xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมจีน (8) เหวินหั้ว &文&化

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

ผู้เขียนเขียนเล่า “ความไม่รู้เรื่องวัฒนธรรมจีน” มาเป็นคุ้งเป็นแควแล้ว ยังไม่ได้นำประเด็น “อะไรคือวัฒนธรรม” มาลับสมองกันบ้างเลย ภาษาจีนกลางยุคปัจจุบันใช้คำว่า “เหวินหั้ว 文化” สื่อความหมายของคำว่า Culture จากภาษาอังกฤษ

คำว่า “เหวินหั้ว 文化” ในภาษาจีนโบราณ ไม่ได้หมายความว่า “วัฒนธรรม” (Culture) แต่ใช้ในทางตรงกันข้ามกับคำว่า “อู่ลี่ 武力” (ความรุนแรง)

คนไทยคงคุ้นกับคำว่า “บุ๋น 文” ที่คู่กับ “บู๊ 武” ดีอยู่แล้ว บุ๋นตัวนี้ก็คือคำว่า “เหวิน” ใน “เหวินหั้ว” นั่นเอง คำว่าข้าราชการฝ่ายบุ๋นฝ่ายบู๊ เรายังพอแปลเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารได้ แต่พอถึงความหมายที่กว้างขึ้น เช่น เรื่องบุ๋น เรื่องบู๊ เรานึกใช้คำไทยยากนะครับ ผู้เขียนจึงชอบทับศัพท์ไปเลย

คำว่า “เหวินหั้ว” ที่ใช้สื่อความหมายคำ Culture นั้น เมื่อเริ่มใช้กันใหม่ๆ ในจีนก็มีใช้กันในความหมายที่ต่างๆ กัน สรุปได้ย่อๆ ว่ามี 3 ความหมาย คือ

1.ใช้ในความหมายตรงกับคำว่า “อารยธรรม Civilization”
2.ใช้ในความหมายกว้าง ครอบคลุมถึงเนื้อหาทั้งด้านวัตถุและจิตใจ
3.ใช้ในความหมายแคบ ครอบคลุมถึงเนื้อหาด้านจิตใจเท่านั้น

สำหรับคำไทยที่ใช้ “วัฒนธรรม” ถอดคำว่า Culture นั้น ผู้เขียนจำไม่ได้เสียแล้วว่าปราชญ์ท่านใดเป็นผู้บัญญัติศัพท์คำนี้ จำได้แต่ว่ามีคำแข่งกันที่ต้องเลือกอยู่สองคำ คือ “วัฒนธรรม” กับคำว่า “ พฤติกรรม” สุดท้ายคำว่า “วัฒนธรรม” เป็นที่นิยมมากกว่า

แต่ผู้เขียนเองมีความเห็นต่อการใช้คำ “วัฒนธรรม” คือในปัจจุบันนี้ เรามักเข้าใจเอาว่าวัฒนธรรมคือเรื่องที่ดีงาม (จึงงอกงาม) เท่านั้น เรื่องที่ไม่ดีงามไม่ใช่วัฒนธรรม แต่ในความเป็นจริงวัฒนธรรมมันคือสิ่งที่มนุษย์ประพฤติปฏิบัติกัน มันจึงมีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งก็เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ด้วย

ความหมายของคำว่า Culture อย่างเป็นวิชาการนั้น น่าจะเริ่มจาก “บิดาแห่งมนุษยศาสตร์ “ E.B Tylor ท่านให้คำอธิบายไว้ดังนี้ “วัฒนธรรมเป็นองค์รวมที่สลับซับซ้อนรวมไปถึงวิทยาการ ความเชื่อ ศิลปะ คุณธรรม กฎหมาย ขนบประเพณี ความสามารถและความเคยชินทั้งปวงที่มนุษย์ได้รับจากสังคม

ต่อจากท่านไทเลอร์แล้ว ก็ยังมีปราชญ์คนอื่นๆ ให้คำอธิบายคำว่า Culture ไว้อีกนับพันแบบ สรุปแล้วคำว่าวัฒนธรรมเป็นคำที่มีความหมายคำจำกัดความที่ไม่ชัดเจนเป็นที่สุดเลย

กระทรวงวัฒนธรรมตั้งขึ้นมาแล้ว จะมีบทบาทหน้าที่อย่างไร จะทำอะไร มีใครตอบได้บ้าง

คอลัมน์นี้เป็นเรื่องของจีน เรากลับมาดูความพยายามอธิบายของนักวิชาการจีนอย่างที่เป็นทางการกันสักหน่อย

เขาว่าความหมายของคำว่าวัฒนธรรมมันครอบคลุมกว้างขวางมาก จะกำหนดคำจำกัดความให้ชัดคงไม่ได้ แต่เนื้อหาของวัฒนธรรมนั้นพอสรุปรวมได้ 3 ด้าน ได้แก่

1.“รูปการจิตสำนึก” (คำนี้ภาษาจีนว่า “อี้สื้อสิงไท่ 意识形态” ผู้เขียนให้คำจำกัดความไม่ถูกเหมือนกัน) อันรวมถึงโลกทัศน์ของมนุษย์ (โลกทัศน์คือการมองโลก มองสังคมด้วยความเข้าใจหรือทัศนะอย่างไร) รูปแบบวิธีคิด ความเชื่อทางศาสนา ลักษณะพิเศษทางจิตวิทยา ค่านิยม มาตรฐานทางคุณธรรม ความรู้ความสามารถในการทำความเข้าใจโลก (ความรู้ทางวิทยาการทั้งหลายแหล่นั่นเอง )

2. รูปแบบการดำรงชีวิต รวมถึงรูปแบบและท่าทีต่อเรื่องที่อยู่อาศัย อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม พิธีกรรมในการเกิด การแต่งงาน การบวช การป่วย การตาย วิถีชีวิตในครอบครัว วิถีชีวิตในสังคม เป็นต้น

3. ผลิตผลด้านวัตถุของจิตใจ ด้านนี้ก็อธิบายยากอีก คือสิ่งที่เป็นวัตถุ แต่เมื่อมองให้ทะลุวัตถุนั้นๆ เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ความแตกต่างทางทัศนะของมนุษย์ ตัวอย่างที่จะเข้าใจง่ายหน่อยก็เช่น หนังสือ หนังสือเป็นวัตถุ แต่เรื่องหนังสือเป็นเรื่องของวัฒนธรรม มิใช่เพราะความเป็นวัตถุของมัน หากแต่เพราะเนื้อหาในหนังสือ

เครื่องจักรกลโดยตัวของมันเองยากที่จะบอกว่าเป็นเรื่องวัฒนธรรม แต่การทำงานของเครื่องจักรกลและรูปแบบรูปทรงของมัน สะท้อนระดับความรู้ทางวิทยาการของมนุษย์ ตัวเครื่องจักรกลกับกระบวนการผลิตเครื่องจักรกลจำนวนมากๆ จึงจะมีความแตกต่างกัน เครื่องจักรกลมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ส่วนการผลิตเครื่องจักรไม่จัดอยู่ในเนื้อหาทางวัฒนธรรม

ขอบเขต 3 ด้านนี้พอจะครอบคลุมเรื่องวัฒนธรรมได้มากพอ แต่วัฒนธรรมก็ไม่ใช่การประกอบส่วน 3 ด้านนี้เข้าด้วยกันอย่างกลไก แต่ทั้งสามด้านนี้ส่งผลสะเทือนถึงกันและกัน เป็นปัจจัยให้กันและกันอย่างซับซ้อน เรื่องวัฒนธรรมจีนในคอลัมน์นี้ก็คงจะครอบคลุมเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทั้งสามด้านนี้เป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น