xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมจีน(6)

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

ภาษาจีน (ต่อ)

ตอนที่แล้วผู้เขียนเล่าถึงภาษาจีนกลางซึ่งถือเป็นมาตรฐาน(สำเนียงหลวง) ใช้สื่อสารกับชาวจีน (ที่รู้ภาษาจีนกลาง) ได้ทั่วโลก แต่ถ้าจะมองว่าภาษาจีนกลางนั้นพูดเหมือนกันไปหมดก็ไม่ใช่อีก เพราะภาษาจีนกลางยังแบ่งเป็นภาษาถิ่นย่อยลงไปอีก

สำเนียงภาษามาตรฐานจีนกลางแท้ๆ นั้น เขาถือว่าภาษาของกรุงปักกิ่งเป็นมาตรฐาน ภาษาจีนกลางมีระบบเสียงพยัญชนะต้น 22 เสียง มีระบบเสียงวรรณยุกต์ 4 เสียง

ภาษาจีนท้องถิ่นของคนจีนที่อพยพมาอยู่เมืองไทยนั้น ใช้พูดรู้เรื่องกับกลุ่มย่อยของตนเท่านั้น อย่างภาษาแต้จิ๋วเอาไปใช้ในประเทศจีนไม่ได้ เพราะเมืองแต้จิ๋วที่ผู้คนใช้ภาษาแต้จิ๋วนั้น เป็นเมืองเล็กๆ เมื่อเทียบกับประเทศจีนทั้งหมด

ภาษาจีนท้องถิ่นในไทยประกอบด้วย แต้จิ๋ว (ฉาวโจว) กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน และไหหลำ ส่วนท้องถิ่นอื่นๆ นั้นมีน้อย

ภาษาจีนกลางสำเนียงมาตรฐาน (ปักกิ่ง) สมัยก่อนฝรั่งเรียกว่า “แมนดาริน” แมนดารินมีความหมายว่าขุนนางใหญ่ ภาษาแมนดารินก็คือภาษาที่ขุนนางใช้กัน (สำเนียงหลวง) ทำนองเดียวกับที่เราใช้ภาษากรุงเทพเป็นภาษาราชการ

นอกจากภาษาปักกิ่งแล้ว ภาษาจีนกลางยังแบ่งเป็นภาษาถิ่น ( Dialects) อีก 4 ภาษา คือ

1.จีนกลางฝ่ายเหนือ ในมณฑลเหอเป่ย เหอหนาน ซานตง และแมนจูเรีย

2.จีนกลางฝ่ายตะวันตกเฉียงเหนือ ในมณฑลส่านซี ซานซี กานซู ชิงไห่ หนิงเซี่ย

3.จีนกลางฝ่ายตะวันตกเฉียงใต้ ในมณฑลเสฉวน ยูนนาน กุ้ยโจว หูเป่ย ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหูหนานและของมณฑลกวางสี

4.จีนกลางตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำแยงซีในมณฑลอันฮุย เจียงซู และบริเวณตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ตั้งแต่จิ่วเจียงถึงเจิ้นเจียง

ภาษาตระกูลจีนแบ่งออกเป็นภาษาใหญ่ ดังนี้ จีนกลาง ภาษาอู๋ ภาษาเซียง ภาษากั้น ภาษาฮักกา (แคะ) ภาษาเยวี่ย (กวางตุ้ง) ภาษาหมิ่น (ฮกเกี้ยน)

ภาษาอู๋ ใช้พูดกันในมณฑลเจียงซู และเจ้อเจียง มีประชากรที่พูดภาษานี้คิดเป็น 8% ของประชากรทั้งหมดของสาธารณรัฐประชาชนจีน ภาษานี้มีระบบเสียงพยัญชนะต้นมากกว่าภาษาจีนกลาง เช่น ภาษาท้องถิ่นอู๋ที่พูดที่เมืองซูโจว มีระบบเสียงพยัญชนะต้น 27 เสียง ภาษาอู๋มีระบบคำศัพท์ของตน ซึ่งบางอย่างก็แตกต่างจากภาษาจีนกลางมาก ภาษาท้องถิ่นที่ซูโจวมีระบบเสียงวรรณยุกต์ 7 เสียง แต่ภาษาท้องถิ่นอู๋ที่พูดกันทางตะวันตกของเมืองเซี่ยงไฮ้มีมากกว่า 8 เสียงวรรณยุกต์

ภาษาเซียง ใช้พูดกันในมณฑลหูหนานเท่านั้น แต่มีจำนวนประชากรจีนที่พูดภาษานี้ คิดเป็นถึง 5% ของประชากรจีนทั้งหมด ภาษาเซียงแบ่งออกเป็นภาษาเก่ากับภาษาใหม่ ภาษาเก่ายังคงรักษาระบบเสียงโฆษะ (Voiced) ดั้งเดิมเอาไว้ทั้งในพยัญชนะหยุดเสียงและในพยัญชนะเสียงเสียดแทรก ภาษาใหม่ซึ่งใช้พูดกันในเมืองใหญ่ๆ เช่น ฉางซา ในภาษาใหม่นี้เสียงหยุดที่เป็นเสียงโฆษะ (voiced stops ) จะกลายเป็นเสียงอโฆษะ สิถิล ( voiceless unaspirated) ระบบเสียงของภาษาใหม่ใกล้เคียงกับภาษาจีนกลางมากกว่าภาษาเก่า ภาษาใหม่ที่เมืองฉางซา มีระบบพยัญชนะต้น 23 เสียง วรรณยุกต์ 6 เสียง ระบบคำศัพท์ของภาษาใหม่ใกล้เคียงกับภาษาจีนกลางมาก และระบบไวยากรณ์ก็ใกล้เคียงกับภาษาจีนกลาง

ภาษากั้น (Kan) ใช้พูดในมณฑลเจียงซี และในบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลหูเป่ย ในภาษากั้นนี้เสียงหยุดโฆษะดั้งเดิม (voiced stop) จะกลายเป็นเสียงอโฆษะ ธนิต (voiceless aspirated) คล้ายกับที่เป็นในภาษาฮักกะ ในทางคำศัพท์ ภาษากั้นค่อนข้างใกล้เคียงกับภาษาอู๋ ภาษา Lower Yangtze Mandarin และภาษาเสียงภาษากั้นมีประชากรพูดเพียง 2% ภาษากั้นมีระบบเสียงพยัญชนะต้น 19 เสียง มีระบบเสียงวรรณยุกต์ 6 ที่เขานับภาษากั้นเป็นภาษาหนึ่งต่างหาก เพราะมีคำศัพท์จำนวนมากในภาษานี้ ซึ่งไม่พบในภาษาอื่นๆ ในประเทศจีน

ภาษาฮักกะ (Hakka) ใช้พูดกระจายกันในหลายถิ่นมีมากที่สุดในบริเวณด้านตะวันออกและด้านเหนือของมณฑลกวางตุ้ง นอกนั้นก็พบบ้างที่มณฑลฮกเกี้ยน มณฑลเจียงซี มณฑลกวางสี มณฑลหูหนาน และมณฑลเสฉวน บนเกาะไต้หวัน ก็มีการพูดภาษานี้ คิดจำนวนประชากรที่พูดภาษานี้แล้ว จัดเป็น 4% ของประชากรของสาธารณรัฐประชาชนจีนทั้งหมด และเนื่องจากคนจีนที่พูดภาษาฮักกะอพยพมาตั้งรกรากในคาบสมุทรมลายูและสิงคโปร์ ภาษาจีนที่พูดจากันในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์จึงเป็นภาษาฮักกะนี้

ภาษาฮักกะมีจำนวนพยางค์ในคำมากกว่าภาษาจีนกลาง มีคำศัพท์เฉพาะและมีการใช้คำลักษณะราม (numeral classifier) ที่ผิดแผกไปจากภาษาจีนกลาง
ภาษากวางตุ้ง (เยวี่ย) พูดกันในมณฑลกวางตุ้ง ทางใต้ของมณฑลกวางสี ที่เกาะฮ่องกงและมาเก๊า พูดกัน 5% ของประชากรจีนทั้งหมด ถ้านับภาษาที่เป็นที่รู้จักกันนอกประเทศจีนแล้ว ภาษากวางตุ้งเป็นภาษาจีนที่คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุด

ภาษากวางตุ้งพูดจาในดินแดนที่มีคนกลุ่มน้อยที่พูดภาษาไท (จ้วง-ต้ง) ในกวางสีและกวางตุ้ง ดังนั้นจึงมีร่องรอยของภาษาตระกูลไทติดอยู่ในภาษากวางตุ้งด้วย รวมทั้งในชื่อสถานที่ นา น้ำ บ้าน มีคำศัพท์ภาษาไทหลายคำอยู่ในภาษากวางตุ้ง มีระบบไวยากรณ์บางอันคล้ายภาษาไท เช่น การเรียงลำดับเป็นคำนามสำคัญ (Head noun) + คำขยาย (Modifier) มีระบบพยัญชนะต้น 20 และมีระดับเสียงวรรณยุกต์มาก เช่นที่ Seiyap มี 9 ที่ Po-Pei มี 11 เสียงวรรณยุกต์ เป็นต้น

ภาษาหมิ่น พูดกันที่มณฑลฮกเกี้ยน เอ้หมิง และบนเกาะไต้หวัน ตะวันตกของกวางตุ้ง ทางใต้ของเชเกียง ได้รับอิทธิพลของภาษาชนกลุ่มน้อยเหมือนกัน คือ จากภาษาจ้วง หลี ต้ง และสุย 4% แบ่งละเอียดได้เป็น หมิ่นเหนือ และหมิ่นใต้
เมื่อกล่าวแบ่งภาษาจีนออกเป็น 7 ภาษาใหญ่ๆ แล้ว จะเห็นว่าภาษาฮักกะกับภาษากวางตุ้ง ได้เข้ามาอยู่ในเอเชียอาคเนย์มาก .
กำลังโหลดความคิดเห็น