มองจากอดีต แม้ความสัมพันธ์ของประเทศไทยกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความเป็นมาอย่างยาวนานแล้วก็ตาม แต่ถ้านับโดยวิธีทางการทูตที่เริ่มต้นกันอย่างเป็นทางการเมื่อ ๓๐ ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนได้ขยายตัวออกไปทุกๆ ด้าน และในความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนที่ผ่านมานี้ ได้มีถ้อยคำที่ว่า “จีนไทยมิใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” เกิดขึ้น ถ้อยคำนี้สะท้อนถึงความลึกซึ้งที่มากกว่าความเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงกัน
๒๕๑๘ | 一九七五 | 1975
ประเทศไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๘ ช่วงกลางวัน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) นายอานันท์ ปันยารชุน ได้เข้าพบประธานเหมาเจ๋อตง ณ ทำเนียบจงหนันไห่ และหัวค่ำ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทย และนายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีนได้แถลงการณ์ร่วมกัน ว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของ ๒ ประเทศ
๒๕๑๙ | 一九七六 | 1976
แต่แล้วได้เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ขึ้นในไทย และได้มีการจัดตั้งรัฐบาลขวาจัดที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนชะงักไป รัฐบาลไทยในสมัยนั้นไม่คบค้ากับจีนเท่าที่ควร และในประเทศจีนเอง โจวเอินไหลก็ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๑๙ เหมาเจ๋อตงก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๑๙ และได้มีการจับกุมแก๊ง ๔ คน พร้อมๆ กับการสิ้นสุดของการปฏิวัติวัฒนธรรม จากนั้น เติ้งเสียวผิง ผู้นำที่เป็นผู้วางรากฐานเศรษฐกิจสมัยใหม่ของจีนก็เริ่มกลับมามีอำนาจ
๒๕๒๐ | 一九七七 | 1977
๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๐ รัฐบาลขวาจัดของไทยหมดอำนาจลง รัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้ขึ้นมาแทน ทำให้ไทยกลับมาสู่ความใกล้ชิดกับจีนอย่างรวดเร็วอีกครั้ง ทั้งนี้นับจนถึงปัจจุบันปี ๒๕๔๘ นายกรัฐมนตรีของไทยทุกสมัย (ยกเว้นนายธานินทร์ กรัยวิเชียร กับพลเอกสุจินดา คราประยูร) ทุกคนล้วนแต่ได้เดินทางไปเยือนจีนมาแล้วทั้งสิ้น
๒๕๒๑ | 一九七八 | 1978
๒๙ มีนาคม ถึง ๔ เมษายน พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรวม ๗๘ คน เดินทางไปผูกสัมพันธ์กับจีนเพื่อประกาศเจตนารมณ์ที่ดีต่อกันอีกครั้ง โดย เติ้งเสี่ยวผิง กล่าวกับคณะของไทยว่า จีนจะไม่เป็นอภิมหาอำนาจไปตลอดกาล และการเดินทางของคณะนายกฯ ไทยครั้งนี้ แสดงให้เห็นความล้ำลึกของมิตรภาพระหว่างไทย-จีน ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน เติ้งเสี่ยวผิงได้เดินทางมาเยือนไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ที่เมืองไทย เติ้งเสี่ยวผิงได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีระบบสังคมต่างกัน
๒๕๒๒ | 一九七九 | 1979
ช่วงปลายปี ๒๕๒๑ ถึงต้นปี ๒๕๒๒ เวียดนามภายใต้การหนุนหลังของสหภาพโซเวียตได้เข้ายึดครองกัมพูชา ไทยกับจีนได้ร่วมมือทางการทหารกันอย่างใกล้ชิดในการแก้ปัญหาของกัมพูชาจนบรรลุผลสำเร็จได้ในหลายปีต่อมา ในสถานการณ์สงครามยืดเยื้อนี้มีคำพูดหนึ่งจากจีนว่าเป็น “สงครามสั่งสอนเวียดนาม” ที่ทั้งไทยและจีนต่างก็มีเหตุปัจจัยที่ต่างกันแต่ก็ร่วมมือกันป้องกันกัมพูชา จากจุดนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการขยายความสัมพันธ์และร่วมมือในด้านอื่นๆ ตามมากันอย่างฉันท์มิตร
๒๕๒๓ | 一九八〇 | 1980
บริษัทเจียไต๋ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นบริษัทของต่างชาติและของไทยบริษัทแรกที่เข้าไปลงทุนในเมืองเซินเจิ้น ที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน ตามนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ริเริ่มโดยนายเติ้งเสี่ยวผิง และหลังจากนั้นยังคงมีนักธุรกิจไทยจำนวนมากเข้าไปลงทุนในจีน โดยบริษัทเจียไต๋เป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตทำการค้าในจีนหมายเลข 001
๒๕๒๔ | 一九八一 | 1981
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม ในการเสด็จเยือนครั้งนั้นทรงแนะนำประเทศจีนให้ชาวไทยได้รู้จัก พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ “ย่ำแดนมังกร” ซึ่งได้ตีพิมพ์ออกมาทั้งฉบับภาษาไทยและฉบับภาษาจีน
๒๕๒๘ | 一九八五 | 1985
วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๘ ประธานาธิบดีหลี่เซียนเนี่ยน แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางอย่างเป็นทางการมาเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของไทย
๒๕๓๒ | 一九八九 | 1989
ที่มาของถ้อยคำว่า “จีนไทยมิใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” นั้นเกิดขึ้นในปี ๒๕๓๒ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ไปเยือนจีนในฐานะนายกรัฐมนตรีและนายกสมาคมมิตรภาพไทย– จีน ภายในงานเลี้ยงรับรองที่สมาคมมิตรภาพจีน–ไทยจัดขึ้นนั้น พลเอกชาติชายได้กล่าวปราศรัยและมีถ้อยคำหนึ่งว่า “จีนไทยมิใช่อื่นไกลพี่น้องกัน”
๒๕๓๕ | 一九九二 | 1992
รัฐบาลจีนเริ่มอนุญาตให้ประชาชนชาวจีนออกไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยประเทศแรกที่จีนอนุญาตคือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย
๒๕๓๖ | 一九九三 | 1993
๑๖–๒๐ กุมภาพันธ์ รัฐบาลของนายชวน หลีกภัยได้ยอมให้องค์ทะไลลามะเดินทางเข้ามาร่วมประชุมกับผู้ที่ได้รางวัลสันติภาพโนเบล สาขาสันติภาพ ที่กรุงเทพฯ ประเด็นนี้จีนได้ประท้วงไทย แต่รัฐบาลไทยถือว่าได้ปฏิบัติตามกรอบได้แถลงร่วมกันในปี ๒๕๑๘ แม้ประเด็นนี้ทั้ง ๒ ประเทศจะเข้าใจแตกต่างกันบ้าง แต่ความสัมพันธ์ของ ๒ ประเทศก็ยังใกล้ชิดและพัฒนากันต่อไป
๒๕๓๗ | 一九九四 | 1994
เพื่อเป็นการฉลองความสัมพันธ์ไทย–จีนครบ ๒๐ ปี รัฐบาลจีนได้อนุญาตให้ไทยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (ข้อพระหัตถ์) จากวัดฝ่าเหมินซื่อ (จีน) มาประดิษฐานชั่วคราวในไทย ณ พุทธมณฑล เพื่อให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้นมัสการ ระหว่าง ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๗-๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
๒๕๓๘ | 一九九五 | 1995
มีรายงานว่าในปี ๒๕๒๘ มีนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในจีนกว่า ๒,๐๐๐ โครงการ มีมูลค่าการลงทุนประมาณ ๔,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนมากในจีนเป็นอันดับที่ ๘ รองจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อังกฤษ เกาหลีใต้ เยอรมนี และฝรั่งเศส ตามลำดับ
๒๕๓๙ | 一九九六 | 1996
รัฐบาลไทยโดยกรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับรัฐบาลจีน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการวิทยุโทรทัศน์และภาพยนตร์แห่งชาติ จัดมหกรรมวัฒนธรรมจีนเฉลิมพระเกียรติ “จีนไทยรวมใจภักดิ์รักในหลวง” เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี
โดยมีการนำวงดนตรี Chinese Broadcast Folk Orchestra และคณะนักแสดง มายากลและกายกรรมจีน รวมทั้งการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมของสาธารณรัฐประชาชนจีนมาแสดง ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๑-๒ ธันวาคม อีกทั้งรัฐบาลจีนยังส่งภาพวาดของจิตรกรจีน ๑๐๑ ภาพ ซึ่งแสดงทัศนียภาพอันงดงามของแม่น้ำแยงซีเกียง แม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดของจีน และใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของโลก ภาพวาดทั้งหมดนี้เคยแสดงที่กรุงปักกิ่งเพียง ๗ วันและยังไม่เคยนำไปแสดงที่ไหนมาก่อน
๒๕๔๒ | 一九九九 | 1999
ในปี ๒๕๔๒ มีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทยกว่า ๘ แสนคน และที่กรุงเทพฯ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ไทยกับจีนโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยและจีน ร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยแผนงานความร่วมมือในทุกๆ ด้านในศตวรรษที่ ๒๑ โดยไทยเป็นประเทศแรกที่มีการลงนามในลักษณะนี้
และนายเจียงเจ๋อหมิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และภริยาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเจียงเจ๋อหมินได้ร่วมชมกระบวนพยุหยาตราชลมารค และแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง ความสัมพันธ์ไทย–จีน/นโยบายของจีน
๒๕๔๓ | 二〇〇〇 | 2000
เมื่อความสัมพันธ์ทางการทูตของไทย–จีน เดินทางมาครบ ๒๕ ปี สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งแรก พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเดือนตุลาคม โดยทรงนำคณะนางแบบชื่อดังของไทยไปเดินแบบแสดงผ้าไทยด้วย
ปีเดียวกัน ทางศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนาไทย-จีน หัวข้อ “ความสัมพันธ์ไทย-จีน เหลียวหลังแลหน้า” โดยนอกจากมีนักวิชาการ วิทยากรทั้งจากไทยและจีนแล้ว นายอานันท์ ปันยารชุน หนึ่งในผู้อยู่ร่วมในประวัติศาสตร์ของการลงนามความสัมพันธ์ไทย-จีน ปี ๒๕๑๘ ยังได้แสดงปาฐกถาพิเศษด้วย
๒๕๔๔ | 二〇〇一 | 2001
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเดี่ยวกู่เจิง เครื่องดนตรีจีนโบราณ ในงานแสดงดนตรีและวัฒนธรรม ‘สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน’ ครั้งแรกที่เมืองไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับจีน และเพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ด้วย
๒๕๔๕ | 二〇〇二 | 2002
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ เสด็จเยือนจีนและทรงร่วมแสดงดนตรีและวัฒนธรรมสายสัมพันธ์สองแผ่นดิน ครั้งที่ ๒ ที่กรุงปักกิ่ง เมืองซีอัน และนครเซี่ยงไฮ้ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๕
๒๕๔๖ | 二〇〇三 | 2003
ช่วงช่วงและหลินฮุ่ย หมีแพนด้ายักษ์เดินทางมาถึงท่าอากาศยานเชียงใหม่ เมื่อเย็นวันที่ ๑๒ ตุลาคม ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่น ทั้งนี้มีการเตรียมการก่อสร้างสถานที่พักและจัดแสดงหมีแพนด้าในสวนสัตว์เชียงใหม่ ในพื้นที่ ๔ไร่ มูลค่า ๔๖ ล้านบาทไว้รอรับ แพนด้าคู่ดังกล่าวมีฐานะเป็นทูตสันถวไมตรีระหว่างไทยกับจีน และถือเป็นคู่สุดท้ายที่จีนอนุมัติให้ออกนอกประเทศ โดยก่อนหน้านี้มีแพนด้าอยู่ในประเทศต่างๆ เพียง ๕ ประเทศเท่านั้น
นายหูจิ่นเทา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และภริยาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ ๑๗-๑๘ ตุลาคม และเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปก 2003 ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๑ ตุลาคม อันเป็นการกระชับความร่วมมือและสัมพันธ์อันดีของทั้ง ๒ ประเทศ
ไทย-จีน มีข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ โดยยกเว้นภาษีนำเข้าผัก-ผลไม้ และในอนาคตจะมีการหารือเพื่อขยายข้อตกลงให้ครอบคลุมสินค้าประเภทอื่น เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารทะเล และยางพารา เพื่อให้มูลค่าทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นจาก ๖,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น ๑๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอนาคต
๒๕๔๗ | 二〇〇四 | 2004
ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๑๐ ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ๒๙ พฤศจิกายน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ของไทย ได้ใช้เวลาช่วงเช้าก่อนเข้าร่วมการประชุมหารือกับนายเวินเจียเป่า นายกฯ ของจีน ที่บ้านพักรับรองตามคำเชิญของผู้นำจีน โดยนายกฯ จีนได้ชื่นชมความร่วมมือเศรษฐกิจระหว่างไทย–จีน ที่ปัจจุบันก้าวหน้ามีมูลค่าการค้าทะลุ ๑๒,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดหวังในปี ค.ศ.๒๐๑๐ จะเพิ่มถึง ๓๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
และปีนี้ยังเป็นปีที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยือนจีนครบทุกมณฑลด้วย
๒๕๔๘ | 二〇〇五 | 2005
๑ กรกฎาคม ในปีนี้ เป็นวาระครบรอบ ๓๐ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน .