xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมจีน (9) รากเหง้าวัฒนธรรมจีน

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

สมัยก่อนช่วงที่มีทฤษฎีว่าคนไทอพยพลงมาจากแถบเขาอัลไต ก็มีทฤษฎีว่าคนจีนอพยพจากแถบทะเลสาบแคสเปียนโน่น คนสมัยนี้ฟังแล้วอาจตลก แต่คนรุ่นก่อนเขาเชื่อกันเป็นตุเป็นตะเชียวแหละ

ช่วงต่อมานักวิชาการจีนจึงพยายามพิสูจน์ให้ได้ว่า “คนจีนอยู่ที่นั่น (ลุ่มน้ำฮวงโห) “ ไม่ได้อพยพมาจากที่อื่น ซึ่งก็ได้ผล เพราะเมื่อสิ้นยุคอาณานิคมแล้วการขุดค้นทางโบราณคดีในจีนได้ค้นพบหลักฐานสำคัญมากมาย หลายๆ อย่างเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก และก็ยังมีการขุดพบอะไรใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ

เรื่องแรกที่สำคัญคือจีนได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งต้นกำเนิดของมนุษย์ (Homo Sapian) แหล่งหนึ่ง เพราะทั่วประเทศเหนือใต้ออกตกเขาขุดพบฟอสซิลและซากวัฒนธรรมของ “มนุษย์วานร” (ยังไม่ใช่มนุษย์) กำหนดอายุได้ระหว่างหนึ่งล้านถึงสามแสนปีที่แล้ว (ช่วงต้นยุคหินเก่า)

ซึ่งมนุษย์วานรเหล่านั้นก็มีหลักฐานว่าพัฒนาต่อมาเป็นมนุษย์ดึกดำบรรพ์ (ยังไม่ใช่ Homo Sapian ) ในช่วงระหว่าง 3 แสนปีถึงหนึ่งแสนปีก่อน (ช่วงกลางยุคหินเก่า)

แหล่งโบราณคดีที่เห็นความต่อเนื่องทั้งสองยุค คือถ้ำโจวโข่วเตี้ยน ชานกรุงปักกิ่ง

ยุคต่อมาในช่วงระหว่าง 3 หมื่นถึง 1 หมื่นปีก่อน (ช่วงปลายยุคหินเก่า) มนุษย์ดึกดำบรรพ์พัฒนาขึ้นมากจนใกล้เคียงกับมนุษย์ปัจจุบัน (Homo Sapian) แล้ว หลักฐานก็ยังมีต่อเนื่อง จุดที่สำคัญคือ “ซานติ่งต้งเหญิน” – มนุษย์ถ้ำซานติ่ง ซึ่งก็อยู่ใกล้กับถ้ำโจวโข่วเตี้ยนนั่นเอง

นักวิชาการถือว่ามนุษย์ถ้ำซานติ่งที่ปักกิ่ง มนุษย์ถ้ำจือหยางในเสฉวน มนุษย์ถ้ำหลิ่วเจียงในกวางสี เป็นกลุ่มตัวแทนของมนุษย์ผิวเหลือง (มองโกลอยด์) ดั้งเดิมที่ต่อมาพัฒนาเป็นคนจีน คนอินเดียนแดงในทวีปอเมริกาเป็นต้น

จากรากฐานพัฒนาการดังกล่าวข้างต้น ในยุคหินกลางได้กำเนิดมนุษย์ (Homo Sapian) กลุ่มผิวเหลืองขึ้น กระจายอยู่ทั่วไปในดินแดนจีนและข้ามไปทวีปอเมริกา (ทางช่องแคบแบริ่ง) กลุ่มหนึ่งที่พัฒนาขึ้นเป็นคนจีนคือกลุ่มที่อยู่แถบลุ่มแม่น้ำเหลือง

ยุคหินใหม่ในจีนเริ่มตั้งแต่ประมาณ 7,000 ปีก่อนถึงสองพันปีก่อนคริสตกาล วัฒนธรรมยุคหินใหม่แหล่งสำคัญๆ ได้แก่ ตอนกลางของลุ่มแม่น้ำเหลือง ตอนบนของลุ่มแม่น้ำเหลือง ซานตงและภาคเหนือของเจียงซู ลุ่มแม่น้ำแยงซี ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคเหนือ เป็นต้น แหล่งวัฒนธรรมยุคหินใหม่ที่เก่าที่สุดอายุเจ็ดพันปี คือแถบตอนกลางของลุ่มแม่น้ำเหลือง และแถบที่ราบตอนใต้ลุ่มแม่น้ำแยงซี (แหล่งเหอหมู่ตู้ ณฑลเจ้อเจียง ซึ่งพบหลักฐานการเพาะปลูกข้าว) มนุษย์ในแหล่งวัฒนธรรมเหล่านี้นั่นเองที่พัฒนาขึ้นมาเป็นประชาชาติจีน ซึ่งมี “เผ่าหัวเซี่ย” เป็นแกนกลาง

กลุ่มชนที่พัฒนาขึ้นเป็นเผ่าหัวเซี่ยมีรกรากอยู่ตอนกลางแม่น้ำเหลือง ตำนานของชนเผ่านี้ ผู้เขียนเคยเล่าไว้อย่างย่อๆ แล้ว คือเรื่องของหวงตี้ เหยียนตี้ เหยา สุ้น ประมุขในยุคตำนาน

ต่อมาชาวหัวเซี่ยพัฒนาขึ้นมีการปกครองแบบสืบสันตติวงศ์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ราชวงศ์เซี่ย (เริ่มต้นประมาณศตวรรษที่ 21 ก่อนคริสตกาล) นักวิชาการเชื่อว่าวัฒนธรรมแหล่งโบราณคดี “เอ้อหลี่โถว” (ในมณฑลเหอหนาน) เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมยุคราชวงศ์เซี่ย โบราณวัตถุซึ่งพบที่แหล่งโบราณคดีเอ้อหลี่โถวพบเครื่องสำริดด้วย แสดงว่าราชวงศ์เซี่ยเข้าสู่ยุคสำริดแล้ว และชั้นดินยุคปลายๆ ของแหล่งโบราณคดีนั้นยังพบหลักฐานของราชวัง วัฒนธรรมเซี่ยจึงถือเป็นอารยธรรมยุคแรกของจีน

ประมาณศตวรรษที่ 16 ก่อนคริสตกาล ราชวงศ์ซางเข้าแทนที่ราชวงศ์เซี่ย แหล่งโบราณคดีแถบอันหยางให้หลักฐานมากมายเกี่ยวกับราชวงศ์ซาง วัฒนธรรมที่ส่งอิทธิพลสืบทอดให้ชาวจีนรุ่นหลังคืออักษรภาพ ซึ่งพบบน “กระดูกทำนาย”

ประมาณศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสตกาล หรือสามพันปีก่อน ราชวงศ์โจวเข้าแทนที่ราชวงศ์เซี่ย ยุคราชวงศ์โจวนี้สังคมมีพัฒนาการขึ้นมาก และราชวงศ์โจวได้ปกครองอยู่ยาวนานถึงเกือบหนึ่งพันปี วัฒนธรรมยุคราชวงศ์โจวจึงมีอิทธิพลสูงที่สุด คือเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมของจีนในยุคสามพันปีต่อมาก็ว่าได้

ราชวงศ์โจวพัฒนาวัฒนธรรมระบอบจารีต (หลี่จื้อหรือโจวหลี่) ขึ้นไว้อย่างสมบูรณ์ “ระบอบจารีตราชวงศ์โจว” นี้ก็คือสิ่งที่ขงจื้อถือเป็นอุดมคติ และเป็นแก่นแกนของลัทธิขงจื้อ ซึ่งได้กลายเป็นแก่นของวัฒนธรรมจีนตั้งแต่ต้นราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมา จนถึงยุคใกล้ๆ และแม้กระทั่งถึงยุคปัจจุบันนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น