xs
xsm
sm
md
lg

ความร่วมมือไทย-จีน สายใจสองแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ะว่าไปแล้ว แดนสยามและแผ่นดินมังกรเริ่มมีความเคลื่อนไหวในการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างกันมานานนม นับตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยแล้ว มาถึงยุคที่ถือว่าการติดต่อระหว่างไทยและจีนเบ่งบานมากที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์หมิงของจีน ที่มีการส่งขุนนางและทูตานุทูตเจริญความสัมพันธ์ระหว่างกันหลายต่อหลายครั้ง ทำให้ความสัมพันธ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรม เฟื่องฟู จนมีชาวจีนที่เข้ามาค้าขายและตั้งรกรากในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

เมื่อถึงปลายรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สัมพันธ์ทางการค้าจีน-ไทยเริ่มเสื่อมถอยจากการที่ไทยหันไปพัฒนาความสัมพันธ์กับตะวันตกมากขึ้น และเลิกส่งทูตเยือนจีน ทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศนับวันยิ่งห่างไกลกันมากขึ้น (อ่านบทความประกอบ บนเส้นทาง ‘ธารสัมพันธ์ไทยจีน’ ตอน 1)

ไทยและจีนไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ จนมาเมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีไทยในปี พ.ศ. 2516 และพล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เล็งเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ไทยกับจีนต้องมีการปรับปรุงความสัมพันธ์ และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน

ดำริดังกล่าวจึงนำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518 อันถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์ทางการทูตไทยจีนตั้งแต่นั้นมา (อ่านบทความประกอบ บนเส้นทาง ‘ธารสัมพันธ์ไทยจีน’ ตอนจบ)

นับจากวันลงนามในแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-จีน ในวันประวัติศาสตร์เป็นต้นมา ทั้งสองประเทศได้ร่วมทำสนธิสัญญาความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ การค้า วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ครอบคลุมถึงการท่องเที่ยว การบิน การขนส่งทางทะเล กฎหมาย และกงสุล สนธิสัญญาและข้อตกลงเหล่านี้เองได้กลายเป็นใบเบิกทางให้การติดต่อระหว่างไทยและจีนขยายวงกว้างต่อมายิ่งขึ้น

โดยในด้านการเมืองนั้น ก้าวสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนเริ่มลึกซึ้งแนบแน่นยิ่งขึ้น ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2522 กรณีเวียดนาม ที่แม้ว่าเราจะมีความแตกต่างทั้งในด้านอุดมการณ์และระบบการเมือง ตลอดจนในด้านเศรษฐกิจก็ตาม แต่ทั้งไทยและจีนต่างก็มีผลประโยชน์ร่วมกันในทางยุทธศาสตร์

กล่าวคือ การร่วมกันสกัดกั้นอิทธิพลของเวียดนามและโซเวียตในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ซึ่งการร่วมมืออย่างลึกซึ้งทำให้ไทยและจีนใกล้ชิดกันและเข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า ในช่วงเวลานั้น ไทยเป็นมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของจีน

ในปีพ.ศ. 2542 กิจกรรมด้านความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่าย เริ่มเด่นชัดเป็นผลมาจากสมัยรัฐบาลของชวน หลีกภัย ซึ่งมีนาย สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ประเทศไทยเป็นชาติแรกที่เจรจากับจีนเพื่อทำความตกลง ในแผนการความร่วมมือของศตวรรษที่ 21 ระหว่างไทยกับจีน ซึ่งต่อมาหลังจากนั้น จีนก็ใช้แผนความร่วมมือดังกล่าวเป็นแบบอย่างไปเจรจากับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

สำหรับความร่วมมือในด้านอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวระหว่างสองแผ่นดิน ซึ่งในปัจจุบันทวีความแน่นแฟ้นมากขึ้น โดยในปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปยังจีนมากถึง 285,893 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 83.64% ขณะที่มีนักท่องเที่ยวจีนมาไทยมากถึง 780,050 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2003 ถึง 24.82% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นปีต่อปี ทำให้ไทยและจีนเร่งพัฒนาและขยายเส้นทางการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ปัจจุบันทั้งสองฝั่งได้มีการเปิดเส้นทางการบินเชื่อมระหว่างเมืองปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิงของจีน กับกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น

นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรม สาธารณสุข การศึกษา การทหารและกฎหมายได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ

ไทยและจีนได้ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมชุดแรกในประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ. 2521 หัวข้อที่ทั้งสองฝ่ายดำเนินการร่วมมือกันมีทั้งหมด 689 รายการ มีเจ้าหน้าที่แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวน 2,790 กว่าคน นอกจากนี้ยังได้มีการประสานความร่วมมือด้านการเกษตร การคมนาคม เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร และการติดต่อผ่านดาวเทียม

ขณะเดียวกัน รัฐบาลของทั้งสองประเทศให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในด้านความร่วมมือและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ ส่งผลให้ความร่วมมือดังกล่าวพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในปีพ.ศ. 2539 กระทรวงศึกษาธิการของไทยและกระทรวงวัฒนธรรมของจีนได้ร่วมลงนามใน “บันทึกความเข้าใจร่วมด้านความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-จีน” และในปี 2544 รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ร่วมลงนามใน “ข้อตกลงเรื่องความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างรัฐบาลจีน-ไทย” ข้อตกลงทั้งสองฉบับนี้จะเป็นแรงผลักดันให้การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศพัฒนายิ่งขึ้น

ประกอบกับ การที่พระบรมวงศานุวงศ์ไทยหลายพระองศ์ ผู้นำไทยและจีน ต่างเดินทางไปมาหาสู่และเยี่ยมเยือนซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ นับเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือและเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างทั้งสองประเทศให้เพิ่มพูนมากขึ้น ประเทศไทยและจีนกลายเป็นมิตรประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงสนพระทัยเกี่ยวกับเรื่องจีนเป็นอย่างมาก และได้เสด็จเยือนประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนหลายครั้ง และยังเสด็จไปศึกษาต่อทางด้านภาษาจีนกลาง ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในเมืองหลวงของจีน อีกทั้ง ยังทรงให้การอุปถัมภ์ในด้านการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจที่มีต่อประเทศจีนในหมู่ชาวไทยในหลายๆด้าน ยิ่งนำความปลาบปลื้มปีติและประทับใจมาสู่พสกนิกรทั้งสองแผ่นดิน ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า ไทยเป็นประเทศในแถบอาเซียนที่มีความสนใจต่อประเทศจีนและมีความจริงใจในมิตรภาพต่อจีนมากที่สุดประเทศหนึ่ง

ดังนี้แล้ว ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจึงได้รับการพัฒนาในทุกด้าน ส่งผลให้เกิดความไว้วางใจ การอำนวยผลประโยชน์และความร่วมมืออันดีระหว่างสองประเทศ “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” ได้กลายเป็นแบบอย่างความร่วมมือและไมตรีจิตระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน

จนถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ดำเนินมาครบรอบ 3 ทศวรรษ ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2548 ความร่วมมือในมิติต่างๆ ระหว่างสองประเทศที่ได้ดำเนินและพัฒนาสืบเนื่องมาจนถึงวันนี้ จะยิ่งทวีความแน่นแฟ้นยิ่งๆ ขึ้น และยั่งยืนอย่างมีเสถียรภาพ ดังเช่น บทกลอนพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ชื่อ “จีนเด็ดดอกไม้” ซึ่งท่อนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “…..จะเป็นจีนเป็นไทยใช่ใครอื่น จงชมชื่นผูกจิตสนิทมั่น เด็ดผกาแทนใจผูกพัน แบ่งปันประดับเรือนเตือนตาเอย”
กำลังโหลดความคิดเห็น