xs
xsm
sm
md
lg

อู๋อี๋ หญิงเหล็กของจีนยุคใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อู๋อี๋ เคยกล่าวกับสื่อไว้ครั้งหนึ่งถึงทิศทางชีวิตของตนสมัยวัยรุ่นว่า “ตอนดิฉันยังรุ่นๆ อยู่ ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเข้ามาทำงานด้านการเมือง ตอนนั้นสิ่งที่ดิฉันปรารถนาที่สุดก็คือ อยากจะเป็นนักธุรกิจ”

จากสาววิศวะสู่นักการเมือง

ใครจะรู้ว่ารองนายกรัฐมนตรีหญิงของจีนท่านนี้จะก้าวเข้ามาในเวทีการเมืองอย่างที่ไม่เคยนึกฝันมาก่อน หลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยปิโตรเลียมปักกิ่งในปี 1962 อู๋อี๋ก็เริ่มทำงานในสายงานด้านวิศวกรรมปิโตรเลียมตามที่ถนัด ซึ่งดูเหมือนว่าได้กลายเป็นอาชีพที่ท่านทำมาตลอด 20 กว่าปีหลังจากนั้น โดยเริ่มต้นงานที่โรงกลั่นน้ำมันหลันโจว โรงกลั่นน้ำมันปักกิ่งตงฟังหงเลี่ยนสือโยว และบริษัทปิโตรเคมีปักกิ่งเยียนซัน จากงานตั้งแต่ช่างเทคนิคมาสู่งานบริหารเป็นผู้ช่วยแผนก หัวหน้าแผนก วิศวกรใหญ่ รองผู้จัดการ ตามลำดับ จนเมื่อมาถึงจุดนี้อู๋อี๋ก็มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพรรคฯ ด้วย

ปี ค.ศ.1986 นี้เองที่อู๋อี๋เริ่มเป็นที่สนใจของผู้ใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีน เมื่อหน่วยจัดตั้งของพรรคฯ กำลังมองหาตำแหน่งใหม่ให้เธอ จึงส่งเจ้าหน้าที่มาที่บริษัทปิโตรเคมีปักกิ่งเยียนซัน เพื่อตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติของอู๋อี๋ โดยมีหัวหน้าโรงงานในส่วนงานต่างๆ เป็นผู้ประเมินความสามารถในการรับผิดชอบควบคุมงานด้านต่างๆ หัวหน้าโรงงานทุกส่วนกาเครื่องหมายแสดงการยอมรับในความสามารถของท่านในหัวข้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรม เทคนิควิทยาศาสตร์ การศึกษาและวัฒนธรรม การค้า การรักษาความปลอดภัย และการเมืองกฎหมาย ยกเว้นด้านการเกษตรเท่านั้นที่ทุกคนกาเครื่องหมายผิด (x)

ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า ‘ผู้น้อยอู๋อี๋’ มีคุณสมบัติของนักบริหารที่ทุกฝ่ายยอมรับ จากนั้นหญิงสาวผู้มีบุคลิกเด็ดเดี่ยวแคล่วคล่องก็ขึ้นมารับผิดชอบงานด้านบริหาร เป็นถึงรองนายกเทศมนตรีนครปักกิ่ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศในที่สุด

โอกาสที่อู๋อี๋ได้ออกลวดลายและแสดงศักยภาพต่อหน้าสาธารณชนอย่างเป็นทางการที่สุด เห็นจะเป็นในเวทีการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ในขณะที่อยู่ในตำแหน่งผู้ดูแลรับผิดชอบด้านการค้าระหว่างประเทศ  นอกจาก นี้อู๋อี๋ยังเคยให้การสนับสนุนแนวคิดการดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศในระดับขนาดใหญ่ เพื่อเสริมสร้างประเทศเป็นฐานการค้าของโลก แนวคิดดังกล่าวมีส่วนกระตุ้นการพัฒนาของธุรกิจต่างๆ อย่างรวดเร็ว จนทำให้จีนกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ของโลก แต่ในขณะเดียวกัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนก็ต้องพบกับแรงต้านทานจากประเทศคู่ค้าเช่นกัน

ราวมกราคม 1994 จีนกับสหรัฐอเมริกาขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเรื่องโควตานำเข้าสิ่งทอ ในปีต่อมาก็เกิดข้อพิพาทแย่งชิงทรัพย์สินทางปัญญากันอีก เพื่อระงับความบาดหมางทางการค้าระหว่างประเทศ อู๋อี๋จึงต้องสวมบท ‘พนักงานดับเพลิง’ เดินทางไปมาระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อยู่หลายเที่ยว

“ตอนนั้นต้องปรับเวลาจนวุ่นไปหมด บินจากเช้าที่หนึ่งไปเช้าอีกที่หนึ่ง จากค่ำที่หนึ่งไปค่ำอีกที่หนึ่ง นอกจากกลางวันกลางคืนจะกลับตาลปัตรกันแล้ว ฤดูกาลก็สับสน จากฤดูหนาวของซีกโลกเหนือไปสู่ฤดูร้อนของซีกโลกใต้”    อู๋อี๋ ระลึกถึงช่วงเวลาที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้เจรจาประสานรอยร้าวทางการค้าในคราวนั้น

ระหว่างที่มีการติดต่อกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อู๋อี๋ก็เป็นเสมือนตัวแทนของประเทศในการแสดงท่าทีของจีนสู่สายตาชาวโลก นับตั้งแต่ปลายปี 1991 ขณะนั้นอู๋อี๋เพิ่งเข้ารับตำแหน่งรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ จีนกับสหรัฐฯ ก็เริ่มมีการเจรจากรณีพิพาทเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากันแล้ว ในการเจรจาครั้งหนึ่งฝ่ายสหรัฐฯ กล่าววาจาด้วยท่าทีวางอำนาจตามสไตล์ของผู้ที่มาจากประเทศที่มั่งคั่งว่า “พวกเรากำลังเจรจาอยู่กับหัวขโมย” อู๋อี๋ได้ฟังดังนั้นก็โต้กลับไปทันทีโดยไม่ลังเลว่า “เรากำลังเจรจากับโจร เชิญไปดูที่พิพิธภัณฑ์ของพวกคุณซิ มีสมบัติกี่ชิ้นที่ปล้นมาจากประเทศจีน”

อู๋อี๋เคยยอมรับต่อท่าทีเช่นนั้นว่า “เมื่อใดก็ตามที่เดินทางไปต่างประเทศ ดิฉันมีหน้าที่เหมือนพนักงานเสนอขายสินค้าที่นำเสนอประเทศของตน และทุกครั้งจิตวิญญาณและเลือดรักชาติในตัวดิฉันก็จะพุ่งพล่านทุกที”

บทบาทในเวทีเจรจาการค้าของอู๋อี๋เป็นที่ยกย่อง แม้แต่คู่อริ นางคาร์ลา ฮิลส์ ผู้แทนการเจรจาฝ่ายสหรัฐฯ ยังกล่าวชมเชยว่า “อู๋อี๋นอกจากจะเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ของประเทศแล้ว ยังเป็นนักเจรจาที่เด็ดขาด ที่ดิฉันประทับใจไม่ลืมก็คือความเฉลียวฉลาดของท่าน ท่านยังใจดีและเป็นผู้ที่มีวาทศิลป์ด้วย”

วีรสตรีท่ามกลางวิกฤติโรคมรณะ

ชาวโลกไม่มีวันลืมวิกฤตการณ์อันน่าสะพรึงกลัวและอาการตกอยู่ในความหวาดระแวงที่เกิดขึ้นเมื่อฤดูใบไม้ผลิปี 2003 สาเหตุมาจากการแพร่ระบาดอย่างไร้การควบคุมของโรคซาร์ส หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ทั่วโลกยังไม่เคยรู้จักมาก่อน โดยเฉพาะในประเทศจีน วิกฤติในห้วงปีนั้นเป็นบทเรียนของทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล หน่วยงานด้านสาธารณสุข สื่อมวลชน ที่ยังส่งผลกระทบต่อทัศนคติการดำเนินชีวิตและการระแวดระวังเรื่องสุขอนามัยในหมู่ประชาชนจีน

ท่ามกลางสถานการณ์ที่สับสนและการปกปิดความจริงเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อ ชื่อของบุคคลที่โดดเด่นในช่วงวิกฤติดังกล่าวในประเทศจีน ก็คือ อู๋อี๋ รองนายกฯ ผู้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าให้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 26 เมษายน ปีนั้น เพื่อรับผิดชอบงานป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคมรณะอย่างเร่งด่วน

ทันทีที่รับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าร่วมด้วยรองนายกฯ อู๋อี๋ รมว.กระทรวงสาธารณสุขคนใหม่รุดไปตรวจสอบสถานการณ์ไข้หวัดมรณะตามที่ต่างๆ รวมถึงการตรวจเยี่ยมนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งในวันที่ 26 เมษายน 2003 ขณะที่มหาวิทยาลัยจำต้องยุติการเรียนการสอนชั่วคราวอันเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคอยู่ในขั้นอันตราย รองนายกฯ อู๋อี๋ เดินทางมาตรวจดูความเรียบร้อยในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย และยังให้กำลังใจนักศึกษาตลอดจนบุคลากรต่างๆ เพื่อร่วมกันเผชิญกับโรคมรณะอย่างเข้มแข็ง

นักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยปักกิ่งคนหนึ่งหวนระลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า “วันนั้นทุกคนตื่นเต้นตื้นตันใจที่ได้เห็นรองนายกฯ อู๋อี๋กันมาก ฉันเองก็ลืมนึกถึงอันตรายของเจ้าโรคซาร์สไปเลย ทุกคนก็ลืมใช้หน้ากากปิดปากปิดจมูกกันด้วย รองนายกฯ อู๋อี๋สวมชุดกระโปรงสีขาวลายทางสีดำ แต่งขอบสีแดงที่ปลายปกเสื้อและแขนเสื้อ นักศึกษาบางคนพูดกันว่า ท่านตั้งใจแต่งแบบนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้พวกเราต่อสู้กับโรคซาร์ส ท่านมีท่วงท่าสง่างามมากๆ ดูแล้วไม่ดุเหมือนในทีวีเลย”

นอกจากปัญหาโรคซาร์สแล้ว ปลายปี 2003 อู๋อี๋ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานการณ์โรคเอดส์ที่แพร่ระบาดอย่างน่าเป็นห่วงในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในมณฑลเหอหนัน ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกของชาวบ้านในหมู่บ้านอันห่างไกลได้มีโอกาสพบกับข้าราชการชั้นสูงระดับประเทศ และที่สำคัญที่สุด มันยังแสดงให้ประชาชนจีนประจักษ์ด้วยว่ารัฐบาลเริ่มเอาจริงเอาจังกับปัญหาโรคเอดส์แล้ว และในเวลาต่อมา รองนายกฯ อู๋อี๋ก็ได้มาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการป้องกันและรักษาโรคเอดส์ของสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสานต่องานแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ในจีนอย่างเต็มที่

เนื้อแท้ของหญิงเหล็กอู๋อี๋

ความที่เป็นนักการเมืองหญิงที่มีลีลาแข็งกร้าว กล้าพูดกล้าทำ ทำให้สื่อตะวันตกต่างเรียกอู๋อี๋ว่า ‘หญิงเหล็กแห่งประเทศจีน’ (中国铁娘子- China’s Iron Lady ) มาตั้งแต่เมื่อทศวรรษที่แล้ว ผู้สื่อข่าวชาวรัสเซียผู้หนึ่งยังเคยเปิดเผยหลังจากมีโอกาสสัมภาษณ์อู๋อี๋ว่า ‘ท่านเป็นสตรีจีนที่สมบูรณ์แบบที่สุดและโดดเด่นที่สุดของจีน’ เหล่านี้ล้วนเป็นคำกล่าวชมเชยของสื่อที่มีต่อนักการเมืองหญิงท่านนี้

ในชีวิตส่วนตัวของท่านแล้ว อู๋อี๋เป็นผู้หนึ่งที่พิสมัยการเล่นกีฬาอย่างมาก ท่านมักใช้เวลาว่างกับการตกปลา เล่นเทนนิส ตีกอล์ฟ โยนโบว์ลิ่ง และถ้าว่างยิ่งกว่านั้นก็จะจับไมค์ร้องเพลง รสนิยมที่ผสมผสานกันอย่างหลากหลายของอู๋อี๋ ทำให้มีบางคนเรียกท่านเป็น ‘ผู้หญิงที่มีเสน่ห์น่าตื่นตะลึง’

ผู้สื่อข่าวหญิงของ ‘ฟอร์บส์’  นิตยสารชื่อดังของสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงรองนายกฯ อู๋อี๋ของจีนท่านนี้ว่า  “ในคณะรัฐมนตรีของจีน พวกเรายอมรับรองนายกฯ อู๋อี๋ว่าท่านเป็นผู้นำระดับสูงที่มีบทบาทโดดเด่นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการแสดงศักยภาพในเวทีเจรจาการค้าโลก เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกในองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) หรือแม้แต่ในปัญหาด้านการเงิน เหล่านี้ไม่เพียงเป็นตัวยกฐานะและชูบทบาทของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในเวทีโลกเท่านั้น แต่ความสำเร็จของนักการเมืองหญิงท่านนี้ยังสั่นสะเทือนต่อโลกด้วย ทั้งนี้ในฐานะที่จีนเป็นประเทศใหญ่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างมาก ความสำเร็จของจีนจึงส่งผลกระทบต่อโลกโดยรวมเช่นกัน”

ทั้งนี้เมื่อเร็วๆ นี้ 'ฟอร์บส์'  ได้จัดอันดับสตรีผู้มีบทบาทในปัจจุบันร้อยท่าน และประกาศให้อู๋อี๋เป็น 'หนึ่งในร้อยสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก'  โดยคัดเลือกจากสตรีที่ทุ่มเทให้กับงานสาขาต่างๆ และมีบทบาทในประเทศของตนกว่าพันคน  ผู้สื่อข่าวของ 'ฟอร์บส์' ยังปิดท้ายด้วยการให้คำจำกัดความ 3 คุณลักษณะที่อธิบายความเป็น 'หญิงเหล็กของอู๋อี๋' ว่า  ‘มีความภาคภูมิในตนเอง สง่างาม และหลักแหลม’ 

สื่อตะวันตกมักใช้คำนำหน้าเรียกท่านว่า  ‘มาดามอู๋อี๋’   เพื่อเป็นการยกย่องการขึ้นมามีตำแหน่งสูงและสามารถกุมอำนาจทางการเมืองในมือโดยความสามารถล้วนๆ ของท่าน  ซึ่งเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ยากมากของผู้หญิงในประเทศจีน  และโดยเฉพาะปัจจุบันท่านยังมีสถานภาพโสด จึงเป็นที่ซุบซิบในหมู่คนรอบตัว  ท่านเคยกล่าวตรงๆ ถึงกรณีนี้ไว้ว่า  ท่านไม่เคยคิดจะไม่แต่งงาน เพียงแต่ขณะนั้นต้องการสร้างความมั่นคงในด้านการงานก่อนที่จะเริ่มต้นชีวิตคู่  

“ดิฉันใช้เวลาไป 20 ปีใน 'ป่าหลังเขา' และพอออกมาจากป่าก็พบว่าตัวเองแก่มากแล้ว  สมัยสาวๆ ดิฉันก็เคยมีชายในฝัน แต่ว่าหาไม่พบในชีวิตจริง  เวลานี้ภารกิจก็ยุ่งมาก ดิฉันจึงเลิกล้มความคิดเรื่องนั้นแล้ว”   และนี่คือคำตอบจากหญิงแกร่งอู๋อี๋ ผู้ก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งนักการเมืองระดับสูงหญิงหนึ่งเดียวในคณะรัฐมนตรีของจีนยุคนี้ .
 

....ประวัติย่อ....


อู๋อี๋ (吴仪) รองนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นนักการเมืองหญิงที่โดดเด่นที่สุดของจีนยุคนี้  อู๋อี๋ (เชื้อสายฮั่น) เกิดเมื่อพฤศจิกายน 1938 เป็นชาวอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย เข้าร่วมเป็นสมาชิกในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีนเมื่อเมษายน 1962 อู๋อี๋เป็นวิศวกรระดับสูง จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยปิโตรเลียมปักกิ่ง คณะการผลิตน้ำมันปิโตรเลียม สาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม

โดยระหว่างปี 1956-1962 เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย 2 แห่ง คือ วิทยาลัยปิโตรเลียมปักกิ่งและวิทยาลัยอุตสาหกรรมตะวันตกเฉียงเหนือ ในคณะป้องกันประเทศ หลังจบการศึกษาก็เข้าทำงานเป็นช่างเทคนิคในสำนักงานฝ่ายบริหารของโรงกลั่นน้ำมันหลันโจว 4 ปี และทำงานในสายงานด้านนี้จวบจนปี 1983 ก็ไต่เต้าขึ้นเป็นรองหัวหน้าโรงงาน ปี 1983-1988 ขณะเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพรรคฯ อู๋อี๋รับตำแหน่งรองผู้จัดการของบริษัทปิโตรเคมีเยียนซันในปักกิ่งด้วย

หลังจากนั้นก็เริ่มเข้ามาสู่วงการเมือง โดยในปี 1988-1991 อู๋อี๋ขึ้นดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีนครปักกิ่ง 1991-1993 เป็นรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ ปี 1993-1997 ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันตำแหน่งในพรรคฯ ก็ค่อยๆ เลื่อนชั้นขึ้นตามลำดับ

อู๋อี๋เริ่มเข้ามาเป็นกรรมการหนึ่งในคณะรัฐมนตรีเมื่อราวปี 2002 จนกระทั่งมีนาคม 2003 ก็ขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี โดยผลงานสำคัญชิ้นแรกคือ การเป็นผู้กำกับดูแลหน่วยงานการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ที่ตั้งขึ้นในเดือนเมษายนปี 2003

26 เมษายน 2003–เมษายน 2005 อู๋อี๋ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยในระหว่างดำรงตำแหน่งดังกล่าว กุมภาพันธ์ 2004 หญิงเหล็กแห่งวงการเมืองจีนผู้นี้ยังเป็นประธานคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ในสังกัดสำนักนายกฯ ด้วย

บางตอนจากบทความเรื่อง "อู๋อี๋ในสายตาของนิตยสาร 'ฟอร์บส์’" จาก หนันฟางเดลี่ ส.ค.2005 /ข้อมูลประวัติฯ จาก : ซินหัวเน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น