xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการจีนศึกษาแนะนักลงทุนเจาะตลาดจีนใน 4 มณฑลใกล้ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 06/07/05 นักวิชาการด้านจีนศึกษาชี้ ‘โอกาสดีข้างบ้าน’ แนะนักลงทุนไทยลุยตลาดจีนโดยพุ่งเป้าไปยัง 4 มณฑลภาคตะวันตกเฉียงใต้ ได้แก่ ฉงชิ่ง เสฉวน กวางสี ยูนนาน เพิ่มการสร้างสัมพันธ์กับรัฐบาลท้องถิ่นมากกว่า พร้อมกระตุ้นภาครัฐและเอกชนปรับกลยุทธ์เข้าถึงตลาดจีน เน้นมาตรการเชิงรุกมากขึ้น เพิ่มบทบาทในการส่งเสริมการเจาะตลาดแบบครบวงจร

นางอักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์และกรรมการโครงการจีนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมบรรยายในงานเสวนาทางวิชาการ ‘3 มิติใน 30 ปี สัมพันธ์ไมตรีไทย-จีน’ หัวข้อ การค้าระหว่างไทยกับสี่มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันนี้ (6 ก.ค.) กล่าวว่า นักลงทุนไทยควรมุ่งไปเจาะตลาดจีนในเทศบาลนครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นเมืองพิเศษที่อยู่ภายใต้การดูแลบริหารของรัฐบาลกลางโดยตรง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) หยุนหนัน (ยูนนาน) และเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วง กว่างซี (กวางสี) ซึ่งมณฑลเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาการค้าระหว่างไทย-จีน ขณะเดียวกันก็อยู่ไม่ห่างจากไทย จึงนับ “เป็นโอกาสดีๆ ข้างบ้าน”

ทั้งนี้ ในปี 2003 มณฑลที่มีปริมาณการค้ากับไทยมากที่สุดคือมณฑลซื่อชวน โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากไทยไปยังซื่อชวนสูง 74.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2002 ถึง 236% รองลงมาได้แก่กว่างซี ( 13.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) หยุนหนัน ( 10.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และฉงชิ่ง ( 8.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

จากการศึกษาพบว่าการค้าระหว่างไทยกับซื่อชวนและนครฉงชิ่งมีลักษณะเสริมซึ่งกันและกัน โดยสินค้าที่ซื่อชวนนำเข้าจากไทยส่วนมากได้แก่ สินค้าทุนและวัตถุดิบ อาทิ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เป็นต้น สำหรับนครฉงชิ่ง ในระยะหลังพบว่ามีการนำเข้ายางพาราจากไทยมากขึ้น เนื่องจากฉงชิ่งเป็นฐานผลิตรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของจีน

ขณะเดียวกันมณฑลกว่างซี ซึ่งเป็นมณฑลเดียวของจีนทางภาคตะวันตกที่มีทางออกทางทะเล มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการกระจายและลำเลียงสินค้าที่สำคัญของจีนตอนใน และสามารถเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าจากไทยเข้าสู่จีนได้ อีกทั้งยังมีศักยภาพในการเป็นตลาดสำคัญด้วยประชากรราว 48 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับ 10 ของจีน

ด้านการค้ากับมณฑลหยุนหนัน อ. อักษรศรี กล่าวว่า แม้ว่าจะมีพรมแดนใกล้ไทย แต่สัดส่วนการค้ากับไทยกลับไม่มากนัก คือไม่ถึงร้อยละ 1 ของมูลค่าการค้ารวมไทย-จีน และในระยะหลังการส่งออกจากหยุนหนันมายังไทยขยายตัวมากขึ้น แต่การส่งออกจากไทยไปหยุนหนันกลับลดลง

ชี้อุปสรรคในการเจาะตลาดจีน
อ.อักษรศรียังได้กล่าวถึงอุปสรรคในการเจาะตลาดจีนว่า แม้ว่าตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ อาเซียน-จีน จะเป็นกรอบงานหลักสำหรับการดำเนินการค้าไทย-จีนต่อไป แต่ยังเน้นเฉพาะมาตรการทางภาษีเท่านั้น ยังมิได้เจรจาในประเด็นมาตรการกีดกันการค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการเข้าตลาดจีนส่วนใหญ่

ในด้านการกระจายสินค้า เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลจีนยังไม่เปิดกว้างมากนัก “คนจีนยังไม่สามารถทำการค้าได้เอง ต้องไปจดแจ้งกับรัฐก่อน” ดังนั้นแม้ว่าจะมีการจัดการแสดงสินค้าไทยในจีนอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงมีปัญหาว่าไม่ได้เข้าตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากผู้บริโภคหรือผู้ค้ารายย่อยที่เข้าชมสินค้าอาจจะไม่สามารถนำเข้าได้เอง

นอกจากนี้ ปัญหาและอุปสรรคที่ผู้ประกอบการของฝ่ายไทยต้องเผชิญอื่นๆ อาทิ กฎระเบียบปลีกย่อยที่แตกต่างกันในแต่ละมณฑล ปัญหาการชำระเงินซึ่งยังไม่เป็นระบบสากลมากนัก การยึดในตัวบุคคลในการทำธุรกิจ

อ. อักษรศรีกล่าวว่า การทำค้าในจีนต้องจ่ายเงินก่อนจึงจะส่งสินค้า นอกจากนี้ผู้ประกอบการจะต้อง “Know Who” ซึ่งหมายความว่าการทำธุรกิจในจีนผู้ประกอบการต้องใช้ ‘สายสัมพันธ์’ ในการสร้างเครือข่าย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันในจีนมีบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนของคนไทย ซึ่งผู้ประกอบการสามารถขอคำปรึกษาได้

สำหรับในด้านเส้นทางลำเลียงสินค้าไปยังจีน ปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางทางทะเลเข้าไปทางมณฑลกว่างโจว (กวางเจา) เป็นหลัก โดยจะไม่ค่อยได้ใช้เส้นทางแม่น้ำโขงมากนัก เนื่องจากเส้นทางทางทะเลมีความแน่นอนและมีมาตรฐานกว่า ขณะที่การขนส่งทางทางบกส่วนมากจะเป็นการค้าบริเวณชายแดนไทย-หยุนหนัน สำหรับการขนส่งทางอากาศมีความรวดเร็วแต่เสียค่าใช้จ่ายสูง

ขณะเดียวกัน อ.อักษรศรี แนะว่ามณฑลกว่างซีมีท่าเรือที่มีศักยภาพสูงและมีระยะทางใกล้กว่าท่าเรือที่กว่างโจวและฮ่องกง อาทิ ท่าเรือเป่ยไห่ ที่ห่างจากไทยไม่ถึง 2,800 กิโลเมตร ท่าเรือฝางเฉิงและท่าเรือชินโจว ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่สามารถรองรับสินค้าได้ถึง 20 กว่าล้านตัน

ดังนั้น เพื่อให้สินค้าไทยสามารถกระจายเข้าสู่ผู้บริโภคจีนโดยง่าย ผู้ประกอบการไทยต้องตอบโจทย์ในการเลือกช่องทางขนส่งและกระจายสินค้าที่เหมาะสมกับลักษณะสินค้าที่จะนำไปวางจำหน่าย รวมทั้งต้องชัดเจนว่าตลาดเป้าหมายอยู่ที่มณฑลไหน

พร้อมกันนี้ อ.อักษรศรีแนะว่า ภาครัฐและเอกชนต้องปรับกลยุทธ์ในการค้าขายกับจีน โดยการเพิ่มการสร้างสัมพันธ์กับรัฐบาลท้องถิ่นในระดับมณฑลมากขึ้น เน้นมาตรการเชิงรุกมากขึ้น นอกจากนี้ภาครัฐควรเพิ่มบทบาทในการส่งเสริมการเจาะตลาดจีนแบบครบวงจร ไม่ใช่เพียงกาจัดคณะเดินทางไปประชาสัมพันธ์สินค้าให้ผู้บริโภคจีนรู้จักเท่านั้น หากจำเป็นต้องติดตามผลและเชื่อมต่อถึงผู้สั่งซื้อสินค้าโดยตรง ติดต่อให้ถึงตัวคู่ค้าตัวจริง รวมทั้งสร้างพันธมิตรทางการค้าอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น