xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมจีน(7) ตัวอักษรจีน

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

สิ่งร้อยรัดกลุ่มชนหลากหลายในดินแดนจีนให้หลอมรวมเป็นประชาชาติจีนได้เข้มแข็งสิ่งหนึ่ง คือ ตัวอักษรจีน

เราได้เห็นแล้วว่าภาษาถิ่นของจีนมีหลายภาษา ซึ่งภาษาถิ่นเหล่านั้นออกเสียงแตกต่างกันจนคนพื้นถิ่นถ้าหากใช้ภาษาถิ่นพูดแล้ว จะฟังกันไม่รู้เรื่อง ต้องใช้สำเนียงภาษาจีนกลางเป็นสื่อ

แต่เนื่องจากทั่วประเทศจีนใช้ระบบตัวอักษรตัวเดียวกัน แม้จะออกเสียงแตกต่างกัน เช่น ม้า แต้จิ๋วว่าเบ๊ จีนกลางว่าหม่า เตียวหุยเป็นสำเนียงฮกเกี้ยน ถ้าเป็นจีนกลางออกเสียงว่าจางเฟย มันแตกต่างกันถึงขนาดนี้ แต่ถ้าเขียนเป็นตัวอักษรจีนแล้วก็ร้องอ๋อ ... รับรู้กันว่าหมายถึงอะไร

อักษรจีนมีพัฒนาการจากอักษรรูปภาพ และเป็นภาษาเพียงไม่กี่ภาษาที่อักษรพัฒนาจากอักษรภาพแล้วยังคงเหลือรอดมีชีวิต มีคนใช้กันอยู่

แถมยังเป็นภาษาที่ใช้กันมากที่สุดในโลกด้วย เพราะคนจีนมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก

อักษรจีนกำเนิดมาได้อย่างไร นักประวัติศาสตร์สำนักตำนานนิยมมีเรื่องเล่ากันสามแนว แต่ผู้เขียนจะเก็บไว้เล่าตอนท้าย ขอเล่าเรื่องตามหลักฐานโบราณคดีที่มันแน่ชัดกว่าก่อน

จากหลักฐานโบราณคดียุคหินใหม่ในแหล่งขุดค้น “ปั้นปอ” ชานเมืองซีอาน พบว่าบนภาชนะเครื่องปั้นดินเผ่าที่ขุดพบ มีลวดลายสัญลักษณ์ที่น่าจะบ่งบอกความหมายได้ ทำนองว่าเป็นสัญลักษณ์ทางภาษา สื่อความหมายให้ผู้ดูรับรู้ นักวิชาการว่ามันน่าจะเป็นต้นตอของตัวอักษรยุคเริ่มแรกของกลุ่มชนแถบนั้น (ลุ่มแม่น้ำเหลือง) จากการตรวจสอบอายุของเครื่องปั้นดินเผาเหล่านั้นด้วยวิธีคาร์บอน 14 ได้อายุว่าประมาณหกพันปี

หลังจากนั้น สังคมพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนมีการสร้างตัวเมือง มีประมุขปกครอง มีขุนนางที่เป็นผู้ช่วยของประมุข มีไพร่ที่เป็นสามัญชน มีทาสที่เป็นทรัพย์สินของเจ้าขุนมูลนาย เกิดการปกครองแบบราชวงศ์สืบทอดสันตติวงศ์ขึ้น คือราชวงศ์เซี่ย ยุคนี้ก็ยังเป็นเรื่องกึ่งตำนานอยู่ เพราะหลักฐานทางโบราณคดียังพบน้อย เครื่องสำริดนั้นเริ่มมีแล้ว แต่จะมีอักษรจารึกบนภาชนะสำริดหรือไม่ ผู้เขียนยังไม่พบหลักฐานว่ามี

พัฒนาการของตัวอักษรจีนมาเห็นชัดเจนในยุคราชวงศ์ต่อมา คือราชวงศ์ซาง

นักโบราณคดีขุดค้นพบราชธานีเมือง “อิน” ของราชวงศ์ซาง ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองอันหยาง มณฑลเหอหนาน จึงมีหลักฐานยืนยันได้ว่าเรื่องราวยุคราชวงศ์ซางที่บันทึกไว้ใน “สื่อจี้” หนังสือประวัติศาสตร์เล่มแรกของโลกซึ่งเขียนโดยซือหม่าเชียนนั้น มีความเป็นจริงอยู่ ไม่ใช่แต่เป็นตำนานที่เลื่อนลอย

และแถบเมืองอันหยางนี่เอง ที่เป็นแหล่งต้นตอของสินค้า”กระดูกมังกร” ซึ่งเป็นตัวยาชนิดหนึ่งในตำรับยาสมุนไพรจีน กระดูกมังกรเหล่านี้ก็เป็นกระดูกจริงๆ เสียด้วย เป็นจำพวกกระดองเต่าบ้าง กระดูกสะบักของวัวบ้าง มันฝังดินอยู่เก่าแก่ ผู้คนเลยเรียกว่ากระดูกมังกร หมอยาสมุนไพรจีนเอาไปป่นผสมยาเสียไม่รู้เท่าไหร่จักเท่าไหร่แล้ว

ต่อมาเมื่อค.ศ.1899 เกิดขุดพบกระดูกทำนองนี้จำนวนมากมายเป็นพิเศษที่หมู่บ้านเลี่ยวตุ้นชุน อำเภออันหยาง ก็เลยมีการขุดค้นต่อจนรู้ว่าจุดนี้เองคือราชธานีของราชวงศ์ซาง

และพวกปราชญ์ก็เริ่มใส่ใจกับกระดูกพวกนี้ พบว่ามีรอยสลักสัญลักษณ์ที่เหมือนตัวอักษรภาพอยู่บนกระดูกเหล่านี้

ซึ่งปราชญ์อธิบายได้ว่า กระดูกพวกนี้เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งในการทำนายทายทัก พยากรณ์เรื่องราวต่างๆ ความเชื่อของคนโบราณย่อมเชื่อถือในโหราศาสตร์เป็นเรื่องปกติธรรมดา จะทำสิ่งใดก็ต้องทำการพยากรณ์กันก่อน วิธีพยากรณ์แบบหนึ่งคือเขียนคำลงบนกระดูกหรือกระดองเต่า แล้วเผาไฟ หมอผีหรือโหราจารย์ก็จะทำนายทายทักจากผลหลังจากเผาไฟแล้ว

นักวิชาการเรียกตัวอักษรที่พบบนกระดูกทำนายแบบนี้ว่า “เจี๋ยกู่เหวิน” เจี๋ยกู่แปลว่ากระดูกสะบัก ใช้กระดูกสะบักในการทำนายก็เพราะมันค่อนข้างแบน สลักตัวอักษรลงไปได้ง่าย กระดองเต่ากระดองตะพาบก็ใช้กัน เพราะมันมีลักษณะแบน

เจี๋ยกู่เหวินเป็นอักษรภาพ ถอดรูปร่างออกมาจากลักษณะของจริง เช่น อักษรภูเขา (山) ก็ถอดจากลักษณะภูเขามีสามยอด อักษรผู้หญิง(女) ถอดภาพจากผู้หญิงคุกเข่า เป็นต้น

สรุปได้ว่ายุคราชวงศ์ซางได้กำเนิดตัวอักษรจีนชัดเจนแล้ว ในยุคต่อๆ ลงมาเกิดระบบการเขียนตัวอักษรหลายระบบ แต่เมื่อจิ๋นซีฮ่องเต้รวมแผ่นดินเป็นเอกภาพแล้ว ได้บังคับให้ใช้วิธีเขียนตัวอักษรให้เป็นเอกภาพโดยใช้รูปแบบอักษร “เสี่ยวจ้วน” เป็นแบบมาตรฐาน ใช้เขียนเหมือนกันทั้งประเทศ

สำหรับนักเล่าตำนานให้สนุกสนานนั้น ก็มักจะอ้างถึงตำรา “อี้จิง” ซึ่งเล่าตำนานบรรพกาลไว้ว่า ยุคบรรพกาลผู้เปรื่องปราดใช้วิธีขมวดปมเชือกเพื่อช่วยจดจำเรื่องราว เรื่องใหญ่ก็ขมวดปมใหญ่ เรื่องไม่ใหญ่ก็ขมวดปมเล็กหน่อย การขมวดปมเชือกจดจำเรื่องราวนั้น คนโบราณเคยใช้จริง ชนชาติส่วนน้อยที่ไม่มีอักษรใช้ก็ยังใช้วิธีนี้กันอยู่ แต่มันดูไม่น่าจะเกี่ยวกับสัญลักษณ์ที่จะพัฒนามาเป็นตัวอักษรเลย

อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่าประมุขโบราณชื่อ “เผาซี” ศึกษาโลกธรรมชาติทั้งมวลแล้วคิดสร้างสัญลักษณ์ “ปากั่ว “(โป้ยก่วย) ขึ้น สัญลักษณ์ปากั่วเป็นต้นตอของตัวอักษรจีน แต่นักวิชาการรุ่นใหม่เขาพิสูจน์แล้วว่า สัญลักษณ์ (หรือยันต์) ปากั่วกำเนิดทีหลังกระดูกทำนายเสียอีก เรื่องยันต์ปากั่วเป็นต้นตอของอักษรจีนจึงตกไป

อีกเรื่องเป็นตำนานบุคคล เล่าว่าคนที่ประดิษฐ์อักษรจีนชื่อ “ซางเจ๋” หนังสือโบราณอธิบายถึงตัวซางเจ๋เหมือนกับเป็นเทพนิยายไป และมันก็เป็นเพียงตำนานยุค “สามกษัตริย์ห้าจักรพรรดิ – ซานหวงอู่ตี้ “ ซึ่งไม่มีหลักฐานอะไรพิสูจน์

คนที่สนใจประวัติวัฒนธรรมจีน ขอให้ศึกษาเรื่องอักษรกระดูกทำนาย “เจี๋ยกู่เหวิน” ด้วย จะเห็นพัฒนาการของอักษรภาพอย่างชัดเจนครับ .
กำลังโหลดความคิดเห็น