เนื้อหาตอนหนึ่งจากภาพยนตร์จีนกำลังภายในชุด “เจาะเวลาหาจิ๋นซี” จากบทประพันธ์ของหวงอี้ กล่าวถึงเซี่ยงเส้าหลงที่เป็นตำรวจหน่วยพิเศษจากศตวรรษที่ 21 ถูกกระสวยย้อนเวลาส่งตัวมายังอดีตในยุคสมัยจั้นกั๋ว (770-221 ปีก่อนคริสตศักราช) และได้ไปขอพักอาศัยกับชาวบ้าน ตกกลางดึกลุกขึ้นมาเข้าส้วม เซี่ยงเส้าหลงถามหา “กระดาษชำระ” กับพ่อเฒ่าเจ้าของบ้าน แต่แกไม่รู้ว่ามันคืออะไร เซี่ยงเส้าหลงจึงถามว่า “แล้วจะเช็ดก้นยังไงกัน?” พ่อเฒ่าจึงไปคว้าเอาใบไผ่มาให้กำหนึ่งแล้วบอกว่า “นี่ไงล่ะ ขอเชิญใช้ได้ตามสบาย” ดูถึงตอนนี้หลายคนก็อดที่จะอมยิ้มไม่ได้ ใช่สิ คนโบราณเขาทำความสะอาดเรื่องนี้กันยังไงล่ะ?
พวกเรามาตามรอยกลับไปค้นหาสุขอนามัยในส้วมของคนโบราณกัน ในที่นี้เราไม่ได้ปฏิเสธวิธีการชำระล้าง...ด้วยวิธีอื่น แต่จะขอกล่าวถึงเพียงวิธีการอย่างธรรมดาทั่วไปที่ใช้กัน...
กระดาษชำระ (อย่างหยาบ)
การใช้กระดาษชำระ (อย่างหยาบ) ในสมัยราชวงศ์ชิง (ปี 1644 – 1911) มีบันทึกเป็นหลักฐานมากมาย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องราวตอนหนึ่งของ “ความฝันในหอแดง” หนึ่งในสี่วรรณคดีคลาสสิกของจีน ได้กล่าวถึงยายหลิว หมอตำแยที่เกิดท้องเสียขึ้นมา โดยเล่าว่า “ยายหลิวรู้สึกท้องไส้ปั่นป่วน จึงรีบขอกระดาษจากเด็กหญิงรับใช้มาสองแผ่น แล้วปลดสายรัดเอวลง ผู้คนรอบข้างต่างพากันร้องห้าม “จัดการที่นี่ไม่ได้!” ว่าแล้วก็ให้พายายหลิวออกไปทางด้านนอก”
จากเรื่องราวในตอนนี้แสดงว่าผู้คนในยุคสมัยของเฉาเสวี่ยฉิน ผู้ประพันธ์ความฝันในหอแดง ไม่ว่าจะเป็นตัวละครในต้ากวนหยวน หรือว่าชาวบ้านจากชนบท ต่างก็รู้จักการใช้กระดาษชำระกันแล้ว
นอกจากนี้ สมัยราชวงศ์หมิง (ปี 1368–1644) ในวังหลวงมีตำแหน่งงานสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเกี่ยวกับงานพิธีการและเรื่องทั่วไป อาทิ หน่วยงานดูแลเรื่องถ่านหิน ระฆังสัญญาณ เครื่องอาบน้ำ และจัดทำกระดาษชนิดต่างๆ (รวมถึงกระดาษชำระ) อีกด้วย
แต่ว่าคนในสมัยนั้นเขาใช้ “กระดาษชำระ” แบบไหนกันล่ะ? เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับชนิดของกระดาษในสมัยโบราณกัน
จากบันทึกเกี่ยวกับเทคโนโลยีวิทยาการต่างๆ ในสมัยราชวงศ์หมิง ที่รวบรวมโดยซ่งอิงซิง กล่าวว่า กระดาษแบ่งออกเป็นกระดาษที่ทำจากเปลือกไม้ และกระดาษที่ทำจากปอป่านและไม้ไผ่ ซึ่งนอกจากจัดแบ่งตามวัสดุแล้วยังแบ่งตามเนื้อของกระดาษอีกด้วย โดยมีทั้งเนื้อละเอียดและหยาบ เนื้อละเอียด ไว้ใช้ขีดเขียนเป็นสมุดตำราหรือวาดภาพ ส่วนเนื้อหยาบแบ่งเจ็ดส่วนไว้เป็นกระดาษเงินกระดาษทองเผาเป็นเครื่องเซ่นสังเวยให้กับเทพเจ้าและบรรพบุรุษ อีกสามส่วนไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน
บรรดาลูกหลานจีนทั้งหลายอาจจำได้ว่าสมัยยังเป็นเด็กต่างเคยถูกทำโทษเมื่อแสดงกิริยาที่ไม่เคารพต่อหนังสือ อย่างเช่น นั่งทับ หรือเดินข้ามหนังสือที่ตกอยู่บนพื้น แต่ในสมัยราชวงศ์ชิง ถึงกับมีการออกเป็นระเบียบกฎหมายเพื่อการถนอมรักหนังสือเลยทีเดียว โดยประกาศห้ามไม่ให้มีการพิมพ์ตัวอักษรใดๆ ลงบนกระดาษที่อาจนำมาเป็นกระดาษชำระได้ อีกทั้งห้ามนำหนังสือตำราเก่าๆ ที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้อีก เพื่อไม่ให้มีโอกาสถูกนำมาใช้ในการเช็ดถูสิ่งสกปรก
หลักฐานการใช้ “กระดาษชำระ” ที่เก่าแก่ที่สุดได้รับการบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์หยวน (ปี 1271–1368)โดยกล่าวถึงอี้ว์เซิ่งฮองเฮา เมื่อครั้งยังเป็นชายาขององค์รัชทายาท ได้แสดงความกตัญญูต่อเจาลุ่ยซุ่นฮองเฮา (ฮองเฮาในซื่อจู่ฮูปี้เลี่ยหรือกุบไลข่าน) ผู้เป็นแม่สามี โดยคอยติดตามปรนนิบัติอย่างใกล้ชิด ถึงกับใช้แก้มของตนทดสอบความนุ่มนวลของกระดาษชำระทุกครั้งก่อนนำมา “ปรนนิบัติ” แม่สามี
บันทึกข้างต้นทำให้เราทราบแน่ว่าคนในสมัยนั้นรู้จักการใช้กระดาษชำระเพื่อการนี้กันแล้ว เพียงแต่ “กระดาษชำระ” ในวังหลวงคาดว่าคงไม่ใช้ “เนื้อหยาบ” กระมัง ไม่เช่นนั้นชายาขององค์รัชทายาทคงจะไม่นำกระดาษเนื้อหยาบมาทดสอบกับใบหน้าอันนุ่มเนียนของเธอเป็นแน่
“เช่อโฉว” มาจากไหน
ถ้าอย่างนั้นก่อนหน้าราชวงศ์หยวนชาวจีนใช้อะไรเช็ดก้น? ในสมัยถังและซ่ง ชาวจีนเรียกสิ่งนี้ว่า “เช่อโฉว” (厕筹)ทำจากแผ่นไม้หรือไม่ไผ่ ซึ่งยังคงใช้กันในชนบทของจีนและญี่ปุ่นบางท้องที่จวบจนเมื่อศตวรรษที่ผ่านมา
ใน “จือจื้อทงเจี้ยน” ตำราประวัติศาสตร์เล่มสำคัญของจีนที่จัดทำขึ้นในสมัยซ่งเหนือ (ปีค.ศ. 960 – 1127) ส่วนหนึ่งได้มีการพูดถึงการขนส่งวัตถุปัจจัยต่างๆ มายังแดนกวนจง โดยกล่าวว่า “การตระเตรียมสิ่งของไปกับเรือขนส่งได้มีการจัดทำรายการอย่างละเอียด จนแม้แต่เช่อโฉวก็อยู่ในรายการนั้นด้วย”
ส่วนการใช้ “เช่อโฉว” นั้น นักโบราณคดีตั้งสมมติฐานว่าได้เผยแพร่เข้ามาในจีนพร้อมกับพุทธศาสนา โดยในบันทึกเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติของสงฆ์มีการกล่าวถึงวิธีการใช้ “เช่อโฉว” เอาไว้ด้วย
พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ในราว 600 ปีก่อนคริสตกาล ระเบียบวินัยสงฆ์ได้รับการเผยแพร่ภายหลังจากปรินิพพานไปแล้วร้อยกว่าปี ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าอินเดียได้มีประวัติการใช้เช่อโฉวมายาวนานกว่าจีนมาก ในขณะที่บันทึกหลักฐานการใช้เช่อโฉวที่เก่าแก่ที่สุดของจีนอยู่ในสมัยสามก๊ก (ปีค.ศ. 220 – 280) ดังนั้นหากจะกล่าวว่าการใช้เช่อโฉวได้รับการเผยแพร่ผ่านทางพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศจีนในสมัยฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25–220) นั้นก็คงไม่ผิดนัก
กล่าวโดยสรุป การใช้เช่อโฉวนั้นจีนน่าจะได้รับการเผยแพร่จากอินเดียผ่านทางพุทธศาสนา จากนั้นวิวัฒนาการจากเช่อโฉวเป็นกระดาษชำระ (อย่างหยาบ) ในสมัยราชวงศ์หยวนแห่งมองโกล
เรียบเรียงจาก www.tom.com