำเหลืองที่นอกหน้าต่าง แม้ท้องฟ้าในวันนี้จะดูขมุกขมัวไปบ้าง แต่ความกว้าง ความอลังการของแม่น้ำเหลืองในส่วนหมางซาน (邙山) กับเสียงเพลง "สดุดีแม่น้ำเหลือง (หวงเหอซ่ง:黄河颂)" ที่คลออยู่ข้างหูก็กระตุ้นให้หัวใจของผม ให้เต้นแรงขึ้นๆ

ผมลงเหยียบลงบนผืนดินที่ถูกโอบล้อมด้วยน้ำสีเหลืองขุ่น กับไอหมอกจางๆ ที่ลอยอยู่เหนือลำน้ำ ......

แม่น้ำเหลืองในส่วนนี้เป็นส่วนที่มนุษย์จัดสรรแบ่งส่วนให้ว่า ตรงจุดหุบดอกท้อ (เถาฮวายู่:桃花峪) นี้ถือเป็นรอยต่อระหว่าง ธารแม่น้ำเหลืองตอนกลาง และธารแม่น้ำเหลืองตอนปลายก่อนจะไหลลงสู่ทะเลป๋อไห่ที่มณฑลซานตง

ความน่าสนใจของจุดชมทิวทัศน์แม่น้ำเหลืองส่วนนี้ไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่การเป็นรอยต่อระหว่างท่อนกลางและท่อนปลายของแม่น้ำเหลือง มิฉะนั้นเมื่อปี 2495 (ค.ศ.1952) ประธานเหมาเจ๋อตง คงไม่ถึงกับมาตรวจตราและเยี่ยมชมสถานที่นี้ด้วยตัวเอง เพราะ แม่น้ำเหลือง ณ ส่วนนี้ยังเป็นส่วนที่มีการสร้างทางรถไฟข้ามแม่น้ำเหลืองเป็นสายแรกอีกด้วย

ทางรถไฟสายประวัติศาสตร์สายนี้เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2442 (ค.ศ.1899) และสร้างเสร็จในอีกหกปีถัดมา ด้วยฝีมือบริษัทจากตะวันตกในยุคที่ประเทศจีนกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิง

ไม่น่าเชื่อเลยว่าเส้นทางรถไฟข้ามแม่น้ำเหลืองเล็กๆ สายนี้กว้างเพียงแค่ 3 เมตรกว่าๆ จะยืนตระหง่านทนทานกับกระแสอันเชี่ยวกรากของแม่น้ำเหลืองได้กว่าครึ่งศตวรรษ ขณะที่ปัจจุบันทางรถไฟประวัติศาสตร์ข้ามแม่น้ำเหลืองสายนี้ก็สร้างถูกทดแทนด้วยทางรถไฟสายที่ใหญ่กว่า ทั้งยังเป็นทางรถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศจีนกว่า 2,295 กิโลเมตร คือ สายปักกิ่ง-กว่างโจว (กวางเจา)

มากกว่านั้น หากย้อนประวัติศาสตร์กลับไปไกลถึงยุคสิ้นสุดของราชวงศ์ฉินเมื่อสองพันกว่าปีก่อน บริเวณริมแม่น้ำเหลืองส่วนนี้ ณ จุดที่เรียกว่า หุบหง (หงโกว:鸿沟) ยังเป็นหุบซึ่งถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ด้วยว่าเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่าง ดินแดนของฌ้อปาอ๋อง (楚霸王) กับ ดินแดนของหลิวปัง (刘邦) สองนักรบผู้ยิ่งใหญ่ ผู้แย่งชิงอำนาจกันในยุคที่ราชวงศ์ฉินสิ้นสลาย*

ผมหันหน้าเข้าริมฝั่งมอง 'หงโกว' ด้วยความพินิจพิเคราะห์ และจินตนาการไปถึงตารางหมากรุกจีน (象棋)

แม่น้ำหรือเส้นแบ่งตรงกลางที่แยกกระดานหมากรุกทั้งสองฝ่าย หรือที่เรียกว่า ฉู่เหอฮั่นเจี้ย (楚河汉界) นั้นว่ากันว่าก็คือ 'หงโกว' นี้เอง และ 'หงโกว' แห่งเดียวกันนี้ที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างความเป็น (ฮ่องเต้) กับ ความตายของฌ้อปาอ๋อง-เซี่ยงอี่ว์ (项羽)

หากใครเล่นหมากรุกจีนเป็นบ้างก็คงทราบดีว่า ตัวพลทหาร (兵, 卒) เมื่อข้ามเส้นแบ่งเขตนี้แล้วจะไม่มีโอกาสถอยหลังกลับสู่ดินแดนบ้านเกิดอีก ทางเลือกของพลทหารเหล่านี้มีอยู่เพียงสองทาง คือ ไม่รุกไล่-ฆ่าฟันศัตรูต่อไปจนประสบชัยชนะ ก็คือจบชีวิตในสงครามเท่านั้น เชื่อกันว่าเอกลักษณ์ในตัวพลทหารของหมากรุกจีนที่แตกต่างไปจากหมากรุกแบบอื่นของโลกก็มาจากเรื่องราวของ เซี่ยงอี่ว์นี่เอง

ผมรัวชัตเตอร์เก็บภาพของฮวงโหจากสันดอนกลางแม่น้ำ ก่อนจะรู้สึกว่ามีมือมาสะกิดที่แขนเสื้อ ...... เมื่อหันหลังไป ก็พบว่ามือที่สะกิดนั้นเป็นของ 'พ่อเฒ่า'

พ่อเฒ่ามาจากบนฝั่ง ข้ามน้ำด้วยเรือค้ำลำเล็กมาหากินกับนักท่องเที่ยวด้วยการขายประทัดพวงใหญ่

เหมือนกับสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศจีนหลายแห่ง เขาบอกกันว่าหากจุดประทัดโดยหันทิศทางเข้าหา 'หงโกว' แล้วจะถือว่าเป็นเรื่องสิริมงคลสำหรับผู้จุด และครอบครัว โดยส่วนตัวแล้ว ผมก็ไม่ได้ศรัทธาในเรื่องนี้ และไม่เคยควักกระเป๋าเพื่อความเชื่อเช่นนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่วันนี้ผมกลับควักเงินยื่นแก่พ่อเฒ่าอย่างไม่ลังเล เพื่อแลกมาด้วยประทัดที่ผมไม่อยากจุด ...... จริงๆ แล้วผมอยากคุยแกมากกว่า

ขาข้างซ้ายของพ่อเฒ่าขาดหายไปและถูกแทนที่ด้วยไม้แข็งท่อนเขื่องท่อนหนึ่ง แกคุยกับผมด้วยสำเนียงท้องถิ่น บอกเล่าถึงแม่น้ำเหลืองในจุดที่เป็นบ้านแกว่า แม่น้ำเหลืองบริเวณนี้กว้าง 8 กิโลเมตร จุดที่กว้างที่สุดนั้นกว้างกว่า 20 กิโลเมตร ส่วนความลึกในส่วนที่ลึกที่สุดนั้นก็เพียงแค่ 4-5 เมตรเท่านั้น

"ช่วงนี้ (ราวต้นเดือนพฤษภาคม) น้ำน้อย ปลูกอะไรไม่ได้ก็ต้องแจวเรือมาขายของให้กับนักท่องเที่ยวที่สันดอนกลางแม่น้ำนี่แหละ เอาประทัดมาขาย เอาม้ามาให้เช่าขี่" ลุงอธิบายถึงสภาพที่อยู่ตรงหน้า
"แล้วช่วงไหนน้ำเยอะที่สุดล่ะ" ผมถามต่อด้วยความอยากรู้
"พอย่างเข้าเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมสิน้ำจะเยอะที่สุด แต่บางปีน้ำก็เยอะท่วมไร่ข้าวโพดเสียหมด ชาวบ้านต้องหนีเข้าไปหากินในเมือง ......"

เสียงเครื่องเรือ Hovercraft ดังกระหึ่มขึ้นอีกครั้งพร้อมกับเสียงหวูดเป็นสัญญาณให้นักท่องเที่ยวทุกคนขึ้นเรือ ผมร่ำลาพ่อเฒ่า พร้อมกับโค้งหัวด้วยความขอบคุณกับคำตอบของแก คำตอบที่ช่วยคลี่ม่านความสงสัยในใจของผมให้กระจ่างขึ้น แม้จะไม่มากมายอะไรแต่ก็เพียงพอ

'แม่น้ำเหลือง' แม้จะมีสถานะเป็นสายธารที่เปรียบเสมือนเป็น 'มารดา' และ 'เปล' ที่ฟูมฟักชนชาติจีนมาตลอดหลายพันปี แต่คราใดที่มารดาผู้นี้พิโรธ สตรีผู้อ่อนโยนก็กลายสภาพเป็นสตรีผู้โหดร้ายได้เช่นกัน ส่งให้อีกนัยหนึ่งแม่น้ำเหลืองยังได้ฉายาว่าเป็น "แม่น้ำวิปโยค-ลำน้ำหายนะ (祸河-害河)" ด้วยเช่นกัน

สถิติระบุว่าในแต่ละปี สายน้ำหวงเหอตอนกลางจะพัดพาโคลนเลนและทรายลงสู่สายน้ำตอนปลาย มีปริมาณมากถึง 400 ล้านตันและนับว่าเป็นแม่น้ำที่มีโคลนเลน-ทรายสะสมอยู่มากที่สุดในโลก โดยเมื่อถูกพัดไป โคลนเลนและทรายเหล่านี้ก็ไปสะสมอยู่ใต้ก้นแม่น้ำเหลืองตอนล่าง ทำให้นานวันเข้าทำให้ลำน้ำตื้นเขินและเกิดภาวะน้ำล้นตลิ่ง ทำลายเขื่อนกั้นน้ำ ก่อให้เกิดอุทกภัยร้ายแรงนับครั้งไม่ถ้วน

อุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดลุกลามไปถึงนครเทียนจินทางทิศเหนือ ขณะที่อุทกภัยอันเกิดจากแม่น้ำเหลืองที่ลงไปทางใต้ นั้นกินเนื้อที่ไปถึงมณฑลเจียงซูและอันฮุย ครอบคลุมพื้นที่ก่อให้เกิดความเสียหายกว้างขวางถึง 250,000 ตารางกิโลเมตร

เรื่องราวของหายนะแห่งแม่น้ำเหลืองที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์จีนนอกจากเรื่อง ต้าอี่ว์ปราบอุทกภัย (大禹治水) แล้วยังมีอีกจำนวนมากมาย อย่างเช่น ซีเหมินเป้าจัดการเหอป๋อ (西门豹治邺)**

'ซีเหมินเป้าจัดการเหอป๋อ' หรือชื่อที่แปลตรงตามต้นฉบับภาษาจีนก็คือ 'ซีเหมินเป้าจัดระเบียบอำเภอเย่' เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับความชาญฉลาดในการแก้ปัญหาหายนะที่เกิดจากอุทกภัยของแม่น้ำเหลืองของขุนนางตงฉินแห่งรัฐเว่ย (魏国) ในยุคสงครามระหว่างรัฐ (จ้านกั๋ว:战国; 403-221 ปีก่อนคริสต์กาล) นาม ซีเหมินเป้า

เดิมทีชาวบ้านอำเภอเย่ รวมถึงที่อยู่ริมตลิ่งแม่น้ำเหลืองเชื่อกันว่า ในแม่น้ำเหลืองนั้นมีเทพองค์หนึ่งที่ชื่อ เหอป๋อ (河伯) สถิตย์อยู่ ครั้งใดที่เหอป๋อพิโรธก็จะบันดาลให้น้ำในแม่น้ำเหลืองปั่นป่วนเข้ามาท่วมเรือกสวนไร่นาและบ้านเรือนของชาวบ้านในอำเภอเย่นี้เสียหมด

อุทกภัยที่เกิดอยู่เป็นประจำนี้เองจึงทำให้ผู้ใหญ่บ้านกับผู้ช่วยนายอำเภอวางแผนชั่วสมคบคิดกับยายแก่ผู้ตั้งตนเป็นแม่มด-หมอผี ป่าวประกาศว่า สาเหตุที่เกิดอุทกภัยอยู่บ่อยครั้งก็เนื่องมาจาก 'เหอป๋อ' ต้องการหาเจ้าสาวมาเป็นคู่ และต้องการเครื่องเซ่นเป็นเนื้อสัตว์ สุรา และอาหารต่างๆ ด้วย

ดังนั้นจึงมีการเร่เก็บเงินภาษีเพื่อประกอบพิธีบวงสรวงเหอป๋อจากชาวบ้านโดยทั่วกัน ซึ่งคิดเป็นเงินแล้วก็เป็นจำนวนมากมายมหาศาลในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วเงินที่ใช้ในงานพิธีบวงสรวงที่ยาวประมาณ 10 กว่าวันนั้นเป็นค่าใช้จ่ายจริงก็เพียงแค่ประมาณ สามในสิบของเงินภาษีเท่านั้น ส่วนอีกเจ็ดในสิบนั้นผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยนายอำเภอกับยายเฒ่าที่แสดงตนเป็นแม่มดกลับนำมาแบ่งสรรเก็บเข้ากระเป๋ากันเอง

นอกจากประเด็นเรื่องอุทกภัยและภาษี ที่ถือเป็นภาระหนักอึ้งของคนในอำเภอแล้ว ประเด็นหนักอกอีกประการหนึ่งของชาวบ้านก็คือ การคัดเลือกหญิงสาวในหมู่บ้านเพื่อนำมาเป็นเจ้าสาวให้กับเหอป๋อทุกปีนั้นทำให้ชาวบ้านบ้านใดที่มีบุตรสาวต้องประหวั่นพรั่นพรึงกันไปหมด เนื่องจากวิธีส่งมอบเจ้าสาวให้แก่เหอป๋อในแม่น้ำเหลืองก็คือ จับหญิงสาวผู้นั้นนั่งบนแผ่นไม้ที่ใช้สำหรับเซ่นสรวง ก่อนปล่อยลอยไปในแม่น้ำเหลืองเรื่อยๆ จนจมลงไปในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านบ้านใดมีลูกสาวก็พากันย้ายสำมะโนครัวหนีไปอยู่ที่อื่นกันหมด นานเข้าชาวบ้านในอำเภอเย่จึงเหลือน้อยลงทุกทีๆ

เมื่อซีเหมินเป้าเดินทางมารับตำแหน่งที่อำเภอเย่ จึงเข้าสอบถามเรื่องราวกับผู้อาวุโสในหมู่บ้าน พอได้ยินเรื่องราวดังเช่นที่ว่า ซีเหมินเป้าก็ออกปากว่า ถ้าวันไหนมีพิธีบวงสรวงตนจะขอเข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วยก็แล้วกัน

พอวันทำพิธีบวงสรวงมาถึง ซีเหมินเป้า ก็เข้าร่วมพิธีด้วยตามที่ว่าไว้ โดยก่อนที่พิธีจะเริ่มขึ้นซีเหมินเป้าได้ออกปากขอดูตัวเจ้าสาวของเทพเหอป๋อ ......

เมื่อมีการนำเอาตัวเจ้าสาวมาให้ซีเหมินเป้าดู ซีเหมินเป้าก็ดำเนินอุบายของตนโดยกล่าวว่า "หญิงสาวคนนี้อัปลักษณ์สิ้นดี!" จากนั้นจึงหันไปหายายเฒ่าแม่มาผู้ทำพิธีแล้วกล่าวว่า "รบกวนให้ยายเฒ่าช่วยลงไปเรียน 'เหอป๋อ' ในแม่น้ำด้วยว่า ทางนี้จะคัดเลือกเจ้าสาวที่สวยที่สุดให้ใหม่ อีก 2-3 วันจะทำพิธีส่งไปให้" พอกล่าวจบซีเหมินเป้าก็สั่งให้ลูกน้องจับยายแม่มดโยนลงไปในแม่น้ำเหลืองเสีย

เมื่อรอได้สักพักยายแม่มดยังไม่โผล่ขึ้นมา ซีเหมินเป้าก็กล่าวต่อว่า ยายเฒ่าชักช้าจริงๆ ลงไปหาเหอป๋อตั้งนานแล้วยังไม่ขึ้นมาเสียที จึงสั่งให้โยนลูกศิษย์ของยายแม่มดลงไปในแม่น้ำเพื่อไปเร่งเรื่องราวอีกรวม 3 คน เมื่อแม่มดและลูกศิษย์รวม 4 คนยังไม่โผล่ขึ้นมา ซีเหมินเป้าก็สั่งให้โยนผู้ใหญ่บ้านที่เป็นชายลงไปอีกหนึ่งคน

จนในที่สุด เหล่าผู้ร่วมสมคบคิดปอกลอกคิดร้ายต่อ ทรัพย์สินและลูกสาวชาวบ้านเมื่อเห็นว่าหากปล่อยไปเช่นนี้ชีวิตตนอาจไม่รอดแน่แล้ว จึงคุกเข่าขอร้องซีเหมินเป้าให้ไว้ชีวิตตนเอง และยอมยกเลิกพิธีบวงสรวง 'เทพเหอป๋อ' แห่งแม่น้ำเหลืองทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แม้พิธีบวงสรวงจะล้มเลิกไปแล้วแต่ซีเหมินเป้าก็ทราบดีว่า ภัยพิบัติของอำเภอเย่อันเกิดจากแม่น้ำเหลืองนั้นจะไม่มีวันจะจบสิ้นลงไปได้ หากตนไม่ดำเนินการจัดการด้านชลประทานให้กับพื้นที่แห่งนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว คิดได้ดังนั้นซีเหมินเป้าจึงเกณฑ์ชาวบ้านในหมู่บ้านให้มาช่วยกันขุดทางน้ำ 12 สายเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก และอีกนัยหนึ่งใช้ประโยชน์จากน้ำในแม่น้ำเหลือง เพื่อมาหล่อเลี้ยงไร่นาของชาวบ้าน จนในที่สุดเรื่องวุ่นวายก็ผ่านไป และ อำเภอเย่ก็สงบสุขลงในที่สุด ......

เรือออกจากสันดอนกลางแม่น้ำเหลืองได้พักใหญ่แล้ว ข้างหน้าผมเห็นเสาไฟฟ้าแรงสูงขนาดใหญ่ที่ยืนตระหง่านทอดข้ามแม่น้ำเหลือง ไกด์ของเรือบอกว่า เมืองเจิ้งโจวจะอยู่ไม่ได้หากปราศจากแม่น้ำเหลืองเพราะไฟฟ้าส่วนหนึ่งและน้ำประปาทั้งหมดของเมืองนั้นนำมาจากแม่น้ำสายนี้ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับเมืองใหญ่ๆ ทางภาคเหนือจำนวนมากของประเทศจีน

ผมเหลียวกลับไปพยายามมองหา 'พ่อเฒ่า' ...... พ่อเฒ่าคงกำลังรอรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่เดินทางมากับเรือสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกลำถัดไป

"อีก 2-3 เดือนข้างหน้าเมื่อถึงฤดูน้ำหลากพ่อเฒ่าจะไปหากินที่ไหนหนอ" ผมรำพึงกับตัวเองในใจ

บางทีในวันข้างหน้าผมคงมีโอกาสบังเอิญได้พบเจอ 'พ่อเฒ่าแห่งฮวงโห' อีกครั้ง อาจเป็นที่ปักกิ่งหรือเมืองใหญ่ที่ไหนสักแห่งในประเทศจีน

Tips สำหรับการเดินทาง:
- จุดชมทิวทัศน์แม่น้ำเหลืองส่วนหมางซาน (邙山黄河游览区) ค่าบัตรผ่านประตู 30 หยวน ค่านั่งเรือ Hovercraft 65 หยวน (ระยะทางล่องลำน้ำเหลืองของเรือรวมประมาณ 18 กิโลเมตร) จุดชมทิวทัศน์แม่น้ำเหลืองอยู่ห่างจากตัวเมืองเจิ้งโจวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 30 กิโลเมตร สามารถขึ้นรถประจำทางสาย 16 จากบริเวณสถานีรถไฟเมืองเจิ้งโจวไปได้ หรือ ถ้าต้องการความสะดวกก็สามารถเหมารถแท็กซี่ไปได้เช่นกัน

อ้างอิงจาก :
*หนังสือท่องเที่ยวเหอหนาน-เหอเป่ย ฉบับท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (臧羚羊自助游) : สำนักพิมพ์ 中国大百科全书出版社, ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2004 และ 郑州晚报 ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 2004 จากเว็บไซต์ www.sina.com.cn
**หนังสือ 世界文化史故事大系•中国卷 โดย จูอี้เฟย และ หลี่รุ่นซิน (朱一飞,李润新) สำนักพิมพ์ 上海外语教育出版社 หน้า 15-19 และ หนังสือ 古代汉语课本 (第一册) โดย 徐宗才 หน้า 215-216 โดยเรื่อง 西门豹治邺 นี้นั้นถูกคัดมาจาก 《史记·滑稽列传》




กำลังโหลดความคิดเห็น