xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมจีน(5) ภาษาจีน

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

สังคมไทยมีคำกล่าวว่า “สำเนียงส่อภาษา กริยาส่อสกุล” สำเนียงภาษาพูดของมนุษย์เราเรียนตั้งแต่แรกเกิด แล้วก็ติดตัวไปตลอด เปลี่ยนแก้ได้ยาก

เมื่อผู้เขียนร่ำเรียนอยู่ในเมืองจีน ยามพบปะสนทนากับคนจีนภาคเหนือ(เหนือแม่น้ำแยงซี) เขาจะเดาทันทีว่าผู้เขียนเป็นคนกวางตุ้ง เพราะสำเนียงและจังหวะคำการพูดของผู้เขียน ซึ่งมีภาษาเกิดเป็นภาษาไทยนั้น คล้ายคลึงกับภาษาถิ่นกวางตุ้ง ต่อให้ผู้เขียนตั้งใจพูดภาษาจีนกลางแบบปักกิ่ง ฝึกฝนจริงจังเพียงไรก็ไม่มีทางจะพูดได้เหมือนคนปักกิ่ง

ผู้เขียนเรียนแพทย์ที่เซี่ยงไฮ้ ฝึกฝนพูดสำเนียงแมนดารินสำเนียงเดียว ผู้เขียนฟังภาษาถิ่นอื่นๆ เช่น เซี่ยงไฮ้ ซูโจว ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฟังไม่ออกเลย

มันเหมือนกันไปอยู่คนละประเทศ จนมีคำตลกพูดกันว่า คนปักกิ่งกลัวอะไรมากที่สุด ตอบว่ากลัวคนกวางตุ้งพูดจีนกลาง เหตุที่กลัวก็เพราะว่าถึงแม้คนกวางตุ้งจะพยายามพูดจีนกลางแล้วก็ตาม คนปักกิ่งก็ยังฟังไม่รู้เรื่องอยู่ดี

นักวิชาการจีนมักจะมองว่า ภาษาจีนเป็นภาษาเดียวกันอันแบ่งแยกไม่ได้ แต่ในทางเป็นจริงแล้ว มีภาษาถิ่นที่แตกต่างไปจากภาษาจีนกลางอย่างมาก คือไม่เพียงต่างกันทางสำเนียง แต่บางภาษา เช่น ภาษากวางตุ้งดั้งเดิมนั้นมีความแตกต่างทางไวยากรณ์ด้วย

ถ้าท่านได้อ่านบทความของผู้เขียนเป็นลำดับมาก็จะไม่แปลกใจ เพราะผู้เขียนปูพื้นให้เห็นแล้วว่า ประชาชาติจีในปัจจุบันเกิดจากการหลอมรวมประสมประสานเผ่าชนหลายกลุ่ม โดยมีกลุ่มหัวเซี่ยเป็นแกนหลัก ด้านวัฒนธรรมก็เป็นเช่นเดียวกัน ภาษาอันเป็นแก่นของวัฒนธรรมจึงพัฒนามาทำนองเดียวกัน

ภาษาพูดมีภาษาถิ่นที่พูดต่างกันหลายภาษา แต่ภาษาเขียนจีนใช้อักขระแบบเดียวกัน จุดนี้เองที่ทำให้คนจีนสื่อสารกันได้ และผูกพันวัฒนธรรมพื้นถิ่นต่างๆ ให้หลอมรวมกันเป็นวัฒนธรรมประชาชาติจีน

เรื่องนี้ต้องยกให้เป็นวีรกรรมของจิ๋นซีฮ่องเต้ เพราะท่านเป็นผู้บังคับให้เกิดการใช้ตัวอักษรแบบเดียวกัน คือตัวอักษรที่ก๊กฉิน(จิ๋น)ใช้

ท่านที่ไม่รู้ภาษาจีน หากสนใจอยากจะรู้เรื่องภาษาจีนในทางภาษาศาสตร์บ้าง ค้นหาได้จากหนังสือเรื่อง “นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์” ของรศ.ดร.คุณหญิง สุริยา รัตนกุล มหาวิทยาลัยมหิดลได้ครับ ทรรศนะของท่านน่าสนใจดี ตอนหนึ่งท่านเสนอว่า

“ การที่เรียกว่าตระกูลภาษาจีน (Sinitic languages) นี้ เป็นการเรียกอย่างนักภาษาศาสตร์ตะวันตกที่ศึกษาตระกูลภาษาจีนภาษาต่างๆ แต่นักภาษาศาสตร์ชาวจีนซึ่งมีวัตถุประสงค์ทางชาตินิยมจะไม่ยอมเรียกอย่างนี้ นักภาษาศาสตร์ชาวจีนจะเรียกภาษาตระกูลจีนต่างๆ ทั้งแมนดาริน กวางตุ้ง แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ฯลฯ รวมว่าเป็นภาษาท้องถิ่นของภาษาจีนด้วยกันทั้งหมด คือว่าเป็น Chinese dialects การที่นักภาษาศาสตร์ชาวจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาธารณรัฐประชาชนจีนเรียกเช่นนี้ เพราะต้องการจะบ่งชี้ว่ามีภาษาจีนอยู่ภาษาเดียวเหมือนดังกับที่มีประเทศจีนอยู่ประเทศเดียว อันเป็นบูรณภาพ แบ่งแยกไม่ได้

การที่นักภาษาศาสตร์ชาวจีนและรัฐบุรุษจีนไม่ยอมรับความจริงที่ว่า คนที่พูดภาษาตระกูลจีนด้วยกันแต่คนละภาษากัน ไม่สามารถทำความเข้าใจกันได้ (absence of mutual intelligibility) เขาจะกล่าวว่าที่ไม่เข้าใจกันก็เพราะความแตกต่างทางด้านเสียง ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นชัดว่าหาปฏิภาคของเสียง (sound correspondences) ได้โดยง่าย ยิ่งความแตกต่างทางด้านคำศัพท์และความแตกต่างทางด้านไวยากรณ์แล้ว ยิ่งหาผู้ยอมรับได้ยากยิ่งขึ้น สิ่งที่นักภาษาศาสตร์จีนและรัฐบุรุษจีนใช้เป็นหลักฐานในการกล่าวว่าภาษาจีนมีอยู่เพียงอย่างเดียว และแมนดาริน กวางตุ้ง แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ฯลฯ ต่างก็เป็นภาษาท้องถิ่น (dialects) ของภาษาจีนทั้งนั้นก็คือ ข้อที่ว่าภาษาจีนมีตัวเขียน ซึ่งนับเป็นภาษาเขียนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และคนจีนที่พูดภาษาใดๆ ก็ตาม จะเป็นแมนดาริน กวางตุ้ง แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ฯลฯ ก็ใช้ตัวเขียนอันเดียวกันนี้.......

ภาษาจีนกลาง (Mandarin) Mandarin เป็นชื่อที่ใช้เรียกภาษาจีนกลางในภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษรับคำว่า Mandarin มาจากภาษาโปรตุเกสและภาษาโปรตุเกสก็รับคำว่า muntri มาจากภาษามลายูอีกทอดหนึ่ง muntri แปลว่าขุนนาง ที่เรียนภาษาจีนกลางว่า Mandarin หรือภาษาขุนนาง ก็เพราะแปลถอดความมาจากคำว่า Kuan-hua ซึ่งเป็นภาษาจีนแปลได้ว่าภาษาของขุนนาง (civil servant language) ปัจจุบันนี้ไม่มีขุนนางในสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกแล้ว จีนจึงไม่เรียกภาษานี้ว่า Kuan-hua อีกต่อไป ชื่อภาษาจีนที่ใช้เรียกภาษานี้ในปัจจุบัน คือ Kuo yu (หรือภาษาประจำชาติ National language )

ภาษาจีนกลางเป็นภาษาพูดของคนที่อยู่บริเวณกรุงปักกิ่ง เนื่องจากกรุงปักกิ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศจีน ภาษานี้จึงได้รับสถาปนาเป็นภาษาราชการของประเทศจีนด้วย ภาษานี้นับตามจำนวนคนพูดแล้ว จัดว่ามีความสำคัญมากที่สุดในบรรดาภาษาตระกูลจีน-ทิเบตทั้งหลาย เพราะประชากรของสาธารณรัฐประชาชนจีนมากกว่า 70% ใช้ภาษานี้ ถ้าพิจารณาเรื่องภาษาเขียน ภาษาจีนจัดว่ามีภาษาเขียนที่เก่าแก่ที่สุดกว่าบรรดาภาษาทั้งหลายในโลก (ยกเว้นภาษาอียิปต์โบราณ ภาษาบาบิโลน ภาษาฟีนิเซีย ฯลฯ ซึ่งเป็นภาษามีตัวเขียนซึ่งไม่มีผู้ใช้ในปัจจุบันนี้อีกต่อไปแล้ว )

ภาษาจีนเป็นภาษาเดียวในโลกที่มีวิวัฒนาการของตัวหนังสือสืบเนื่องกันมาไม่ขาดตอนตั้งแต่แรกเริ่มประดิษฐ์ตัวหนังสือขึ้นใช้จนกระทั่งปัจจุบัน ตัวหนังสือจีนปรากฏขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์แรกที่ปกครองประเทศจีน คือราชวงศ์ซั่ง (Shang Dynasty) ซึ่งปกครองประเทศจีนเมื่อราว 1766-1123 ก่อนคริสตกาล นั่นคือเมื่อประมาณสี่พันปีมาแล้ว มีผู้พบหลักฐานตัวเขียนที่เป็นภาษาจีนหลายชิ้น ซึ่งมีอายุอยู่ในสมัยราชวงศ์นี้ คือตัวอักษรซึ่งเขียนบนท่อนกระดูกสำหรับเสี่ยงทาย และบนกระดองเต่า ภาษาจีนจึงนับว่าเป็นภาษาที่มีตัวเขียนเก่าแก่ที่สุดในโลก ที่ไม่นับภาษาโบราณเช่นภาษาอียิปต์ว่ามีตัวหนังสือเก่ากว่าจีน ก็เพราะปัจจุบันนี้ไม่มีใครใช้ตัวอักษร Hieroglyphic ของอียิปต์เพื่อใช้ถ่ายทอดสื่อความหมายกันอีกต่อไปแล้ว

ถ้าเปรียบเทียบกับบรรดาภาษาตระกูลจีน (Sinitic languages) ทั้งหลาย ภาษาจีนกลางนับเป็นภาษาท้องถิ่นภาคเหนือ (northern dialect ) ทั้งนี้โดยนับแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นหลัก ภาษาจีนกลางจะใช้พูดเหนือแม่น้ำแยงซีเกียงขึ้นไป ภาษาจีนกลางมีที่ใช้พูดบริเวณใต้แม่น้ำแยงซีเกียงลงมาอยู่บ้าง คือที่ใช้พูดในมณฑลเจียงซี (Kiangsi) และเจียงซู (Kiangsu) และยังใช้พูดในมณฑลหูเป่ย (Hupei) เสฉวน (Szechwan) ยูนนาน (Yunnan) ไกวเจา (Kweichow ) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลกวางสี (Kwangsi) และหูนาน (Hunan) "
กำลังโหลดความคิดเห็น