xs
xsm
sm
md
lg

อ.หลี่หยาง ผู้อยู่เบื้องหลัง ‘สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากหนึ่งในคณะนักแสดงสานสัมพันธ์ไทย-จีนครบ 10 ปี กลับมาอีกครั้งในบทบาท 'ครูสอนกู่เจิง' จนถึงตั้งรกรากในเมืองไทย ไม่ใช่เรื่องบังเอิญของผู้ที่ทุ่มเทเพื่อดนตรีมาทั้งชีวิตอย่างอ.หลี่หยาง พระอาจารย์ผู้ถวายการสอนดนตรี 'กู่เจิง' แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงการสัมภาษณ์


- อาจารย์หลี่หยางเข้ามาอยู่เมืองไทยนานเท่าไรแล้ว เริ่มต้นจากการเข้ามาเป็นครูสอนกู่เจิงเลย ใช่หรือไม่

อยู่มากกว่า 10 ปีแล้ว เคยเดินทางมาเมืองไทยครั้งแรกปี 1985 โดยทางการจีนส่งอาจารย์หลี่หยางและทีมคณะนักแสดงของจีน มาร่วมงานสานสัมพันธ์ไทย-จีนครบรอบ 10 ปี ซึ่งจัดขึ้นที่โรงละครแห่งชาติ ตอนนั้นอาจารย์หลี่เดินทางมาพักและเปิดการแสดงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมได้เพียง 1 เดือนก็เดินทางกลับไปที่จีน จนกระทั่งต่อมามีคนเชิญอาจารย์หลี่ไปเป็นครูสอนเครื่องดนตรีจีน “กู่เจิง” ที่ไทยอีกครั้ง จึงเดินทางกลับมา ห่างจากการเดินทางครั้งแรก 5 ปี

กลับมาที่นี่ในช่วงปี 1990 ตอนนั้นตั้งใจว่าจะมาสอนกู่เจิง ให้คนไทย เพราะตอนนั้นคนไทยเริ่มหันมาสนใจเครื่องดนตรีจีนมากขึ้น เป็นกลุ่มลูกหลานคนจีนที่ผู้ใหญ่ในครอบครัวอยากให้เรียนรู้ดนตรีจีน วัฒนธรรมจีน โดยเฉพาะเครื่องดนตรีกู่เจิงคนชอบเพราะเสียงเพราะ เสียงเหมือนสายน้ำ

- การใช้ชีวิตในเมืองไทยต้องปรับตัวมากหรือไม่ พบอุปสรรคปัญหาอะไรหรือไม่

ย้อนกลับไปช่วงแรกๆ ที่มาพักแค่เดือนเดียวเพื่อแสดงวัฒนธรรมดนตรีจีนนั้น ไม่ต้องปรับอะไร เพราะมาเป็นหมู่คณะ และอยู่แต่ในโรงแรม แต่พอเดินทางมาพักเป็นครั้งที่สอง มีการทดลองอยู่อาศัยก่อน 3 เดือน เริ่มสอนกู่เจิงไปเรื่อยๆ และมีการเดินทางไป-กลับเมืองจีนอยู่ตลอด เริ่มใช้ชีวิตอยู่ยากขึ้น ต้องอยู่อาศัยด้วยตนเองคนเดียว พูดภาษาไทยไม่ได้ ใช้ได้สองภาษาเท่านั้น คือ อังกฤษ และจีนกลาง เวลาที่ต้องสอน ต้องสื่อสารกับเด็กๆ ที่มาเรียน เด็กจะไม่เข้าใจ และสื่อสารกันไม่เข้าใจ ภาษาจึงเป็นอุปสรรคสำคัญ

ส่วนการใช้ชีวิตที่จีน และเมืองไทยก็มีความแตกต่างกันบ้าง ตอนอยู่เมืองจีน อาจารย์หลี่รับราชการอยู่ในสำนักงานด้านนาฏศิลป์ รับค่าจ้างเป็นรายเดือน แต่เมื่อต้องย้ายมาทำงานในเมืองไทย จะต้องทำงานคนเดียว คล้ายเป็นศิลปินเดี่ยว ทำงานเอง ดูแลตนเองทุกอย่าง ก็ต้องอาศัยปรับตัวมาก แต่ก็ชอบเมืองไทยตรงที่ ทำอะไรได้อิสระดี

- เริ่มศึกษาภาษาไทยอย่างไร

เริ่มเรียนภาษาไทยหลังจากเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยได้ครึ่งปี ขวนขวายหาความรู้ด้วยตนเองทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ไปเยาวราช ซื้อหนังสือมาเรียนเอง ทั้งการอ่าน การออกเสียง ซึ่งมีแค่หนังสือ 1 เล่ม เทป 3 ม้วน สอนโดยใช้ภาษาจีนกลาง สอนตั้งแต่ ก.ไก่ ข.ไข่ เรียนจากเทป และก็เรียนการเขียนภาษาไทยด้วย วิธีการเดียวกัน ทั้งพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ กอปรกับได้เพื่อนคนไทยช่วยแก้ไขเวลาที่อ่านออกเสียงผิดๆ คำไหนไม่เข้าใจก็ไปเปิดดิกชั่นนารี ไม่เคยเข้าโรงเรียน

- คิดว่าวัฒนธรรมไทยกับจีน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ถ้าพูดถึงวัฒนธรรมไทย จีน ต่างกันไม่มาก มีสายสัมพันธ์ทางเชื้อสาย เป็นญาติกัน มีคนไทยที่มาจากเชื้อสายจีน มีการนับถือศาสนา แนวความคิดเหมือนกัน มีการเชื่อมโยงถึงกัน ส่วนในด้านของดนตรีไทย – จีน เริ่มแรกเดิมทีมีที่มาคล้ายกัน มีวิธีการสืบทอดแบบมุขปาฐะสอนแบบปากต่อปาก มือต่อมือเหมือนกัน โดยที่ไม่มีการใช้โน้ต ท่องกัน ต่อเพลงกันไป แต่มาหลังๆ จีนเริ่มนำศาสตร์ด้านการดนตรีเข้าสู่ห้องเรียน มีการถ่ายทอดเป็นศาสตร์ชัดเจน เป็นคอร์สเรียน คล้ายดนตรีตะวันตก มีทฤษฎีชัดเจนว่า beginner เป็นไง intermediate เป็นไง มีการพัฒนาโน้ต เทคนิคในการเล่น ตรงนี้ที่มองว่าน่าจะแตกต่างกับดนตรีไทย

- คนไทยสนใจเรียนดนตรีจีนมากขึ้น อาจารย์ได้มีโอกาสถวายการสอนดนตรีกู่เจิงแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีได้อย่างไร

ย้อนไป 5 ปีที่แล้ว ปี 1999 เดือนธันวาคม อาจารย์หลี่ กำลังจะไปอัดอัลบั้มเพลงที่มหาวิทยาลัยพายัพ จ. เชียงใหม่ ทราบว่าสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ติดต่อมา ทราบแค่ว่ามีแขกวีไอพีอยากจะเรียน ต่อมาสถานทูตจีนในไทยก็ติดต่อมา บอกว่า ได้ส่งประวัติอาจารย์สอนดนตรีไปให้ที่สถาบันวิจัยฯ เลือก ซึ่งในที่สุด ได้รับเลือกให้ถวายการสอน ยังจำได้ว่าเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 1999 เป็นวันแรกที่ได้ถวายการสอน

- มีความประทับใจอะไรบ้าง ในการถวายการสอน

วันแรกที่สอนก็มีเกร็งบ้าง แต่จนถึงวันนี้ก็ยังถวายการสอนอยู๋ เรื่องความประทับใจนั้น เดิมทีคิดว่าท่านเป็นเจ้าหญิง น่าจะถือตัว อาจจะเข้าถึงยาก แต่ปรากฏว่าพอได้ถวายการสอน พบว่าพระองค์ทรงเป็นกันเองมาก และมีมารยาทที่งดงามมาก การเรียนของพระองค์ท่าน การทรงเอาจริงเอาจังมาก พระองค์ทรงการบ้านมากกว่าที่ให้ วันหนึ่งๆ อย่างน้อย ถวายการสอน 2 ชั่วโมง และหลังจากอาจารย์หลี่ถวายการสอนไปแล้ว พระองค์ก็จะทรงซ้อมอีกอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ซึ่งมีคนไทยน้อยคนที่ทำได้ขนาดนี้

- ดนตรีจีนมีบทบาทต่อความสัมพันธ์ไทยจีนอย่างไร

มองว่าเครื่องดนตรีจีน เป็นสื่อกลาง เป็นเครื่องมือให้ทั้งสองชาติรู้จักกันมากขึ้น ทำให้สัมผัสได้ ดนตรีเป็นภาษาสากลที่ช่วยอธิบายวัฒนธรรมของชาตินั้นได้อยู่แล้ว อย่างเวลาเอาเพลงไทยที่ใช้เครื่องดนตรีจีน นำมาอัดลงแผ่นและเปิดให้คนจีนฟัง คนจีนก็บอกว่าเพราะ อย่างเคยนำเพลงไทรโยค คอนชาร์โต้ ผลงานที่อาจารย์หลี่ฮุยเป็นคนเรียบเรียง ใช้กู่เจิงเล่นกับซิมโฟนี่ ออร์เครสตร้า มาเปิดให้คนจีนฟัง คนจีนก็ชอบ

- เปรียบเทียบเสน่ห์ของดนตรีไทย และดนตรีจีน

รู้จักเพลงไทยไม่มากนักอย่างเขมรไทรโยค ลาวเสี่ยงเทียน ลาวดวงเดือน ซึ่งเพลงเหล่านี้มีเมโลดี้ที่ไพเราะมาก ตรงนี้น่าจะเป็นเสน่ห์ของดนตรีไทย เห็นว่าน่าจะลองนำมาดัดแปลงเล่นกับเครื่องดนตรีจีนบ้าง ส่วนเสน่ห์ของดนตรีจีน จะเป็นเรื่องความหลากหลาย จีนมีชนชาติถึง 56 ชาติ ทำให้มีเพลงโฟลคซองอยู่เยอะ เป็นสไตล์ของแต่ละที่แตกต่างกันไป อย่าง ซินเจียงก็ออกแนวแขก อย่างทิเบตก็อีกแบบ หรืออาจจะเป็นของเผ่าอี้ เผ่าเย้า หรือของฮั่น เช่นเพลงสี่ฤดู หรือไม่ก็เพลงดอกมะลิ อย่างฮั่นเป็นชนชาติที่มีประชากรที่มีมากที่สุดในประเทศ

- ความเห็นต่อวาระครบรอบ 30 ปี สัมพันธ์ไทย-จีน

ยินดีในเรืองนี้ ในสายตาที่ตนมองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สัมพันธ์ไทยจีนมีความแน่นแฟ้นขึ้น ดีขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันคนสองชาติรู้จักกันมากขึ้น มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมระหว่างกัน

- มองสัมพันธ์ไทย-จีนในอนาคตเป็นอย่างไร

อยากให้พัฒนาความสัมพันธ์ให้รู้จักกันมากกว่านี้ นักท่องเที่ยวบางส่วนยังมีความเข้าใจผิดในหลายประการ ยังรู้จักไทยเพียงผิวเผิน ซึ่งคนจีนต้องศึกษาเพิ่มขึ้นอีก อย่างในสายตาของอาจารย์มองแนวคิด หลักการดำรงชีพเรื่องความพอเพียง เป็นสิงที่ดีของคนไทย อย่างคนจีนจะมีความพยายามในการต่อสู่ชีวิตสูง น่าจะปรับเข้ากันได้ เอาข้อดีของทั้งสองชาติมาผสมผสานกัน.


กำลังโหลดความคิดเห็น