"คนโบราณกล่าวว่า ผู้ชื่นชอบในการบริโภค มักเจ็บป่วยด้วยโรคประหลาดฉันใด ผู้ที่รักการทำศึกสงครามต่อตี ย่อมจักไม่ตายด้วยเหตุอันปกติฉันนั้น"
การออกไปรบทัพจับศึก บัญชาการกองทัพ หลายคนคงคิดว่าเป็นเรื่องของเหล่านายทหารมืออาชีพ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับราษฎรเดินดินอย่างเราท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่บ้านเมืองสงบสุข ไร้ข้าศึกมาแผ้วพาน ซึ่งแตกต่างกับสภาพสังคมจีนสมัยโบราณที่เต็มไปด้วยการศึกสงคราม เรื่องราวที่พูดคุยกันหลังอาหารก็ล้วนแต่เป็นเรื่องผลพวงการแพ้ชนะของสงคราม ซึ่งคนที่เป็นแพทย์ต่างก็ได้สัมผัสมากับตัวเอง และทราบดีแก่ใจว่าหลังไหล่ของตนที่สะพายกระเป๋าร่วมยาใบหนึ่งนั้นได้แบกรับเอาชีวิตของผู้ป่วยเอาไว้พร้อมกัน เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว นั่นไม่ต่างกับการเข้าสู่สมรภูมิรบในฐานะของนายทหารคนหนึ่ง ที่ต้องบัญชาการกองทัพ (สั่งยา) ที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต (ของคนไข้)
ถ้าหากได้ลองนึกภาพว่าร่างกายของผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อโรคจากภายนอก เป็นเสมือนกับฐานที่มั่นที่ถูกศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามยึดครองไปได้ชั่วคราว ถ้าหากมีการจัดสรรกองกำลังที่ดีก็อาจมีโอกาสตอบโต้ฟื้นฟูกรรมสิทธิ์ที่เคยปกครองกลับคืนมา แต่ถ้าหากล้มเหลวก็เท่ากับสูญเสียดินแดนส่วนหนึ่งไปตลอดกาล หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงตามมา นั่นคือทั้งอาณาจักรล่มสลาย ซึ่งก็คือร่างกายที่ “หมดลม” นั่นเอง
สำหรับเคล็ดลับในการ “บัญชาการศึก” นั้น ได้มีอรรถาธิบายอยู่ในตำราแพทย์จีน “อีเสียว์หยวนหลิวลุ่น” – อรรถาธิบายว่าด้วยต้นธารของการแพทย์จีน ที่เขียนขึ้นโดยสีว์ต้าชุน แพทย์เลื่องชื่อในสมัยราชวงศ์ชิง โดยส่วนหนึ่งกล่าวว่า
ร่างกายของคนเราดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยธัญพืชทั้งห้า* ที่หล่อเลี้ยงชีวิต มีผลไม้เป็นส่วน (ช่วย)เสริม เนื้อสัตว์เพื่อประโยชน์เพิ่มพูน (สร้างความแข็งแรง) และผักสดเป็นส่วนประสมเติมเต็ม และมียา (พิษ) ใช้โจมตีข้าศึกที่มารุกราน ดังนั้น แม้จะเป็นโสมหรือชะเอม (ยาบำรุงที่มีฤทธิ์แรง) หากใช้ผิดพลาดไปก็อาจกลายเป็นโทษภัยได้ เหล่านี้จึงถูกจัดให้อยู่ในหมวดของยาที่มีฤทธิ์เป็นพิษ
คนโบราณกล่าวว่าผู้ชื่นชอบในการบริโภค มักเจ็บป่วยด้วยโรคประหลาดฉันใด ผู้ที่รักการทำศึกสงครามต่อตี ย่อมจักไม่ตายด้วยเหตุอันปกติฉันนั้น การยกกองกำลังทหารเข้าห้ำหั่นเอาชัยกันจึงกระทำต่อเมื่อยามคับขันจำเป็นเท่านั้น และเช่นเดียวกัน การใช้ตัวยาใดๆ ก็ล้วนเป็นไปด้วยจำต้องรักษาโรคร้ายเท่านั้น ซึ่งหากไม่ถึงคราวจำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรใช้ ดังนั้นแพทย์ที่สั่งยาพร่ำเพรื่อจึงไม่อาจนับว่าเป็นแพทย์ฝีมือดีได้
อาการป่วยเจ็บเป็นโรคนั้น อย่างเบาทำให้อ่อนเพลียเสียกำลัง อย่างหนักอาจทำร้ายถึงชีวิตได้ และถ้าหากพิษหลบในก็เป็นเสมือนการเพาะขุมกำลังตั้งตัวขึ้นเป็นประเทศศัตรู
การจะเอาชนะศึกได้ ต้องรู้เขารู้เรา ทั้งรู้จักคุณสมบัติของตัวยา (สมุนไพร) และปัจจัยแห่งการเกิดโรคภัยนั้น เมื่อทราบถึงสิ่งผิดปกตินั้นแล้ว ชิงลงมือก่อนที่ฝ่ายตรงข้ามจะเข้าสู่จุดยุทธศาสตร์ได้ ย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบ อย่างคติของไทยคงต้องกล่าวว่า ชิงตัดไฟเสียแต่ต้นลม
กรณีที่เกิดอาการโดยเฉียบพลันให้เร่งดูแลรักษาตัวแต่ต้นมือ เสมือนหนึ่งเราก่อสร้างค่ายคูประตูเมือง เฝ้ารักษาป้อมค่ายไว้ให้มั่น หากเจ็บป่วยเนื่องจากอาหารไม่ย่อย ก็ให้กำจัดเอาอาหารนั้นออกไปก่อน ถือเป็นการเผาทำลายกองเสบียงของเหล่าข้าศึก และหากมีโรคเก่ากำเริบ ต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน (ทั้งโรคใหม่โรคเก่ารุมเร้า) เป็นการตัดหนทางการประสานในนอกของสายลับจากภายใน ...
หากผู้ป่วยมีร่างกายอ่อนแอ ไม่อาจต่อสู้กับโรคภัยด้วยกำลัง ให้ใช้ยาที่มีฤทธิ์อ่อน (ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย) เป็นหลัก ประสมด้วยยาที่มีฤทธิ์แรงเป็นส่วนเสริม และแม้ว่าถึงวันต้องดับสูญ ก็อย่าได้เปลืองแรงราษฎรเสียเปล่า แต่หากผู้ป่วยยังมีกำลังแรงดีอยู่ ก็สามารถดำเนินกลยุทธเป็นฝ่ายรุก เฉกเช่นประเทศที่เข้มแข็งย่อมถึงพร้อมซึ่งการระดมสรรพกำลังอาวุธเข้าสู่สมรภูมิรบได้ ฉันนั้น
อย่างไรก็ตาม การวางหมากกลต้องมีทิศทาง คัดเลือกกำลังอาวุธต้องเหมาะสมเพื่อเอาชนะศึกให้ได้ในเวลาอันสั้น และลดความเสียหายให้น้อยที่สุด ซึ่งยุทธวิธีทางการแพทย์เหล่านี้ล้วนมีปรากฏอยู่ในผลงานของ “ซุนอู่” ที่ได้ชื่อว่าเจ้าแห่งตำราพิชัยสงครามของจีน
จากอรรถาธิบายเพียงสั้นๆ นี้ ได้แสดงถึงความเข้าใจในการหยิบยืมมาใช้ได้อย่างเหมาะเจาะพอดีเป็นที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นแบบฉบับของการใช้ตัวยาสมุนไพรของการแพทย์แผนจีนเลยทีเดียว ดังคำกล่าวที่ว่า “คนโบราณกล่าวว่า ผู้ชื่นชอบในการบริโภค มักเจ็บป่วยด้วยโรคประหลาดฉันใด ผู้ที่รักการทำศึกสงครามต่อตี ย่อมจักไม่ตายด้วยเหตุอันปกติฉันนั้น” คำกล่าวนี้ทำให้เราได้เห็นถึงบทเรียนของบรรดานักแสวงหายาอายุวัฒนะในยุคก่อนได้เป็นอย่างดี
เรื่องราวความเป็นจริงได้พิสูจน์แล้วว่าผู้แสวงหายาอายุวัฒนะมาดื่มกินต่างต้องลงเอยด้วยความตายก่อนวัยอันควรทั้งสิ้น ก็เหมือนกับนักรบที่ใช้ชีวิตอยู่แต่ในสนามรบเป็นกิจวัตร สุดท้ายย่อมยากจะมีจุดจบที่ดีได้ แม้แต่ในทุกวันนี้ บรรดายาชูกำลังมากมายหลายขนานที่ต่างแข่งขันกันโฆษณาสรรพคุณกันสารพัดสารพันนั้น อยากถามว่าร่างกายคนเราจะรองรับได้สักเท่าไร?
นอกจากนี้ อย่าลืมว่าหัวใจแห่งการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งใดๆ ก็ตาม การได้ชัยโดยไม่ต้องสูญเสียกำลังพลจึงจะถือว่าเป็นกุศโลบายชั้นสูง
*ธัญพืชทั้งห้า(五谷)ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาเลย์และถั่ว
ผลไม้ (5) ได้แก่ ผลท้อ สาลี่ บ๊วย แปะก้วยและผลจ๊อ (พุทราจีน) บ้างว่ารวมเกาลัด ผลไม้สด แห้งและผลไม้เปลือกแข็ง
เนื้อสัตว์ (5) ได้แก่ สัตว์บก สัตว์ปีก ปลา ไข่ นม หรือเป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์
ผักสด (5) ที่เป็น ราก ก้าน ใบ ดอกและผล เป็นต้น
เรียบเรียงจาก
www.china.com
www.xiaoduweb.com