xs
xsm
sm
md
lg

จดหมาย &信

เผยแพร่:   โดย: สุขสันต์ วิเวกเมธากร

สัตว์โลกทั่วไปที่เราเห็นกันอยู่รอบๆ ตัวเรา บางชนิดมีภาษาพูด หรือ ภาษาอื่นๆ ซึ่งมันคงสื่อสารทำความเข้าใจกันเอง

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐกว่าสัตว์อื่นๆ และเจริญวิวัฒนาการมาถึงทุกวันนี้ยิ่งกว่าสัตว์อื่นๆ ก็เพราะมีภาษาสำคัญกว่าสัตว์อื่นๆ นั่นคือ.. ภาษาเขียน

ต้องกราบขอบพระคุณ มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาไม่ว่าจะเป็นเผ่าพันธุ์ใดๆ ก็ตามที่ช่วยกันคิด ช่วยกันประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมากระทั่งกลายเป็นภาษาเขียนที่เห็นกันปัจจุบัน

อย่างที่คนรุ่นหลังทุกวันนี้สามารถใช้ภาษาเขียนต่างๆ เหล่านั้น ศึกษาหาความรู้ย้อนหลังถึงสิ่งที่บรรพชนได้สร้างสมไว้ แล้วยังสามารถใช้ภาษาเขียนจดจารึกเรื่องราวในปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ฝากไว้ให้แก่อนุชนที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ในอนาคต

ชาวจีนมีภาษาเขียนมานานประมาณเกือบห้าพันปี

ตามตำนานบอกว่า พระเจ้าเหลืองหวงตี้ 黄帝 Huang di ซึ่งเป็นปฐมบรมราชาธิราชของชนชาติจีนทั้งมวล ด้วยการสยบเผ่าต่างๆ อีกหลายเผ่าลงได้ศิโรราบ

เมื่อทรงรับตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินคนแรกของชาวจีนทั้งมวลแล้วเห็นว่าการที่จะปกครองแผ่นดินให้อยู่เย็นเป็นสุขได้นั้น ต้องให้ประชาชนทั่วไปสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านการอ่านเขียน โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเฉพาะแต่การพูดการฟังเท่านั้น

พระเจ้าเหลืองจึงโปรดให้ขุนนางผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบสนใจในการศึกษาเรื่องราวของธรรมชาติ ให้คิดประดิษฐ์คำเขียนต่างๆ ขึ้นมาแทนคำอ่าน

ชางเจี๋ย 仓颉 Cang jie ขุนนางเจ้าปัญญาผู้นั้น รับพระบรมราชโองการแล้วรีบเร่งทำงานด้วยความพากเพียรอุตสาหะ สามารถประดิษฐ์ตัวเขียนขึ้นมาเรียก 字 จื้อ zi หมายถึงตัวอักษร

ตัวเขียนในยุคแรกๆ ที่ชางเจี๋ยคิดขึ้นมานั้นมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นตัวเขียนที่เลียนแบบจากธรรมชาติเช่น 木มู่ mu หมายถึงไม้หรือต้นไม้ ตามลักษณะที่มีลำต้นกิ่งก้านสาขา พอเพิ่ม 木อีกตัวหนึ่ง กลายเป็น 林 หลิน หมายถึงป่าไม้ เพิ่มอีกตัวหนึ่ง กลายเป็น 森 เซิน หมายถึงป่าทึบ หรือ ป่าดงพงไพร

การเรียนการเขียนในลักษณะนี้ จึงทำให้ประชาชนจีนสามารถเรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อผู้คนเข้าใจถึงที่มาของตัวหนังสือซึ่งแปลงร่างจากธรรมชาติมากขึ้นย่อมทำให้มีการคิดประดิษฐ์ตัวอักษรเพิ่มเติมมากขึ้น

ชางเจี๋ย และ นักปราชญ์ราชบัณฑิตอีกหลายคน ได้ร่วมกันคิดประดิษฐ์ตัวอักษรต่างๆ มากขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนที่มารวมกันเป็นสังคมใหญ่กระทั่งกลายเป็นประเทศชาติสามารถสื่อสารเข้าใจกันสะดวกสบายยิ่งกว่าก่อนๆ

口โข่ว kou เป็นอักษรสำคัญอีกตัวหนึ่ง หมายถึงปาก ตัวอักษรนี้ครั้งแรกก็มีลักษณะเหมือนอย่างปากคนตามธรรมชาติ แต่เพื่อให้สะดวกกับการขีดเขียนจึงประยุกต์ให้เป็นตัวอักษรสี่เหลี่ยม

一yi 二er 三san อักษรสามตัวนี้ หมายถึง ๑ ๒ ๓ ตามขีดที่ปรากฏ เมื่อนำตัวขีดที่หมายถึงตัวเลขมาผสมกับคำว่าปาก กลายเป็น 言เหยียน yan หมายถึงคำพูด หรือ ภาษาพูด อันสื่อมาจากคนหลายๆ คนใช้ปากสื่อสารกันจึงกลายเป็นภาษาพูด

อักษร 人 ren หมายถึงคน โดยสื่อลักษณะสำคัญของสัตว์สองเท้าที่ยืนและเดินในชีวิตประจำวันแตกต่างกว่าสัตว์อื่นๆ อย่างเห็นชัด นำอักษร 人 ผสมกับ 言 กลายเป็นอักษรตัวใหม่ 信ซิ่น xin คำนี้มีความหมายเก๋ไก๋มากครับ ใช้เป็นได้ทั้งคำกริยา และ คำนาม เมื่อเป็นคำกริยา หมายถึง เชื่อ เชื่อถือ เชื่อฟัง นับถือ ฯลฯ เมื่อเป็นคำนาม หมายถึง ความเชื่อ ความศรัทธา ความซื่อสัตย์ จดหมาย ฯลฯ

ได้กราบเรียนมาแต่ต้นแล้วถึงการที่มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ได้เห็นชัดที่สุดคือมนุษย์มีภาษาเขียน ซึ่งใช้สื่อสารทำความเข้าใจถึงกันได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาเห็นหน้าพูดจากัน

การเขียนจดหมายถึงกันและกันไม่ว่าจะใช้ภาษาหรือวิธีการใดๆ ก็ตาม จดหมายนั้นจะมีความหมายเป็นที่นับถือศรัทธาได้ ย่อมอยู่ที่จดหมายนั้นเขียนขึ้นโดยใคร ถึงใคร เพื่อเหตุใดและมีความจริงเชื่อถือได้แค่ไหน

ถ้าเขียนจดหมายนั้นขึ้นมา เพื่อกลบความจริง ปิดบังความจริง หรือ บิดเบือนความจริง จดหมายนั้นย่อมไร้ค่า ไม่ตรงกับความหมายแท้จริงของตัวอักษร 信อันมี ที่มาจากคำพูดหรือคำเขียนของคนที่เชื่อถือได้ ไว้ใจได้ ศรัทธาได้

หากขาดสิ่งต่างๆ เหล่านี้แล้ว จะเขียนจดหมายอีกกี่ร้อยพันหมื่นฉบับ ย่อมไม่มีความหมายใดๆทั้งนั้น ไร้ค่ายิ่งกว่ากระดาษทิชชู่ที่ใช้เช็ดปากด้วยซ้ำ เพราะกระดาษทิชชู่ยังเช็ดน้ำลายได้แต่จดหมายนั้นจะใช้เช็ดน้ำลายที่ไหลฟูมปากได้ฤา !!!
กำลังโหลดความคิดเห็น