xs
xsm
sm
md
lg

จาก 'กวนอู' ถึง 'งักฮุย' และคนขายชาติ (2)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


แท้จริงแล้ว แม้ 'กวนอู' จะเกิดก่อน 'งักฮุย' เกือบพันปี คือ กวนอูเป็นบุคคลสำคัญในสมัย สามก๊ก (ค.ศ.220-280) งักฮุยอยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) แต่บุคคลทั้งสองกลับมีความเกี่ยวพันกันอย่างไม่น่าเชื่อ ความเกี่ยวพันดังที่กล่าวไปแล้วก็ คือ การเป็นวีรบุรุษผู้เลื่องชื่อในความซื่อสัตย์และภักดีด้วยกันทั้งคู่

อย่างไรก็ตาม ที่เมืองไทยชื่อของ 'กวนอู' ดูจะเป็นที่รู้จักกันมากกว่า 'งักฮุย' มาก หนึ่ง ก็เป็นเพราะ นิยายเรื่องสามก๊ก แต่อีกประการหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ ทำไมคนธรรมดาอย่าง 'กวนอู' จึงถูกยกย่องให้เป็น 'เทพบู๊ (武圣)' และมีสถานะคู่เคียงกับ 'เทพบุ๋น (文圣)' ยอดปราชญ์อย่าง 'ขงจื๊อ'

ไอ้เก่ง สหายสนิทชาวภูเก็ต สมัยเรียนมหาวิทยาลัยของผมคนหนึ่งถึงกับยกรูปกวนอูที่บ้านไปตั้งไว้บนหิ้งพระ เคารพบูชาดังเช่นพระพุทธรูป เมื่อผมถาม เจ้าตัวก็อธิบายว่ากวนอูไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวละครในสามก๊กอย่างเดียว แต่สำหรับคนจีนบ้านเขานั้น กวนอู สามารถช่วยขจัด ปัดเป่า ผีสาง วิญญาณร้ายต่างๆ ได้ ชะงัดนัก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คงมีน้อยคนที่ทราบว่าจริงๆ แล้วสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ชื่อเสียงของ 'กวนอู' เลื่องลือไปทั่วนั้นก็อันเนื่องมาจาก อุบายของชาวแมนจูที่เข้ามาปกครองประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ราชวงศ์สุดท้ายของแผ่นดินจีน ......

ความที่ บรรพบุรุษของชนเผ่าแมนจู (หม่านจู๋:满族) นั้นก็คือพวก เผ่าหนี่ว์เจิน (女真族) หรือ จิน (金; ค.ศ.1115-1234) ชนเผ่าที่เรืองอำนาจขึ้นมาในยุคเดียวกับราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋; ค.ศ.1127-1279) หลังจากราชวงศ์ซ่งล่มสลายลง ประวัติศาสตร์ล่วงเลยผ่านราชวงศ์หยวน และหมิง มาจนกระทั่งราชวงศ์ชิงที่ก่อตั้งขึ้นโดยชาวแมนจู ณ เวลานั้น แม้กาลเวลาจะผ่านมาแล้วหลายร้อยปีกระแสความยกย่องใน วีรบุรุษต้านเผ่าจิน ที่ชื่อ 'งักฮุย' ก็ยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย

การยกย่อง งักฮุย นั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติสำหรับชาวทั้วไป อย่างไรก็ตามในสายตาของราชสำนักชิงแล้ว การเคารพบูชางักฮุย วีรบุรุษต้านชนเผ่าจิน นั้นก็เปรียบได้กับการเคารพบูชาบุคคลผู้ต่อต้านราชวงศ์ชิงนั่นเอง ดังนั้นราชสำนักชิงจึงออกอุบายยก 'กวนอู' อีกหนึ่งวีรบุรุษในประวัติศาสตร์จีนให้เป็นที่เคารพบูชาของสามัญชนทั่วไป เพื่อลดกระแสการเชิดชู งักฮุย ให้เบาบางลง*

ทั้งนี้หากจะกล่าวไปแล้ว ถ้าพิจารณาจาก เรื่องราวของกวนอู ในนวนิยายสามก๊กตั้งแต่ต้นจนจบ ก็มิอาจกล่าวได้ว่า กวนอู คู่ควรแก่การเป็นยอดวีรบุรุษผู้สมบูรณ์พร้อม เพราะ บุรุษสูงประมาณหกศอก หนวดยาวประมาณศอกเศษ หน้าแดงดังผลพุทราสุด ปากแดงดังชาดแต้ม คิ้วดังตัวไหม จักษุยาวดังนกการเวก ผู้นี้นั้นแม้จะเป็นผู้กล้า กอปรด้วยสติปัญญา เป็นยอดขุนพลผู้มีฝีมือล้ำเลิศ ประสบชัยชนะในการต่อสู้มานับครั้งไม่ถ้วน แต่สุดท้ายก็พลาดท่าเสียทีและต้องแลกความผิดพลาดมาด้วยชีวิต

ข้อเสียอันร้ายแรงของกวนอู ก็คือ ความเย่อหยิ่งทรนง "กูเท่านั้นที่เป็นหนึ่ง"

มีผู้ วิเคราะห์ถึง โรคความเย่อหยิ่งทรนงของกวนอูเอาไว้ว่าได้พัฒนาไปตามผลการรบของกวนอู เช่น ครั้งที่เล่าปี่เชิญขงเบ้งออกจากเขาโงลังกั๋งมาเป็นที่ปรึกษากวนอูก็ไม่ค่อยยอมรับฟังคำบัญชาของขงเบ้ง ต่อมาเมื่อได้รับคำสั่งให้คอยรักษาเมืองเกงจิ๋วอันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ด้วยความทรนงหลงคิดว่าตัวเก่ง กวนอูก็มิได้ใส่ใจปฏิบัติตามคำสั่งของกุนซือเท่าใดนัก จนสุดท้าย เมื่อความเย่อหยิ่งทรนงของกวนอูหนักหน่วงจนถึงขั้นร้ายแรง โรคร้ายแรงชนิดนี้ก็ส่งให้เขาต้องพ่ายแพ้ ทั้งยังจบชีวิตลงในที่สุดหลังหนีออกมาจากเมืองเป๊กเสียได้เพียง 20 กว่าลี้ ......**

โรคเย่อหยิ่งทรนง หลงในความเก่ง ความสามารถ ความถูกต้อง ของตนโดยไม่ฟังเสียงผู้ใดนั้น เพียงแค่เราหวนมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ก็จะพบได้ว่า มีตัวอย่างที่ถูกจารึกไว้แล้วนับครั้งไม่ถ้วนว่า โรคนี้เป็นโรคร้ายแรงที่ทุกครั้งจะส่ง 'คนไข้' ให้เดินไปสู่จุดจบ พบผลกรรมอันเลวร้าย เสมอมา

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ของความเป็นวีรบุรุษผู้สัตย์ซื่อแล้ว เราเองผู้เป็นคนรุ่นหลังก็ควรเลือกยกย่องและเชิดชู ข้อดีและความเป็นคนดีของกวนอูใน 5 ประการด้วยกันก็คือ

ประการที่หนึ่ง พึงมีน้ำใจรักภักดีต่อแผ่นดิน ยอมเสียสละทุกสิ่งแม้ชีวิตเพื่ออุทิศแก่บ้านเมือง
ประการที่สอง พึงมีน้ำใจกตัญญูต่อบิดามารดาผู้ให้กำเนิด ด้วยการประพฤติตนเป็นคนดี อยู่ในคำสั่งสอนอบรม ทำหน้าที่การงานสร้างฐานะสืบสายสกุลให้รุ่งเรือง เป็นที่พึ่งแห่งบิดามารดาและตระกูลวงศ์
ประการที่สาม พึงมีน้ำใจซื่อตรงต่อคู่ครอง สร้างฐานะให้เป็นหลักได้พักพิงของครอบครัว
ประการที่สี่ พึงตั้งตนอยู่ในศีลธรรมและขนบธรรมเนียม เป็นแบบอย่างอบรมสั่งสอนบุตรหลานให้ตั้งตนเป็นคนดีมีกตัญญูต่อแผ่นดิน
ประการที่ห้า พึ่งซื่อตรงต่อมิตร ไม่คิดเบียดเบียนล่อลวงหรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย บำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อม***

กลับมาถึงเรื่องราวหลังจากที่ กวนอู เสียชีวิตภายใต้เงื้อมมือของ ง่อก๊ก (吴国)

ภายหลังจากที่กวนอูถูกสังหารภายใต้เงื้อมมือของทัพซุนกวน แห่งง่อก๊ก ซุนกวนก็รู้สึกหวาดกลัวว่าเล่าปี่จะมาล้างบัญชีแค้นให้น้องร่วมสาบานเอากับตน จึงออกอุบายตัดศีรษะของกวนอูส่งไปให้โจโฉ ที่วุ่ยก๊ก (魏国) โดยหวังว่าจะเบนเป้าความแค้นของเล่าปี่จากตนไปที่โจโฉแทน ด้านโจโฉเมื่อได้รับของกำนัลเป็นศีรษะของกวนอูก็ตกใจ อย่างไรก็ตาม โจโฉผู้ปราดเปรื่องย่อมไม่เดินตกหลุมพรางที่ซุนกวนขุดล่อเอาไว้

เมื่อได้รับศีรษะของกวนอู โจโฉก็สั่งให้ช่างแกะสลักไม้หอมมาเสริมในส่วนของลำตัวที่ขาดหายไป จากนั้นจึงนำไปฝังโดยทำพิธีอย่างใหญ่โตเปรียบเสมือนกวนอูเป็นอ๋ององค์หนึ่ง โดยในพิธีการสักการะ โจโฉนั้นถึงกับไปเคารพหลุมศพของกวนอูด้วยตัวเองและยกย่องให้กวนอูให้เป็นอ๋องแห่งจิง (荆王)

ปัจจุบัน หลุมศพส่วนศีรษะที่มีลำตัวแกะสลักด้วยไม้หอมของกวนอูนั้นตั้งอยู่ที่เมืองลั่วหยาง ณ ศาลเจ้ากวนอู ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองมาทางทิศใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร (สำหรับศพส่วนลำตัวของกวนอูนั้นถูกฝังอยู่ เมืองตังหยาง (当阳) มณฑลหูเป่ย)

ด้วยความที่หลุมฝังศพ และศาลเจ้ากวนอูแห่งนี้นั้นเมื่อเวลาผ่านไป ก็มีต้นไม้เจริญงอกงาม ขึ้นปกคลุมสะสมมากเข้าจนกลายเป็นป่า ทำให้มีการเรียกกันว่า ป่ากวนอู (关林) แต่ทั้งนี้การถูกยกระดับจากหลุมฝังศพธรรมดาให้เป็นป่า (林) นั้นยังมีความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นก็คือ ปัจจุบันมีเพียงหลุมฝังศพของบุคคลสองท่านเท่านั้นที่ถูกยกให้เป็นป่า หนึ่งก็คือ 'เทพแห่งบู๊' กวนอู อีกหนึ่งก็คือ 'เทพแห่งบุ๊น' ขงจื๊อ

ศาลเจ้ากวนอูที่ลั่วหยาง ประกอบด้วย 3 ตำหนักหลักด้วยกัน โดยเมื่อผ่านประตูแรกเข้าไปก็จะพบประตูใหญ่ ที่ด้านบนจะแขวนป้ายไว้ว่า "关林" ด้านหน้ามีสิงโตหน้าตาท่าทาง น่าเกรงขามเฝ้าอยู่หนึ่งคู่ เมื่อเดินผ่านประตูใหญ่เข้าไปก็จะพบกับทางหินยาวราว 50 เมตรที่ทอดตัวไปยังตำหนักใหญ่ อันเป็นตำหนักหลักของศาลเจ้ากวนอู โดยริมทางเดินหินนี้ประดับไว้ด้วยสิงโตหินรูปร่างท่าทางแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงอีก 104 ตัว ช่วยขับให้ศาลเจ้าแห่งนี้ดูขรึมและขลังขึ้นเป็นทวีคูณ****

ที่ตำหนักใหญ่ (大殿) บรรจุรูปปั้นของเทพกวนอูขนาดใหญ่อยู่ภายในไว้ให้ผู้คนเคารพสักการะ ขณะที่ด้านนอกก็มี ง้าวที่จำลองมาจาก 'ง้าวมังกรมรกต' อาวุธคู่กายของกวนอู โดย ในตำนานสามก๊กนั้นเล่ากันว่า ง้าวมังกรมรกตนี้ ยาว 11 ศอก (3.5 เมตร) หนัก 82 ชั่ง ......

ตัวผมเองลองไปยกดูแล้ว กว่าจะยกให้ง้าวขยับขึ้นเหนือพื้นได้ก็เล่นเอาหมดแรง ดังนั้นก็พอจะจินตนาการได้ว่า ผู้ที่ถือง้ามด้ามนี้ออกรบทัพจับศึกร่างกายย่อมจะต้องแข็งแรงมากสักเพียงใด

เมื่อเดินผ่านไปยังตำหนักที่สอง (二殿) ก็จะพบกับรูปปั้นกวนอูใส่ชุดเกราะพร้อมออกศึก ดวงตาทั้งสองเบิกจ้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้อย่างโกรธแค้น สาเหตุที่รูปปั้นกวนอูในตำหนักแห่งนี้จ้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ก็อันเนื่องมาจากหากมองจากแผนที่แล้วก็จะเห็นได้ว่า 'ง่อก๊ก' นั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองลั่วหยาง การจ้องมองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกวนอูก็แสดงออกถึงความโกรธแค้นของกวนอูที่มีต่อซุนกวน

ในส่วนของตำหนักที่สาม มีรูปปั้นกวนอูอยู่สององค์ด้วยกันด้านซ้ายเป็นรูปปั้นกวนอูกำลังอ่านตำราชุนชิว กลางดึก ส่วนด้านขวาเป็นรูปปั้นกวนอูกำลังหลับพักผ่อน ขณะที่เมื่อเดินทะลุไปด้านหลังก็จะพบกับหลุมฝังศพขนาดมหึมาที่บรรจุ ศีรษะอันไร้ร่างของกวนอู

กวนอู วีรบุรุษผู้ที่แม้จะเต็มไปด้วยหยิ่งทรนง แต่ก็ได้ชื่อไว้ว่าเป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งยอดคุณธรรมประการหนึ่ง จนชนรุ่นหลังยกย่องและเทิดทูนให้เป็น 'เทพแห่งความซื่อสัตย์'

Tips สำหรับการเดินทาง:
- ศาลเจ้ากวนอู (关林) ค่าผ่านประตู 30 หยวน (บัตรนักเรียน-นักศึกษา ลดครึ่งราคา; ราคาค่าผ่านประตูแหล่งท่องเที่ยวในมณฑลเหอหนานอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นราคาอีก) อยู่ห่างจากตัวเมืองลั่วหยางประมาณ 8 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปได้สะดวกโดยรถประจำทางหลายสาย

อ้างอิงจาก :
*หนังสือท่องเที่ยวเหอหนาน-เหอเป่ย ฉบับท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (臧羚羊自助游) : สำนักพิมพ์ 中国大百科全书出版社, ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2004 หน้า 56-57
**ขุดกรุสมบัติสามก๊ก แปลโดย บุญศักดิ์ แสงระวี : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พ.ศ.2544
***สามก๊กฉบับคนขายชาติ เล่มที่สอง โดย เรืองวิทยาคม : สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์, พ.ศ.2546
****หนังสือ 洛阳名胜 สำนักพิมพ์ 中州古籍出版社 ฉบับเดือนเมษายน ปี 2001






กำลังโหลดความคิดเห็น