xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมจีน (3) การหลอมรวมตัวของกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

ในตอนที่แล้วนั้นเน้นกล่าวถึงกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ ภายในแผ่นดินจีนซึ่งกว้างใหญ่ไพศาล กลุ่มชนที่ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีภูมิศาสตร์แตกต่างกัน รากเหง้าทางวัฒนธรรมในสังคมยุคบรรพกาลจึงมีความหมายต่างกัน

เมื่อสังคมมีพัฒนาการขึ้น กลุ่มชนในพื้นที่ภูมิศาสตร์ต่างๆ มีปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนหลอมรวมทางวัฒนธรรมและสายเลือดเผ่าพันธุ์ จนค่อยๆ ก่อเกิดเป็นประชาชาติจีนและวัฒนธรรมชาติจีนขึ้น

ในตอนนี้ผู้เขียนจะสรุปย่อให้เห็นภาพพัฒนาการด้านการหลอมรวมกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน จนเริ่มก่อเป็นรูปประชาชาติค่อนข้างชัดเจนขึ้น ดังต่อไปนี้

ในดินแดนที่เป็นประเทศจีนปัจจุบันนั้นมีมนุษย์อยู่อาศัยมานับตั้งแต่ยุคหินเก่า จากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้ทราบว่ามีกลุ่มชนชาติหลายกลุ่มกระจายอยู่ตามภาคต่างๆ ของประเทศจีนปัจจุบัน ชุมชนในอดีตเหล่านั้นเคยผ่านขั้นตอนสังคมที่นับสายสกุลทางแม่ จนกระทั่งพัฒนาเข้าสู่ยุคที่สังคมมีการสืบสายสกุลทางพ่อ หรือกล่าวง่ายๆ ว่าผู้ชายเป็นใหญ่ การก่อร่างสร้างชาติของจีนเริ่มในยุคนี้ ชุมชนหรือเผ่าที่เป็นต้นกำเนิดของชาติจีนคือเผ่าของหวงตี้ ซึ่งตั้งรกรากอยู่แถบที่ราบสูงส่านซีในลุ่มแม่น้ำจี แถบบริเวณต้นน้ำหวงเหอ (ฮวงโห หรือแม่น้ำเหลือง) กับเผ่าของเหยียนตี้ ซึ่งมีรกรากอยู่ใกล้เคียงกัน เป็นเผ่าที่ใกล้ชิดมีความสัมพันธ์กันทางการแต่งงาน สองเผ่านี้เป็นเผ่าที่มีความเจริญขึ้นค่อนข้างเร็ว และได้เป็นหลักในการรวบรวมเอาเผ่าอื่นๆ ข้างเคียงผนวกเข้าเป็นชนชาติหัวเซี่ย (ฮั่วเห่) ถัดออกมาทางคาบสมุทรซานตง (ชานตุง) ทางตอนปลายแม่น้ำหวงเหอนั้นมีเผ่าใหญ่อีกเผ่าหนึ่ง เรียกว่าตงอี๋ ส่วนทางตอนใต้แม่น้ำหวงเหอลงมาแถบลุ่มแม่น้ำหวยเหอเป็นกลุ่มชนเผ่ากลุ่มใหญ่ที่เรียกกันว่า เหมียวหมาน หรือจิ่วหลี ซึ่งมีหัวหน้าชื่อชือหยิว (ชิอิ๋ว) หวงตี้ผูกพันธมิตรกับเหยียนตี้รบชนะปราบปรามเผ่าเหมียวหมานของชือหยิวลงได้ จากนั้นหวงตี้เหยียนตี้ก็รบกันเอง หวงตี้เป็นฝ่ายชนะจึงเท่ากับเป็นผู้รวบรวมชนเผ่าต่างๆ ในดินแดงตงง้วนให้รวมกันเป็นเผ่าใหญ่ เรียนกันว่า "หัวเซี่ย" ต่อมาชนชาติหัวเซี่ยก็ค่อยๆ ผนวกกลืนเผ่าตงอี๋ทางคาบสมุทรซานตงไปในที่สุด

ทางตอนใต้แม่น้ำแยงซีเกียงลงมาเป็นเขตของกลุ่มชนชาติใหญ่สองกลุ่ม ทางตอนปลายแม่น้ำแยงซีเกียงต่ำลงมาทางแถบตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนถึงเวียดนามเหนือ และตอนใต้ของยูนนานเป็นดินแดนของกลุ่มชนชาติเยวี่ย( เยะหรือเวี้ย) ซึ่งต่อมาแยกสายพัฒนาขึ้นเป็นชนชาติจ้วง ต้ง หลี ปู้อี สุ่ย ซา หนง ลาวและไท เป็นต้น ส่วนทางแถบต้นน้ำเสฉวน คือบริเวณเสฉวน กุ้ยโจว และตอนกลางของยูนนานมีกลุ่มชนชาติอีกกลุ่มหนึ่ง คือ พวกเย่หลาง อายหลาว ซึ่งต่อมาพัฒนาไปเป็นชนชาติอี้ นู่ เป็นต้น สายชนชาติอายหลาวมิได้พัฒนามาเป็นไทดังที่เคยเชื่อกัน

นับจากหวงตี้ลงมาจนถึงห้ากษัตริย์นั้น ตำแหน่งหัวหน้ายังไม่มีการสืบสันตติวงศ์ แต่เป็นการเลือกตั้งจากบรรดาหัวหน้าเผ่า กระทั่งถึงสมัยกษัตริย์อู๋สถาปนาราชวงศ์เซี่ย ผู้ปกครองส่วนศูนย์กลางเริ่มมีอำนาจอิทธิพลสูงสุด จึงสืบทอดตำแหน่งประธานหัวหน้าเผ่ากันตามสายสกุล ประมาณกันว่าสมัยราชวงศ์เซี่ยอยู่ในช่วงระหว่าง 2,000-1,600 ปีก่อน ค.ศ. ยุคนั้นสังคมจีนได้พัฒนาเข้าสู่สังคมทาสแล้ว ต่อมามีการเปลี่ยนผู้ปกครองเป็นราชวงศ์ซาง (เซียง) ราชวงศ์ซางปกครองจีนอยู่ระหว่าง 1,600-1,100 ปีก่อน ค.ศ. เวลานั้นอำนาจการปกครองยังกระจายมาก นครรัฐต่างๆ มีความเป็นอิสระในระดับสูง นครใดเจริญมีอำนาจกล้าแข็งก็สามารถจะแข็งข้อประลองกำลังกับกษัตริย์ได้ เจ้าแคว้นโจวชื่อโจวอู่หวาง (จิวบู๊อ๋อง) สามารถโค่นล้มติวอ๋อง กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซางลง ปราบดาภิเษกสถาปนาราชวงศ์โจวขึ้น ช่วงแรกเรียกกันว่า ซีโจวหรือโจวตะวันตก( 1,100-770 ปีก่อน ค.ศ.) เพราะเมืองหลวงอยู่ทางตะวันตก นักปกครองที่ยอดเยี่ยมในยุคนี้คือ โจวกงต้าน (จิวกง) เขาเคยเป็นถึงผู้สำเร็จราชการแทนยุวกษัตริย์ เขาเป็นผู้วางระเบียบแบบแผนการปกครองและสร้างความเจริญมั่นคงให้กับสังคมไว้มาก

ราชวงศ์โจวเริ่มเสื่อมโทรมลง มีการย้ายเมืองหลวงใหม่ จึงเรียกกันว่าตงโจว หรือโจวตะวันออก (700-256 ก่อน ค.ศ.) ยุคนี้ราชสำนักส่วนกลางอ่อนแอลง แคว้นหรือนครรัฐต่างๆ เข้มแข็งมีอำนาจเป็นอิสระมาก แคว้นต่างๆ ทำศึกสงครามขยายอำนาจกันไม่หยุดหย่อน ยุคนี้ยังแบ่งย่อยออกได้เป็นสองสมัย คือ สมัยชุนชิว( 770-476 ก่อน ค.ศ.) และสมัยเลียดก๊กหรือจ้านกั๋ว (ยุคสงครามกลางเมือง) ระหว่าง 475-221 ปีก่อน ค.ศ. ยุคตงโจวนี้จัดว่าเป็นยุคที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นช่วงสังคมระยะผ่านระหว่างสังคมทาสพัฒนาเข้าสู่สังคมศักดินา เป็นธรรมดาที่เมื่อสิ่งใหม่จะเข้าแทนที่สิ่งเก่าย่อมมีความวุ่นวาย อันก่อให้เกิดปรัชญา ลัทธิความเชื่อและวิชาการด้านต่างๆ มากมาย ปรัชญา ลัทธิความเชื่อที่ก่อกำเนิดในยุคนั้นเป็นรากเหง้าของความเป็นจีนมาตราบจนทุกวันนี้

ความแตกแยกแข่งขันกันระหว่างนครรัฐต่างๆ สิ้นสุดลงโดยผู้ชนะคือฉินสื่อหวง (จิ๋นซีฮ่องเต้ 259-210 ก่อน ค.ศ.) ซึ่งทรงนำระบบปรัชญาการปกครองที่ก้าวหน้าที่สุด คือปรัชญานิติวาท (ฝ่าเจีย) มาใช้ เป็นผลให้แคว้นฉินพัฒนาเข้มแข็งที่สุด จิ๋นซีฮ่องเต้มีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ในการรวบรวมประเทศให้เป็นเอกภาพ บีบบังคับหลอมรวมอารยธรรมของแคว้นต่างๆ เช่น ตัวอักษร ระบบมาตราชั่ง ตวง วัด เป็นต้น ให้เป็นเอกภาพ บุกรุกยึดครองแว่นแคว้นของชนชาติอื่นๆ เช่น แคว้นของชาวเยวี่ย ชาวอายหลาว ทำให้ดินแดนอาณาจักรจีนขยายออกไปมาก กล่าวได้ว่ายุคจิ๋นซีฮ่องเต้ได้ปูฐานให้กับการเป็นมหาอำนาจแห่งโลกตะวันออกของจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น