xs
xsm
sm
md
lg

'เส้าหลิน' ยุคเงินเป็นใหญ่ กังฟูเป็นรอง ส่วนธรรมะถูกลืม

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


"วัดเส้าหลินในวันนี้ทำให้ผมรู้สึกว่ากลิ่นอายในเชิงพาณิชย์นั้นเต็มไปหมด แม้แต่พระก็ยังมีพระปลอม ภาพดั้งเดิมอันบริสุทธิ์ในวันวานของวัดเส้าหลินนั้นผ่านเลยไปไม่หวนคืนกลับแล้วจริงๆ" ซุนเจี้ยนขุย (孙剑魁) หนึ่งในนักแสดงนำจากภาพยนตร์เรื่อง เสี้ยวลิ้มยี่*

รถบัสที่เดินทางออกจากเมืองลั่วหยางตั้งแต่เช้าตรู่และมีจุดหมายที่เติงเฟิง (登封) เมืองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างลั่วหยางและเจิ้งโจว แล่นผ่านหน้าวัดเส้าหลินที่มีรูปปั้นปรมาจารย์บู๊ยืนสง่าเป็นสัญลักษณ์เห็นได้เด่นชัด ผมรีบตะโกนบอกให้คนขับจอดแวะ ก่อนรีบแบกเป้ใบโตกระโดดลงจากรถ

สายวันนี้วัดเส้าหลินดูจะคึกคักเสียเหลือเกิน ผมยังสงสัยอยู่ว่าวันนี้มีการนัดประลองยุทธ์ระหว่างคนยุทธจักรหรือกระไร ......

เสี้ยวลิ้มยี่ หรือ วัดเส้าหลิน (เส้าหลินซื่อ:少林寺) ตั้งอยู่ภายใน ซงซาน (嵩山) ภูกลาง อันเป็นหนึ่งใน 5 ยอดเขาแห่งแผ่นดินจีนหรือที่เรียกกันว่า อู่เยว่ (五岳) โดยอีก 4 เขาที่เหลือนั้นประกอบไปด้วย เหิงซาน (恒山) ภูเหนือในมณฑลซานซี เหิงซาน (衡山) ภูใต้ในมณฑลหูหนาน ไท่ซาน (泰山) ภูตะวันออกในมณฑลซานตง และหัวซาน (华山) ภูตะวันตกในมณฑลส่านซี

วัดเส้าหลินแอบตัวอยู่กลางหุบเขาและลำเนาไพรของซงซาน ที่ประกอบไปด้วยเขา 72 ยอด โดยแบ่งย่อยเป็นสองกลุ่ม คือในกลุ่มของเขาไท่ซื่อ (太室山) 36 ยอด และเขาเส้าซื่อ (少室山) 36 ยอด อย่างไรก็ตามความงดงามของธรรมชาติแห่งซงซานนั้นดูจะถูกบดบังไปสิ้นด้วยรัศมีแห่งวัดเส้าหลิน วัดนิกายฌาน (เซน) อันดับหนึ่งในใต้หล้า ที่ตั้งอยู่ในภายในหุบเขา 36 ยอดของภูเขาเส้าซื่อ

วัดเส้าหลินสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.495 ในราชวงศ์เว่ย รัชสมัยของพระเจ้าเสี้ยวเหวินตี้ (孝文帝) โดยแรกเริ่มเดิมทีมีจุดประสงค์ก็เพื่อให้พระภิกษุจากอินเดีย นาม ป๋าถัว (跋陀) มาจำวัดและเผยแพร่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท โดยว่ากันว่าในขณะนั้นพระอาจารย์ป๋าถัวมีลูกศิษย์ลูกหานับร้อยๆ คนเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามหลังจากพระอาจารย์ป๋าถัวมรณภาพ ชื่อเสียงของวัดเส้าหลินก็ค่อยๆ เสื่อมถอยลง

ล่วงมาถึง ค.ศ.527 เมื่อพระภิกษุจากอินเดียอีกรูปหนึ่งนาม ต๋าม๋อ (达摩) หรือพระโพธิธรรม หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม "ตั๊กม้อ" เดินทางมาถึงวัดเส้าหลินเพื่อเผยแพร่นิกายเซน

ตามตำนานร่ำลือกันว่าภิกษุตั๊กม้อใช้เวลาถึง 3 ปีเดินทางจากประเทศอินเดียกว่าจะมาถึงวัดเส้าหลิน โดยเมื่อมาถึงท่านกลับไม่ได้เข้าวัด แต่เดินเลยขึ้นถึงถ้ำแห่งหนึ่งใกล้ๆ กับวัด ในถ้ำภิกษุตั๊กม้อหันหน้าเข้าผนังแล้วจึงนั่งลงขัดสมาธิ ท่านนั่งทำสมาธิและใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำแห่งนั้นเป็นเวลายาวนานถึง 9 ปี ก่อนที่จะลงจากถ้ำเพื่อมาถ่ายทอดพระธรรมและวิทยายุทธ์ให้กับสานุศิษย์ เมื่อถ่ายทอดแก่เหล่าศิษย์สำเร็จท่านจึงเดินทางออกจากวัดเส้าหลินและไปมรณภาพที่อี่ว์เหมิน (禹门) พื้นที่แห่งหนึ่งซึ่งปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน

ว่ากันว่าจากการที่ปรมาจารย์ตั๊กม้อนั่งหันหน้าเข้าผนังทำสมาธิอยู่ในถ้ำถึง 9 ปีนั้นทำให้บนผนังเกิดอภินิหารเป็นรอยเงาของท่านติดตรึงอยู่เลยทีเดียว โดยปัจจุบันถ้ำแห่งนี้นั้นอยู่ในบริเวณเที่ยวชมของวัดเส้าหลิน โดยเรียกกันว่า ถ้ำตั๊กม้อ (达摩洞)**

ในส่วนวิทยายุทธ์ที่ปรมาจารย์ตั๊กม้อคิดค้นขึ้นนั้นก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ท่านเห็นว่าวัดเส้าหลินนี้ตั้งอยู่ ณ หุบเขาซงซาน ซึ่งเป็นป่าทึบที่ชุกชุมไปด้วยสัตว์เดรัจฉานน้อยใหญ่ การที่บรรดาหลวงจีนต้องนั่งสมาธินานๆ โดยไม่ได้ออกกำลังกายจะทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมทรุดได้ ดังนั้นท่านจึงพินิจการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของสัตว์ชนิดต่างๆ และดัดแปลงนำมากำหนดเป็นท่าร่างเพื่อการออกกำลังกายและใช้ป้องกันตัว

ต่อมาด้วยวิทยายุทธ์อันล้ำลึกเหล่านี้เองที่ผลักให้ พระแห่งวัดเส้าหลินกลับกลายต้องเข้ามามีเกี่ยวพันเอากับเรื่องโลกของปุถุชนภายนอก โดยหนึ่งในเรื่องที่โด่งดังก็เช่น เมื่อต้นศตวรรษที่ 7 ในยุคสุย-ถัง พระวัดเส้าหลินได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ 'หลี่ซื่อหมิน' เพื่อต่อสู้กับ 'หวังซื่อชง' โดยต่อมาเมื่อหลี่ซื่อหมินได้รับการสถาปนาเป็นองค์ฮ่องเต้ถังไท่จงแห่งราชวงศ์ถัง นอกจากพระสงฆ์ 13 รูปที่ได้การแต่งตั้งจากฮ่องเต้ให้ได้ดำรงตำแหน่งในทางโลกแล้ว วัดเส้าหลินยังได้อานิสงส์จากการอุปถัมป์ขององค์ฮ่องเต้ไปด้วยอย่างมากมาย

ขณะที่เมื่อราชวงศ์ถังเข้าสู่ยุคของพระนางบูเช็กเทียน (อู่เจ๋อเทียน:武则天) เนื่องจากในยุคพระนางบูเช็กเทียนนี้มีการสนับสนุนการเผยแผ่ศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก ด้านวัดเส้าหลินก็กลายเป็นวัดอันดับหนึ่งในใต้หล้า (天下第一名刹) ไปโดยปริยาย

เมื่อวันคืนผันผ่าน เวลาล่วงเลยมาพันกว่าปี พอประเทศจีนเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐ วัดเส้าหลินก็ถึงยุคตกต่ำ เข้าขั้นหายนะ เมื่อปี ค.ศ.1927 ในช่วงที่จีนกำลังวุ่นวายกับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของเหล่าขุนศึก วัดเส้าหลินก็ถูกเผาทำลายครั้งใหญ่โดยเพลิงได้ลุกโชนอยู่นานถึง 45 วัน สิ่งก่อสร้างในวัดเส้าหลินเกือบทั้งหมดต้องวายวอดสิ้น วิหาร ศาลา ตึกหลักๆ นั้นถูกเผาเรียบวุธ ส่วนตำราไม้แกะสลัก "ประวัติวัดเส้าหลิน" กับ "กังฟูมวยเส้าหลิน" รวมถึงตำราและสมบัติล้ำค่าของวัดมากมาย ต่างก็สูญหายไปในเพลิงอัคคีครั้งนั้น***

ในปี ค.ศ.1949 เมื่อประเทศจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบสังคมนิยม วัดเส้าหลินก็มิพ้นต้องรกร้าง จะมีก็เพียงวิชากังฟูเส้าหลินที่ยังคงถูกถ่ายทอดกันต่อๆ มา และเป็นที่เลื่องลือ โดยเฉพาะในนิยายกำลังภายในเล่มแล้วเล่มเล่า มิพ้นต้องกล่าวถึงแขนงวิทยายุทธ์ที่ล้ำลึกจากวัดเส้าหลิน

จนกระทั่งเมื่อจีนเริ่มเปิดประเทศ และความสนใจเกี่ยวกับกังฟูวัดเส้าหลินจากภายนอกเริ่มร้อนแรง ทางนักลงทุนจากเกาะฮ่องกงก็สนใจจะผลิตภาพยนตร์จอเงินเกี่ยวกับกังฟูของวัดเส้าหลิน โดยยกทีมงานเข้ามาหานักแสดงถึงจีนแผ่นดินใหญ่ และถ่ายทำ ณ สถานที่จริงและอย่างเช่นที่ทราบ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 80 หรือ 25 ปีก่อนเมื่อออกฉาย ภาพยนตร์ "เสี้ยวลิ้มยี่ (少林寺)" ก็โด่งดังเป็นพลุแตก พร้อมๆ กับการถือกำเนิดของดารานักบู๊คนใหม่ หลี่เหลียนเจี๋ย (李连杰) หรือที่ฝรั่งรู้จักกันในนามเจ็ทลี (Jet Li)

หลังจาก "เสี้ยวลิ้มยี่" หนังกังฟูเกี่ยวกับวัดเส้าหลินก็ถูกสร้างขึ้นมาอีกเป็นชุดทั้งหนังใหญ่และหนังจอแก้ว และส่งอิทธิพลกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมชมวัดเส้าหลินอย่างไม่ขาดสาย

ด้านทางฝั่งรัฐบาลจีนเองก็ได้โอกาสผลักดันวัดเส้าหลินให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักของมณฑลเหอหนานเสียเลย โดยเน้นชูประวัติความเก่าแก่ของวัด 1,500 ปี กับกังฟูแห่งวัดเส้าหลิน (ที่ปัจจุบันมีโรงเรียนเปิดสอนกังฟูเส้าหลินแทบจะทั่วมณฑลเหอหนานอยู่แล้ว) นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะยื่นต่อยูเนสโกขอบรรจุ 'วัดเส้าหลิน' ในรายชื่อมรดกโลกอีกด้วย
...............................
ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ ที่ปัจจุบันชื่อเสียงหลักของวัดเส้าหลินกลับขจรกระจายมาจาก 'วิทยายุทธ์' ที่ปรมาจารย์ตั๊กม้อคิดค้นขึ้น มิใช่ 'สัจธรรม' ที่ท่านค้นพบขณะนั่งหันหน้าเข้าผนังถ้ำอยู่ 9 ปี

บางทีอาจเป็นธรรมชาติของมนุษย์ กิเลสหนาที่ยังว่ายวนหลงติดอยู่กับการแสดงอำนาจและการเอาชนะกันทางภายนอก มากกว่าที่จะแสวงหาชัยชนะอันแท้จริงที่อยู่ภายใน

เมื่อเดินผ่านลานใหญ่ด้านหน้าวัดที่สร้างขึ้นไว้ขายสินค้าที่ระลึก และจัดการแสดงเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ผมเห็นภาพ บรู๊ซ ลี ตัวน้อยกำลังตีลังกา ปล่อยหมัด ออกท่าร่างสวยงามที่ผมเคยเห็นแต่ในโทรทัศน์ อ้อมไปด้านหลังเวที เงาของเฉินหลงกำลังเร่งทำความสะอาด ดาบ พลอง กระบอง และหอก ที่ใช้ในการแสดง เมื่อเดินต่อเข้าไปยังบริเวณโรงเรียนกังฟู ศิษย์น้องของหลี่เหลียนเจี๋ยกลุ่มใหญ่ก็กำลังขะมักเขม้นอยู่กับการฝึกวิทยายุทธ์

เด็กเหล่านี้กับผู้ปกครองที่ส่งลูกหลานมาเรียน มาอยู่ มากิน มานอน ที่วัดเส้าหลิน คงมีจุดหมายสูงสุดไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก ในเมื่อปัจจุบันโลกยุทธจักรกลายเป็นเพียงแค่เรื่องราวสมมติในหนังสือ นิยายและภาพยนตร์ สิ่งที่เด็กๆ เหล่านี้พอจะไขว่คว้าได้ก็คือ การเป็นจอมยุทธ์ในโลกมายา 'ดารานักบู๊ในจอแก้ว-จอเงิน' ที่ดูๆ ไปแล้วคงจะอิ่มท้องมากกว่าการเป็นจอมยุทธ์ผู้โดดเดี่ยวในยุทธภพแห่งความเป็นจริง ......

กระนั้นหากไปไม่ถึงฝั่งฝัน อย่างเลวๆ เด็กเหล่านี้ก็คงเติบโตเป็น รปภ.ที่มีวิทยายุทธ์ติดตัว เอาไว้ประมือกับขโมยขโจรที่ในยุคนี้ต่างก็พกอาวุธ-พกมีด-พกปืน ติดตัวกันหมดแล้ว

Tips สำหรับการเดินทาง:
- วัดเส้าหลิน (少林寺) ค่าผ่านประตู 40 หยวน (บัตรนักเรียน-นักศึกษา ลดครึ่งราคา; ราคาค่าผ่านประตูแหล่งท่องเที่ยวในมณฑลเหอหนานอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นราคาอีกในปี 2548 โดยมีข่าวว่าราคาค่าผ่านประตูของวัดเส้าหลินจะขึ้นเป็น 100 หยวน) วัดเส้าหลินอยู่ใกล้ๆ กับตัวเมืองเติงเฟิง การเดินทางมาจากลั่วหยางและเจิ้งโจวนั้นสะดวกสบายมาก โดยเฉพาะการเดินทางมาทางรถประจำทางใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงจากทั้งสองเมือง
- แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมาเที่ยววัดเส้าหลินในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวของชาวจีน โดยเฉพาะเทศกาลวันแรงงานจีนต้นเดือนพฤษภาคม และเทศกาลวันชาติจีนช่วงต้นเดือนตุลาคม เนื่องจากจะแออัดมากถึงมากที่สุด เพราะบริเวณตัววัดเส้าหลินเองนั้นก็ค่อนข้างคับแคบ
- สำหรับผู้ที่วาดฝันว่าต้องการมาชมวัดเส้าหลินแบบดั้งเดิมก็คงต้องผิดหวัง เพราะตัววัดเส้าหลินในปัจจุบัน วิหารและอารามต่างๆ นั้นถูกสร้างใหม่แทบทั้งหมดดังเช่นที่กล่าวไปแล้ว ปัจจุบันของดั้งเดิมที่เหลืออยู่ก็มีแต่เพียงป้ายหิน และวัตถุโบราณเก่าแก่จำนวนเล็กน้อย กับป่าเจดีย์ (塔林) เจดีย์หินจำนวน 232 องค์ที่เก็บอัฐิพระภิกษุสำคัญของวัดเส้าหลินเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :
- "วัดเส้าหลิน" ถิ่นยอดกังฟูแดนมังกร โดย กระบี่พลิ้ว จาก ผู้จัดการท่องเที่ยว
- ปรมาจารย์ตักม้อ จากเว็บไซต์ www.thaikids.com

อ้างอิงจาก :
*หนังสือพิมพ์ซินจิงเป้า 新京报 ฉบับวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.2005 หน้า C10-C11
**หนังสือ 名山地图 โดยฉินเจี่ยน (秦俭) : สำนักพิมพ์ 南方日报出版社, ฉบับ ค.ศ.2004
***หนังสือท่องเที่ยวเหอหนาน-เหอเป่ย ฉบับท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (臧羚羊自助游) : สำนักพิมพ์ 中国大百科全书出版社, ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2004 และ หนังสือ 名山地图










กำลังโหลดความคิดเห็น