xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาการก้าวขึ้นมาของจีน (3)

เผยแพร่:   โดย: อดุลย์ รัตนมั่นเกษม

ฝ่ายที่มองว่าจีนเป็นภัยคุกคามมีความเห็นแตกต่างกันพอสรุปได้ 5 ความเห็นด้วยกัน

ความเห็นแรกมองไปที่ประเด็นทางการเมือง ว่าจีนเป็นชาติใหญ่มาแต่โบราณ การก้าวขึ้นมาของจีนย่อมจะท้าทายสถานะของชาติมหาอำนาจที่มีอยู่ในปัจจุบันและดุลกำลังระหว่างประเทศ จีนจะไม่ยอมอยู่นิ่งเฉย แต่จะพยายามเข้ามาแทนที่สหรัฐฯ ในเอเชีย กลายเป็น 1 ใน 2 ขั้วอำนาจของโลก การจับมือเป็นพันธมิตรกับรัสเซียนั้นมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การถ่วงดุลอำนาจกับสหรัฐฯ การพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ก็เป็นความพยายามท้าทายอิทธิพลของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิก และแน่นอน จีนย่อมเป็นจักรวรรดิที่ชั่วร้ายในสายตาของนักวิชาการอเมริกันบางคน เช่น โรเจอร์ แฮกเก็ต (Roger F. Hackete) และเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในความเห็นของริชาร์ด เบ็นสไตน์ (Richard Bernstein) รอส มันโร (Ross Munro) จอห์น เทียนี่ย์ (John Tierney)

องค์กรบางแห่งก็มีความเห็นเช่นนี้ เช่น สถานบันยุทธศาสตร์ศึกษาในกรุงลอนดอน ที่มองว่ามีหลักฐานหลายอย่างที่แสดงว่าจีนกำลังออกรุกสู่ภายนอก รวมไปถึงหนังสือพิมพ์หลายฉบับในสหรัฐฯ เช่น ยูเอสเอทูเดย์, เดอะวอชิงตันไทม์ส, เดอะวอชิงตันโพสต์, และอินเตอร์เนชั่นแนลเฮรัลด์ทรีบูน

ความเห็นที่สองมองไปที่เรื่องของเศรษฐกิจ ว่าจีนมีความมั่นคงภายในสูง เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้เศรษฐกิจของจีน ฮ่องกง และไต้หวันจะต้องพึ่งอาศัยกันมากขึ้นๆ ก่อให้เกิด “เขตเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่ขึ้น” (Greater China Economics Zone) และมองว่านี่จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกและของโลก

นักวิชาการที่มองอย่างนี้ได้แก่ จอห์น แนสบิตต์ (John Naisbitt) โดยมองว่าเขตเศรษฐกิจของคนจีนที่ไม่ใช่ของจีนแผ่นดินใหญ่ท่านั้น แต่รวมไปถึงจีนนอกแผ่นดินใหญ่เข้าไปด้วย จะเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่รองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเท่านั้น เช่นนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันกับประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ ในเอเชียทั้งในด้านตลาดการค้าและตลาดเงินทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเพราะจีนดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติได้ดีกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาอีกหลายๆ ประเทศ การก้าวขึ้นมาของจีนจึงย่อมส่งผลกระทบต่อการลงทุนในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้การที่จีนมีแรงงานราคาถูกอยู่จำนวนมหาศาลบวกกับการนำเข้าเทคโนโลยีชั้นสูง ก็ยิ่งทำให้จีนดึงดูดเงินลงทุนเข้าประเทศและได้เปรียบดุลการค้ามากขึ้น ส่งผลให้การค้าระหว่างจีนกับยุโรปอเมริกายิ่งไม่สมดุลมากขึ้น ทำลายอุตสาหกรรมของยุโรปและอเมริกา และทำให้คนในประเทศเหล่านี้ตกงานกันมากขึ้นด้วย

ความเห็นที่สาม มองไปในเรื่องของอารยธรรมและวัฒนธรรม ว่าหนทางสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีนทำให้จีนประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง ดังนั้นผลสำเร็จในภารกิจสังคมนิยมของจีนจึงท้าทายอารยธรรมตะวันตกด้วย เพราะนี่คืออารยธรรมที่ไม่ใช่แบบตะวันตกได้สร้างความทันสมัยขึ้นโดยพยายามไม่ให้กลายเป็นแบบตะวันตก และพยายามผสมผสานความทันสมัยนี้ให้เข้ากับค่านิยมและอารยธรรมดั้งเดิมของจีนเอง อารยธรรมเหล่านี้มีพลังอำนาจใกล้เคียงกับของตะวันตก แต่กลับสวนทางกันโดยสิ้นเชิงกับค่านิยมและผลประโยชน์ของฝ่ายตะวันตก

คนแรกที่ออกมาพูดถึงความขัดแย้งของอารยธรรมคือ แซมมวล ฮันติงตั้น (Samuel P. Huntington) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาเรียกร้องให้ประเทศตะวันตกสามัคคีร่วมกันรับมือการท้าทายของอารยธรรมอิสลามและอารยธรรมจีน โดยเคยไปเสวนาหลายเวทีทั้งในสิงคโปร์และมาเลเซีย จุดยืนของเขาคือจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจใหม่แน่นอน ประเทศต่างๆ ในเอเชียมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง ทางหนึ่งคือ “ถ่วงดุลอำนาจแต่ต้องเจอความขัดแย้งอยู่ตลอด” อีกทางคือ “มีสันติแต่ต้องยอมรับอำนาจใหม่ของจีน” ในอดีตจีนมีอำนาจครอบงำเอเชียมาตลอด ปัจจุบันจีนกำลังก้าวสู่ความเข้มแข็ง ซึ่งย่อมต้องคุกคามถึงอิทธิพลในเอเชียของสหรัฐฯ ในอนาคต จีนกับสหรัฐฯ ควรถ่วงดุลอำนาจกันอย่างไรในเอเชียยังเป็นปัญหาที่มีความเห็นแตกต่างกันอยู่ และนี่คือสาเหตุสำคัญที่จะทำให้สองประเทศนี้กระทบกระทั่งกันได้ สาเหตุที่ลึกกว่าอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้สองประเทศนี้กระทบกระทั่งกันคือ สหรัฐฯ และจีนต่างมีระบบอารยธรรมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

หนังสือพิมพ์ “เดอะไฟแนนเชียลไทม์ส” เห็นด้วยกับความเห็นนี้ บอกว่าหัวใจผลประโยชน์ของจีนคือ ลด ยับยั้ง และทำให้อิทธิพลของสหรัฐฯ อ่อนลง ปัญหาเร่งด่วนคือโลกที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำจะเผชิญหน้ากับการก้าวขึ้นมาของจีนอย่างไร อารยธรรมและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ของจีนถึงอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายตะวันตกวิตกกังวลเสมอมา เพราะถ้าประเทศใหญ่ประเทศหนึ่งมีความรู้สึกว่าอารยธรรมของตนเหนือกว่าของชาติอื่น หรือรู้สึกถึงความอยุติธรรมกับเรื่องที่เคยประสบมาในอดีตจากการที่ประเทศอื่นในโลกนี้ก่อให้ ประเทศเช่นนี้ย่อมยากจะเป็นมิตรกับใครได้ ที่บังเอิญคือ ลัทธิคลั่งชาติ (chauvinism) และความรู้สึกอยุติธรรมนี้ จีนมีครบทั้งสองอย่าง

ความเห็นที่สี่มองไปที่เรื่องกำลังทางทหาร ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนทำให้จีนมีกำลังที่จะเสริมกองทัพให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นภัยคุกคามทางทหารต่อประเทศใกล้เคียงและโลกฝ่ายตะวันตก นายเบรซินสกี้ (Zbigniew Brzenzinski) อดีตผู้ช่วยฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐฯ มองว่า เป็นอันตรายที่จีนเสริมกองทัพให้เข้มแข็งขึ้น เพราะตอนนี้กองทัพจีนมีขีดความสามารถเกินระดับการป้องกันตนเอง และเริ่มมีขีดความสามารถรุกรานได้

สถาบันศึกษา Claremont Graduate University เคยร่วมกับสำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไต้หวันจัดสัมมนาขึ้นที่เมืองลอสเองเจลีส และได้ข้อสรุปสำคัญว่า ในปี 2020 จีนจะมีกำลังเศรษฐกิจซื้ออาวุธและระบบอาวุธที่ล้ำสมัยได้ และช่องแคบไต้หวันกับทะเลจีนใต้จะกลายเป็นจุดขัดแย้งสำคัญที่สุดของเอเชีย เป็นไปได้ว่าจะเกิดการถ่วงดุลทางนิวเคลียร์ระหว่างจีน รัสเซีย และสหรัฐฯ

สื่อมวลชนสำคัญๆ ของสหรัฐฯ ก็ออกมาเสนอบทวิเคราะห์ บทความเชิงวิชาการไปในทิศทางเดียวกันว่า จีนเสริมกำลังทหารเพื่อคงความได้เปรียบในภูมิภาค และการพัฒนาเทคโนโลยีขีปนาวุธก็เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ และพันธมิตรในเอเชียของสหรัฐฯ สหรัฐฯ จึงควรร่วมมือกับพันธมิตรสร้างระบบการป้องกันขีปนาวุธในเอเชียขึ้นมา

หนังสือพิมพ์ “คริสเตียนซายน์สมอนิเตอร์” ถึงกับบอกว่าสหรัฐฯ ควรคงกำลังทหารไว้ในเอเชีย ทั้งยังต้องมีกำลังและประสิทธิภาพเหนือกว่ากองทัพจีนให้มากๆ ด้วย พร้อมทั้งป้องกันมิให้จีนขยายคลังอาวุธนิวเคลียร์ ประกันให้ไต้หวันมีขีดความสามารถป้องกันที่น่าวางใจได้ ต้องให้ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรที่แท้จริงของสหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้นเพื่อประกันดุลอำนาจใหม่ในเอเชีย

หลังจากที่จีนส่งยานอวกาศ “เสินโจว” ได้สำเร็จในปี 1999 สื่อมวลชนสำคัญของสหรัฐฯ เช่น สำนักข่าวเอพี ซีเอ็นเอ็น เดอะวอชิงตันไทม์ส เป็นต้น ต่างลงบทวิเคราะห์วิจารณ์ว่าปักกิ่งกำลังเร่งฝีก้าวแข่งขันด้านอวกาศกับสหรัฐฯ และรัสเซีย หนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลเฮรัลด์ทรีบูนของสหรัฐฯ และเดลี่เทลิกราฟของอังกฤษ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะมีอิทธิพลต่ออนาคตของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคือ การก้าวขึ้นมาของจีน สหรัฐฯ มีความจำเป็นที่จะต้องรับมือกับการก้าวขึ้นมาของจีน ขัดขวางมิให้คนจีน “เกิดความคิดสร้างจักรวรรดิจีน” ได้

สำหรับความเห็นที่ห้า คงต้องเอาไว้ครั้งหน้าแล้วครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น