xs
xsm
sm
md
lg

เหอหนาน อู่อารยธรรมจีน

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ผมลงจากรถบัสที่มาถึงเจิ้งโจว ในวันที่ฝนกำลังตกพรำ ......

เจิ้งโจวเป็นเมืองเอกของมณฑลเหอหนาน และยังเป็นเมืองศูนย์กลางของการคมนาคมในภาคกลางของประเทศจีนอีกด้วย ด้วยความที่มีทางรถไฟสายสำคัญหลายสายพาดผ่าน

ชื่อ 'เหอหนาน' นี้หากใครพอจะรู้ภาษาจีนบ้างก็คงจะแปลออกได้ว่า เป็นพื้นที่อันอยู่ทางด้านใต้ของแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวจีนมาตั้งแต่โบราณกาล จวบจนปัจจุบันแม่น้ำสายนี้มีนามว่า แม่น้ำเหลือง 'ฮวงโห' ชื่อที่คนไทยรู้จักกันดี หรือ 'หวงเหอ' (黄河) ในภาษาจีนกลาง

และหากจะกล่าวว่าด้วยสาเหตุภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำเหลืองนี้เองเป็นสาเหตุให้พื้นที่ในเขตมณฑลเหอหนานปัจจุบันกลายเป็น 'อู่อารยธรรม' ของชาวจีนทั้งมวลก็คงไม่ผิดนัก

ถึงปัจจุบันในอาณาบริเวณของมณฑลเหอหนานปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของมนุษย์มาตั้งแต่สมัย ยุคหินเก่า หรือ ตั้งแต่สมัยที่บรรพบุรุษของเรายังอาศัยกันอยู่ในถ้ำ ยุคหินใหม่ จนถึงยุคที่เริ่มมีการเพาะปลูกทำเกษตรกรกันมากมาย

ทั้งนี้หลักฐานที่ค้นพบในเหอหนานเหล่านี้นับว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงชั้นดีในการศึกษาวิวัฒนาการการรวมกลุ่มของมนุษย์อันเป็นบรรพบุรุษของชาวจีนได้อย่างดี เนื่องจากมีการค้นพบวัตถุโบราณและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แทบจะไม่ขาดช่วงเลยนับตั้งแต่ยุคมนุษย์ถ้ำ การก่อร่างสร้างตัวทางวัฒนธรรม กระทั่งถึงการรวมกลุ่มของประชากรตั้งขึ้นเป็นเมือง ก่อตัวเป็นชนชาติ โดยอีกหนึ่งข้อยืนยันสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าเหอหนานเป็นอู่อารยธรรมของชาวจีนมาโดยตลอดระยะเวลาหลายพันปีก็คือ การที่ 3 ใน 7 ของราชธานีโบราณของชาวจีนอันประกอบไปด้วย อันหยาง ลั่วหยาง ไคเฟิง ต่างตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของเหอหนานทั้งสิ้น (ส่วนราชธานีอีก 4 แห่งนั้นประกอบด้วย ซีอาน หางโจว หนานจิง และ ปักกิ่ง)

สำหรับผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์จีนยุคเก่ามาบ้างคงทราบดีว่า ความสำคัญในการเป็นเมืองหลวงโบราณของ 'อันหยาง (安阳)' ที่อยู่บริเวณตอนเหนือของเหอหนาน นั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะกล่าวโยงใยไปถึงการขุดค้นพบอักษรบนกระดองเต่า-กระดูกสัตว์

อักษรบนกระดองเต่า-กระดูกสัตว์ (เจี๋ยกู่เหวิน:甲骨文) มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในระดับที่เรียกว่าสุดจะประมาณได้ ด้วยความที่เป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่ยืนยันว่า ราชวงศ์เซี่ย (夏; 2,100 ปีก่อนคริสต์ศักราช-1,700 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และ ซัง (商; 1,700 ปีก่อนคริสต์ศักราช -1,100 ปีก่อนคริสต์ศักราช) นั้นมิได้เป็นเพียงตำนาน หรือนิยายปรัมปราที่บรรพบุรุษของชาวจีนจดบันทึกเอาไว้จากจินตนาการ

บ่ายวันเดียวกันผมเดินผ่านรั้วเตี้ยเข้าไปในอาคารทรงแปลกรูปร่างคล้ายปิรามิดของอียิปต์ ริมถนนหนงเย่กลางเมืองเจิ้งโจว เมืองเจิ้งโจวนอกจากการเป็นเมืองธุรกิจ-อุตสาหกรรมหลักของมณฑลเหอหนานแล้วก็ไม่มีอะไรให้เที่ยวชมมากนัก แต่จะเรียกได้ว่าของดีในอดีตของเหอหนานถูกคัดสรรและบรรจุรวมอยู่ภายในอาคารแห่งนี้ก็คงได้ เพราะที่นี่คือ "พิพิธภัณฑ์เหอหนาน"

พิพิธภัณฑ์เหอหนาน เป็นพิพิธภัณฑ์ในระดับมณฑลที่กล่าวได้เต็มปากว่า เป็นพิพิธภัณฑ์ชั้นแนวหน้าของประเทศจีนร่วมกับ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่กรุงปักกิ่ง พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ หรือ พิพิธภัณฑ์เจ้อเจียง เป็นต้น ที่ผมเคยพาเที่ยวชมไปบ้างแล้ว

พิพิณภัณฑ์เหอหนานเดิมตั้งอยู่ที่เมืองไคเฟิง ก่อนที่ในปี 2504 (ค.ศ.1961) จะถูกย้ายตามเมืองเอกของเหอหนานมาอยู่ที่เจิ้งโจว พิพิธภัณฑ์ปัจจุบันเริ่มสร้างเมื่อปี 2534 (ค.ศ.1991) ก่อนที่จะเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้เข้าชมเมื่อปี 2542 (ค.ศ.1999) โดยแบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 4 ชั้น 12 ห้องจัดแสดงหลัก 4 ห้องจัดแสดงชั่วคราว มีพื้นที่จัดแสดงมากกว่า 1 หมื่นตารางเมตร และบรรจุวัตถุโบราณเอาไว้มากกว่า 13,000 ชิ้น โดยในจำนวนนี้เป็นวัตถุโบราณชิ้นสำคัญของประเทศจีนในระดับ 1 และ 2 กว่า 5,000 ชิ้น*

การจัดแสดงรับผู้เยี่ยมชมของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่การชมหลักฐานเป็นๆ ของวัฒนธรรมยุคหินเก่า (ราว 100,000 ปีก่อน) เรื่อยมาจนถึงยุคหินใหม่ที่เริ่มมีการเรียนรู้ที่จะทำการเกษตร โดยในมณฑเหอหนานมีการขุดค้นพบวัฒนธรรมยุคหินใหม่ที่เรียกว่า เผยหลีกั่ง (裴李岗; 5,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช-4,900 ปีก่อนคริสตศักราช)

ถัดจากนั้นก็เป็น วัฒนธรรมหยั่งเสา (仰韶文化; ราว 6,000-5,000 ปีก่อน) โดยเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมหยั่งเสานั้นก็คือ การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนของมนุษย์ในยุคเริ่มแรกที่ยังเป็นการผสมผสานกันระหว่างการหาของป่า-ล่าสัตว์-ตกปลา และการเพาะปลูก-ทำเกษตร ในอารยธรรมยุคที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ (母系氏族 หรือ Matriarchy) และสัญลักษณ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของวัฒนธรรมหยั่งเสาก็คือ เครื่องปั้นดินเผาสี ที่จากการขุดค้น ณ เหอหนาน นั้นพบว่ามนุษย์ในวัฒนธรรมหยั่งเสานั้นมีปัญญาสามารถประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผาได้แล้ว นอกจากนี้ยังถ่ายทอดความเชื่อของตนออกเป็นลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือในการดำรงชีวิตด้วย เช่น เครื่องปั้นดินเผาลายปลา ลายนก ลายสัตว์ชนิดอื่นๆ ลายพืช ลายดวงดาว โดยการค้นพบเหล่านี้ส่งให้ 'วัฒนธรรมหยั่งเสา' ได้ฉายาว่าเป็น 'วัฒนธรรมแห่งเครื่องปั้นดินเผาสี (陶器文化)'**

สำหรับผม สิ่งจัดแสดงที่น่าตื่นเต้นชิ้นแรกของพิพิธภัณฑ์เหอหนานก็คือ การจำลองเอาการค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2530 (ค.ศ.1987) ที่ ผูหยาง (濮阳) มณฑลเหอหนาน มาบรรจุไว้ในพิพิธภัณฑ์ เป็นการเรียงเปลือกหอยเป็นรูปมังกรกับพยัคฆ์หันหน้าเข้าประชันกันของมนุษย์ที่ใช้ชีวิตเมื่อ 6,000 กว่าปีก่อน โดยการค้นพบครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า 'มังกร' ผูกพันอยู่กับวัฒนธรรมจีนมาอย่างยาวนาน ทำให้ในเวลาต่อมา การเรียงเปลือกหอยรูปมังกรนี้ถูกให้ฉายาว่าเป็น พญามังกรแห่งหัวเซี่ย (华夏巨龙)

คล้อยหลังจากยุควัฒนธรรมหยั่งเสา เหอหนานก็มีการขุดค้นพบหลักฐานของ วัฒนธรรมหลงซาน (龙山文化; ราว 5,000-4,000 ปีก่อน ค้นพบในบริเวณมณฑลซานตง เหอหนาน ส่านซี เป็นต้น) โดยวัฒนธรรมหลงซานนี้เป็นช่วงที่มนุษย์เพศชายเริ่มมีอำนาจเหนือเพศหญิง เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านจากยุคหินไปยังยุคสัมฤทธิ์ เมื่อประกอบเข้ากับการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือทำการเกษตรที่นำมาสู่การเพิ่มผลผลิตในการเพาะปลูก และเทคนิคการประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผาสีดำอันละเอียดอ่อนที่มีการใช้แท่นหมุนขึ้นรูปดินและเทคนิคการเผาด้วยความร้อนสูง ส่งให้วัฒนธรรมหลงซานถือว่าเป็นยุคสมัยที่สังคมมนุษย์มีการพัฒนารุดหน้าไปอีกขั้น

ถัดจากนั้นมาแถบมณฑลเหอหนานก็มีการขุดค้นพบวัฒนธรรมเอ้อหลี่โถว (二里头文化) ที่บ่งชี้ให้เห็นว่าสังคมของบรรพบุรุษชาวจีนเริ่มก้าวย่างเข้าสู่ ยุคปกครองเป็นประเทศหรือยุคราชวงศ์ ที่มีการพัฒนาเป็น ราชวงศ์เซี่ย-ซัง-โจว ในเวลาต่อมา ...... (อ่านเพิ่มเติม เรื่องราวประวัติศาสตร์จีนได้จาก ส่วนธารประวัติศาสตร์ มุมจีน เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์)

ผมพบว่า การชมเรื่องราวในอดีตเรามิอาจใช้ สายตาของคนในปัจจุบันไปมอง หรือ ไปวัดประเมินค่าได้ โดยเฉพาะการเดินชมพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งมรดกโบราณที่บรรพบุรุษเหลือทิ้งตกทอดไว้

หากมองว่าสิ่งที่จัดแสดงอยู่ เป็นเพียง หิน-ดิน-เหล็ก เหล่านี้เป็นเพียงเศษหินเศษดินชิ้นเล็กๆ นั้นก็ถือเป็นการมองแค่เพียงผิวเผิน พิจารณาแค่เปลือกภายนอก เพราะ ลึกลงไปแล้ว เศษหิน เศษดิน และเศษเหล็กที่ปรากฎในวันนี้แฝงเอาไว้ด้วยความเชื่อและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของเรา โดยหลายต่อหลายชิ้นแม้สังคมมนุษย์ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดังเช่นปัจจุบันก็มิอาจอธิบายได้ว่า บรรพบุรุษของเราเสกสรรค์-ปั้นแต่ง สิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร?

ตัวอย่างเช่น ชุดหยก (玉衣) ที่ถูกจัดแสดงไว้ ณ ชั้นที่ 3 ของพิพิธภัณฑ์เหอหนาน

ชุดหยกที่ใช้สำหรับสวมกับศพนี้ เป็นความเชื่อของคนใน สมัยฮั่น (202 ก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ.220) ที่เชื่อกันว่า เมื่อผู้ใดเสียชีวิต หากสามารถรักษาร่างไร้วิญญาณไม่ให้เปื่อยเน่าได้มากเท่าใด ก็จะทำให้วิญญาณของคนผู้นั้นขึ้นสวรรค์ กลายเป็นเซียนได้เร็วเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ด้วยความที่ว่า 'หยก' ถือเป็นหินวิเศษในความเชื่อของชาวจีนมาตั้งแต่โบราณกาล โดยเชื่อกันว่าหยกมีพลังพิเศษแฝงอยู่ ทำให้ฮ่องเต้ ชนชั้นสูง และชาวจีนผู้มีอันจะกินในสมัยฮั่นนิยมสั่งให้มีการถัก 'ชุดหยก' ไว้สวมหลังจบชีวิต โดยชุดหยกที่ถักนี้เป็นการนำเอาแผ่นหยกนับพันชิ้นมาเรียงร้อยด้วย ด้าย ทองคำ เงิน หรือทองแดง

ทั้งนี้สำหรับ 'ชุดหยก' ก็ยังมีการแบ่งชนชั้นกันอีกด้วย โดย 《后汉书·礼仪志》 ระบุไว้ว่าชุดหยกที่ถูกถักด้วยเส้นด้ายทองคำนั้นจะถูกจำกัดเฉพาะใช้สำหรับฮ่องเต้เท่านั้น ส่วนอ๋อง เจ้าหญิง หรือชนชั้นสูงอื่นๆ จำกัดให้ใช้เฉพาะชุดหยกที่ถักด้วยเส้นด้ายเงิน ขณะที่ ชนชั้นสูงในลำดับรองๆ ลงมานั้นจำกัดให้ใช้ได้มากที่สุดก็เพียงชุดหยกที่ถักด้วยเส้นด้ายทองแดงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ก็มีการละเมิดอยู่เป็นนิจ

อย่างเช่น ชุดหยกถักด้วยเส้นด้ายทองคำที่ค้นพบชุดแรก ณ สุสานหม่านเฉิง (ฮั่นตะวันตก) มณฑลเหอเป่ย นั้นเป็นของ หลิวเซิ่ง (刘胜) องค์ชายจงซานจิ้ง (中山靖王) โอรสองค์ที่เก้าของฮ่องเต้ฮั่นจิ่งตี้ หลิวฉี่ (汉景帝刘启) ผู้ที่จากหลักฐานแล้ว ว่ากันว่าคิดค้นของเล่นทางเพศขึ้นเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์จีน กับภรรยา (อ่านเพิ่มเติม : ซิ่งกับของเล่น)***

ถึงปัจจุบัน นักโบราณคดีชาวจีนค้นพบ 'ชุดหยก' แล้ว 20 ชุด โดยชุดที่จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์มณฑลเหอหนานนั้นถูกค้นพบในมณฑฑลเหอหนานเอง เป็นชุดหยกที่ถักด้วยด้ายทองคำ มีความยาวกว่า 1.8 เมตร โดยขณะค้นพบนั้นทั้งชุดเหลือแผ่นหยกหลงเหลือเพียง 1,000 กว่าชิ้นและเส้นด้ายทองคำบางส่วนเท่านั้น แต่เมื่อผ่านการซ่อมแซมให้สมบูรณ์แล้วชุดหยกดังกล่าวนั้นนับแผ่นหยกทั้งหมดได้รวม 2,008 ชิ้น แม้จะนับว่าเล็กกว่า ชุดหยกของหลิวเซิ่งที่เมื่อค้นพบชุดค่อนข้างสมบูรณ์ โดยชุดหยกของหลิวเซิ่งยาว 1.88 เมตร ประกอบด้วยแผ่นหยก 2,498 ชิ้น และด้ายทองคำรวมน้ำหนักแล้วราว 1,100 กรัม แต่ความละเอียดลออของงานหัตถศิลป์ชุดหยกทุกชุดนั้นนั้นถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่น่าตื่นตากับผู้พบเห็นอยู่เสมอ ......

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปมองถึงจุดประสงค์หลักของการสร้างชุดหยกซึ่งก็คือ ความพยายามแหวกกฎเกณฑ์ธรรมชาติของชาวจีนในสมัยโบราณ ที่หวังว่า ชุดหยกจะสามารถรักษาศพของผู้สวมใส่ไม่ให้เน่าเปื่อย แต่เมื่อมีการขุดค้นพบ ก็สามารถพิสูจน์ถึงสัจธรรมได้อย่างหนึ่งว่า ไม่มีใครสามารถอยู่ค้ำฟ้า มิมีผู้ใดสามารถหลีกหนีวัฎจักรแห่งความสิ้นสูญดับสลายไปได้ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องเต้ผู้มีอำนาจล้นฟ้า หรือกระทั่งมหาเศรษฐีแสนล้าน

เมื่อนักโบราณคดีค้นพบ 'ชุดหยก' ภายในนั้นกลับหลงเหลือก็แต่เพียงเศษกระดูกที่ผุพังของผู้สวมใส่เท่านั้น

Tips สำหรับการเดินทาง:
- พิพิธภัณฑ์ประจำมณฑลเหอหนาน (河南博物院) ค่าผ่านประตู 20 หยวน (บัตรนักเรียน-นักศึกษา ลดครึ่งราคา) เปิดเวลา 8.30-18.00น. สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์เหอหนาน www.chnmus.net

อ้างอิงจาก :
*หนังสือ 中国博物馆 โดย หลีเซียนเย่า (黎先耀) และ หลัวเจ๋อเหวิน (罗哲文) : สำนักพิมพ์ 五洲传播出版社, ฉบับ เดือนกันยายน ค.ศ.2004 หน้า 26-29
**หนังสือประวัติศาสตร์จีนยุคเก่า (中国古代史) โดยกัวเผิง (郭鹏) สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง หน้า 8
***หนังสือ 河南博物院展品知识问答 โดย พิพิธภัณฑ์เหอหนาน : สำนักพิมพ์ 河南大学出版社, ฉบับ เดือนกันยายน ค.ศ.2001 หน้า 205-206









กำลังโหลดความคิดเห็น