xs
xsm
sm
md
lg

“โมเดล” เวินโจว

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

เมืองเวินโจวเป็นเมืองชายทะเลทางตอนใต้ของมณฑลเจ้อเจียง ใกล้ไปทางมณฑลฝูเจี้ยน
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา เทียบได้ราว 70% น้ำอีกราว 20% เนื่องจากตั้งอยู่ตรงปากแม่น้ำโอวเจียง เหลือที่ทำการเกษตรได้เพียง 10%
ประชากรทั้งหมดราว 7 ล้านคน กระจายกันอยู่ตามเมืองต่างๆ ในเขตการปกครองของเมืองเวินโจว ดำเนินชีวิตแบบดิ้นรนปากกัดตีนถีบมาแต่สมัยโบราณ ส่วนใหญ่ยังชีพอยู่ด้วยงานฝีมือ หัตถกรรม ติดต่อแลกเปลี่ยน มีทักษะทางการค้ามากกว่าการทำการเกษตร ชอบเผชิญโชค เร่ร่อนไปในที่ต่างๆ แสวงหาโอกาส และกล้าใช้โอกาสต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ทางการค้า
เมืองเย่ว์ชิงและเมืองหลิ่วซื่อ ศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าใหญ่ที่สุดของจีนก็ตั้งอยู่ในเขตเมืองเวินโจว
เต๋อลี่ซีกรุ๊ป บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าชั้นนำของจีนก็ตั้งอยู่ที่เมืองหลิ่วซื่อ
หูเฉิงจง ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทและดำรงตำแหน่งประธานบริษัทในปัจจุบันก็เกิดและโตที่เมืองหลิ่วซื่อ

สร้างตัวด้วยลำแข้งตนเอง
เช่นเดียวกับนักบุกเบิกทางการค้าของเมืองเวินโจวทั้งหลาย หูเฉิงจงเริ่มเจริญวัยขึ้นมาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ เมื่อพรรคฯ จีนภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิง ตัดสินใจเลิกใช้ระบบเศรษฐกิจวางแผนจากส่วนกลาง (เป็นขั้นๆ) มาเป็นการใช้ระบบเศรษฐกิจตลาด (เป็นขั้นๆ) สำหรับการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ประชาชนอยู่ดีกินดีเป็นลำดับ
ด้วยทักษะแห่งความเป็นพ่อค้านักเผชิญโชค คนเวินโจว “ได้กลิ่น” ทันทีว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คราวนี้เป็นโอกาสงามของคนเวินโจวที่จะพลิกฐานะของตนให้พ้นจากความยากจนได้อย่างแท้จริง
“เวินโจวในอดีตหลายร้อยปียากจนมาก” หูเฉิงจงบอกกับผู้เขียน
ตัวเขาเองก็ยากจน
เขาเกิดในปี ค.ศ.1961 ในครอบครัวของช่างตัดเสื้อ
ด้วยความยากจนเขาจึงเรียนถึงแค่ระดับชั้นมัธยมต้น บิดาให้เขาออกมาฝึกวิชาช่างตัดเสื้อทำมาหากินด้วยลำแข้งตนเอง
เขาจำใจออกจากโรงเรียนมาเรียนวิชาชีพกับบิดา
ในยามว่างจากงาน หูเฉิงจงชอบเตร่ไปที่สถานีรถไฟ ดูผู้คนที่เดินทางไปมา โดยเฉพาะบรรดาเซลแมน นักขายมืออาชีพซึ่งทั้งเมืองเวินโจวมีไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนคน
เป็นกองทัพนักขายที่เลื่องชื่อไปทั่วแผ่นดินจีน
เขารู้สึกประทับใจและฝังใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในสีหน้าและอิริยาบทของเซลแมนเหล่านั้น
เกิดความอยากเป็นเซลแมนมากกว่าที่จะเป็นช่างตัดเสื้อ อยากตระเวนเสี่ยงโชคไปยัง “แหล่งโอกาส” ต่างๆ ทั้งใกล้และไกล
ดังนั้น ขณะอายุได้ 16 ปี เขาตัดสินใจทิ้งอาชีพช่างตัดเสื้อไปเป็นเซลแมน
แต่ในตัวไม่มีเงิน ไม่มีทุนรอนสำหรับไปหมุน
พี่สาวแสนดีที่ฝึกอาชีพช่างตัดเสื้ออยู่ด้วยกันกับบิดา ยินดีควักกระเป๋าให้เขายืม 200 หยวน เพื่อให้เขาเดินไปบนเส้นทางแห่งความฝัน
ในปีถัดมา ด้วยความอุตสาหะ ขยันและอดทน เขาสามารถวิ่งขายอุปกรณ์ไฟฟ้าโวลต์ต่ำให้แก่โรงงานต่างๆ ได้มากถึง 2,000 หยวน ฟันกำไรเหนาะๆ ถึง 1,000 หยวน
มันเท่ากับรายได้ของพ่อใน 1 ปีเลยทีเดียว
เขาเดินมาถูกทางแล้ว
หูเฉิงจงคลุกคลีอยู่กับงานขายอุปกรณ์ไฟฟ้าโวลต์ต่ำอยู่หลายปี จนเกิดความคิดว่า “สู้เราทำเองไม่ได้” ดังนั้นในปี ค.ศ.1984 จึงร่วมกับน้องชาย (หูเฉิงกั๋ว) และเพื่อนซี้ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ในชั้นประถม (หนันฉุนฮุย) ลงขันกันตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าโวลต์ต่ำ ด้วยทุนเริ่มต้น 50,000 หยวน
พี่น้องสอง “หู” ร่วมกันลงขัน 30,000 หยวน ส่วนหนันฉุนฮุยลงขัน 20,000 หยวน
เงินทุนส่วนใหญ่พวกเขาต้องไปกู้ยืมมาจากแหล่งเงินกู้ท้องถิ่น โดยยอมจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน
โรงงานห้องแถว ชื่อว่า “ฉิวจิง” หรือ “แสวงหาความเป็นเลิศ” จึงได้ถือกำเนิดขึ้น
การกู้เงินมาลงทุนโดยยอมจ่ายดอกเบี้ยแพง นับเป็นวิถีลงทุนแนวหลักที่คนเวินโจวนิยม เนื่องจากขณะนั้นจีนขาดแคลนแหล่งเงินทุน สถาบันการเงินของรัฐ เช่นธนาคารพาณิชย์ของรัฐก็ไม่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจชาวบ้าน การเกิดแหล่งเงินกู้ในหมู่ประชาชนจึงเป็นเรื่องธรรมดา
คนเวินโจวรักพวกพ้อง ชอบสนับสนุนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ส่วนใหญ่จึงไม่มีการเบี้ยวหนี้ อีกทั้งการลงทุนมักได้รับผลตอบแทนสูง สามารถขยายกิจการใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ แหล่งเงินทุนภาคประชาชนที่ไม่เป็นทางการจึงพัฒนาเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว คู่ขนานไปกับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิต ที่เอกชนซึ่งเป็นชาวบ้านทั่วไปในเมืองเวินโจวพากันดำเนินกิจการ
ว่ากันว่าแหล่งเงินทุนชาวบ้านเมืองเวินโจวเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นแหล่งเงินทุนขนาดยักษ์ ปัจจุบันเฉพาะเงินทุน “ลอย” ที่สามารถไหลเวียนไปยังที่ต่างๆ ได้อย่างอิสระก็มีวงเงินไม่ต่ำกว่า 300,000-500,000 ล้านหยวน (ราว 2.5 ล้านล้านบาท)
ที่ใดมีช่องทางทำกำไร เงินทุนก้อนใหญ่นี้ก็จะโฉบไปหา เล่นเอาชาวบ้านพากันหวาดผวานึกว่า “ห่า” กิน
เพราะเมื่อใดที่เงินก้อนใหญ่นี้ไหลไปถึง ก็จะปั่นราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อถึงจุดหนึ่ง พวกเขาก็จะขายทิ้งทำกำไร โยนเผือกร้อนให้คนอื่นถือต่อ แล้วก็ไหลต่อไปยังแหล่งอื่นๆ ที่พวกเขาเห็นโอกาสที่จะทำกำไร
กล่าวกันว่าสาเหตุที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเมืองหังโจวและนครเซี่ยงไฮ้ร้อนฉ่าขึ้นมาอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 ก็เพราะฤทธิ์เดชของเงินทุนก้อนใหญ่ของชาวเวินโจวนี้เอง
ร้อนถึงรัฐบาลกลางจีนต้องออกมาตรการ “หงกวนเถียวค่ง” (ปรับและควบคุมสภาวะตลาดในระดับมหภาค) ปรับควบคุมตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้ลดดีกรีความร้อนแรงลง เพื่อยับยั้งการถีบตัวสูงของราคาบ้านและที่ดิน เป็นมาตรการ “จัดระเบียบ” ตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้สามารถสนองความต้องการของชาวบ้านธรรมดาๆ
หากมิใช่มีแต่บ้านราคาแพงๆ (เมื่อมีเงินไหลเข้า บริษัทบ้านและที่ดินก็แข่งกันสร้างแต่บ้านแพงๆ) แต่ไม่มีคนอยู่ เพราะถูกกว้านซื้อไว้เก็งกำไร
กล่าวกันว่าที่ใดมีช่องทางทำกำไร ทุนเวินโจวก้อนใหญ่นี้ก็จะไหลไปหา ไล่ซื้อ ปั่นราคาแล้วก็ขายทิ้งทำกำไร ไม่มีเว้น ทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจพลังงาน/เหมืองน้ำมัน เหมืองถ่านหิน ธุรกิจฝ้ายแถบซินเจียง เป็นต้น ไม่ต่างจาก “ห่า” กิน
มีความพยายามที่จัดระเบียบเงินทุน “ลอย” ในตลาดจีนอยู่มาก แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศจีน จำเป็นจะต้องมีการออกกฎระเบียบข้อบังคับอีกมาก
แต่ที่สำคัญคือแหล่งเงินทุนชาวบ้านยังเป็นที่ต้องการของบริษัทธุรกิจเอกชน ที่ยังยากที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนของรัฐ ประสบปัญหาขาดแคลนเงินลงทุน และเงินทุนหมุนเวียน
นักลงทุนหน้าใหม่เหล่านั้นยังต้องพึ่งแหล่งเงินทุนในตลาด แต่นอกระบบ (ราชการ) อยู่มาก โดยเฉพาะธุรกิจเริ่มแรกซึ่งมีขนาดเล็ก ไม่มี “เครดิต” เพียงพอที่จะขอกู้เงินจากสถาบันการเงินในระดับเกือบร้อยทั้งร้อยต้องอาศัยแหล่งเงินทุนนอกระบบในตลาด ในอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน คือร้อยละ 3 ต่อเดือน หรือร้อยละ 36 ต่อปี

จุดเด่นของคนเวินโจวคือ “แอกทีฟ”
หูเฉิงจงบอกกับผู้เขียนว่า คนเวินโจวไม่ได้เก่งกาจฉลาดเฉลียวเกินกว่าคนมณฑลอื่นแต่ประการใด จุดเด่นของพวกเขาอยู่ตรงที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ไปที่ไหนก็จะคอยเชื่อมหากัน ทั้งระหว่างคนที่อยู่ข้างหลังและคนที่อยู่ในต่างแดน “แนวหลัง” และ “แนวหน้า” ไม่ขาดจากกัน
นอกจากนั้น คนเวินโจวชอบริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ชอบทดลองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่า ถ้าเป็นการค้าก็คือหาทางทำกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ
คนเวินโจวไม่ยึดรูปแบบ ทำอะไรก็ได้ที่ทำแล้วได้กำไร
พวกเขาไม่คิดที่จะ “รอคอย” ไม่คิดที่จะ “พึ่งพา” แต่พากันเดินหน้า “ลุย” คือลุยไปทุกทิศทางที่มี “ช่องโอกาส” เปิดให้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและในประเทศกำลังพัฒนา
เพียงแค่สองเท้าแตะแผ่นดินใหม่ พวกเขาก็จะพากันตั้งแผงแล้วลำเลียงสินค้าจาก “แนวหลัง” ที่โรงงานในเวินโจวบ้านเกิดไปยังตลาดใหม่ในตู้คอนเทนเนอร์ ด้วยเรือบรรทุกสินค้าของจีน
เป็น “นักค้าไร้พรมแดน” อย่างแท้จริง ในยุคที่จีนกำลังผงาดขึ้น
นั่นคือที่มาของ “โมเดลเวินโจว” รูปแบบการทำธุรกิจการค้าในบริบทของการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยของจีน
เป็นพลังย่อยในพลังใหญ่ เป็นการขับเคลื่อนอย่างเป็นพลวัตในระดับจุลภาค บนฐานของการขับเคลื่อนอย่างเป็นพลวัตในระดับมหภาค
อีกนัยหนึ่ง การทะยานไปสู่โลกกว้างของนักค้าเวินโจวดำเนินไปได้ด้วยการผงาดขึ้นสู่ความเป็นมหาอำนาจระดับโลกของประเทศจีน
“โมเดลเวินโจว” เกิดขึ้นได้เพราะการนำร่องของทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง เพราะการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการพัฒนาสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยม จากการวางแผนจากส่วนกลางมาเป็นใช้ระบบเศรษฐกิจตลาดเป็นตัวนำ กระตุ้นให้คนจีนทุกคน “แอกทีฟ” ขึ้นมา เปิดทางให้กลุ่มชาวเมืองเวินโจวที่แอกทีฟอยู่แล้วโดยธรรมชาติสามารถโลดแล่นไปสู่โลกกว้างได้ก่อนใครอื่น
หูเฉิงจง ในนาม เต๋อลี่ซี นับเป็นดาวเด่นดวงหนึ่งของกลุ่มนักค้าเวินโจว เป็นต้นแบบสำคัญของ “โมเดลเวินโจว”
ปัจจุบันเต๋อลี่ซีได้ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทแบรนด์เนมจีน ได้รับความไว้วางใจจากศูนย์การบินอวกาศจิ่วเฉวียน ใช้ผลิตภัณฑ์ของเต๋อลี่ซีประกอบเข้าไปในระบบส่งยานอวกาศเสินโจว 5 ของจีน เป็นรายแรกและเพียงรายเดียวเท่านั้น
ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2003 หูเฉิงจงเป็นเพียงหนึ่งเดียวจากวงการอุตสาหกรรมประชาชาติ (ภาคประชาชน) ที่ได้รับเชิญให้ไปนั่งชมการส่งยานอวกาศเสินโจว 5 พร้อมนักบินอวกาศหยังลี่เหว่ยขึ้นสู่วงโคจร
“ผมตื่นเต้นจนนั่งไม่ติด กลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับยานอวกาศ” เพราะเหตุว่าในนั้นมีอุปกรณ์ไฟฟ้าของเต๋อลี่ซีกำลังทำงานอยู่

-------------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น