xs
xsm
sm
md
lg

“ไท่ซุ่ย” ยาอายุวัฒนะพันปี?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระหว่างปีที่ผ่านมา ทางภาคเหนือของจีนเกิดกระแสเล่าลือเกี่ยวกับการพบ “ไท่ซุ่ย” ที่เคยเป็นเพียงตำนานของยาอายุวัฒนะจากบันทึกโบราณของจีน โดยมีชาวบ้านพบ “เนื้อประหลาด” ก้อนหนึ่งจากกองดิน มีผิวสัมผัสคล้ายกับก้อนเนื้อ ไม่ดูดซับความร้อน ไม่เน่าเปื่อย และไม่แข็งตัวเมื่ออากาศหนาวเย็น ขยายขนาดใหญ่ขึ้นได้เอง อีกทั้ง “รักษาบาดแผล” (คืนสภาพ) ด้วยตัวเอง และที่น่าประหลาดคือ เมื่อดื่มน้ำที่แช่มันเอาไว้ อาการเจ็บป่วยหรือปวดหัวจะหายไป ชาวบ้านต่างพากันเล่าลือว่า มันคือ “ไท่ซุ่ย” ตามบันทึกในตำราแพทย์โบราณของจีน ....

“ไท่ซุ่ย” ได้รับการกล่าวขานกันในหมู่ชาวจีนมาแต่โบราณ กล่าวกันว่าฉินสื่อหวงหรือจิ๋นซีฮ่องเต้ ปฐมกษัตริย์จีน เคยมีบัญชาให้สีว์ฝูนำผู้คนนับพันออกไปแสวงหา “ไท่ซุ่ย” ที่เป็นยาอายุวัฒนะในดินแดนอันห่างไกล นอกจากนี้ ในบันทึกโบราณของชาวจีนทางภาคเหนือยังเคยกล่าวถึง “ไท่ซุ่ย” ในฐานะของเทพเจ้าที่ดุร้าย อันเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “หากมีการขุดหรือทำลายผืนดินเหนือเศียรไท่ซุ่ยจะนำมาซึ่งหายนะ” ดังนั้นเมื่อใดที่มีการค้นพบวัตถุประหลาดที่อาจเป็น “ไท่ซุ่ย” ผู้คนจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ

เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา มีครอบครัวหนึ่งจากเมืองฮูเหอเฮ่าเท่อ เขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางภาคเหนือของจีน เปิดเผยว่าหลายปีมานี้พวกเขาได้เก็บรักษา “ไท่ซุ่ย” เอาไว้ นับเป็น “ไท่ซุ่ย” ชิ้นที่สามที่มีการค้นพบจากเขตมองโกเลียใน

ไท่ซุ่ยที่พบมีลักษณะคล้ายตอไม้ น้ำหนัก 4.85 กิโลกรัม จากการสำรวจภายนอกพบรอยวงแหวนคล้ายวงปีของต้นไม้ ส่วนล่างมีเส้นสีเทาดำบางๆ คล้ายชั้นตะกอน บริเวณฐานด้านล่างเป็นสีน้ำตาลแดง ขณะที่ส่วนอื่นเป็นสีเหลืองอ่อน ไม่แตกหักง่ายและเหนียวคล้ายกับเอ็นวัว

ชายหนุ่มผู้พบ “ไท่ซุ่ย” เล่าว่า มีคนพบ “ไท่ซุ่ย” นี้ตั้งแต่เมื่อ 6 ปีก่อน ตอนแรกไม่มีใครทราบว่ามันเป็นอะไร ก็เลยแช่น้ำไว้ในถังพลาสติกปิดฝา แล้วลืมทิ้งไว้ในห้องเก็บของนานถึง 4–5 ปี ภายหลังมีคนเข้าไปเก็บของในห้องจึงพบเข้า ที่น่าประหลาดก็คือน้ำในถังยังคงความใสไร้สีไร้รสเหมือนเดิม ซึ่งอันที่จริงต่อให้เป็นกิ่งไม้แห้ง ถ้าแช่น้ำเอาไว้นานๆ น้ำก็ต้องเปลี่ยนสีแล้ว ตนเห็นว่าของนี้ต้องไม่ธรรมดา ก็เลยนำกลับบ้านมา

ตอนที่เอากลับบ้านมานั้นมันมีขนาดใหญ่ขึ้นจนแน่นถัง จึงต้องตัดก้นถังเพื่อเอามันออกมา จากนั้นเปลี่ยนมาแช่ในถังน้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้น....


ตรวจหาดีเอ็นเอของ “ไท่ซุ่ย”

ศาสตราจารย์ซือซูหัวและคณะผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาต่างๆ ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยชิ้นส่วนตัวอย่างของ “ไท่ซุ่ย” จากมองโกเลียใน ที่ถูกส่งเข้ามาตรวจสอบหาดีเอ็นเอที่ห้องทดลองของสถาบันวิจัยทางชีววิทยาของมหาวิทยาลัยจงซันในเมืองกว่างโจว ทางภาคใต้ของจีน เมื่อหลายเดือนก่อน แต่ยังไม่สามารถสรุปผลการวิจัยที่แน่นอนได้ โดยศาสตราจารย์ซือกล่าวว่า “การศึกษาวิจัยเรื่องนี้ยุ่งยากกว่าที่คิดไว้มาก”

จากการวิจัยที่ผ่านมาเพียงสามารถบอกได้ว่า “ไท่ซุ่ย” ไม่ได้เป็นส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิตเพียงหนึ่งเดียว แต่จะมีส่วนประกอบของอะไรบ้างนั้น ศาสตราจารย์ซือยังไม่อาจเปิดเผยได้ในขณะนี้ แต่คุณสมบัติที่น่าสนใจของ “ไท่ซุ่ย” คือมันเพิ่มจำนวนตัวเองได้ มีความสามารถในการแตกหน่อสืบพันธุ์สูง ซึ่งหากเราได้ทราบถึงที่มาของคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยทางชีววิทยาของมนุษย์อย่างมาก

ข้อสันนิษฐาน : เป็นกลุ่มจุลชีพ
หลี่ไท่ฮุยเจ้าหน้าที่วิจัยจากศูนย์วิจัยจุลชีววิทยาของมหาวิทยาลัยจงซันในกว่างโจวกล่าวว่า เมื่อนำชิ้นตัวอย่างมาส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบว่า “ไท่ซุ่ย” มีส่วนประกอบของจุลินทรีย์มากมายหลายชนิด บ้างยังส่งกลิ่นคล้ายกับเชื้อราอีกด้วย ดังนั้นในข้อสรุปเบื้องต้น “ไท่ซุ่ย” น่าจะเป็น “การรวมตัวกันของกลุ่มจุลินทรีย์ขนาดใหญ่” ซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษร่วมกันของเชื้อรา (พืช) และโปรโตซัว (สัตว์เซลล์เดียว)

ข้อสันนิษฐาน : ไม่ใช่กลุ่มจุลชีพ
เหมาเสี่ยวเฟิ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านสัณฐานวิทยาของสัตว์เซลเดียว (Morphology) จากมหาวิทยาลัยจงซัน พบว่าสิ่งมีชีวิตดังกล่าวมีส่วนประกอบของน้ำในปริมาณมาก แต่เมื่อทดสอบหาโปรตีนกลับไม่พบปฏิกิริยากับโปรตีนและไม่มีปฏิกิริยากับกรดนิวคลีอิก เมื่อเผากับไฟจะมีกลิ่นฉุนเฉียวออกมา คาดว่าน่าจะมีส่วนประกอบของสารแอลดีไฮด์และอัลกอฮอล์หรือไฮโดรซิล เนื่องจากจุลินทรีย์ต้องมีส่วนประกอบของโปรตีนและกรดนิวคลีอิก (ใช้ในกระบวนการย่อยสลายของเชื้อรา) ดังนั้น “เนื้อประหลาด” ที่ว่านี้จึงไม่ใช่กลุ่มจุลชีพ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีคำอธิบายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับ “ไท่ซุ่ย” หลี่ไท่ฮุยกล่าวว่า การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชนิดของจุลินทรีย์ยังมีขอบเขตที่จำกัดอยู่มาก ในธรรมชาติมีจุลินทรีย์กว่า 1.5–2 ล้านชนิด แต่วงการวิทยาศาสตร์ในขณะนี้ได้ทำการศึกษาวิจัยไว้เพียง 5% เท่านั้น ดังนั้นจึงยังมีจุลินทรีย์อีกมากมายนับล้านชนิดที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก

แต่จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าไท่ซุ่ยมีส่วนประกอบของทั้งโปรโตซัวและเชื้อรา มีโครงสร้างทางพันธุกรรมที่ซับซ้อน อีกทั้งมีต้นกำเนิดจากดิน จึงอาจเป็นที่สะสมของสสารมีพิษอื่นๆ หลี่ไท่ฮุยจึงเห็นว่า แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีข้อสันนิษฐานยืนยันเกี่ยวกับอันตรายของการบริโภค “ไท่ซุ่ย” แต่ก่อนที่จะปรากฏผลสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับโครงสร้างทางพันธุกรรมของ “ไท่ซุ่ย” จึงยังไม่ควรนำมาบริโภค


ภูมิหลัง

จากตำราโบราณ “ซันไห่จิง”* และ “เปิ่นเฉ่ากังมู่” ของจีน ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับ “ไท่ซุ่ย” เอาไว้ โดยเรียกว่า “โย่วหยวน”หรือ “ซื่อโย่ว” กัวผู่ (ค.ศ. 276-324) ปราชญ์ในยุคราชวงศ์จิ้น ได้ทำเชิงอรรถของคัมภีร์โบราณ “ซันไห่จิง” เอาไว้ โดยอธิบายว่า “ซื่อโย่ว” มีรูปลักษณ์เป็นเนื้อ คล้ายตับวัว มีสองตา” เมื่อถึงสมัยหมิง (ค.ศ. 1368-1644) หลี่สือเจินผู้เขียนตำราแพทย์แผนจีน “เปิ่นเฉ่ากังมู่” ได้กล่าวถึงมันในฐานะของ “ตัวยาชั้นหนึ่ง” โดยบันทึกว่า “โย่วหยวน (ไท่ซุ่ย) มีลักษณะคล้ายเนื้อ มักพบอยู่กับก้อนหินใหญ่ มีหัวมีหาง เป็นสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง สีแดงคล้ายปะการัง สีขาวคล้ายก้อนไขมัน สีดำคล้ายเครื่องเคลือบแลกเกอร์ สีเหลืองมีสีคล้ายนาก” มีสรรพคุณในการรักษาโรคประหลาด และเมื่อรับประทานเป็นประจำ ทำให้มีอายุยืนยาวไม่แก่เฒ่า

ส่วนในบันทึกประวัติศาสตร์โดยทั่วไปจะกล่าวถึงไท่ซุ่ยโดยมีนัยถึงดวงดาวบนท้องฟ้า มีความเร็วในการโคจรเทียบเท่ากับดาวพฤหัส (จูปิเตอร์) แต่จะหมุนโคจรไปในทิศทางกลับกัน เมื่อดาวไท่ซุ่ยปรากฏขึ้นในทิศทางใด ก็มักจะปรากฏสิ่งที่มีลักษณะคล้ายก้อนเนื้อที่นั่น เชื่อกันว่าเป็นร่างแปลงของไท่ซุ่ย และยังมีคำกล่าวว่าหากมีการขุดหรือทำลายหน้าดินในทิศที่มีไท่ซุ่ยปรากฏจะเกิดภัยพิบัติตามมา

*ตำรา “ซันไห่จิง” สันนิษฐานว่าจัดทำขึ้นระหว่างยุคชุนชิวจั้นกั๋ว(770 – 221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นตำราที่รวบรวมวิทยาการของจีนก่อนสมัยฉิน(221 – 202 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

เรียบเรียงจาก ซินหัวเน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น