xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมจีน (10) ระบอบปกครอง

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

การศึกษาเรื่องจีนค่อนข้างจะยุ่งยากมากสำหรับคนทั่วๆ ไปในประเทศไทย ทั้งนี้เพราะว่าการจะเข้าใจจีนปัจจุบัน นอกจากเราต้องศึกษาวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์จีนสี่ห้าพันปีแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจกับแนวคิดลัทธิสังคมนิยม วัฒนธรรมสังคมนิยมแบบจีน เพื่อที่จะทำความเข้าใจเรื่องราวของสังคมจีนยุคใกล้อีกด้วย ปัญหาอยู่ที่ว่าระบบการศึกษาของไทยไม่ค่อยสอนกันเรื่องสังคมนิยม เรื่องคอมมิวนิสต์กัน คนไทยก็เลยไม่ค่อยจะเข้าในวิธีคิดของรัฐจีนทุกวันนี้

ย้อนกลับมามองวัฒนธรรมจีนกันต่อ หัวข้อวัฒนธรรมที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญที่สุดคือด้านเศรษฐกิจ

มองอย่างนี้หลายท่านอาจสงสัยว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นวัฒนธรรมด้วยหรือ ถ้าเช่นนั้นผู้เขียนเปลี่ยนคำเสียหน่อย เป็นคำว่า “ทำมาหากิน”

การทำมาหากินเป็นภาคใหญ่ภาคสำคัญในเรื่องวัฒนธรรม การทำมาหากินนี่แหละวางรากฐานสร้างวัฒนธรรมขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คนไท คนจ้วง (ในตระกูลภาษาไท) และชาวชนในแถบกังหนำ (ภาคใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง) ทำมาหากินด้วยการทำนาปลูกข้าว การทำนาปลูกข้าวมาหลายพันปีก่อให้เกิดวัฒนธรรมแบบหนึ่ง จะเรียกว่าวัฒนธรรมข้าวก็ได้ ซึ่งยังแยกย่อยลงไปได้อีก เช่น ชาวชนวัฒนธรรมปลูกข้าวเจ้า ชาวชนวัฒนธรรมปลูกข้าวเหนียว (การกินข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องพัฒนาการของกับข้าว) ชาวชนวัฒนธรรมปลูกข้าวไร่ ชาวชนวัฒนธรรมทำนา เป็นต้น

การทำมาหากินโดยการปลูกข้าวเป็นรากฐานสร้างวัฒนธรรมแบบหนึ่งขึ้น ซึ่งมันต่างจากวัฒนธรรมที่เติบโตจากรากฐานการเพาะปลูกข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์ แบบชาวหัวเซี่ย (จีนดั้งเดิม)

ยกตัวอย่างนี้คงจะช่วยให้ยอมรับกันได้ว่าการทำมาหากินหรือเรื่องเศรษฐกิจนั่นเองเป็นภาคสำคัญของวัฒนธรรม

ระบอบการเมืองก็ตั้งอยู่บนรากฐานของเศรษฐกิจหรือการทำมาหากิน

อธิบายคำว่าการเมืองให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือระบบกฎเกณฑ์ที่สังคมนำมาใช้ในการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ในการทำมาหากินนั่นเอง

ระบอบการเมืองหมายถึงรูปแบบการจัดตั้งของอำนาจทางการเมืองในรัฐ มันมีเนื้อหาสองด้าน ด้านหนึ่งคือโครงสร้างองค์กรอำนาจรัฐ (เฉพาะอย่างยิ่งองค์กรอำนาจสูงสุด) ลำดับการจัดตั้ง การจัดสรรแบ่งกระจายอำนาจ เป็นต้น ด้านที่สอง คือหลักการจัดตั้งโครงสร้างของรัฐ เช่น หลักการที่ต้องปฏิบัติตามในการก่อตั้งองค์กรของรัฐ และหลักการในการปฏิบัติงาน เป็นต้น

เมื่อพิจารณาในกรอบข้างต้นแล้ว เราจะพบว่าจีนในสมัยโบราณได้ผ่านระบอบการเมืองมาสองระบอบ (ก่อนหน้าปฏิวัติประชาธิปไตย) ได้แก่ ระบอบอภิมุข เจ้าขุนมูลนายตามโคตรวงศ์ กับระบอบอภิมุขศักดินา

ก่อนอื่นเห็นจะต้องอธิบายคตินิยมเรื่องการเคารพบูชาโคตรวงศ์บรรพบุรุษเสียก่อน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเพณีการเคารพบูชาบรรพชนบรรพบุรุษของชาวจีนนั้นยังเข้มข้นอยู่ถึงปัจจุบัน ในยุคโบราณ ราชวงศ์เซี่ย ซาง โจว โดยเฉพาะยุคราชวงศ์โจวได้พัฒนาระบอบการเคารพบูชาโคตรวงศ์บรรพบุรุษให้สมบูรณ์เป็นระบบเรียกว่า “จงฝ่า 宗法” (จารีตโคตรวงศ์) ซึ่งจารีตนี้ยังส่งอิทธิพลเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมจีนมาจนถึงทุกวันนี้

ในยุคบรรพกาล หน่วยทางสังคมจัดตั้งผูกพันกันทางสายโลหิต คนเผ่าหนึ่งเป็นเครือญาติในโคตรวงศ์หนึ่ง ซึ่งจะมีพันธมิตรเป็นเครือญาติโดยการแต่งงานข้ามเผ่า ซึ่งก็นับเป็นโคตรวงศ์เดียวกันก็ได้ เพียงแต่จะเลือกนับบรรพบุรุษฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง

ในโลกตะวันตก เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านจากยุคบรรพกาลเข้าสู่สังคมชนชั้น และค่อยๆ พัฒนาเป็นรัฐขึ้นนั้น ได้ทำลายตัดขาดเงื่อนสัมพันธ์ทางสายโลหิตอย่างสิ้นเชิง โดยก่อตั้งอำนาจรัฐขึ้นบนพื้นฐานของความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันในแง่การพำนักอยู่ตรงพื้นที่ใด หรือความสัมพันธ์ทางด้านการครอบครองที่ดินนั่นเอง

ส่วนการข้ามผ่านจากสังคมบุพกาลถึงสังคมชนชั้นและก่อตั้งรัฐในลุ่มแม่น้ำเหลืองนั้น มิได้ตัดขาดเงื่อนสัมพันธ์ทางสายโลหิตหรือความเป็นโคตรวงศ์เดียวกันไปเสียหมด

ตรงกันข้าม กลับสร้างอำนาจรัฐที่ตั้งอยู่บนรากฐานการเคารพบูชาโคตรวงศ์บรรพบุรุษ

ระบอบอภิมุขเจ้าขุนมูลนายตามโคตรวงศ์ (จงฝ่ากุ้ยจู๋จวิ้นจู่จื้อ 宗法贵族君主制) มีลักษณะดังต่อไปนี้

1. องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐสูงสุดมีสองส่วน ได้แก่ สภาของผู้นำในกลุ่มของประมุข กับผู้นำในกลุ่มของเจ้าขุนมูลนาย

2. ประมุขและขุนนาง (เจ้าขุนมูลนาย) ดำรงตำแหน่งตลอดชีพ และสืบทอดตำแหน่งทางสายโลหิต

3. ประมุขกับสภาเจ้าขุนมูลนาย (ขุนนาง) มีความสัมพันธ์ 2 ด้าน คือ ทั้งพึ่งพิงอาศัยกันและกัน กับถ่วงดุลควบคุมกันและกัน สภาเจ้าขุนมูลนายสามารถแนะนำ กำกับหรือปลดออก เนรเทศ กระทั่งประหารประมุขที่ชั่วร้ายเสียก็ได้

4. หลักการจัดตั้งของรัฐถือหลักความสัมพันธ์ทางสายเลือด นั่นคือบรรดาชนชั้นสูงที่เป็นผู้ปกครองเมืองต่างๆ ก็เป็นเครือญาติในโคตรวงศ์เดียวกันกับประมุข หรือในโคตรวงศ์อื่นที่ดองกันทางการแต่งงาน (ข้ามแซ่)

ในยุคราชวงศ์เซี่ย ซางและโจว รูปแบบโครงสร้างของรัฐมีองค์กรส่วนกลางและองค์กรส่วนท้องถิ่น ประมุขแต่งตั้งเครือญาติไปกินเมือง (ก๊ก) ใดก๊กหนึ่ง ผู้กินเมือง (เฟินเฟิง 分封) มีสองบทบาทหรือสองหัวโขน บทบาทหนึ่งคือเป็นขุนนางของราชสำนัก อีกบทบาทหนึ่งคือเป็นราชา (จูโหว 诸侯– สามนตราช) ในดินแดนที่ตนได้รับแต่งตั้งให้ครอบครอง

แต่เรื่องราวข้างต้นนั้นเราจะไม่สนใจก็ได้ เพราะมันถูกเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้วโดยจิ๋นซีฮ่องเต้
กำลังโหลดความคิดเห็น