xs
xsm
sm
md
lg

แกะรอย...การผจญภัยของสารานุกรมที่ใหญ่ที่สุดของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ย่ำรุ่งวันหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วงปี 1941 รถยนต์ลึกลับบรรทุกลังไม้ใบโตเต็มคันรถจากโกดังเก็บสินค้าแห่งหนึ่ง วิ่งฝ่าความมืดที่เยียบเย็นมุ่งหน้าสู่ท่าเรือนครเซี่ยงไฮ้...

ตั้งแต่ปี 1933 กองทัพญี่ปุ่นบุกภาคเหนือของจีน เป่ยผิง (ปักกิ่ง) ตกอยู่ในภาวะวิกฤต รัฐบาลคณะชาติ (พรรคก๊กมินตั๋ง) จึงมีคำสั่งให้ขนย้ายทรัพย์สินมีค่าจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ในเป่ยผิงและพระราชวังต้องห้ามมายังนครเซี่ยงไฮ้ ท่ามกลางกองคาราวานนี้ สำนักหอสมุดเป่ยผิงได้ขนย้ายหนังสือตำราอันมีค่าทางโบราณคดีกว่าหกหมื่นเล่มติดตามมาด้วย และได้เช่าโกดังสินค้าแห่งหนึ่งเป็นที่เก็บรักษาไว้ ต่อเมื่อญี่ปุ่นกรีฑาทัพลงใต้เข้ายึดนครเซี่ยงไฮ้เอาไว้ได้ในปี 1937 ความปลอดภัยของเอกสารสำคัญเหล่านี้ถูกคุกคามอีกครั้ง จึงมีการคัดเลือกเอกสารที่มีความสำคัญอย่างยิ่งจำนวนหนึ่งบรรจุลงในกล่องไม้ 102 กล่อง เพื่อจัดส่งไปเก็บรักษายังหอสมุดแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา

ลังไม้ที่แลดูไม่น่าสะดุดตาพวกนี้ ภายในล้วนแต่เป็นตำราโบราณล้ำค่าที่เก็บรักษามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง หยวน หมิงและชิง ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงสารานุกรมเลื่องชื่อ “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” จำนวน 60 เล่ม

เนื่องจากภายหลังเหตุการณ์กบฏนักมวยและกองกำลังพันธมิตรแปดชาติบุกเข้ายึดเมืองปักกิ่งในปี 1900 แล้ว หลายประเทศถูกม้วนเข้าสู่วังวนของการศึกสงคราม มีแต่สหรัฐฯ ที่วางตัวอยู่นอกเหนือแนวรบนี้ จึงถูกมองว่าน่าจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด แต่ว่าเรื่องของการศึกสงคราม ทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

สามวันหลังจากสินค้าชุดสุดท้ายถูกส่งขึ้นเรือพาณิชย์มุ่งหน้าสู่แผ่นดินใหม่ วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ญี่ปุ่นก็เปิดศึกกับสหรัฐฯ ที่เกาะเพิร์ลฮาร์เบอร์ สองฝ่ายต่างประกาศสงครามต่อกัน

จากนั้นอีก 24 ปีต่อมา ในปี 1965 ทางหอสมุดแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้จัดส่งมหาคัมภีร์ “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” ทั้ง 60 เล่มไปยังเกาะไต้หวันอย่างปลอดภัย ปัจจุบันได้รับการเก็บรักษายังสำนักหอสมุดกลางของเกาะไต้หวัน...

ทุกวันนี้มีนักอ่านจำนวนนับพันหมื่นที่ผ่านเข้าออกหอสมุดแห่งชาติจีนที่ปักกิ่ง แต่น้อยคนนักจะทราบว่าคลังเก็บหนังสือใต้ดินแห่งนี้เป็นสถานที่เก็บรักษาดูแล “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” ในฐานะ “สมบัติของชาติ” จำนวน 161 เล่ม จากที่หลงเหลืออยู่เพียงไม่ถึง 400 เล่มกระจัดกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และนับตั้งแต่สารานุกรมขนาดยักษ์ชุดนี้ได้ถือกำเนิดขึ้นในโลกจนถึงปัจจุบันรวมเวลากว่า 600 ปีมาแล้ว หากเป็นมนุษย์ก็คงจะกล่าวได้ว่า “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” ช่างมีชะตากรรมที่อาภัพยิ่งนัก

ชะตากำเนิด
ต้นราชวงศ์หมิง จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (ศักราชหย่งเล่อ ปี 1403-1425) ขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ก็ทรงมีดำริที่จะรวบรวมสรรพวิชาความรู้จากตำราโบราณที่เคยมีมา ครั้งแรกจัดทำสำเร็จในปีรุ่งขึ้น แต่หมิงเฉิงจู่เห็นว่าตำราที่รวบรวมได้มามีจำนวนน้อยเกินไป จึงสั่งการให้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นใหม่ในปี 1405 (ปีเดียวกับที่เจิ้งเหอ หรือซำปอกงนำทัพเรือออกเดินทางท่องสมุทรเป็นครั้งแรก)

เหยาก่วงเสี้ยว ราชครูขององค์รัชทายาท และปราชญ์ผู้รู้ในศาสตร์สาขาต่างๆ กว่า 3,000 คน ใช้เวลา 6 ปีรวบรวมตำราความรู้ทั่วแผ่นดินกว่า 8,000 ชนิด เรียบเรียงเป็นตำราสารานุกรมขนาด 22,877 ม้วน หรือ 11,095 เล่ม และส่วนที่เป็นดัชนีหมวดหมู่จำนวน 60 ม้วน รวมอักษรกว่า 3.7 ร้อยล้านตัวอักษร กล่าวได้ว่าเป็นสารานุกรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีนและของโลกในเวลานั้น

หลังจากการจัดทำสารานุกรมเสร็จสิ้นลง ได้เก็บรักษาไว้ในหอเหวินยวนที่นครหลวงหนันจิง ต่อมาเมื่อหมิงเฉิงจู่ย้ายนครหลวงไปยังปักกิ่ง “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” ก็ถูกขนย้ายติดตามไปด้วย ในเวลานั้นได้มีผู้เสนอให้จัดพิมพ์เผยแพร่สารานุกรมชุดดังกล่าว แต่เนื่องจากพบว่าค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์มีราคาสูงมากจึงได้แต่เลิกล้มไป นับแต่นั้น “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” จึงเป็นเสมือนหนึ่ง “นางห้าม” ที่ถูกปิดล้อมอยู่แต่ภายในเขตพระราชวังต้องห้าม ไร้ผู้คนไต่ถามถึงเป็นเวลากว่าร้อยปีต่อมา

กลับมาอีกครั้งกับตัวตายตัวแทน
กล่าวกันว่าในรัชสมัยหมิงเสี้ยวจง ได้ทรงคัดลอกตำรับยาจาก “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” พระราชทานให้กับแพทย์หลวงด้วยพระองค์เอง เมื่อถึงรัชสมัยหมิงซื่อจง (ค.ศ. 1522–1567) พระองค์ทรงโปรด “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” จนถึงกับจัดวางตำราไว้ข้างหมอน เพื่อจะได้สามารถหยิบอ่านได้ทุกเมื่อ

ต่อมาในปี 1557 วังหลวงเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ หอเก็บคัมภีร์ถูกเพลิงเผาผลาญสิ้น โชคดีที่ก่อนหน้านั้นหมิงซื่อจงได้ทรงมีพระราชโองการถึงสามครั้งคราวให้เร่งขนย้ายมหาคัมภีร์อันเป็นที่รักออกมาได้ทันกาล จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ทรงมีดำริจัดทำฉบับคัดลอกขึ้นในปี 1562 โดยใช้เวลา 6 ปี

ภายหลังการจัดทำฉบับคัดลอกเสร็จสิ้นลง บันทึกเกี่ยวกับหย่งเล่อต้าเตี่ยนก็ขาดหายไป จวบถึงปลายราชวงศ์หมิง บันทึกของเจ้าพนักงานขันทีในวังหลวงกล่าวว่า ไม่มีผู้ใดรู้จักหรือทราบว่า “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” เก็บรักษาอยู่ที่แห่งหนไหนอีกแล้ว

จวบกระทั่งผลัดแผ่นดินใหม่ในรัชสมัยจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิง ได้มีการสำรวจหอหลวงเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยหมิงซื่อจงในราชวงศ์ก่อน ที่นี่เป็นสถาปัตยกรรมที่พิเศษมากแห่งหนึ่ง โดยโครงสร้างทั้งหลังจัดทำจากหินสกัดก้อนใหญ่ สามารถป้องกันไฟและความชื้นได้เป็นอย่างดี เพื่อเก็บรักษาเอกสารสำคัญแสดงลำดับการสืบสันตติวงศ์ในราชวงศ์ก่อนและบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ความเป็นไปของเหล่าเชื้อพระวงศ์ นอกจากนี้ยังได้พบกับ “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” ที่เคย “หายสาบสูญ” ไป นอนสงบนิ่งอยู่ใน “หีบทองคำ” เหล่านี้ด้วย ซึ่งต่อมาในรัชสมัยจักรพรรดิยงเจิ้ง ได้เคลื่อนย้ายไปเก็บรักษายังอุทยานฮั่นหลิน ซึ่งเป็นสำนักศึกษาของปราชญ์เมธีในราชสำนัก

เมื่อถึงปี 1772 ในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง พระองค์มีดำริจัดตั้งคณะจัดทำ “ซื่อคู่เฉวียนซู” ที่เป็นตำราขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในเวลาต่อมา โดยได้อาศัยการชำระและเรียบเรียงข้อมูลส่วนหนึ่งจาก “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการค้นหาและตรวจนับอย่างละเอียดแล้วพบว่า “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” ได้ขาดหายไปจำนวน 2,422 ม้วน หรือในราวหนึ่งพันกว่าเล่ม

มีต่อหน้า 2






“หย่งเล่อต้าเตี่ยน” หายไปไหน?
จางเฉินสือ ผู้ที่คอยติดตามร่องรอยของ “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” มาช้านาน วิเคราะห์ว่า “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” เก็บรักษาไว้ภายในพระราชวังที่มีการอารักขาอย่างเข้มงวด ประชาชนคนธรรมดาย่อมไม่อาจเข้าถึงได้ ดังนั้นตัวแปรสำคัญจึงมีแต่เจ้าหน้าที่ขุนนางที่เข้านอกออกในวังหลวงได้นั่นเอง

ดังเช่นคดีดังในปี 1774 หวงโซ่วหลิง เจ้าหน้าที่ในคณะจัดทำ “ซื่อคู่เฉวียนซู” แอบนำ “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” จำนวน 6 เล่มกลับบ้าน ระหว่างทางถูกโจรลักขโมยไป เมื่อเฉียนหลงทรงทราบเรื่องจึงออกประกาศตามล่าโจรและตรวจค้นภายในเมืองอย่างละเอียด เมื่อเป็นเช่นนี้โจรก็ไม่อาจปล่อยของในมือ ถือครองไว้ก็ไม่ได้ ไม่นานจึงมีผู้ไปพบ “ตำราที่หายไป” วางทิ้งอยู่ริมสะพานแห่งหนึ่ง ส่วนหวงโซ่วหลิงก็ถูกลงโทษด้วยการตัดเบี้ยบำนาญเป็นเวลาสามปี

อย่างไรก็ตาม การสูญหายของ “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการจัดทำ “ซื่อคู่เฉวียนซู”* เสร็จสิ้นลง ราชสำนักก็ลดความสำคัญของ “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” ลง เพียงเก็บรักษาไว้ภายในซอกมุมหนึ่งของหอสมุดที่ไม่มีใครเหลียวแล เปิดโอกาสให้มีการยักยอกนำตำราออกจากวังได้ง่ายยิ่งขึ้น

เมื่อตกถึงปลายราชวงศ์ชิง ในรัชสมัยจักรพรรดิกวงสู (ปี 1875) มีการซ่อมแซมอุทยานฮั่นหลินครั้งใหญ่ พบว่า “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” เหลืออยู่ไม่ถึง 5,000 เล่ม และเมื่อถึงปี 1894 ก็พบว่าเหลือเพียง 800 เล่มแล้ว และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นมีหลักฐานว่าทายาทของขุนนางฮั่นหลินคนหนึ่งได้นำ “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” ส่วนหนึ่งออกขายให้กับชาวต่างชาติและบรรดาพ่อค้าของเก่า

เมื่อถึงปี 1900 ระหว่างเหตุการณ์กบฏนักมวยเข้าปิดล้อมเขตที่ทำการทางการทูตของต่างชาติและการปะทะกับกองกำลังต่างชาติ ในครั้งนั้นได้เกิดเหตุเพลิงไหม้อุทยานฮั่นหลินที่เก็บเอกสารตำราโบราณจำนวนมหาศาลซึ่งตั้งอยู่ในย่านนั้น เป็นเหตุให้ “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” ที่หลงเหลือจำนวนน้อยนิดบ้างก็ถูกเผาทำลายเสียหาย บ้างกระจัดกระจายหายสูญ

กอบกู้คืนกลับสู่มาตุภูมิ
ภายหลังการก่อตั้งรัฐบาลจีนใหม่ ได้มีการเรียกร้องให้เสาะหาและรวบรวม “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” กลับคืนมา ในเวลานั้นมีหน่วยงานราชการ อาทิ หอสมุดมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สำนักพิมพ์ซังอู้ และนักสะสมทั้งในและนอกประเทศ (โซเวียต เยอรมนี อิตาลี) ต่างนำ “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” ที่เก็บรักษาไว้ออกมาบริจาคให้กับทางการ รวมแล้วมีจำนวน 161 เล่ม (และหากรวมกับที่ไต้หวัน 60 เล่มก็จะเป็น 221 เล่ม) ปัจจุบันพบว่ามีตำรา “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” ปรากฎอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกราว 370 เล่ม หรือ 810 ม้วน หรือมีเพียงไม่ถึง 4% ของทั้งหมด

ปี 1959 สำนักงานจงหัวซูจี๋ว์ได้จัดพิมพ์ “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” จากต้นฉบับที่รวบรวมได้ถึง 730 ม้วน และต่อมาในปี 1986 ภายหลังจีนเปิดประเทศ ได้จัดพิมพ์จากต้นฉบับที่รวบรวมเพิ่มขึ้นเป็น 797 ม้วน ซึ่งถือเป็นฉบับที่มีการรวบรวมได้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่เคยมีมา

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” ที่รวบรวมได้ทั้งหมดนี้ล้วนจัดทำขึ้นในปีศักราชเจียจิ้ง ซึ่งตรงกับรัชกาลหมิงซื่อจงทั้งสิ้น นั่นหมายความว่าทั้งหมดล้วนเป็นฉบับคัดลอกที่จัดทำขึ้นในภายหลัง และยังไม่มีใครได้พบต้นฉบับที่จัดทำขึ้นในสมัยหมิงเฉิงจู่เลย ดังนั้นจึงมีการตั้งข้อสันนิษฐานถึงความเป็นไปได้ต่างๆ นานาว่า

ต้นฉบับอาจถูกเผาทำลายไปแล้วระหว่างสงครามผลัดแผ่นดิน (ราชวงศ์หมิงล่มสลาย หลี่จื้อเฉิงที่บุกเข้ายึดปักกิ่งไว้ได้ในระยะเวลาสั้นๆ ได้สั่งให้เผาตำหนักส่วนหนึ่งก่อนถอนกำลังจากไป) หรืออาจถูกฝังไว้ภายในสุสานหย่งหลิงร่วมกับจักรพรรดิหมิงซื่อจง ซึ่งได้จัดทำฉบับคัดลอกเอาไว้ เนื่องจากหลังจากนั้นข่าวคราวของต้นฉบับจริงก็หายสาบสูญไปอย่างลึกลับ และแม้ว่าฉบับคัดลอกจะจัดทำเสร็จภายหลังจากที่พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่พิธีบรรจุพระศพกับช่วงเวลาที่ฉบับคัดลอกเสร็จก็ใกล้เคียงกันมาก ซึ่งเราคงต้องรอจนกว่าทางการจีนจะตัดสินใจเปิดสุสานหย่งหลิง (เป็นหนึ่งในสุสานสิบสามกษัตริย์ราชวงศ์หมิง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000) เพื่อทำการสำรวจศึกษา ซึ่งคงไม่ใช่ในเร็ววันนี้เป็นแน่

* คุณลักษณะพิเศษของ “หย่งเล่อต้าเตี้ยน” เมื่อเทียบกับ “ซื่อคู่เฉวียนซู” แล้ว ประการแรก ตำรา “หย่งเล่อ” ได้คัดลอกต้นฉบับจากตำราโบราณโดยเก็บรักษาเนื้อหาและรูปแบบดั้งเดิมไว้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และประการที่สอง คือความหลากหลายครอบคลุมเนื้อหากว้างขวาง โดย “ซื่อคู่เฉวียนซู” ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิทยาการงานช่างฝีมือ บทละครและเรื่องราววรรณกรรมในระดับชาวบ้านมากนัก ดังนั้น “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” จึงได้รับการยอมรับในฐานะของสารานุกรมอย่างแท้จริง

เส้นทางการเดินทางของ “หย่งเล่อต้าเตี่ยน”
ปี 1405 เริ่มจัดทำในรัชสมัยหมิงเฉิงจู่ (ปีศักราชหย่งเล่อ)
ปี 1423 หมิงเฉิงจู่ย้ายนครหลวงมายังปักกิ่ง
ปี 1562 หมิงซื่อจงจัดทำฉบับคัดลอก จากนั้นเก็บรักษาไว้ในหอหลวง
รัชสมัยจักรพรรดิยงเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิง ฉบับคัดลอกถูกย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่อุทยานฮั่นหลิน
ปี 1772 จักรพรรดิเฉียนหลงให้ตรวจนับ “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” เพื่อชำระและจัดทำ “ซื่อคู่เฉวียนซู” จึงพบว่าตำราสูญหายไปพันกว่าเล่ม
ปี 1875 รัชสมัยจักรพรรดิกวงสู เหลือเพียงห้าพันกว่าเล่ม
ปี 1894 ในรัชกาลเดียวกัน เหลือเพียงแปดร้อยกว่าเล่ม
ปี 1900 อุทยานฮั่นหลินเกิดเพลิงไหม้ “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” กระจัดกระจายหายสูญ
ปัจจุบันเก็บรักษาในสำนักหอสมุดแห่งชาติจีนที่กรุงปักกิ่ง 161 เล่ม สำนักหอสมุดกลางที่ไต้หวัน 60 เล่ม และกระจัดกระจายอยู่ในต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 370 เล่ม หรือประมาณ 810 ม้วน ทั้งหมดเป็นฉบับคัดลอก

ข้อมูลพื้นฐาน
สารานุกรม “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” เป็นหนังสือสารานุกรมขนาดใหญ่ที่รวบรวมสรรพวิชาความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ปรัชญา ภูมิศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วรรณกรรม ศิลปศาสตร์ ศาสนาลัทธิความเชื่อ และวิวัฒนาการของเทคโนโลยีวิทยาการด้านต่างๆ ของจีนตั้งแต่สมัยโบราณจวบถึงสมัยราชวงศ์หมิง ถือเป็นหนังสือสารานุกรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีนและของโลกในเวลานั้น

จัดทำขึ้นในปีศักราชหย่งเล่อที่ 3 (ค.ศ. 1405) ในรัชกาลจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่แห่งราชวงศ์หมิง โดยคณะจัดทำได้แก่ เหยาก่วงเสี้ยว ราชครูขององค์รัชทายาท และปราชญ์ผู้รู้ในศาสตร์สาขาต่างๆ รวมกว่า 3,000 คน ใช้เวลา 6 ปี รวบรวมและเรียบเรียงเป็นตำราสารานุกรมขนาด 22,877 ม้วน หรือ 11,095 เล่ม และส่วนที่เป็นดัชนีหมวดหมู่จำนวน 60 ม้วน รวมอักษรกว่า 3.7 ร้อยล้านตัวอักษร


เรียบเรียงจาก
www.qianlong.com
www.ccnt.com.cn
www.people.com
www.wikipedia.org





กำลังโหลดความคิดเห็น