xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมจีน(4): ภาษาแก่นของวัฒนธรรมจีน

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

ตอนที่แล้วจบลงตรงที่จิ๋นซีฮ่องเต้สร้างความเป็นเอกภาพในดินแดนตอนเหนือและตอนกลางของแผ่นดินจีนได้สำเร็จ และผู้เขียนให้ทัศนะไว้ว่ายุคจิ๋นซีฮ่องเต้ได้ปูฐานให้กับการเป็นมหาอำนาจแห่งโลกตะวันออกของจีน

จิ๋นซีฮ่องเต้นับเป็นมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่ง (ความดี-ความเลว ยกไว้ก่อน) ที่ว่ายิ่งใหญ่ก็เพราะว่าเขามีส่วนสำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์ของจีน ซึ่งก็เท่ากับสร้างประวัติศาสตร์ของโลกด้วย เพราะชนชาติจีนมีจำนวนมาก และบทบาทของจีนมีส่วนไม่น้อยในประวัติศาสตร์โลก

ผู้เขียนยังสงสัยอยู่จนบัดนี้ว่า ถ้าไม่มีจิ๋นซีฮ่องเต้ แผ่นดินจีนจะพัฒนาก่อตัวเป็นรัฐใหญ่น้อยมากมายเหมือนดังทวีปยุโรป หรือว่าจะรวมกันเป็นประเทศใหญ่ประเทศเดียวดังประเทศจีน

หลายคนบอกว่า ถึงแม้จะไม่มีจิ๋นซีฮ่องเต้ แผ่นดินจีนมีก๊กเล็กก๊กน้อยเป็นร้อยๆ ก๊กนั้น ก็จะต้องรวมเป็นหนึ่งอยู่แล้ว ทั้งนี้เพราะทิศทางประวัติศาสตร์เป็นเช่นนั้น ประวัติศาสตร์มิได้กำหนดโดยวีรบุรุษคนใดคนหนึ่ง มองอย่างนี้เป็นการให้ความสำคัญกับภาววิสัย(Objective) มาก และเชื่อว่าพัฒนาการของสังคมมนุษย์มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าจะก้าวจากอะไรไปสู่อะไร

แต่หลายคนก็บอกว่ามันไม่แน่ !

มันอาจจะพัฒนาแบบยุโรป คือดำรงความเป็นก๊กใหญ่น้อยเป็นร้อยเป็นสิบก๊กก็เป็นได้ เพราะก๊กส่วนใหญ่ในภาคเหนือและภาคกลางของแผ่นดินจีนจะเป็นเขตปกครองของชนเผ่าหัวเซี่ยเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม (ในแถบตงง้วนและซานตง) แต่ก๊กอื่นๆ ที่อยู่ใต้ลงมา เช่น ก๊กฌ้อ(ฉู่) ก๊กอู๋ ก๊กเยวี่ย ทางปลายแม่น้ำแยงซีเกียงก็ยังรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมที่แตกต่างจากเผ่าหัวเซี่ย(จีนแท้) ไว้มากเหมือนกัน

ยิ่งไม่ต้องนับดินแดนใต้ลงมาตั้งแต่ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง กุ้ยโจว ยูนนาน ไหหลำ อันเป็นดินแดนของพวกไป่เยวี่ย (เยวี่ยร้อยจำพวก) ซึ่งยิ่งมีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากชาวหัวเซี่ยไปมากขึ้น ดินแดนเหล่านี้แม้จิ๋นซีฮ่องเต้จะยกทัพมโหฬารลงไปรุกรานแล้วยึดชัยภูมิสำคัญ ตั้งบ้านตั้งเมืองเป็น ‘จวิ้น’ (แคว้น) เป็น ‘เสี้ยน’ (อำเภอ) รวมทั้งอพยพชาวจีนลงไปตั้งรกรากเป็นแสนคน แต่ก็ยังหลอมกลืนดินแดนเหล่านี้ให้เป็นจีนไม่สำเร็จ การหลอมกลืนเป็นจีนมาสำเร็จค่อนข้างสมบูรณ์เอาในยุคราชวงศ์ถัง

แต่สิ่งที่จิ๋นซีวางรากฐานที่มีความหมายมากในประวัติศาสตร์ คือ จิ๋นซีบังคับให้ทั่วประเทศใช้อักษรแบบเดียวกัน ใช้ระบบกฎหมายเดียวกัน ในมาตราชั่ง ตวง วัดแบบเดียวกัน

ตรงนี้มีความหมายมาก โดยเฉพาะเรื่องตัวอักษร

ตัวอักษรจีนที่เริ่มใช้เป็นเอกภาพในทุกท้องที่ของแผ่นดินจีน นับแต่ยุคจิ๋นซีฮ่องเต้จนถึงทุกวันนี้ เป็นเครื่องร้อยรัดทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ผูกโยงให้กลุ่มชนมากมายหลายเชื้อสายชนเผ่า หลอมรวมกันขึ้นเป็นประชาชาติจีน

และก็จะเป็นเครื่องมือผูกพันชาวจีนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลก

ย้อนไปดูแหล่งอารยธรรมดึกดำบรรพ์อย่างอินเดีย ในประวัติศาสตร์อินเดียมีตัวอักษรหลายประเภท แต่จีนใช้ตัวอักษรเป็นเอกภาพกันมาตั้งแต่ยุคจิ๋นซีฮ่องเต้

สำเนียงภาษาถิ่นต่างกันไม่เป็นไร แม้จะฟังกันไม่รู้เรื่อง แต่ก็มีตัวอักษรเดียวกัน ซึ่งเขียนแล้วอ่านเข้าใจตรงกันทั่วประเทศ

เมื่อสิบกว่าปีก่อน เคยมีนักรู้เรื่องจีนชาวตะวันตกทำนายว่า อาจจะเกิดการแบ่งแยกดินแดนในจีน เพราะผู้คนในมณฑลที่ร่ำรวยไม่พอใจว่ามณฑลที่ร่ำรวยต้องเจียดรายได้ไปช่วยเหลือมณฑลที่ยากจน

ผมได้เคยพบปะพูดคุยกับคนหนุ่มสาวที่มีแนวคิดอย่างนี้จริงๆ ด้วย

ดินแดนกวางตุ้งเป็นเขตที่การเคลื่อนไหวทางความคิดว่องไวมาตั้งแต่ยุคฝรั่งนักล่าอาณานิคมเข้าไปเปิดประเทศจีนแล้ว การปฏิวัติประชาธิปไตยล้มล้างระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เริ่มที่กวางตุ้ง

ผู้เขียนไม่ประหลาดใจที่พบหนุ่มกวางตุ้งเลือดร้อนอยากแยกดินแดนกวางตุ้งเป็นอิสระ ท่าทางของพวกเขาดูเอาจริงเอาจังอยู่ เขากล้าพูดเนื่องจากผู้เขียนเป็นคนไทย คงจะไม่ไปฟ้องใครให้เป็นพิษเป็นภัยแก่เขา

ผู้เขียนเคยปรารภเรื่องนี้ในวงสนทนาร่วมกับปัญญาชนจีนในไทย ท่านซินแสเหล่านั้นบอกว่าไม่ต้องห่วงหรอก ไม่มีทางแยกดินแดนได้สำเร็จ เหตุผลอยู่ที่เพราะว่ายังใช้ภาษาจีน อักษรจีนเหมือนกัน

ฝรั่งนักวิเคราะห์ที่นำเสนอพยากรณ์ว่าจะเกิดการแบ่งแยกดินแดน แยกกวางตุ้งเป็นอิสระ อาจจะเคยได้ยินได้ฟังคนหนุ่มสาวกวางตุ้งพูดคุยกันทำนองเดียวกับที่ผมเคยได้รับฟังมาด้วยตัวเอง หรือไม่ก็อาจเป็นการปล่อยข่าวของชนชั้นปกครองตะวันตก เพราะในช่วงนั้นฮ่องกงยังไม่ได้กลับไปรวมกับจีนแผ่นดินใหญ่

จะอย่างไรก็ตาม เรื่องแบ่งแยกดินแดนกวางตุ้งเงียบเชียบไปแล้ว คนกวางตุ้งซึ่งเคยมอง กทม. ว่าทันสมัยงดงาม มาบัดนี้ เขายักไหล่แล้วบอกว่า กรุงเทพฯ ล้าหลังกว่าเมืองกวางเจาไกลลิบ

เรื่องที่เล่ามานี้ ก็เพื่อเน้นให้เห็นความสำคัญของภาษา !

ภาษาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม

มนุษย์สร้างวัฒนธรรมหล่อหลอมวัฒนธรรมขึ้นมา

แล้ววัฒนธรรมนั้นก็กลับมาเป็นตัวหล่อหลอมสร้างมนุษย์ยุคต่อมา
มนุษย์สร้างภาษาขึ้น พัฒนาให้ภาษาบริบูรณ์ขึ้นโดยรับ-ส่ง ภาษาก็เป็นเหมือนสถาบันส่งอิทธิพลสร้างมนุษย์และวัฒนธรรมยุคต่อมา

นักมานุษยวิทยาให้ความสำคัญกับเรื่องภาษามาก ภาษามีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการทางวัฒนธรรมของชาติใดชาติหนึ่ง

มนุษย์เรานึกคิดด้วยคำศัพท์ในภาษา เรารู้คำพูด(ศัพท์) กี่คำ เราก็คิดได้มากเท่านั้น ภาษามีอิทธิพลต่อตัวตนของมนุษย์มากมาย มากกว่าที่คนทั่วไปเคยนึกเอาไว้ จนกระทั่งผู้เขียนอยากจะเสนอว่า ภาษาคือแก่นของวัฒนธรรม

การเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมจีนโดยละเลยเรื่องภาษาจีน ก็คงเข้าถึงความเป็นจีนได้เพียงครึ่งๆ กลางๆ เท่านั้น .
กำลังโหลดความคิดเห็น