xs
xsm
sm
md
lg

พ่อเฒ่าขาเป๋ กับ ท่วงทำนองแห่ง 'ฮวงโห'(1)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


อ.โจว อาจารย์ผู้สอนวิชาปรัชญาจีนของผมเป็นคนเหอหนาน

แม้จะเป็นคนเหอหนาน แต่แกก็มักจะเล่าถึงบ้านเกิด อย่างตรงไปตรงมาและไม่เกรงใจคนบ้านเดียวกันว่า คนจีนส่วนใหญ่มักกลัวคนเหอหนาน โดยมักจะได้ยินคนจีนด่ากันบ่อยๆ ว่า

"คนเหอหนานแม่ง 18 มงกุฎทั้งนั้น!"

คำกล่าวนี้คงจะไม่ใช่เป็นการด่าแบบเหมารวม มิฉะนั้นอาจารย์ของผมก็คงกลายเป็นสิบแปดมงกุฎไปกับเขาด้วย แต่จริงๆ แล้วในสังคมจีนก็เป็นที่ทราบกันดีว่า คนเหอหนานที่ไม่ได้รับการศึกษานักมักจะเป็นที่รังเกียจของคนถิ่นอื่น จนบางครั้งเข้าขั้นหวาดกลัว

มีคนจีนเคยเล่าว่าเวลาไปซื้อของให้บอกว่าเป็นคนเหอหนานก็จะได้ราคาถูกพิเศษ เพราะคนเหอหนานนั้นขึ้นชื่อว่าโคตรเขี้ยว ขอทาน โจร-ขโมย (ตั้งแต่ลักเล็กขโมยน้อยไปถึงขุดโบราณสถาน-สุสานฮ่องเต้) จำนวนไม่น้อยก็เป็นคนเหอหนาน ขึ้นชื่อจนถึงขั้นตำรวจของเมืองบางเมืองต้องแขวนป้ายประกาศเตือนแบบไม่เกรงใจว่า "ระวัง! คนเหอหนาน"

ตามประสานักปรัชญา อ.โจว เองก็พยายามคิดเล่นๆ หาสาเหตุถึงการไม่เอาการเอางาน(สุจริต) ของคนเหอหนานจำนวนหนึ่งว่า อาจเป็นไปได้ว่าคนเหอหนานคงได้รับอิทธิพลทางปรัชญาในการดำรงชีวิตจาก เหลาจื่อ กับ จวงจื่อมามาก โดยปรมาจารย์แห่งลัทธิเต๋าทั้งสองท่านนั้นก็เป็นคนเหอหนาน (อย่างน้อยๆ บ้านเกิดของปราชญ์ทั้งสองท่านนี้ก็คือรัฐที่กลายเป็นพื้นที่ของมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน โดยเหล่าจื่อนั้นเป็นคนรัฐฉู่ (楚) ส่วนจวงจื่อนั้นเป็นคนรัฐเหมิง (蒙; รัฐเล็กๆ ที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่บนรอยต่อของมณฑลเหอหนานกับซานตง))*

ประเด็นเรื่องนักคิด นักปรัชญาจีนโบราณ กับความคิดที่ส่งอิทธิพลต่อคนปัจจุบันในพื้นที่ต่างๆ นั้น อย่าหาว่าเป็นเรื่องล้อเล่นนะครับ แม้ปราชญ์เหล่านี้จะดำรงชีวิตอยู่ในอดีตเมื่อ 2 พันกว่าปีที่แล้วแต่อิทธิพลของปราชญ์ชื่อดังจำนวนไม่น้อยก็ยังดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ขงจื่อ (ขงจื๊อ) กับมณฑลซานตง

บ้านเกิดขงจื๊อ อยู่ในรัฐหลู่ (鲁) ซึ่งปัจจุบันก็คือมณฑลซานตง ถึงปัจจุบันในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของประเทศจีน นักเรียนจากมณฑลซานตงก็ยังทำคะแนนสอบเข้าได้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศจีน อย่างเช่น ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยปักกิ่งนั้น ในมณฑลอื่นนักเรียนสอบได้ 500 กว่าๆ คะแนนก็อาจเข้ามหาวิทยาลัยปักกิ่งได้แล้ว ในขณะที่เด็กในมณฑลซานตงหากต้องการจะเข้ามหาวิทยาลัยปักกิ่งนั้นก็ต้องทำข้อสอบให้ได้มากกว่า 600 คะแนน

เขาว่ากันว่า ที่ซานตงผลิตบุคคลระดับปัญญาชนมาได้มากมายขนาดนี้ ก็เพราะอิทธิพลของขงจื๊อนี่แหละ!
..........................................
เสียงจาก ใบพัดคู่ของ Hovercraft คำรามก้องไปทั่วบริเวณริมตลิ่ง ......

นอกจากเรื่องที่ว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมได้นั่งพาหนะสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกนาม Hovercraft การล่องแม่น้ำครั้งนี้ก็คงจะไม่แปลกอะไรนักหากแม่น้ำที่ตระหง่านอยู่เบื้องหน้าของผมไม่ใช่แม่น้ำนาม ... ฮวงโห

ฮวงโห หวงเหอ (黄河) หรือ แม่น้ำเหลือง คือ แม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับสองรองจากแม่น้ำแยงซีเกียง (ฉางเจียง:长江) คลิกฟัง เสียงเพลง สดุดีแม่น้ำเหลือง (หวงเหอซ่ง:黄河颂) ได้ที่นี่ manager media audio clip)

ต้นสายแม่น้ำเหลืองนั้นอยู่เหนือระดับน้ำทะเลกว่า 4,500 เมตร ณ เทือกเขาคุนลุ้น (昆仑) มณฑลชิงไห่จากเทือกเขาคุนลุ้น แม่น้ำเหลืองไหลผ่านที่ราบสูงมาทางทิศตะวันออก ผ่านมณฑล เสฉวน (ซื่อชวน) กานซู่ หนิงเซี่ย มองโกเลียใน ส่านซี ซานซี เหอหนาน และซานตง คดเคี้ยวเป็นอักษรจีนรูปตัว 几 รวมระยะทางยาวกว่า 5,464 กิโลเมตร และที่สำคัญเมื่อรวมกับพื้นที่ของแม่น้ำสาขาแล้ว น้ำจากแม่น้ำเหลืองได้ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงและให้ความชุ่มชื้นแก่พื้นที่กว้างขวางกว่า 750,000 ตารางกิโลเมตร

สำหรับที่มาของชื่อเสียงเรียงนามของคำว่า "แม่น้ำเหลือง" นั้นก็เนื่องจากเมื่อแม่น้ำสายนี้ไหลเข้าสู่ที่ราบดินเหลืองบริเวณมณฑลเหอหนาน ดินเลนและทรายจำนวนมากจึงเข้ามาผสมผสานกับสายน้ำที่ไหลมาจากต้นธารทำให้กลายเป็นสีเหลืองขุ่น โดยสถิติระบุว่า ฮวงโหนั้นเป็นแม่น้ำที่มีปริมาณของเลนและทรายจำนวนมากที่สุดในโลก คือ เฉลี่ย 37 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่คนจีนเองก็มีคำกล่าวกันว่า

"หากตักน้ำจากแม่น้ำเหลืองมาหนึ่งชาม ก็จะพบว่าเป็นเลนอยู่เสียครึ่งชาม"

อย่างไรก็ตาม แม้น้ำจะขุ่นจนเป็นสีเหลืองข้นคลั่กขนาดไหน สำหรับคนจีนแล้วแม่น้ำเหลืองก็ยังคงความเป็นสัญลักษณ์ของการเป็น "แม่น้ำ หรือ 母亲河" ในความหมายของ สายธารอันเปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิดชาวจีนทั้งมวล อย่างที่ แม่น้ำสายที่ยาวที่สุดอย่างแยงซีเกียง หรือแม่น้ำสายอื่นๆ ในประเทศจีนมิอาจทดแทนได้

นอกจากจะเปรียบเทียบ แม่น้ำเหลืองเป็นดั่ง "มารดา" แล้วนับแต่อดีตคนจีนยังเปรียบแม่น้ำสายนี้เป็น "เปล" ที่ฟูมฟักและเลี้ยงดูชนชาติจีนให้กลายเป็นชนชาติที่สามารถพัฒนาการผลิตอาหารได้เป็นชนชาติแรกๆ ของโลก ร่วมกับดินแดนพระจันทร์เสี้ยวในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เมโสอเมริกา (บริเวณอเมริกากลาง) แถบเทือกเขาแอนดีส-แอ่งอะเมซอนในอเมริกาใต้ และทางภาคตะวันออกของสหรัฐอเมริกา**

การเป็นแหล่งผลิตอาหารแหล่งแรกๆ ของโลกนี้มิได้มีนัยยะเพียงแค่การมีชีวิตรอด และกินอิ่มของบรรพบุรุษชาวจีนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความสามารถในการพัฒนาอารยธรรมจีนให้สามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในชั้นแนวหน้าของมวลมนุษย์ได้อีกด้วย

ดังเช่นที่กล่าวไปแล้วว่า ในพื้นที่ซึ่งแม่น้ำเหลืองไหลผ่านนี้เอง อารยธรรมจีนได้ถือกำเนิดขึ้นโดยที่เป็นที่ยอมรับและทราบกันทั่วไปก็คือ วัฒนธรรมหยั่งเสา (仰韶文化; ขณะที่อารยธรรมที่ถือกำเนิดแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงและมีระยะเวลาใกล้ๆ กันนั้นก็คือ วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ (河姆渡文))

กระเถิบใกล้เข้ามาอีกหน่อย เทพเสินหนง หวงตี้ เหยา (尧) ซุ่น (舜) อี่ว์ (禹) เหล่าบรรพบุรุษในประวัติศาสตร์ยุคตำนานเทพเจ้าของชาวจีนต่างก็ดำรงชีวิตอยู่ในแถบแม่น้ำเหลืองนี้ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ว่ากันว่า ตามตำนาน ต้าอี่ว์ปราบอุทกภัย (大禹治水) นั้นอุทกภัยที่เกิดขึ้นก็เกิดจากแม่น้ำเหลืองนี่เอง โดยเรื่องนี้เล่ากันว่า หลังจากแต่งงานได้เพียง 4 วัน ต้าอี่ว์ก็อาสาไปจัดการกับอุทกภัยที่เกิดขึ้น โดยเป็นผู้วางแผนและผู้นำให้ชาวบ้านไปช่วยกันขุดทางน้ำไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมหมู่บ้าน

ตำนานดังกล่าวยังเติมแต่งสีสันเข้าไปด้วยว่า ต้าอี่ว์ทุ่มเทกับภารกิจนี้มากจนถึงขนาดที่ว่า เมื่อเดินผ่านประตูบ้านตัวเอง 3 ครั้ง ต้าอี่ว์ก็ยังคงจดจ่ออยู่กับงานอดใจไม่เดินเข้าไปในบ้าน แม้แต่ภรรยาตัวจะคลอดบุตร ถึงจะได้ยินเสียงร้องของเด็กแรกเกิด ต้าอี่ว์ก็ยังกลั้นใจไม่เข้าไปดูหน้าภรรยาและลูกที่เพิ่งลืมตาดูโลก

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าต่อไปด้วยว่า เนื่องจากในการขุดทางน้ำนั้นดันมีภูเขานาม 'หลงซาน' กั้นทางไหลของแม่น้ำเหลืองไว้อีก ด้วยเหตุนี้ต้าอี่ว์จึงแปลงร่างกลายเป็นหมีเข้าไปขุดทางน้ำในภูเขาต่อ จนในที่สุดหลังจากใช้ความพยายามอยู่กว่า 8 ปี (บางตำนานว่า 13 ปี) แม่น้ำเหลืองก็ไหลลงสู่ทะเลได้ ส่วนต้าอี่ว์ก็กลายเป็นผู้นำเผ่าในที่สุด

ตำนานต้าอี่ว์ปราบอุทกภัย นี้เป็นเรื่องราวที่คนจีนระบุว่ามีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือตั้งแต่ 4,000 ปีก่อน อันพิสูจน์ได้ถึง ภูมิปัญญาในเรื่องการรับมือกับภัยธรรมชาติอันร้ายแรงของชาวจีนที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล รวมไปถึงภูมิปัญญาในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาพลังการผลิตด้านการเกษตร การสร้างเครื่องมือเพื่อใช้ในการเกษตร เครื่องมือที่ใช้ในการล่าสัตว์ การอยู่เป็นชุมชน การประดิษฐ์อาวุธ เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ ที่พักอาศัย รวมไปถึงการประดิษฐ์ตัวหนังสือด้วย

วัฒนธรรมเหล่านี้ของชาวจีนที่ตกทอดมาเป็นเวลายาวนานจวบจนปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวพันกับ สายน้ำที่เปรียบเสมือนมารดา นาม "แม่น้ำเหลือง" ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม :
- เรื่อง แม่น้ำเหลือง (1) และ แม่น้ำเหลือง (จบ) คอลัมน์สารพันเรื่องจีน ในมุมจีน เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์

อ้างอิงจาก :
*หนังสือประวัติศาสตร์ย่อปรัชญาจีน (中国哲学简史:A Concise History of Chinese Philosophy) โดย 冯友兰 : สำนักพิมพ์ 新世纪出版社, ฉบับ ค.ศ.2004
**Guns, Germs and Steel:The Fates of Human Societiesโดย Jared Diamond ภาษาไทยจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์คบไฟ
กำลังโหลดความคิดเห็น