xs
xsm
sm
md
lg

ดื่มด่ำบรรยากาศอดีตกับตึกหรูในเซี่ยงไฮ้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 เมืองเซี่ยงไฮ้เต็มไปด้วยนักเผชิญโชคจากตะวันตก พวกเขานำวิวัฒนาการด้านอุตสาหกรรมและการค้าสมัยใหม่มาสู่จีน รวมถึงลัทธิอาณานิคม ขณะเดียวกันก็นำพามาซึ่งสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ....

สำหรับอาคารที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ณ ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่เป็นอาคารที่สร้างในยุคทศวรรษที่ 30, 40 ที่มีการปรับโครงสร้างของอาคารให้เหมาะกับสภาพอากาศและภูมิประเทศแล้ว จึงยังคงตระหง่านรอรับคนมาเยี่ยมชมได้จนทุกวันนี้ ประกอบกับความเป็นมาที่ไม่ธรรมดาของคฤหาสน์แต่ละแห่ง ล้วนแล้วแต่เพิ่มเสน่ห์ให้กับเมืองเซี่ยงไฮ้ นอกเหนือไปจากการเป็นมหานครแห่งเศรษฐกิจ....

คลิกไอคอนมัลติมีเดียมุมบนขวา เพื่อรับชมภาพชุดตึกหรูในเซี่ยงไฮ้ทั้ง 12 แห่ง ในรูปแบบ โฟโต้ สไลด์



1. คฤหาสน์ติงเซียง เลขที่ 849 ถนนหัวซัน เป็นหนึ่งในอาคารเก่าที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองเซี่ยงไฮ้ โดยเป็นอาคารทรงตะวันตกหลังแรกในเมือง ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอเมริกัน และสร้างขึ้นในยุคต้นทศวรรษที่ 30 เพื่อเป็นที่พักอาศัยของหลี่หงจื้อ ขุนนางใหญ่ปลายสมัยราชวงศ์ชิง โดยเชื่อว่าเป็น ‘ฮาเร็ม’ แห่งหนึ่งของเขา และตกทอดมาถึงหลี่จิงม่าย ลูกชายคนสุดท้อง ขณะเดียวกัน โจวเสวียน นักร้องเสียงทองของจีนก็เคยอาศัยที่นี่อยู่หลายปี ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวภายใต้การดูแลของโรงแรมซิ่งกั๋วของรัฐบาล

2. อาคารทรงอังกฤษที่แฝงตัวอยู่ภายในโรงแรมรุ่ยจิน เลขที่ 118 ถนนรุ่ยจินเอ้อร์ ซึ่งเป็นโรงแรมทรงยุโรปที่มาดามซ่งชิ่งหลิง ภรรยาของ ดร.ซุนยัดเซ็นเคยอาศัยอยู่หลายปี สำหรับโรงแรมแห่งนี้เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวของเซี่ยงไฮ้ สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1956 มี 3 อาคารหลักที่ล้วนแล้วแต่เป็นทรงยุโรป ในอดีตจะใช้รับรองเฉพาะแขกสำคัญระดับผู้นำประเทศเท่านั้น แต่ปัจจุบันหลังจากจีนปฏิรูปทางเศรษฐกิจเมื่อปี 1978 ก็เริ่มเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าสัมผัสความหรูหราได้เช่นกัน

3. คฤหาสน์มาลเลอร์ ถนนเหยียนอัน เมืองเซี่ยงไฮ้ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1936 โดยพ่อค้ายิวสัญชาติอังกฤษที่มาทำการค้าด้านขนส่งทางน้ำในแผ่นดินใหญ่ แต่ภายหลังต้องตกเป็นสโมสรของชาวญี่ปุ่น สถานที่ทำงานของรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ที่ทำการของคณะเยาวชนพรรคคอมมิวนิสต์จีน และปัจจุบันพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและโรงแรมที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ

4. บ้านทรงฝรั่งเศสที่มีชื่อเรียกว่า “อ้ายหลู 爱庐 ” เลขที่ 9 ถนนตงผิง แม้นายพลเจียงไคเช็คจะมีที่อยู่หลายแห่งในเซี่ยงไฮ้ แต่คฤหาสน์หลังงามหลังนี้เป็นแห่งที่เขาชอบที่สุด โดยเป็นของขวัญวันแต่งงานที่ชาร์ลี ซ่ง (ซ่งจื่อเหวิน) มอบให้กับบุตรสาว ซ่งเหม่ยหลิง ซึ่งเป็นภรรยาของเขาในปี 1927 ปัจจุบันเป็นโรงเรียนสาธิตแห่งวิทยาลัยดนตรีเมืองเซี่ยงไฮ้

5.คฤหาสน์สีเหลืองอร่ามหลังใหญ่ เลขที่ 39-41 ถนนซือหนัน ในอดีตเคยเป็นที่อาศัยของทายาทรุ่นหลังของหยวนซื่อไข่ ปัจจุบันเป็นสถานที่เก็บรักษาเอกสารทางประวัติศาสตร์ประจำเมืองเซี่ยงไฮ้

6. คฤหาสน์ยุโรปหลังใหญ่เลขที่ 385 ถนนหย่งเจียหลังนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของข่งเสียงซี ผู้เป็นนายธนาคารใหญ่ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลก๊กมินตั๋ง และคู่เขยของ ดร.ซุนยัดเซ็น และนายพลเจียงไคเช็ค ด้วยการสมรสกับซ่งอ่ายหลิง พี่สาวคนโตของมาดามซ่งชิ่งหลิง และซ่งเหม่ยหลิง เขาเป็นคนที่มีอิทธิพลมากในสมัยนั้น

7. บ้านทรงวิกตอเรียนที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1934 ในซอย 1136 ถนนอี้ว์หยวน ในอดีตเคยเป็นเรือนหอของหวังป๋อฉวินกับเป่าจื้อหนิง คนดังแห่งสังคมเซี่ยงไฮ้ แต่ต่อมาตกเป็นสถานที่ของพรรคก๊กมินตั๋ง สโมสรของทหารญี่ปุ่น กองการวัฒนธรรมสถานทูตอังกฤษ และปัจจุบันคือสโมสรเยาวชนเขตฉางหนิง

8. เลขที่ 9 ซ.132 บนถนนต้าลู่ซินชุนซัน เป็นอดีตที่อยู่ของหลู่ซวิ่น นักคิดนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของจีน ในช่วงปี 1927–1936 ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าเยี่ยมชมเพื่อระลึกถึงชีวิตที่อุทิศเพื่อประชาชนจีนของศิลปินผู้นี้

9. สถาปัตยกรรมกลิ่นอายฝรั่งเศสหลังโต เลขที่ 150 ซ.110 บนถนนเฟิ่นหยัง สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1930 ในจุดเริ่มต้นนั้นเป็นที่อยู่ของพ่อค้าใหญ่ชาวฝรั่งเศส แต่ต่อมาในยุค 40 ก็ตกเป็นที่พักของไป๋ฉงสี่ นายพลในพรรคก๊กมินตั๋ง เคยเป็นแกลลอรี่ของหยุนจี้ จิตรกรชื่อดังของเซี่ยงไฮ้ สถานที่ฝึกอบรมของคณะละครเจ้อเจียง ปัจจุบันเป็นภัตตาคารหรูแห่งหนึ่งของเมืองเซี่ยงไฮ้ และสืบเนื่องจากระเบียงรอบชั้น 2 ของอาคารทำมาจากหินอ่อนสีขาวทั้งหมด ทำให้อาคารแห่งนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ‘White Palace ไป๋กง’

10. อาคารทรงสเปนที่หมายเลข 60 ถนนพันอี๋ว์ เมืองเซี่ยงไฮ้ สร้างขึ้นในยุค 20 และเคยเป็นที่อยู่ของซุนเคอ หลานของ ดร.ซุนยัดเซน และประธานสภานิติบัญญัติในสมัยรัฐบาลสาธารณรัฐจีนของเจียงไคเช็ค

11. อาคารทรงยุโรปที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1928 เลขที่ 145 ถ.เยี่ยว์หยัง เคยเป็นที่อยู่อาศัยของซ่งจื่อเหวิน (ชาร์ลี ซ่ง ) ผู้มีตำแหน่งสูงในรัฐบาลสาธารณรัฐ ทั้งยังเป็นบิดาของมาดามซ่งชิ่งหลิง ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ( ค.ศ.1966-1976 ) นั้น อาคารแห่งนี้ยังเคยเป็นที่อยู่ของเจียงชิง หลินเปียว แกนนำของผู้ปลุกระดมมวลชนด้วย ปัจจุบันเป็นกองงานข้าราชการบำนาญและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยที่เกษียณอายุราชการเมืองเซี่ยงไฮ้

12. อาคารทรงเยอรมนี เลขที่ 571 ถนนหย่งเจีย ที่สร้างขึ้นในทศวรรษที่ 30 ปัจจุบันเป็นหนึ่งในโครงการอนุรักษ์ของเขตสี่ว์ฮุ่ย บนเนื้อที่ 522 ตร.ม.

หากใครได้ไปเยือนเซี่ยงไฮ้ ก็อย่าลืมหาโอกาสไปเยี่ยมคฤหาสน์ตะวันตกเหล่านี้นะคะ....











กำลังโหลดความคิดเห็น