xs
xsm
sm
md
lg

ภูมิหลังธุรกิจเอกชนจีน

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

จีนจะก้าวสู่ความเป็นสังคมมั่งคั่ง ในเนื้อแท้ก็คือคนจีนพันกว่าล้านคนจะมีอยู่มีกินสมบูรณ์พูนสุข ภายในระบบนิเวศทั้งทางธรรมชาติและทางสังคมที่เข้มแข็ง

อีกนัยหนึ่ง ความมั่งคั่งไม่เพียงวัดกันที่ “คน” แต่จะต้องวัดกันที่สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคมวัฒนธรรมโดยรวมด้วย

ธรรมชาติที่เข้มแข็งจึงจะรองรับการขับเคลื่อนของสังคมได้ ขณะที่สังคมวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง จึงจะรองรับการดำรงชีวิตของคนได้

แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ “คน” จะต้องเข้มแข็งทั้งทางร่างกายสติปัญญาและคุณธรรม จึงจะสามารถพัฒนาสภาพแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและสังคมวัฒนธรรมได้

“คน-ธรรมชาติ-สังคม” จึงเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการพัฒนาไปสู่ความเป็นสังคมมั่งคั่งของประเทศจีน

เริ่มต้นด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ

จีนปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม ใช้แนวคิดทฤษฎีมาร์กซิสม์ชี้นำการคิดและปฏิบัติ
ภายหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ค.ศ.1949 จนถึงปลายทศวรรษ ค.ศ.1970 คณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนได้พยายามขับเคลื่อนสังคมจีนไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ โดยเน้นการปฏิวัติทางความคิด คือเริ่มกันที่ “คน” โดยประเมินว่าเมื่อคนมีจิตใจปฏิวัติก็จะเนรมิตทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาได้ ธรรมชาติและสังคมก็จะดีตาม สังคมจีนในระบอบคอมมิวนิสต์ก็จะเป็นสังคมแสนสุข ประชาชนคนจีนก็จะสมบูรณ์พร้อมทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ

อย่างไรก็ดี ภายหลังความพยายามอยู่หลายครั้ง ตั้งแต่ปลายทศวรรษ ค.ศ.1950 จนถึงปลายทศวรรษ ค.ศ.1970 พรรคฯ จีนก็ได้คำตอบว่าการสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยมเพื่อก้าวไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์โดยเริ่มต้นที่คน ด้วยการเปลี่ยนความคิดของคนนั้นเป็นไปไม่ได้

ความเป็นไปได้อยู่ตรงไหน ?

อยู่ที่การพัฒนาสังคม โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจ ขจัดภาวะความขาดแคลนทางวัตถุปัจจัยให้แก่คนจีนทั้งประเทศเป็นเบื้องต้น

เติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้ให้คำตอบดังกล่าว เขาชูธงการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเบื้องต้น ในการขับเคลื่อนประเทศจีนไปสู่สังคมอุดมการณ์

เติ้งเสี่ยวผิงอธิบายว่า ตามแนวคิดอุดมการณ์ลัทธิมาร์กซ์ สังคมนิยมเป็นสังคมที่เจริญและมั่งคั่ง แต่ประเทศจีนในปลายทศวรรษ ค.ศ.1970 ยังล้าหลังมาก ประชาชนจีนยังยากจนมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ประเทศจีนหลุดพ้นจากสภาวะดังกล่าวอย่างรวดเร็วเป็นอันดับแรก

จะทำกันแบบไหน อย่างไร ?
 
เติ้งเสี่ยวผิงบอกว่าจะต้องเร่งพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นเบื้องต้น ใช้การพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นตัวชักนำให้เกิดการพัฒนาทางด้านอื่นๆ อย่างทั่วด้าน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนจีนทั้งประเทศในบั้นปลาย มีความมั่งคั่งร่วมกันในระบอบสังคมนิยมที่รุ่งเรือง เพื่อการก้าวมุ่งไปสู่ความเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ต่อไปในอนาคตอันยาวไกล

จะพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร ?

เติ้งบอกว่า จะต้องใช้วิธีการทุกอย่างที่เป็นไปได้ โดยพรรคและรัฐบาลจีนจะเป็นผู้ดำเนินการปฏิรูประบบโครงสร้างและกลไกต่างๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
ในทางทฤษฎีก็คือดำเนินการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงในด้านความสัมพันธ์ทางการผลิต เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาของพลังการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถนำวิทยาการยุคใหม่มาปรับใช้ในการพัฒนาพลังการผลิตอย่างเต็มประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นพลังการผลิตอันดับหนึ่ง”

นั่นคือที่มาของนโยบายปฏิรูปและเปิดกว้าง นำไปสู่การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษรับการลงทุนจากต่างประเทศ และการนำเอาระบบเศรษฐกิจตลาดเข้าไปใช้ระบอบสังคมนิยมจีนตามลำดับ

ด้วยจิตใจของนักบุกเบิก “คลำหินข้ามห้วย” ค้นหาแนวทางการพัฒนาที่เป็นของตนเอง เหมาะสมกับตนเอง ค่อยๆ ถักทอเป็นระบบเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์แบบจีนเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ในรูป “ระบอบสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน”

ภาคธุรกิจก้าวขึ้นมาสู่ความเป็น “กองหน้า”

ด้วยนโยบายปฏิรูปและเปิดกว้าง ประเทศจีนได้ละจากระบบเศรษฐกิจวางแผนจากส่วนกลางมาเป็นระบบเศรษฐกิจตลาดเป็นขั้นๆ โดยรัฐบาลเร่งสลายโครงข่ายรัฐวิสาหกิจ พร้อมกับเปิดทางให้วิสาหกิจภาคประชาชนสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างทั่วด้าน

วิสาหกิจรวมหมู่และวิสาหกิจเอกชนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วบนแผ่นดินจีนดุจ “เห็ดหลังฝน” ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเติบใหญ่เป็นธุรกิจและกลุ่มธุรกิจการผลิตขนาดใหญ่ระดับชาติจำนวนมาก ก้าวขึ้นสู่ความเป็น “วิสาหกิจประชาชาติ” ที่แสดงบทบาทเป็น “กองหน้า” บุกเบิกมิติใหม่ๆ ให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีน

เป็นต้นธารสำคัญยิ่งสายหนึ่งในการสร้างความมั่งคั่งยุคใหม่ให้แก่สังคมจีน
เต๋อลี่ซี และอีกนับร้อยนับพันบริษัทต่างได้ฤกษ์จุติในช่วงของการผันเปลี่ยนครั้งใหญ่ของสังคมจีนครั้งนี้กันทั้งสิ้น

จุดเริ่มต้นหรือ “เส้นสตาร์ทเดียวกัน” ที่พวกเขาเริ่มออกวิ่ง ก็คือต้นทศวรรษ ค.ศ.1980 ด้วยสาเหตุคล้ายๆ กัน คือมีตัวบุคคลผู้บุกเบิกธุรกิจจำนวนหนึ่งหมุนติ้วอยู่ในท่ามกลางกระบวนการเปลี่ยนแปลงมองเห็นโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้ พากันกระโจนเข้าสู่วังวนของการทำธุรกิจการค้า สามารถพัฒนาตนเองจากเล็กสู่ใหญ่ จากใหญ่ธรรมดาๆ เป็นยักษ์ใหญ่ได้ในระยะเวลาอันสั้น

ส่วนใหญ่อยู่ในระหว่าง 15-20 ปีเท่านั้น

วิสาหกิจประชาชาติ (ภาษาจีนว่า “หมินจู๋ฉี่เยี่ย”) ขนาดยักษ์ของจีนที่ดังๆ และปัจจุบันได้กลายเป็น “แบรนด์ดัง” กระฉ่อนโลกแล้วก็มี อาทิเช่น ไฮเออร์ เหลียนเสี่ยง (เลโนโว) หัวเหวย จงซิง(แซดทีอี) ไห่ซิ่น ทีซีแอล ฯลฯ ล้วนแต่ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงต้นทศวรรษ ค.ศ.1980 ทั้งสิ้น

“เต๋อลี่ซี” ถือกำเนิดเมื่อปี 1984 ด้วยเงินลงทุน 50,000 หยวน(ราว 250,000 บาทตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ทำการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าโวลต์ต่ำ ในห้องแถวเล็กๆ ของเมืองหลิ่วซื่อซึ่งขึ้นต่อเมืองเย่ว์ชิงและเมืองเวินโจวอีกที

ผู้บุกเบิกมีสองคน คือหูเฉิงจงและหนันฉุนฮุย เพื่อนสนิทสมัยเรียนหนังสือในระดับมัธยมด้วยกัน แต่ต่อมาแตกคอกันแบบ “ดังแล้วแยกวง” หนันฉุนฮุยได้ไปตั้งบริษัทผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าโวลต์ต่ำของตนเองนาม “เจิ้งไท่” ปัจจุบันใหญ่โตและดังไม่แพ้เต๋อลี่ซี

สองบริษัทนี้ปัจจุบันตั้งประจันหน้ากันอยู่ตรงกลางเมืองหลิ่วซื่อ เป็นสองยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าจีน มีเครือข่ายไปทั่วประเทศและข้ามพรมแดนไปยังต่างประเทศบ้างแล้ว

ความเป็นคู่แข่งกันเองของบริษัทจีนมีให้เห็นอยู่หลายกลุ่ม เช่นหัวเหวยกับจงซิง สองบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิต ติดตั้ง จำหน่ายและให้บริการทางด้านระบบและอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมไฮเทคจีน ปัจจุบันได้ขยายเครือข่ายไปทั่วโลก แข่งกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เช่นซิสโก้อย่างไม่ลดราวาศอก

อีกทั้งยังแข่งขันกันเอง แย่งลูกค้า แย่งตลาดอย่างเอาเป็นเอาตายอีกด้วย

พอจะกล่าวได้กระมังว่า ณ วันนี้บริษัทจีนได้สวมวิญญาณ “นักแข่งขัน” แบบเต็มๆ แล้ว

ด้วยพวกเขาถือว่าการแข่งขันนำไปสู่ความเข้มแข็ง

ในความเป็นจริงของโลกธุรกิจจีน ได้ปรากฏว่ามีบริษัทและผู้ประกอบการจำนวนมากมาย “ล้มหายตายจาก” ไปจากวงการ อันเนื่องจากพ่ายแพ้บนเวทีการแข่งขันทางการค้าอันดุเดือดเลือดพล่านในประเทศจีน

กระนั้น ความเข้มแข็งของบริษัทธุรกิจจีนเช่นนี้เองที่เป็นพลังกระตุ้นกระบวนการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจจีนให้โลดแล่นไปได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เป็นพลังสร้างสรรค์ที่สำคัญยิ่งในระบอบสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน

เป็นยักษ์ใหญ่ที่เพิ่งออกจากตะเกียง

ถ้าเปรียบวิสาหกิจประชาชาติ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนของธุรกิจเอกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (ระยะแรกๆ เป็นวิสาหกิจรวมหมู่ มีผู้ถือหุ้นร่วมกันตั้งแต่เริ่มแรก ต่อมาเมื่อเอกชนมีเงินออมหรือมีช่องทางระดมทุนมากขึ้น ก็เริ่มปรากฏมีธุรกิจเอกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในรูปของ “เอสเอมอี” หรือวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นตัวกระตุ้นสำคัญต่อไปในกระบวนการพัฒนาขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีน)
วิสาหกิจเอกชนเหล่านี้เปรียบได้กับยักษ์ที่เพิ่งจะออกจากตะเกียงวิเศษ พร้อมจะสร้างปาฏิหาริย์มากมายให้แก่สังคมจีน

ทั้งนี้ จากตัวเลขของทางการจีนพบว่าในปี ค.ศ.1978 จีนมีวิสาหกิจเอกชนราว 1.5 แสนราย แต่ปัจจุบันมีมากกว่า 2.5 ล้านราย
วิสาหกิจเอกชนแสดงผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) จีนในปี 2001 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 และร้อยละ 50 ในปี 2003
จำนวนคนทำงานราว 740 ล้านคนทั้งในเมืองและในชนบทจีน ในปี 2002 ปรากฏมีผู้ทำงานในวิสาหกิจเอกชน (รวมเกษตรกรราว 366 ล้านคน) สูงถึงร้อยละ 90.3 เหลือทำงานในรัฐวิสาหกิจเพียงร้อยละ 9.7
หากไม่นับรวมเกษตรกรก็จะตกราว 310 ล้านคน หรือราว 42% ของทั้งประเทศ
นอกจากนี้วิสาหกิจเอกชนสังกัดอยู่ในเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมและบริการสูงถึง 84% โดยเป็นผู้ทำงานในเมืองราว 70%
ในด้านรายได้จากภาษีอากร รัฐมีรายได้จากวิสาหกิจเอกชนราวร้อยละ 40 (อีก 60% ได้จากรัฐวิสาหกิจ) และมีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อยๆ (ในปี 2002 สูงขึ้น 14.8%)
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1995 เป็นต้นมา เฉพาะที่เป็นธุรกิจอุตสาหกรรมการค้าเอกชน รัฐเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 50% ทุกปี

แสดงให้เห็นว่า “ยักษ์” ตนนี้กำลังโตวันโตคืน ภายใต้นโยบายส่งเสริมที่เข้มข้นยิ่งขึ้นเรื่อยๆของพรรคฯ และรัฐบาลจีน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการประชุมคณะกรรมการกลางเต็มคณะครั้งที่สามในปี ค.ศ.2003 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดปัจจุบัน ได้มีมติอย่างชัดแจ้งว่าให้ดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจภาคประชาชนอย่างเต็มที่ ส่งเสริมให้วิสาหกิจที่มีแววหรือเงื่อนไขเติบใหญ่เข้มแข็งอย่างรวดเร็ว

มติดังกล่าวนำมาซึ่งความตื่นตัวครั้งใหม่ในวงการธุรกิจเอกชนจีน เพราะมันหมายความว่าระบบระบอบต่างๆ ทางเศรษฐกิจการเงินของจีนจะยิ่งเอื้ออำนวยให้ธุรกิจเอกชนสามารถพัฒนาไปได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ทำให้บริษัทธุรกิจจีนมีความพร้อมและสามารถแข่งขันในตลาดอันดุเดือดเลือดพล่านได้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างงานใหม่ๆ ขึ้นในสังคมจีน และทำรายได้ให้รัฐมากขึ้น

--------------------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น