xs
xsm
sm
md
lg

คุยกับธนากร เสรีบุรี ถึงเส้นทางที่เลือกแล้วของ “เจียไต๋” บริษัทไทยเลือดจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปีค.ศ.1978 คือปีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้บ่ายหน้าจากเส้นทางเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง มาสู่หนทางของเศรษฐกิจระบบตลาดสังคมนิยมแบบเฉพาะตัว โดยการปฏิรูปเศรษฐกิจชูนโยบาย ‘เปิดประเทศ’ ของรองนายกรัฐมนตรี เติ้งเสี่ยวผิง รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของจีน เจ้าของคำพูดอมตะ “ ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ ก็คือแมวที่ดี ” ทำให้ส่วนงานทุกองคาพยพขานรับนโยบายดังกล่าว

เมื่อประตูบ้านเปิดออกต้อนรับบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน ประเทศจีนในเวลานั้นยังอยู่ในภาวะล้าหลัง ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนยังยากจน พลเมืองล้นผลผลิตลด ราชการที่ไม่เป็นระบบระเบียบ ไม่รู้จักการทำธุรกิจ และไม่รู้ว่าเบื้องหน้าของเศรษฐกิจระบบตลาดตามแนวทางที่วางไว้นั้นจะเดินไปได้อย่างไร ท่ามกลางความสับสนนั้นเอง..ที่ประเทศไทย..ชาวจีนโพ้นทะเลผู้จากบ้านเกิดมาก่อร่างสร้างตัวในแผ่นดินสยาม โดยเริ่มต้นจากร้านขายเมล็ดพันธุ์ผัก ‘เจิ้งต้าจวง’( หรือ เจียไต๋จึง-สำเนียงจีนแต้จิ๋ว) และเติบโตขึ้นจนเป็นบริษัทผู้ผลิตด้านการเกษตรรายใหญ่ของประเทศ กลับมองเห็นโอกาสที่มีสูงกว่าความเสี่ยง นั่นคือตลาดมหาศาลของพลเมืองจีนพันกว่าล้านคนที่กำลังต้องการทุกอย่าง !

นายเซี่ยอี้ชู ( 谢易初หรือ เจี่ยเอ็กชอ ชื่อในสำเนียงจีนแต้จิ๋ว) เจ้าของร้านขายเมล็ดพันธุ์ผักผู้เปิดตำนานการก่อตั้งบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในประเทศไทย และยังเป็นคนเดียวกันที่สร้างตำนานความยิ่งใหญ่ของซีพีในประเทศจีน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะบุกตลาดประเทศจีนทันทีที่เขาและบุตรทั้งสี่ได้รับทราบข่าวการ ‘เปิดประเทศ’ ของแผ่นดินแม่

บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์คือบริษัทต่างชาติรายแรกที่กล้าเข้าไปลงทุนในจีน ยุคที่จีนยังล้มลุกคลุกคลานกับการปฏิรูปเศรษฐกิจขนานใหญ่ นายธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ขุนพลคนสำคัญของบริษัทผู้นำธงซีพีเข้าไปปักในแผ่นดินใหญ่ ได้ย้อนถึงจุดเริ่มต้นของตำนานที่เปรียบเสมือน ‘ลูกมังกรหวนคืนถิ่น’ กับ ‘ผู้จัดการออนไลน์’ ว่า

การเข้าไปเปิดตลาดในจีนเป็นความคิดของคุณเซี่ยอี้ชูและประธานทั้ง 4 ท่าน คือคุณจรัล คุณมนตรี คุณสุเมธ และคุณธนินท์ ที่ต่างมีความเห็นตรงกันว่าประเทศจีนเหมือนกับลูกตุ้มนาฬิกา “เมื่อเหวี่ยงมาถึงสุดแล้วมันจะต้องเหวี่ยงกลับมาแน่นอน” กล่าวคือเมื่อจีนเดินทางถึงสุดทางของการปิดประเทศมานาน ก็ถึงเวลาที่จะต้องเปิดประเทศเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ ประกอบกับมีผู้นำอย่างเติ้งเสี่ยวผิงบัญชาการอย่างจริงจังแล้ว บริษัทจึงมั่นใจที่จะเข้าไปเปิดตลาดในประเทศจีน

คุณธนากร : เราเกือบจะเรียกว่าเป็นบริษัทแรกๆ ของประเทศไทยที่มองเห็นถึงเรื่องของการลงทุนในต่างประเทศ เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าที่ไหนมีวัตถุดิบ มีคน เป็นที่ๆ เราจะไป อีกประการหนึ่งเราก็มองว่าเราก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีน แล้วเราก็พูดจีนได้ ประเทศอื่นเราก็ไปมาแล้ว จีนมีโอกาสอย่างนี้ทำไมเราจะไม่ไป...การเข้าไปในชั้นแรกเราก็คิดว่าเราไปหยั่งดูก่อน ไปลองดูซิว่าสิ่งที่เราคิดนี่มันตรงกับความเป็นจริงหรือเปล่า เราก็เข้าไปที่เซินเจิ้น การไปที่นี่ก็ได้ประโยชน์เพราะติดกับฮ่องกง เราสามารถเอาประสบการณ์และคนจากฮ่องกงเข้าไปได้ เราทดลองเข้าไปทำเรื่องอาหารสัตว์ในเซินเจิ้น 3 ปี ตั้งแต่ปีปลายปี 1979-1983 เราก็พบว่าจีนนี่เขาเปิดประเทศแน่นอน จากนั้นเราก็ขยายเข้าไปเกือบทุกมณฑลของประเทศจีน

การขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนนับเป็นอุปสรรคเบื้องต้นในการรุกเข้าตลาดจีนของซีพี ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง กฎระเบียบต่างๆ วัฒนธรรมในการทำงาน ความเป็นอยู่ ตลอดจนทัศนคติของคนในท้องถิ่นที่มีต่อพ่อค้าต่างชาติ โดยคุณธนากรได้แสดงทัศนะว่า การทำธุรกิจในจีนจะประสบความสำเร็จได้จำต้องแสดงให้เขาเห็นว่าเราไม่ได้เข้าไปแสวงหากำไรอย่างเดียว ควรทำประโยชน์ให้เขาด้วย

คุณธนากร : เราต้องให้ก่อนแล้วค่อยรับทีหลัง เพราะจีนเขาปิดมานาน แล้วคนจีนในสมัยนั้นโดยเฉพาะปักกิ่ง เขามองนักธุรกิจคือพวกที่เอาเปรียบ ผมมีความรู้สึกอย่างนั้นนะฮะ ตอนปี 1982 ผมไปปักกิ่งเขาไม่ค่อยคุยกับเรา เขามองพ่อค้าเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ทางใต้นี่ดีหน่อย เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้เมื่อเขามีความคิดอย่างนี้ฝังอยู่ เราต้องให้เขารู้ว่าการที่เรามาเราไปทำประโยชน์ให้เขา จากประโยชน์ที่มันดีขึ้นเราขอแบ่งนิดหนึ่งเพื่อเป็นทุนในการขยายต่อไป อย่างนี้จึงจะประสบผลสำเร็จ

ดังนี้แล้วธุรกิจด้านการเกษตรที่ซีพีเข้าไปบุกเบิกลงทุนในจีนราวปี ค.ศ.1979-80 จึงได้นำพันธุ์สัตว์ที่ดี บุคลากรมีฝีมือ เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด ตลอดจนวิธีการเลี้ยงเข้าไป ถึงแม้การเข้าไปในจีนจะไม่มีปัญหาเรื่องตลาด เพราะจีนขณะนั้นกำลังขาดทุกอย่าง ขอให้มีของขึ้นมาก็รับประกันได้ว่าจะขายได้แน่นอน และยังสร้างผลกำไรให้แก่บริษัทสูงมาก แต่สิ่งที่ยากลำบากในเวลานั้นกลับอยู่ที่ระบบการทำธุรกิจที่ไม่ตรงกัน

สมัยที่เราไปใหม่ๆ สิ่งที่ลำบากมากก็คือทำอย่างไรให้คนจีนข้าราชการจีนรู้ระบบการทำธุรกิจ ทำอย่างไรถึงจะไปกันได้ เขาไม่มีกฎหมาย เขาเพิ่งเปิดประเทศใหม่ๆ อย่างเราไปเซินเจิ้นนี่ นายกเทศมนตรีเมืองเซินเจิ้นก็คือกฎหมาย เขาบอกให้เราเลี้ยวขวาก็ได้เลี้ยวซ้ายก็ได้ มันมีแต่ระเบียบที่เขาวางขึ้นมา พรุ่งนี้เขาก็เปลี่ยนก็ได้ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เขาให้ที่เราที่เป่าอัน เสอโข่ว 2000 หมู่ให้ทำเรื่องเกษตร เราก็คิดเหมือนเมืองไทย ที่ 2000 หมู่เราซื้อมาแล้วนี่ เราเช่า 30 ปี ที่ของเราแล้วนี่ เราก็ไปสร้างเล้าไก่ สร้างโรงงาน สร้างฟาร์มไก่ พอเสร็จเรียบร้อยชาวบ้านก็เอาถังฉีดยาฆ่าแมลงมาฉีดลิ้นจี่ในที่ของเรา ชาวบ้านก็มางัดหน่อไม้ในที่ของเรา เราก็บอก เฮ้..คุณบุกรุกนี่ สุดท้ายไม่ใช่ ! รัฐบาลบอกเราให้ที่คุณใช้ แต่ไอ้ลิ้นจี่ที่อยู่บนที่นี่เป็นของชาวบ้านนะ ไม่ใช่ของคุณ หน่อไม้ก็เป็นของชาวบ้าน นี่คือความยุ่งยาก ความที่เราไม่เข้าใจกัน แล้วจบด้วยอย่างไร ผมต้องไปซื้อต้นลิ้นจี่กับชาวบ้านต้นหนึ่ง 500 หยวน ไม้ไผ่ต้นหนึ่งซื้อมา 100 หยวน ผมต้องซื้อมาแล้วถึงรื้อทิ้งได้

หรืออย่างเช่นปัญหาด้านบุคลากรชาวจีน เมื่อทางบริษัทได้จ้างงานสัตวแพทย์และสัตวบาลชาวจีนที่จบระดับปริญญาตรีเข้ามาทำงาน แต่พวกเขากลับมีวิธีการทำงานแตกต่างจากของไทยอย่างกับอยู่คนละด้านของเหรียญ ทั้งนี้คุณธนากรเล่าว่า สัตวแพทย์ สัตวบาลของเมืองไทยเข้าไปคลุกอยู่กับฟาร์มเลี้ยงไก่ เข้าไปดูกับเกษตรกร แต่ของจีนนี่ไม่ใช่ คือสมัยนั้นคนจบปริญญาเขาถือว่าเป็นผู้วิเศษนะ เป็นคนเหนือคน นั่งออฟฟิศ ! ซึ่งผมว่าปัญหาเหล่านี้มีมากทีเดียวในสมัยนั้น ต้องใช้เวลาปรับตั้งนาน

ทางด้านความช่วยเหลือและการส่งเสริมจากทางรัฐบาลไทยนั้น ในช่วงแรกหลังจากที่ไทยและจีนเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตมาได้ 3-4 ปี ผู้แทนรัฐบาลไทยในกรุงปักกิ่งมีส่วนช่วยเหลืออย่างมากในการปูทางสู่การเจรจาพบปะระหว่างผู้นำระดับสูงของจีนกับนักธุรกิจไทย โดยคุณธนากรกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า

ในช่วงต้นนี่ทางด้านกระทรวงต่างประเทศ ทางทูตไทยที่อยู่ปักกิ่งก็ช่วยมาก อย่างที่ผมพูด ข้าราชการปักกิ่งก็ดี รัฐวิสาหกิจปักกิ่งเขามองเราเป็นคนอีกเกรดหนึ่ง เพราะเราจะไปพบเขานี่ยาก เขาไม่พบเรา เราขอไปพบผู้จัดการใหญ่ อธิบดีคนนั้นหรือรัฐมนตรีนี้ ทางเราก็ขอให้ทางทูตไทยที่อยู่ปักกิ่งช่วยนำ เขาก็ดีมาก สมัยนั้นก็ช่วยเรามากในการที่นำนักธุรกิจ นำเราเข้าไปพบผู้ใหญ่ด้วยกัน แล้วในระยะหลังตอนที่ท่านพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านก็เปิดเต็มที่ ท่านสนับสนุนแบบเปิดเผยเลย ท่านนำนักธุรกิจไปบุกในเมืองจีนหลายครั้ง ช่วงต้นๆ จีนเปิดประเทศใหม่ๆ ผมว่าลำพังนักธุรกิจอย่างพวกผมนี่จะเข้าไปเจาะใจจีนนี่ไม่ใช่ง่าย ก็ต้องอาศัยทางบ้านเมืองนี่ช่วย

กว่าจะทำความคุ้นเคยกับความแตกต่างของระบบการทำงานและเมื่อธุรกิจเริ่มลงตัวแล้ว คุณธนากรถอนใจ แล้วกล่าวว่า ต้องใช้เวลานานเป็น 10 ปีจึงจะนอนหลับสนิท เนื่องด้วยสถานการณ์ต่างๆ ในจีนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจนแม้ใน ค.ศ.นี้ ความท้าทายดังกล่าวก็ยังไม่หยุดนิ่ง

คุณธนากร : จีนเมื่อถึงยุคที่ 2 แล้ว มันก็เป็นยุคการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ยุค 1980-1990 ยุคนั้นเป็นยุคที่เรื่องของการสร้างมนุษยสัมพันธ์ เรื่องความเข้าใจจีนนี่ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด พอถึงช่วง 1990–2000 มันเป็นยุคที่เริ่มมีการแข่งขัน แต่ก็ยังไม่มาก จะเป็นยุคที่เริ่มมีฝรั่งเข้าไป พวกยุโรป-อเมริกาก็เริ่มเข้าไป แต่ยุค 2000 จนถึงขณะนี้ผมว่าเป็นยุคที่การแข่งขันสูงสุด

คุณธนากรมองว่ามันเป็นนโยบายของจีนที่ต้องการให้แข่งขันเต็มที่ สุดท้ายสิ่งที่จีนได้รับก็คือขณะนี้สินค้าจีนคุณภาพดีขึ้น การบริหารก็ดี บริการก็ดีขึ้น การบริการหลังขายก็ดีขึ้น ต้นทุนราคากลับจะต่ำ ถามว่าตลาดจีนโตไหม จีนก็ยังโต ขณะนี้ตลาดก็โตขึ้นทุกวัน อย่างที่ผมทำเรื่องมอเตอร์ไซค์เนี่ย ปีนึงโตขึ้น 7 % ทุกปี อาหารสัตว์ก็โต ไก่ก็โตนะฮะ เมื่อเป็นลักษณะอย่างนี้ทางผมก็ต้องปรับ ในเรื่องของการบริหารต้องดีขึ้นกว่านี้ ต้องเอามาตรฐานสากลมาเล่นแล้ว คือก็เริ่มเข้าสู่การจัดการภายในโดยใช้คอมพิวเตอร์ ใช้นักการตลาด ใช้นักการขาย คิดถึงเรื่องลอจิสติกส์ คิดทุกด้าน

อ่านต่อหน้า 2


ท่านยังเสริมอีกว่า ขณะนี้คู่แข่งที่น่ากลัวไม่ใช่ฝรั่งผมทอง แต่กลับเป็นนักธุรกิจชาวจีนรุ่นใหม่ที่มีจำนวนมากขึ้น และมีความสามารถโดดเด่นจนเป็นที่ยอมรับในสังคมจีน คุณธนากรได้สนใจติดตามความเคลื่อนไหวของนักธุรกิจจีนเลือดใหม่กลุ่มนี้แล้วยังยอมรับว่าเป็นกลุ่มคนที่หัวไวมาก และตัดสินใจอะไรเร็ว พวกนี้เก่งมาก คม และเขารู้เรื่องเมืองจีนดีกว่าพวกเราชาวต่างชาติ เพราะเขาโตอยู่ในสังคมอย่างนั้น รู้คนจีนคิดยังไง ซึ่งผมอยู่เมืองจีน 26 ปีผมก็รู้ดี แต่ผมว่าผมรู้สู้เขาไม่ได้ ข้อได้เปรียบอีกข้อหนึ่ง เนื่องจากเขาเป็นคนจีนเขาไปคุยกับผู้ใหญ่จีน ข้าราชการจีนเขามองเป็นถงเปา (คนชาติเดียวกัน) ยังไงเนี่ยผมไปเขาก็มองเป็นหัวเฉียว (ชาวจีนโพ้นทะเล) ผมจะสู้กับคนจีนยาก

จนถึงวันนี้ ผู้บริโภคชาวจีนในหลายมณฑลต่างรู้จักสินค้าและบริการต่างๆ ภายใต้โลโก้ดอกบัว ของบริษัท เจิ้งต้าจี๋ถวน (正大集团) ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ เนื้อสัตว์ ร้านไก่ทอดเขิ่นเต๋อจี (เคนตั๊กกี้) มอเตอร์ไซค์ยี่ห้อต้าหยาง ซูเปอร์แบรนด์มอลล์ ห้างสรรพสินค้าใหญ่ใจกลางนครเซี่ยงไฮ้ ศูนย์การค้าอี้ชูเหลียนฮัว (ห้างโลตัส) รวมไปถึงรายการโทรทัศน์ ‘เจียไต๋วิชัน’ ที่เผยแพร่ความรู้และวิทยาการสมัยใหม่จากต่างประเทศ ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่องซีซีทีวี 1 และ 2 มาถึงปีที่ 15 แล้ว ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวจีน

เราคุยได้เลยอย่างเรื่องไก่ที่เราไปทำที่เมืองจีนเมื่อปี 1980 ผมไปเซินเจิ้นนี่ ไก่นี่ชั่งหนึ่ง 3.5 หยวน ขณะนี้นะฮะไก่ 1 ชั่งก็ประมาณราคานี้ ขณะนี้น้ำมันขึ้นกี่เท่า เงินจีนลดค่าลงไปเท่าไหร่ สมัยนั้นเงินจีน 12 บาทกว่า เดี๋ยวนี้เงินจีน 5 บาท แล้วเงินเดือนเพิ่มกี่เท่า แต่ไก่เท่าเดิม นั้นมาจากไหน ก็มาจากการที่เราเอาเทคโนโลยีเข้าไป เอาพันธุ์ที่ดีเข้าไป แล้วสอนให้คนจีนเลี้ยงไก่ปริมาณมาก ลดต้นทุน ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าคนจีนทั่วประเทศเห็นและรัฐบาลจีนก็เห็น และเป็นคีย์สำคัญที่จีนเขาส่งเสริมเรามาก จะเห็นได้ว่าที่เซี่ยงไฮ้เราไปได้ที่ที่ทำซูเปอร์แบรนด์มอลล์ ในใจกลางเมืองเลย ผมว่าอันนี้มันก็เป็นผลพวงที่เราทำความดีมาก เมื่อจีนเขามีโอกาสดีๆ เขาก็ให้เรา

ในอนาคตบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซีพียังคงเดินหน้าพัฒนาสินค้าและบริการของตนในจีนต่อไป โดยมีแผนการขยายการลงทุน 3 ด้านหลัก คือธุรกิจอาหารสำเร็จรูป การผลิตจักรยานยนต์ และธุรกิจค้าปลีกห้างโลตัสซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เป็นข้อได้เปรียบของบริษัท และยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนเต็มที่

ความมุ่งมั่นแสวงโชคที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความจริงใจ อาจเป็นชัยชนะของซีพีเมื่อเกือบ 3 ทศวรรษที่แล้ว และจากคำบอกเล่าของรองประธานกรรมการบริษัท คุณธนากร เสรีบุรี ผู้เชื่อมั่นว่าถึงแม้ย่างก้าวในจีนวันนี้ซีพีจะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างใหม่ แต่ความพร้อม ประสบการณ์และชื่อเสียงที่สั่งสมมาในอดีตจะเป็นอาวุธให้กับขุนพลซีพีในการกำชัยให้นานต่อไปได้ในตลาดจีน...เป้าหมายที่พวกเขาเลือกแล้ว...
.........................................................................


ธนากร เสรีบุรี คนไทยคนแรกกับตำแหน่ง ‘พลเมืองกิตติมศักดิ์แห่งนครเซี่ยงไฮ้’

การทำงานอย่างเสมอต้นเสมอปลายอยู่ในประเทศจีนมายาวนานถึง 26 ปี ไม่เพียงแต่นำมาทั้งเพื่อนฝูง ความรู้ใหม่ๆ ความเปลี่ยนแปลง และประสบการณ์ต่างๆ มาให้กับบุคคลคนหนึ่ง แต่ได้นำเกียรติยศมาสู่ชายไทยลูกจีนธรรมดาๆ คนนี้ด้วย...

ปัจจุบันนอกจากหน้าที่การงานในฐานะรองประธานกรรมการ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด แล้ว นายธนากร เสรีบุรี หรือหลี่เส้าจู้ (李绍祝) ยังสละเวลา 1 ใน 3 มาช่วยงานในสภาธุรกิจไทยจีน ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ อยู่ รวมไปถึงงานในฐานะนายกสมาคมส่งเสริมการค้าและการลงทุนไทยจีน ซึ่งทั้งสองหน่วยงานเป็นสะพานเชื่อมระหว่างนักธุรกิจไทยและจีน ที่มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนทั้งสองประเทศอยู่บ่อยครั้ง โดยทำงานใกล้ชิดกับซีซีพีไอทีของจีน หรือสภาหอการค้าประเทศจีนด้วย

โดยหน้าที่การงานที่ต้องเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ-เซี่ยงไฮ้ ทำให้หลายปีที่ผ่านมาท่านจึงใช้เวลาอยู่ในเมืองจีนเฉลี่ยแล้วราว 2 อาทิตย์/เดือน จนอาจเรียกเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งของท่าน เมื่อถามถึงความประทับใจที่มีต่อประเทศจีน คุณธนากรกล่าวทันทีว่าผมนับถือที่สุดเลยคือ เติ้งเสี่ยวผิง ผมว่าจีนเขามีผู้นำที่ดีมากๆ ท่านเป็นคนที่ทุกคนให้ความเคารพเหมือนพระเจ้า ท่านเซ็ตนโยบายมาหลายข้อนั้นถูกต้องหมด ที่เติ้งพูดถึงบอกว่าให้คนกลุ่มหนึ่งรวยก่อน นี่ก็ถูกต้องมากเลยนะฮะ คือสมัยนั้นจีนทั้งประเทศนี่บางจุดก็เจริญบางจุดก็ล้าหลังมาก ทุกคนอยากจะโตหมด ทุกคนก็อยากจะพัฒนา อยากจะเจริญ มันเจ๊งหมด การที่จะพัฒนาเศรษฐกิจมันต้องพัฒนาจุดที่มันได้เปรียบที่สุด ซึ่งผมคิดว่าที่เติ้งคิดอันนี้มันเยี่ยมมากทีเดียว

ซึ่งทุกวันนี้คำพูดดังกล่าวก็เริ่มปรากฏเป็นจริง เมื่อเมืองในเขตตะวันออกริมทะเลร่ำรวยขึ้นและได้รุกคืบเข้าสู่เขตตะวันตก เช่น ในเมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่เป็นโอกาสของนักลงทุนไทย ทั้งนี้ คุณธนากรยังชักชวนว่าที่นี่นักธุรกิจไทยยังสามารถแสดงบทบาทได้เต็มที่ จึงควรเข้าไปบุกตลาดจีนในภาคนี้

แนวคิดของบุคคลที่ท่านเลื่อมใสผู้นี้ยังรวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรในยุคที่เติ้งได้ริเริ่มไว้ ซึ่งปัจจุบันก็เห็นผลแล้ว คือนักเรียนนอกของจีนที่เติ้งส่งเสริมให้ไปเรียนในต่างประเทศในยุคนั้น ต่างก็กลับบ้านเกิดมาพัฒนาประเทศจีนในส่วนงานต่างๆ หลายคนแล้ว นอกจากนี้นโยบายของรัฐบาลในระบอบการปกครองที่เป็นรัฐบาลพรรคเดียวที่ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและกระจายแนวคิดไปทางเดียวกันได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักบริหารท่านนี้ประทับใจ

คุณธนากร : ประเทศที่บริหารโดยพรรคการเมืองที่บริหารประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ผมว่าเป็นข้อได้เปรียบ ท่านไปพบผู้ว่าการมณฑลพูดภาษาเดียวกันหมด ซึ่งมันเหลือเชื่อนะ ซึ่งผมคิดว่าเหมือนจบมาจากโรงเรียนเดียวกันหมดเลย...มณฑลผมปีที่แล้วจีดีพีโตกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วธุรกิจอะไรโตกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องการการลงทุนอะไรบ้าง...เหมือนกันหมด...ผมอยากจะเห็นผู้ว่าราชการจังหวัดเมืองไทยเมื่อไปพบแล้วเขาพูดแบบนี้ ของจีนนี่ไม่ใช่แค่ผู้ว่าราชการมณฑลนะ นายกเทศมนตรี นายอำเภอพูดเหมือนกันหมด วิธีการของจีนเขาจะเริ่มมาจากพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนกลางเซ็ตโครงสร้างขึ้นมา เสร็จแล้วทุกคนทั่วประเทศต้องไปประชุมที่นั่น ประชุมเสร็จแล้วกลับมาประชุมมณฑล ประชุมระดับจังหวัด อำเภอ เขาขยายเข้าไปเหมือนกันหมดเลย

และสำหรับความเป็นชาวต่างชาติในจำนวนไม่กี่คนที่ได้รับการยกย่องจากประเทศจีนให้เป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของนครเซี่ยงไฮ้ และยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติอันสูงสุดนี้ ซึ่งเมื่อทางรัฐบาลจีนจัดงานสำคัญของชาติครั้งใดท่านก็จะได้รับเชิญไปในร่วมงานเหล่านั้น ในฐานะบุคคลสำคัญเทียบเท่าผู้ใหญ่ในประเทศจีน นอกจากนี้ท่านยังได้รับสิทธิพิเศษสามารถพำนักอยู่ในประเทศจีนโดยไม่ต้องใช้วีซ่า และมีสิทธิเทียบเท่าชาวจีน หรือที่เรียกว่ากรีนการ์ด คุณธนากรกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า

“ผมคิดว่าเป็นเกียรติอย่างหนึ่ง การที่เขาจะให้กรีนการ์ดนี้เขาต้องพิจารณาแล้วว่าเป็นบุคคลที่เคยทำประโยชน์ให้กับประเทศจีนและเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้ ผมว่าสำคัญมาก ในนั้นก็คงมีหลายๆ ท่านที่คัดเลือกมาเป็นบุคคลที่จีนให้เกียรติ ซึ่งกรมตำรวจของเซี่ยงไฮ้เป็นคนเสนอขึ้นไปที่ปักกิ่ง แล้วปักกิ่งเป็นคนอนุมัติถึงจะออกใบนี้มาให้ ”

“ผมก็ถือว่าเป็นเกียรติยศสำหรับประเทศไทยด้วยที่มีคนไทยไปได้รับเกียรติอย่างนี้ สิ่งที่สะดวกผมก็คิดว่าเรื่องการเข้าออกประเทศ แล้วก็อีกอย่างหนึ่งต่อไปเขาคงจะให้โอกาสในการลงทุนในฐานะเหมือนชาวฮ่องกง ชาวไต้หวัน เขาคงจะสามารถได้ไปใช้สิทธิอันนี้ได้ คนเหล่านี้เวลาไปลงทุนในจีนจะได้สิทธิพิเศษบางอย่างในธุรกิจบางประเภทที่จีนจำกัดไม่ให้ต่างชาติมาดำเนินกิจการ ”

ท่านยังเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดีอีกว่าการออกกรีนการ์ดยังเป็นเรื่องใหม่ในประเทศจีน โดยคุณธนากรเล่าถึงเหตุการณ์วันที่เดินทางเข้าเมืองเซี่ยงไฮ้ และได้แสดงบัตรต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่า “อาทิตย์ที่แล้วผมเข้าเมืองเซี่ยงไฮ้ เอาบัตรให้เขาดู เขายังไม่รู้เรื่องเลย (หัวเราะ) ผมกรอกแบบฟอร์มเอาบัตรไปให้เขา เขาบอกเดี๋ยวขอไปถามนายเขาก่อน (หัวเราะอารมณ์ดี) สุดท้ายต้องเสียเวลาตั้งนาน ”

อย่างไรก็ตาม คุณธนากรย้ำว่าการมอบกรีนการ์ดในกับชาวต่างชาตินี้เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของประเทศจีน ที่ต้องการประกาศให้ชาวโลกทราบว่าจีนในวันนี้กำลังเปลี่ยนไป โดยเข้าใกล้ความเป็นโลกเสรีมากขึ้นทุกที...
................................................................
กำลังโหลดความคิดเห็น