xs
xsm
sm
md
lg

‘ด้วยรักและผูกพัน’ 17 ปีของทูตวัฒนธรรมจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากใครเคยสนทนากับ ‘ท่านทูตฉิน’ คงจะนึกเอะใจว่ากำลังคุยกับคนไทยหรือคนจีนกันแน่ เพราะนอกจากท่านจะมีอัธยาศัยดี สุขุมนุ่มลึก บวกอารมณ์ขันแต่พอประมาณคล้ายคนไทยแล้ว ท่านอุปทูตที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย คุณฉินอี้ว์เซิน (秦裕森) ยังสามารถใช้ภาษาไทยสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่วทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน แถมยังช่ำชองถนนหนทางในเมืองไทยยิ่งกว่าคนไทยบางคนเสียอีก

“ถึงจะทำงานที่ไทยมา 17 ปีแล้ว แต่ถ้าให้เลือก ก็ขอมาประจำที่นี้อีก 17 ปีก็ยอม” แล้วเหตุใด ‘ท่านทูตฉิน’ จึงผูกพันกับสยามเมืองยิ้มของพวกเรามากขนาดนี้ ลองไปฟังเสียงท่านกันสดๆ เลยคะ.....

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงการสัมภาษณ์

- ท่านทูตช่วยแนะนำตัวเองก่อนคะ
ผมเป็นที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมสถานทูตจีนประจำประเทศไทย เทอมสุดท้ายตั้งแต่ปี 1998 เฉพาะเทอมนี้ 7 ปี นับจากครั้งแรกถึงปัจจุบันรวม 17 ปี คือผมมาครั้งแรกในปี 1985 ตรงกับปี 2528 เมื่อ 20 ปีก่อน

- ถือว่าท่านทูตเปรียบเสมือนเป็น ‘สะพานแห่งมิตรภาพ’ของสองประเทศ และเนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน อยากให้ช่วยเล่าถึงที่มาที่ไปก่อนจะมีการลงนามในปี 2518
เมื่อกี้ได้บอกว่าผมเป็น‘สะพานเชื่อมมิตรภาพ’ระหว่างสองประเทศ ผมก็ยินดีที่จะยอมรับ และก็ขอคืนให้กับ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เพราะว่านสพ.ผู้จัดการก็ทำหน้าที่อย่างดียิ่งในการส่งเสริมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศมาโดยตลอด ทำให้ประชาชนไทยได้รู้จักและเข้าใจประเทศจีนมากขึ้น เพราะฉะนั้น ในความเห็นของผม นสพ.ผู้จัดการก็เป็นเสมือนสะพานเชื่อมมิตรภาพ ผมก็หวังว่า สะพาน แห่งนี้จะมั่นคงถาวรในการไปมาหาสู่กันของประชาชนทั้งสองตลอดไป

ความสัมพันธ์จีนไทย ที่มีมา 30 ปี คือนับจากเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1975 ตรงกับ พ.ศ. 2518 ฯพณฯ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ นายกรัฐมนตรีไทยสมัยนั้น ได้เดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ และมีการลงนามกับ ฯพณฯ โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน ในแถลงการณ์ร่วมสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นการพลิกหน้าใหม่ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ของสองประเทศ

ถึงแม้จีนไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตมา 30 ปี แต่ก็อย่างที่ ฯพณฯ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเอาไว้ คือ แม้จีน-ไทยจะเพิ่งมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมาแค่ 30 ปี แต่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศนั้น มีมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล และความสัมพันธ์อันดีนี้จะพัฒนาแนบแน่นยิ่งขึ้นอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

- หน้าที่ความรับผิดชอบของท่านทูต กับบทบาทในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน
ภายใต้การนำของเอกอัครราชทูต ผมดูแลงานด้านวัฒนธรรมวงกว้าง คือนอกจากดูแลด้านศิลปวัฒนธรรมแล้ว ก็ยังดูแลการศึกษา การสาธารณสุข การศาสนา กีฬา เยาวชน สังคม และวิทยาศาสตร์ และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม งานที่ผมดูแลนี้ สรุปแล้วคือ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีนกับไทย ซึ่งล้วนเพื่อรับใช้การเสริมสร้างและประสานความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศเราทั้งสองให้แนบแน่นยิ่งขึ้น

- ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีด้านไหนที่รัฐบาลจีนมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับไทยเป็นพิเศษ
ใน 30 ปีหลังจากสถาปนาสัมพันธ์ทางการทูต การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ในปี 1975 ที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันน้อยมาก คือแค่ 4 รายการ แต่เมื่อถึงปี 2004 มีการแลกเปลี่ยนกันมากถึง 200 กว่ารายการ ผู้นำระดับชั้นผู้ใหญ่ทางด้านวัฒนธรรมของหน่วยงานรัฐบาลได้มีการเยี่ยมเยือนกันบ่อยครั้ง ลู่ทางและขอบเขตการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมได้ขยายวงกว้างขึ้น

ปัจจุบัน ศิลปวัฒนธรรมจีน อย่างเช่น กายกรรม นาฏศิลป์ หุ่นกระบอก อุปรากร-งิ้วท้องถิ่น ตลอดจนการวาดเขียนพู่กันจีน ศิลปหัตถกรรมของจีน เป็นที่รู้จักและนิยมชมชอบของประชาชนไทย โดยเฉพาะ พระบรมสารีริกธาตุ ข้อนิ้วพระหัตถ์ พระเขี้ยวแก้ว ได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานชั่วคราวในไทย ได้รับการบูชานับถือจากบรรดาพุทธศาสนิกชนอย่างสมเกียรติและกว้างขวาง ขณะเดียวกัน คณะอุปรากร ละครโขน นาฏศิลป์พื้นเมือง ศิลปหัตถกรรมแบบไทย ก็ได้ไปแสดง และจัดนิทรรศการกาลในจีน และก็ได้รับการต้อนรับและชมเชยจากประชาชนชาวจีนเช่นกัน ทำให้ชาวจีนเข้าใจวัฒนธรรมไทยมากขึ้น

ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่เพิ่งผ่านมา เพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ รัฐบาลจีนและไทยได้มีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านวัฒนธรรมไทย มีการลงนามใน MOU (บันทึกช่วยจำ) การสอนภาษาจีนในไทย MOU การใช้สมุนไพรจีนและสมุนไพรไทยเพื่อรักษาโรค ตลอดจนรัฐบาลไทยยังได้ประกาศให้การแพทย์แผนโบราณของจีนเป็นการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งหมดนี้ก็ล้วนได้แสดงบทบาทอันสำคัญต่อการกระตุ้นการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ของสองประเทศ

- แล้วในความเห็นของท่าน วัฒนธรรมไทย-จีน มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
คือประเทศจีนกับไทย เป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด ประชาชนของทั้งสอง ดื่มน้ำจากแม่น้ำสายเดียวกัน คือแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านไทย ต้นต่อก็อยู่ที่เขตเขาในทิเบตของจีน เพราะฉะนั้น ประชาชนของทั้งสองประเทศ ก็ร่วมมีวัฒนธรรมตะวันออกที่คล้ายคลึงกัน ท่ามกลางการไปมาหาสู่กันในระยะเวลาอันยาวนาน ประชาชนทั้งสองประเทศ ก็มีการแลกเปลี่ยน มีการศึกษาซึ่งกันและกัน ทำให้วัฒนธรรมที่มีลักษณะพิเศษประจำชาติของทั้งสองประเทศ สมบูรณ์และพัฒนายิ่งขึ้น

- ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ความรู้สึกที่เดินทางมาเมืองไทยครั้งแรกจนถึงวันนี้ แตกต่างกันมากหรือไม่
เมื่อกี้ผมก็ได้แนะนำแล้ว คือผมมาปฏิบัติหน้าที่ในสถานทูตจีนประจำไทย รวม 17 ปี และถ้านับจากครั้งแรกจนถึงปัจจุบันก็ห่างกัน 20 ปี ความรู้สึกตอนแรกๆ กับปัจจุบัน ย่อมแตกต่างกันมากมาย ผมคงยากที่จะบรรยายได้ แต่ดูง่ายๆ แค่มองจากหน้าต่างสถานทูตจีน ก็จะรู้ ก็จะเห็นแล้ว ถ.รัชดาภิเษกที่ตั้งของสถานทูตจีน เมื่อ 20 ปีก่อน ก็ดูเหมือนชานเมือง ตอนนั้น เพื่อนคนจีนหลายคนที่อยู่ในไทย ก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมสถานทูตจีนต้องไปอยู่ชนบท ไกลมากเลยจากตัวเมือง แต่ปัจจุบัน ถนนสายนี้ก็พัฒนากลายเป็นถนนสีลมสายใหม่ ยิ่งกว่าสีลมก็ว่าได้ เป็นถนนที่คึกคักทั้งกลางวันกลางคืน คือประเทศไทยก็พัฒนามากขึ้น คนไทยก็ยิ้มมีเสน่ห์มากขึ้น เมืองไทยก็น่ารักน่าอยู่ยิ่งขึ้น

- ครั้งแรกที่รู้ว่าต้องมาประจำที่เมืองไทยรู้สึกเสียใจหรือดีใจ
ก็ดีใจครับ เพราะว่าผมเรียนภาษาไทยเป็นวิชาเอก ในมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ตั้งแต่ปี 1973 ตอนนั้นยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ก็โชคดี พอจบจากมหาวิทยาลัยในปี 1977 ความสัมพันธ์ของสองประเทศก็เปิดมาสองปีแล้ว และผมก็ทำงานเกี่ยวกับการต่างประเทศมา 7 ปี ก็ได้มีโอกาสมาประจำที่ไทย ก็ได้แสดงบทบาทและแสดงความสามารถที่ได้เรียนมา ที่ได้พยายามทำงานมา มารับใช้ความสัมพันธ์ของสองประเทศ ก็ถือว่าโชคดี

- เหตุใดจึงเลือกเรียนภาษาไทย ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ยังไม่ได้มีการเปิดความสัมพันธ์
ด้วยนโยบายต่างประเทศของจีนตอนนั้น จะเน้นเป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงคิดว่า อีกไม่นาน อีกไม่กี่ปี ย่อมจะมีการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งไทยด้วย รัฐบาลจีนก็มีเตรียมไว้ก่อน เมื่อเกิดมีความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้น ก็จะมีบุคลากรที่จะใช้ได้ทันสถานการณ์

- วาดภาพเมืองไทย ก่อนมาไว้อย่างไรบ้าง
ก่อนมาเมืองไทย ผมทำงานด้านการท่องเที่ยวมา 5-6 ปี ก็รู้จักคนไทยในประเทศจีนมานานแล้ว นิสัยใจคอของคนไทย ผมก็รู้มาบ้าง แต่ก็ยังไม่ลึกซึ้งเท่ามาอยู่เองในประเทศไทย

- มีอุปสรรค หรือความประทับใจอะไรบ้างเมื่อมาอยู่เมืองไทย
(เงียบไปสักพัก) ถ้าพูดถึงอุปสรรค ผมยังคิดไม่ออก คงเป็นการท้าทายกับตัวเอง ท้าทายกับจิตใจในการทำงานของผมเองมากกว่า ต้องให้ตัวเองขยันทำงานมากขึ้น ต้องให้มีผลงานที่ดีงามยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ของสองประเทศให้พัฒนาต่อไป

- แล้วเรื่องของอาหารการกิน และการใช้ชีวิต
อาหารการกิน ก็กินง่าย ไม่รู้สึกแตกต่างกับที่อยู่เมืองจีนเลย บางอย่างอาจจะสะดวกกว่าด้วย เพราะว่ามาอยู่เมืองไทยนานกว่าช่วงที่ผมทำงานในปักกิ่ง ขนาดท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีนปัจจุบัน( ฯพณฯ เอกอัครราชทูตจุลพงษ์ โนนศรีชัย) เจอกันเมื่อเดือนที่แล้ว ยังพูดกับผมว่า “คุณฉิน เวลาที่คุณทำงานอยู่เมืองไทย มากกว่าที่ผมทำงานในกรุงเทพเสียอีก” เพราะท่านต้องไปประจำที่อื่น น้อยกว่าที่ผมประจำอยู่ที่กรุงเทพฯเสียอีก ถนนหนทางหรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ท่านทูตจุลพงษ์ ยังต้องถามผมเลยในบางครั้ง (อมยิ้ม)

- ชอบอาหารไทยจานไหนเป็นพิเศษ
ถ้าอาหาร ต้องต้มยำกุ้งครับ อาหารอะไรก็ดี กินก็รู้สึกอร่อย แต่อาหารไทยอย่างต้มยำกุ้งนอกจากอร่อยแล้ว ก็ยังชวนให้เราคิดถึงด้วย ถ้านานๆ หลายวัน ไม่ได้กิน ก็คิดถึง แต่อาหารอื่นอาจจะอร่อย แต่ไม่ค่อยคิดถึงมาก แต่ต้มยำกุ้งหรืออาหารไทยอีกหลายอย่าง ทำให้ผมคิดถึงเสมอ

- อยู่เมืองไทยมา 17 ปี ไปมาทั่วหรือยัง ประทับใจที่ไหนบ้าง
ก็ถือว่าไปมาเกือบหมดทุกภาค ประทับใจทุกแห่งที่แตกต่างกัน อย่างไปภาคเหนือก็มีลักษณะพิเศษของภาคเหนือ ภาคใต้ก็มีลักษณะพิเศษแบบภาคใต้

- มีที่ไหนที่ไปแล้ว รู้สึกว่าเหมือนเมืองจีนมากที่สุด
ถ้าเหมือนเมืองจีนมากที่สุด ก็คือเป็นสถานทูตจีนในกรุงเทพนี่แหละ (หัวเราะ) แต่เมื่อเดินออกจากประตูสถานทูตแล้ว ความรู้สึกก็ไม่เปลี่ยนไปมาก ไปเดินตามห้างต่างๆ ที่อยู่แถบนี้ ผมรู้สึกสะดวก อบอุ่น เหมือนอยู่ในบ้านของตนเอง เพราะประชาชนไทยมีน้ำใจกับคนจีน แล้วก็มีช่วยเหลืองานที่เราทำ แล้วก็ช่วยเรื่องการดำเนินชีวิตด้วย

- ระหว่างที่ทำงานมีเรื่องประทับใจอะไรบ้าง
ประทับใจในน้ำใจที่เป็นมิตรเป็นญาติของคนไทยที่มีต่อคนจีน จากความร่วมมือในการทำงาน ในการร่วมประกอบกิจกรรมต่างๆ ตลอดที่ผมอยู่ทำงานในไทย ก็เกิดความรู้สึก อย่างจริงใจต่อประชนชาวไทย ต่อแผ่นดินไทย และสิ่งที่ประทับใจมากอีกอย่างของผมคือ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน-ไทย สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วจนเกิดผลเช่นทุกวันนี้ได้ ก็เพราะพระมหากรุณาธิคุณจากพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์

- ในอนาคตคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนจะมีแนวโน้มหรือทิศทางอย่างไรบ้าง
บนพื้นฐานแห่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ ที่ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าในอีก 30 ปีหรือระยะเวลาอันยาวนานในอนาคต ความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมก็ดี หรือความสัมพันธ์การเมือง เศรษฐกิจ และการทหารก็ดี ย่อมต้องพัฒนาต่อไป

- เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน ทางสถานทูตได้เตรียมกิจกรรมอะไรบ้าง โดยเฉพาะที่คนไทยจะเข้าร่วมได้
เพื่อฉลอง 30 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูต รัฐบาลจีนและไทย ได้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างหลากหลายในรูปแบบต่างๆ เฉพาะที่จะจัดขึ้นที่ประเทศไทยในปีนี้ มีมากกว่า 40 รายการ รัฐบาลทั้งสอง โดยกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าของเรื่อง ได้ประกาศให้ปี 2005 เป็นปีวัฒนธรรมจีนในประเทศไทย รัฐบาลทั้งสองจะลงนามใน MOU การสร้างศูนย์วัฒนธรรมจีนในประเทศไทย และสร้างศูนย์วัฒนธรรมไทยในประเทศจีน

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น กระทรวงวัฒนธรรมจีน ได้ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย เทศบาลกรุงเทพ เขตสัมพันธวงศ์ และประชาคมบนถนนเยาวราชได้จัด สัปดาห์วัฒนธรรมฉลองตรุษจีน รัฐบาลจีนได้ส่งคณะนาฏศิลป์ บุคคลากร อุปรากร-งิ้วปักกิ่ง หุ่นกระบอก กังฟูวัดเส้าหลิน รวม 170 คน มาเยือนและแสดงที่ถนนเยาวราช หาดใหญ่ ภูเก็ต เขาหลัก และพัทยา โดยสมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จมาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ซึ่งได้รับการต้อนรับจากประชาชนชาวไทยอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นการเปิดฉากฉลอง 30 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีนได้เป็นอย่างดี

กิจกรรมที่สำคัญที่สุดอีกอย่างคือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีแผนจัดคอนเสิร์ตสายสัมพันธ์สองแผ่นดินครั้งที่ 3 ที่ประเทศไทย ในเดือนตุลาคมนี้

นอกจากนั้น นสพ.ผู้จัดการ หลังจากได้จัดงานสัปดาห์วัฒนธรรมทิเบตเมื่อปี 2003 ในปีนี้ได้วางแผนที่จะจัดการแสดงดนตรีจีนอีกครั้งหนึ่ง และอาจจะมีการจัดสัปดาห์ภาพยนตร์จีน จัดนิทรรศการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการศึกษาของจีน ในปีนี้ที่เมืองไทยด้วย และยังมีการแสดงดนตรีพื้นเมือง กายกรรม อุปรากร นิทรรศการภาพวาด แสตมป์ ซึ่งจะมีเกือบทุกเดือนตลอดทั้งปี

ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายไทย ก็จะจัดการแสดงคณะนาฏศิลป์ และนิทรรศการตามเมืองต่างๆ ในประเทศจีน รัฐบาลไทยยังมีแผนไปสร้าง ‘ศาลาไทย` ในสวนสาธารณะที่กรุงปักกิ่ง

การจัดกิจกรรมวัฒนธรรมดังกล่าว ไม่เพียงแต่สามารถนำรายการการแสดงที่สวยงามหลากหลายให้ประชาชนทั้งสองประเทศได้ชม หากยังมีช่วยกระชับมิตรสัมพันธ์ของสองประเทศให้แนบแน่นยิ่งขึ้น

- ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามหรือติดตามรายละเอียดได้อย่างไร
อย่างน้อยก็สอบถามมาได้ที่ฝ่ายวัฒนธรรม สถานทูตจีนที่ผมทำงานอยู่ได้ เบอร์โทร 02-245-7039.
กำลังโหลดความคิดเห็น