xs
xsm
sm
md
lg

หินสลักประตูมังกร กับ มรดกที่หายไป (2)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


เวลาล่วงเลยมา พันกว่าปี นับถึงปัจจุบัน ถ้ำหินสลักหลงเหมิน มีมรดกตกทอดถึงคนรุ่นหลังเป็น ถ้ำผาแกะสลัก-โพรงแท่นบูชา 2,345 แห่ง พระพุทธรูปสลัก 100,000 กว่าองค์ ศิลาจารึกสลักอักษรจีนและหมายเหตุบันทึกต่างๆอีก 2,800 กว่าหลัก รวมถึงเจดีย์พุทธ 60 กว่าองค์ โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างเปรียบมิได้ สำหรับการศึกษา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมจีนในสมัยโบราณ****

ทั้งนี้หากกล่าวถึงสัญลักษณ์ของ ถ้ำหินสลักหลงเหมิน แล้วก็มิอาจละเลยที่จะกล่าวถึง ถึงพระพุทธรูปแห่ง วัดเฟิ่งเซียน (奉先寺)

วัดเฟิ่งเซียน ที่ถูกแกะสลักอยู่ในเทือกเขาประตูมังกร ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำนั้น มี พระพุทธรูปพระไวโรจนะ (卢舍那;Vairocana Buddha) ขนาดสูงกว่า 17 เมตรประดิษฐานอยู่ ล้อมรอบด้วยสานุศิษย์ และท้าวจตุโลกบาล โดย วัดโบราณเฟิ่งเซียนนี้เป็นช่องเขาขนาดใหญ่ที่สุดในบริเวณถ้ำผาหลงเหมิน และเป็นตัวแทนของศิลปะหินสลักแห่งราชวงศ์ถัง โดยตัวถ้ำกว้าง 38 เมตร สูง 30 เมตร และลึก 38 เมตร

วัดแห่งนี้เริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ.672 ในรัชสมัย ฮ่องเต้ถังเกาจง (唐高宗) และสร้างเสร็จในปี ค.ศ.675 โดยหลักฐานระบุว่า พระนางบูเช็กเทียน (อู่เจ๋อเทียน:武则天) ผู้เป็นฮองเฮานั้นบริจาคเงินสร้างจำนวนกว่า 2 ล้านก้วน (贯; ก้วนเป็นหน่วยเงินในสมัยโบราณ เงินหนึ่งพันเหรียญเมื่อนำเชือกมาร้อยรวมกันแล้วจึงนับเป็น หนึ่งก้วน)

สำหรับพระใหญ่ไวโรจนะ ที่ประดิษฐานอยู่ตรงกึ่งกลางของวัดเฟิ่งเซียนนี้เป็นผลงานชิ้นเอก โดยมีความสูง 17.14 เมตร เพียง พระเศียรและพระกรรณ ก็สูง 4 เมตร และ 1.9 เมตร แล้ว ส่วนพระพักตร์ของพระไวโรจนะก็อิ่มเอิบสมบูรณ์ ตามแบบฉบับของศิลปะในสมัยถัง

ทั้งนี้มีตำนานร่ำลือกันว่า พระพักตร์ของพระไวโรจนะนั้นสร้างโดยใช้พระพักตร์ของ พระนางบูเช็กเทียนผู้เป็นฮองเฮาของฮ่องเต้ถังเกาจงเป็นแบบ โดยในเวลาต่อมา พระนางบูเช็กเทียนนี่เองก็กลายเป็นจักรพรรดินีองค์แรกและองค์เดียวของประวัติศาสตร์จีน

ตำนานนี้จริงหรือไม่นั้น หลี่เหวินเซิง ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำหินสลัก ได้ให้คำตอบแบบฟันธงไว้ใน หนังสือ 龙门石窟与百题问答 ว่า ..... ไม่เป็นความจริง!

โดยเขาได้ให้เหตุผลประกอบไว้ 4 ประการด้วยกัน คือ

หนึ่ง การแกะสลักพระพุทธรูปให้มีพระพักตร์ที่บริสุทธิ์และอิ่มเอิบดั่งดวงจันทรา (คล้ายสตรี) นั้นเป็นกฎเกณฑ์การสลักพระพุทธรูปในสมัยถังอยู่แล้ว และถือเป็นกฎเกณฑ์ซึ่งช่างแกะสลักทุกคนในสมัยนั้นเคารพนับถือและปฏิบัติตาม
สอง การที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หน้าผากและคางของพระพุทธรูปที่ค่อนข้างใหญ่และเหลี่ยม นั้นคล้ายคลึงกับ พระพักตร์ของพระนางบูเช็กเทียนมาก โดยคำตอบในข้อนี้ก็เช่นเดียวกับข้อแรกก็คือ พระพุทธรูปในสมัยถังส่วนใหญ่ก็จะถูกแกะสลักให้มีลักษณะเช่นนี้อยู่แล้ว
สาม เป็นที่ทราบกันดีว่าในสังคมจีนดั้งเดิม วัฒนธรรม-ประเพณี ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้าและผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลังนั้นเคร่งครัดมาก การที่ฮ่องเต้ถังเกาจงจะยอมให้พระนางบูเช็กเทียน พระมเหสีไปเป็นแบบเพื่อแกะสลักพระพุทธรูปนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ประการสุดท้าย แม้ในเวลาต่อมาเมื่อฮ่องเต้ถังเกาจงจะสวรรคตไปแล้ว และพระนางบูเช็กเทียนจะกุมอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศต่อ แต่วัดเฟิ่งเซียน และการแกะสลักพระพุทธรูปองค์นี้ก็เสร็จสิ้นไปตั้งแต่ปี ค.ศ.675 ก่อนที่พระนางบูเช็กเทียนจะเปลี่ยนชื่อราชวงศ์จากถัง เป็น โจว (周) ใน ปี ค.ศ.690 ถึง 15 ปี*****

แต่ไม่ว่าใครจะว่าเหมือนหรือไม่เหมือนอย่างไร ประการหนึ่งที่ทุกคนต้องยอมรับ ก็คือ พระใหญ่ไวโรจนะ มีความงดงามทางศิลปะที่เป็นเลิศ พระเนตรของพระองค์หลบลงต่ำมองสู่เบื้องล่างได้ระยะเหมาะสม ใบหน้าอิ่มเอิบ จมูกโด่งเป็นสัน

สำหรับผม เมื่อยืนแหงนหน้ามองพระพักตร์และพระเนตรของพระองค์ก็บังเกิดความรู้สึกประหลาด ว่าแม้พระพักตร์ที่ประกอบกับรัศมีของเพลิงอัคคีที่ด้านหลังจะดูแล้วเคร่งขรึม แต่สายตาและรอยยิ้มมุมปากเล็กๆ กลับได้รับการแกะสลักได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ ส่งให้พระพักต์ของพระพุทธรูปแฝงไว้ด้วยประกายแห่งความ เมตตาการุณย์ ที่ซึมซาบลึก และพิศมองได้อย่างไม่รู้เบื่อ ......

ถึงปัจจุบัน พระพักตร์อันงดงาม ของพระไวโรจนะแห่ง ถ้ำหินสลักหลงเหมินนั้นได้ถูกยกย่องจนกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของมณฑลเหอหนาน และเมืองลั่วหยางไปโดยปริยาย

ทั้งนี้นอกจากวัดเฟิ่งเซียนแล้ว ถ้ำหินสลักหลงเหมินยังมีถ้ำที่ควรค่าไปเยี่ยมชมอีกหลายแห่งอย่างเช่น

สามถ้ำปินหยาง (宾阳三洞) ถ้ำปินหยาง ทั้งสามแบ่งออกเป็น ถ้ำเหนือ ถ้ำกลาง และถ้ำใต้ สร้างขึ้นในสมัยเว่ยเหนือ หลักฐานระบุว่าใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด 24 ปี โดย 'ถ้ำกลาง' นั้นถือเป็นถ้ำที่มีความสวยงามที่สุด และถูกยกย่องให้เป็นตัวแทนของพุทธศิลป์ยุคกลางแห่งราชวงศ์เหนือ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 11 องค์ โดยมีรูปสลักองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระประธาน

นอกจากนี้ยังมีสิงโตหินสลักคู่ พระสาวก และพระโพธิสัตว์ ประดับอยู่เป็นคู่ด้านหน้าพระประธาน ที่ผนังถ้ำตกแต่งไปด้วยรูปสลักนูนพระสาวก และพระโพธิสัตว์อีกจำนวนมาก ส่วนที่เพดานก็มีการแกะสลักเป็นรูปเซียนและเทพธิดา

มากกว่านั้น บนผนังถ้ำยังมีการแกะสลักภาพนูนเป็นรูปจักรพรรดิเสี้ยวเหวินตี้ ขณะทรงประกอบพิธีทางศาสนา เนื้อหาภาพเป็นฉากการเสด็จประกอบพิธีกงเต็กแด่พระชนกและพระชนนีของพระองค์ สิ่งที่น่าเสียดายสำหรับภาพสลักนูนของถ้ำผาหยุนกังชุดนี้ก็คือ ในปี ค.ศ.1935 (พ.ศ.2478) ส่วนหนึ่งของภาพสลักโดนชาวจีนที่ถูกว่าจ้างโดยชาวอเมริกันลักลอบขโมยออกนอกประเทศ ไปเก็บเอาไว้ที่ The Metropolitan Museum of Art กรุงนิวยอร์ก และ The Nelson-Atkins Museum of Art เมืองแคนซัส มลรัฐมิสซูรี

ถ้ำพระพุทธรูปหมื่นองค์ (万佛洞) สร้างขึ้นในสมัยฮ่องเต้ถังเกาจง และพระนางบูเช็กเทียน ถ้ำแห่งนี้มีพระประทานประทับอยู่บนดอกบัว ล้อมรอบด้วยสาวก แต่ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ บนผนังและเพดานถ้ำยังมีการแกะสลักพระพุทธรูปนูนองค์ใหญ่-น้อย มากมายถึง 15,000 องค์ ทั้งยังมีการแกะสลักรูปดอกบัว 54 ดอก และนักดนตรีที่กำลังบรรเลงเครื่องดนตรีนานาชนิด

เช่นเดียวกันกับถ้ำปินหยาง ที่น่าเสียดายก็คือ สิงโตหินสองตัวที่อยู่ในถ้ำพระพุทธรูปหมื่นองค์ก็ถูกขโมยไปเช่นกัน โดยสิงโตตัวที่ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือ ปัจจุบันไปปรากฎอยู่ที่ The Nelson-Atkins Museum of Art เมืองแคนซัส มลรัฐมิสซูรี ส่วนสิงโตที่อยู่ด้านทิศใต้ถูกไปปรากฎอยู่ที่ Museum of Fine Arts ในเมืองบอสตัน มลรัฐแแมสซาชูเซตต์

ถ้ำดอกบัว (莲花洞) ถ้ำแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยเว่ยเหนือมีความพิเศษก็คือ บนเพดานถ้ำนั้นมีการแกะสลักดอกบัวงดงามไว้หนึ่งดอกใหญ่ โดยดอกบัวนั้นก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็น ดอกไม้ตัวแทนของศาสนาพุทธ ด้วยความเชื่อที่ว่า ดอกบัวแม้จะกำเนิดจากโคลนตม แต่เมื่อโผล่ขึ้นเหนือน้ำแล้วก็กลายเป็นดอกไม้ที่สวย หอม และแสดงถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ด้านล่างนอกจากองค์พระประทานที่เป็นพระพุทธรูปยืนแล้ว สาวกองค์หนึ่งนั้นหายไปจากการถูกขโมย และปัจจุบันไปปรากฎอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ Guimet ประเทศฝรั่งเศส

ถ้ำกู่หยาง (古阳洞) เป็นถ้ำที่สร้างขึ้นแรกสุด การแกะสลักก็ละเอียดลออ เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย ตามผนังถ้ำทางทิศเหนือและใต้มีโพรงแท่นบูชาพระพุทธรูป 3 ชั้น พระพุทธรูปภายในโพรงเหล่านี้บ้างสลักเป็นรูปพระพุทธเจ้า บ้างเป็นรูปพระศรีอาริย์ฯ ในอิริยาบถต่างๆ กันบ้าง ขณะที่หินสลักอักษรจีนที่ถูกเรียกรวมกันว่า ‘หินสลักอักษรศิลป์หลงเหมิน 20 ชิ้น’ อันเป็นโบราณวัตถุล้ำค่า นั้น 19 ชิ้นอยู่ในถ้ำกู่หยาง

ขณะที่หากเดินจากภูเขาประตูมังกรทางทิศตะวันตกข้ามแม่น้ำอี มายังภูเขาเซียงทางทิศตะวันออก จะพบกับถ้ำหินสลักใหญ่น้อยอีกชุดใหญ่ โดยส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นในสมัยพระนางบูเช็กเทียน

สิ่งเหล่านี้ประกอบกันขึ้นมาเป็น ถ้ำหินสลักหลงเหมิน ที่นอกจากจะมีคุณค่าทางศาสนา ศรัทธา และความเชื่อของพุทธศาสนาแล้ว หากมองในแง่คุณค่าทางศิลปะ ระยะเวลา 400 ปีของการก่อสร้าง ถ้ำหินสลักแห่งนี้ได้รวมรวม และผสมผสานงานศิลป์จากหลายยุคหลายสมัยเข้าไว้ด้วยกัน ตั้งแต่วัฒนธรรมที่ตกทอดมาจากสมัยฮั่น เรื่อยมาจนถึงราชวงศ์ถังอันรุ่งเรือง

ขณะเดินชม งานศิลปะเหล่านี้ เรื่อยๆ ทีละถ้ำ ทีละถ้ำ นอกเหนือจากการได้รับอรรถรสจากความชื่นชมของสวยๆ งามๆ แล้ว อีกมุมหนึ่งผมกลับรู้สึกหดหู่ใจ เมื่อต้องพบเจอ เศียรพระขาด งานแกะสลักที่หายไป และสภาพอันย่ำแย่ของมรดกล้ำค่า หลายคนเคยบอกกับผมว่า ในจำนวนยอดถ้ำหินสลักทั้งสามแห่งของจีน นั้น ถ้ำหินสลักหลงเหมินถือว่าเหลือรอดอยู่ได้ในสภาพที่ย่ำแย่ที่สุด ......

การผุกร่อนของสรรพสิ่ง แน่นอนส่วนหนึ่งย่อมเป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องของ ลม ฝน พายุ และแสงแดด ที่ทำให้มิอาจมีสิ่งใดสามารถจะคงทนอยู่ค้ำฟ้าได้ ส่วนสิ่งที่จับต้องไม่ได้ที่เรียก 'กาลเวลา' นั้นก็ปฏิบัติกับทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ด้วยความเท่าเทียม

อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับด้วยว่า สิ่งที่อันตรายกว่าธรรมชาติก็คือน้ำมือของสิ่งมีชีวิตพันธุ์เดียวกันนี้เอง สิ่งล้ำค่าของถ้ำหินสลักหลงเหมินที่สร้างมาด้วย น้ำพักน้ำแรงและศรัทธาของผู้คนจำนวนนับไม่ถ้วน ซึ่งเหลือทิ้งไว้ในวันนี้กลับนับเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของ อดีตอันรุ่งเรืองเท่านั้น

การทำลายถ้ำหินสลักหลงเหมินโดยน้ำมือมนุษย์นั้น มีขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่สมัย จิน หยวน จนถึง หมิง ชิง โดยยุคสมัยที่ มรดกโลกแห่งนี้ถูกทำลายอย่างหนักหนาสาหัสที่สุดนั้นเกิดในช่วงหลัง สงครามฝิ่น เมื่อกลางศตวรรษที่ 19 จนถึง ทศวรรษที่ 20-30 ของศตวรรษที่ 20 เมื่อชาวจีนบางส่วนร่วมมือกับชาวญี่ปุ่นและตะวันตก ขโมยมรดกของชาวจีนทั้งปวงออกไปนอกประเทศเป็นจำนวนมากมายมหาศาล

ในปี ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) ทางการจีนได้มีการทำสถิติความเสียหายของ ถ้ำหินสลักหลงเหมิน ที่เกิดจากธรรมชาติและการลักขโมย แล้วก็พบว่า ความเสียหายที่เกิดจากการลักลอบขโมยนั้นมีอยู่ 780 กว่าจุด โดยมีชิ้นสำคัญราว 100 ชิ้นที่กระจายไปทั่วโลกตาม พิพิธภัณฑ์ชื่อดัง และ คอลเลกชั่นของนักสะสม ณ ที่ต่างๆ ทั่วโลก ทั้งภายในประเทศจีนเอง ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น ยุโรป เป็นต้น ตัวอย่างก็ดังเช่นที่ ผมได้กล่าวถึงไปแล้ว******

นับถึงทุกวันนี้ เหล่าอดีตประเทศผู้ล่าอาณานิคมเหล่านี้ไม่เพียงยังไม่สำนึกตัว ส่งสิ่งเหล่านี้คืนให้เจ้าของ แต่ยังนำออกมาเปิดแสดง-เก็บค่าตั๋ว และยกย่องของที่ไม่ใช่ของตัวเหล่านี้ให้เป็นมรดกของชาติอย่างเปิดเผย ส่วนรัฐบาลจีนและชาวจีนผู้รักชาติทั้งหลายเองก็ไม่มีปัญญาจะเรียกร้อง และทำอะไร มากไปกว่าการเจียดภาษี เรี่ยรายเงินจากเศรษฐีผู้ใจบุญหาเงินมาซื้อคืนมรดกที่ถูกโจรขโมยไป นำกลับสู่ที่ๆ มันควรจะอยู่
...........................
ดวงตะวันเริ่มคล้อยตัว ผมเดินข้ามสะพานจาก ฝั่งภูเขาด้านตะวันตก มาชมหินสลักที่อยู่ด้านตะวันออกบ้าง ........

ที่ ภูเขาด้านตะวันออก ผมพบกับ 'กรงเหล็ก' ที่บรรจุพระพุทธรูปหินสลักเอาไว้ภายใน ลอดสายลูกกรงอันแข็งแกร่ง ผมแหงนหน้ามองที่พระเนตรขององค์พระพุทธรูป ......ไม่ทราบว่า รู้สึกไปเองคนเดียวหรือเปล่าที่ผมเห็นน้ำพระเนตรขององค์พระพุทธรูปไหลรินลงมาเป็นทาง

เย็นวันนั้น ผมนั่งมองสายน้ำที่ไหลเอื่อยของแม่น้ำอี ในใจ ใคร่ครวญและทบทวน กับสิ่งที่ผ่านเข้ามายังสายตา พอย้อนกลับมาดูรูป 'น้ำพระเนตร' ที่เห็น เมื่อมาพิจารณาดูดีๆ แล้วก็เป็นเพียงร่องรอยส่วนพระนาสา (จมูก) ของพระพุทธรูปที่หักออกไป อย่างไรก็ตาม คำถามที่ผมคิดว่าสำคัญกว่าก็ คือ

...... จริงๆ แล้วเป็น 'ผม' หรือ 'พระ' กันแน่ที่ติดอยู่ใน 'กรง'

Tips สำหรับการเดินทาง:
- ถ้ำหินสลักประตูมังกร (หลงเหมินสือคู:龙门石窟) ค่าผ่านประตู 80 หยวน (บัตรนักเรียน-นักศึกษา ลดครึ่งราคา; ราคาค่าผ่านประตูแหล่งท่องเที่ยวในมณฑลเหอหนานอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีก) อยู่ห่างจากตัวเมืองลั่วหยางประมาณ 12-13 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปได้สะดวกโดยรถประจำทางหลายสาย เช่น สาย 53, 60,63, 81 โดยจากป้ายรถประจำทางจนถึงประตูทางเข้าหลงเหมินสือคูนั้นจะต้องเดินเข้าไปอีกราว 1.5 กิโลเมตร

อ้างอิงจาก :
****หนังสือ 龙门石窟与百题问答 โดย หลี่เหวินเซิง (李文生) : สำนักพิมพ์ 河南大学出版社, ฉบับ ค.ศ.2001 ; หนังสือหลายเล่มให้ข้อมูลของจำนวนถ้ำหินสลักที่ถ้ำหินสลักหลงเหมินไว้ไม่ตรงกัน ดังนั้นในที่นี้ผมจึงขออ้างอิงจาก 龙门石窟与百题问答 ที่ผู้เขียนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำหินสลักโดยเฉพาะ
*****หนังสือ 龙门石窟与百题问答 หน้า 67-68
******หนังสือ 龙门石窟与百题问答 หน้า 54-56; หนังสือเล่มเดียวกันนี้ระบุว่า ช่วง 10 ปีของการปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-1976) หลงเหมินสือคู แทบจะไม่ได้รับความเสียหายเลย เนื่องจากมีนักเรียนจากโรงเรียนในเมืองลั่วหยางมาปกปักษ์รักษาเอาไว้











กำลังโหลดความคิดเห็น