xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจแห่งเกียรติยศของทูตเชลยศักดิ์ กรุณา กุศลาสัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลายคนรู้จักชื่อของ ดร.กรุณา กุศลาสัย ในฐานะนักหนังสือพิมพ์เก่าและปราชญ์ด้านอินเดียศึกษา ที่มีอยู่ไม่กี่ท่านในเมืองไทย และจากวีรกรรมทั้งหลายในวัยหนุ่ม ท่านยังเป็นทั้งนักผจญภัยและนักต่อสู้ เคยติดคุกมาแล้วทั้งในฐานะเชลยศึกและนักโทษการเมือง ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือ บุคคลท่านนี้เคยเป็นหนึ่งในคณะทูตใต้ดินที่เสี่ยงตายเดินทางเข้าไปในประเทศจีน เพื่อปฏิบัติภารกิจของชาติในการสำรวจสถานการณ์ในดินแดนประเทศคอมมิวนิสต์ และพบปะเจรจากับผู้นำของจีนแดง ตามความประสงค์ของจอมพล ป. พิบูลสงครามในการปูทางเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับจีน

ปฏิบัติการลับครั้งนั้นมีความสำคัญ เนื่องจากเกิดขึ้นในยุคที่การเมืองไทยตกอยู่ท่ามกลางแรงกดดันของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และถูกจับตาจากฝ่ายตรงข้ามอย่างเข้มงวด*

กลุ่มคณะทูตใต้ดินชุดดังกล่าวเดินทางเข้าจีนโดยการจัดการของนายเลื่อน บัวสุวรรณ และสังข์ พัธโนทัย มีด้วยกัน 4 คน คือ อารี ภิรมย์ อัมพร สุวรรณบล สอิ้ง มารังกุล และ กรุณา กุศลาสัย ซึ่งปัจจุบัน 3 ท่านแรกเสียชีวิตไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ ดร.กรุณา ที่ในวันนี้อายุล่วงเข้า 85 ปีแล้ว สุขภาพร่างกายอ่อนล้าไปตามวัย

ดร.กรุณา ได้เปิดบ้านให้ ‘ผู้จัดการออนไลน์’ เข้าเยี่ยมคารวะและพูดคุยถึงเหตุการณ์ในอดีต ที่ครั้งหนึ่งท่านต้องเดินทางเข้าไปในดินแดนหลังม่านไม้ไผ่อย่างไม่รู้เหนือรู้ใต้ พร้อมกับพรรคพวกในฐานะ ‘ทูตเชลยศักดิ์’ เมื่อธันวาคม ปีพ.ศ.2498

ซึ่งเป็นเวลาก่อนหน้าการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการของรัฐบาลทั้งสองประเทศ(พ.ศ.2518) ถึง 20 ปี........

อ.กรุณา กุศลาสัย เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการกล่าวถึงเหตุจูงใจที่ไทยจะส่งคณะผู้แทนไปจีน ว่า
เมื่อไทยรับทราบจากการประชุมที่เมืองบันดง ประเทศอินโดนีเซีย ถึงท่าทีของจีนที่อยากจะเป็นมิตรกับไทย โดยจีนประกาศว่า จะไม่รุกรานประเทศไทยและย้ำว่าขอไทยอย่าได้หวาดกลัว นายกฯของไทย(จอมพล ป.) จึงเห็นว่าควรตอบสันถวไมตรีจีน และได้มาปรึกษากันในคณะรัฐบาล ในที่สุดฝ่ายไทยเห็นควรจะส่งผู้แทนไปเมืองจีน แต่สมัยนั้นอเมริการะแวงในรัฐบาลไทยมาก รัฐบาลก็เห็นควรว่าจำเป็นต้องส่งคณะทูตไปอย่างลับๆ

ท่านเล่าต่อว่า ในตอนนั้น จอมพลผิน ชุณหะวัณมีอำนาจในประเทศ รัฐบาลจอมพล ป. จะทำอะไร จอมพลผินต้องทราบ ฉะนั้น คณะทูตที่ส่งไป จึงมาจากสองทางคือ ฝ่ายของจอมพลผิน ผู้ที่กุมอำนาจทางกองทัพของรัฐบาลสมัยนั้น จำนวน 2 คน และฝ่ายของจอมพล ป. 2 คน

ทั้งนี้ คนของฝ่ายจอมพล ผิน 2 คน คือ นายอัมพร สุวรรณบล ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด และ นายสอิ้ง มารังกุล ส.ส.จังหวัดบุรีรัมย์ ส่วน อ.กรุณา ได้เดินทางไปกับ นายอารี ภิรมย์ เพื่อนที่ได้รับการติดต่อจาก คุณสังข์ พัธโนทัย ซึ่งล้วนเป็นเพื่อนฝูงที่รู้จักกันมาก่อน

อ.กรุณา “ ผมกับคุณอารีก็รู้จักกันมาก่อน คือเราหัวเดียวกัน พวกซ้ายเหมือนกัน แต่ก่อนพวกหัวซ้ายในบ้านเราเยอะแต่เปิดเผยตัวไม่ได้ คุณอารี ภิรมย์ ตอนนั้นรับหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทูตใต้ดินฝ่ายไทยในการเดินทางไปจีน คุณอารี เคยถูกรัฐบาลไทยสมัยก่อนตอนนั้นจับกุมในข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะคบค้ากับจีนมาก่อน แล้วมีเยื่อใยกับจีนมาก่อน เป็นมิตรกับจีน ถ้าไม่ใช่เขาเป็นหัวหน้าคณะทางจีนก็ไม่เชื่อใจเหมือนกัน

ด้วยความเป็นลูกหลานจีน ซึ่งมีปู่เป็นชาวจีนเหมือนกัน ทั้งยังยึดมั่นในความจริงใจของตน ดังนั้นเมื่อนายอารี ภิรมย์ได้มาติดต่อให้ไปเมืองจีนด้วย ซึ่งเชื่อมั่นตรงกันว่า คงไม่เป็นอันตรายอย่างไร ท่านจึงรับปากเดินทางไปกับคณะด้วย

อ.กรุณา ผมไม่ทราบภาษาจีนด้วย แต่ผมเป็นล่ามของคณะ ผมรู้ภาษาอังกฤษดี ตอนนั้นก็หวาดๆเหมือนกัน กลัวเขาจะเป็นอันตรายเหมือนกัน แต่โดยจิตใจอันลึกซึ้งแล้วอีกใจเราก็ไม่กลัว เพราะเห็นว่าเป็นมิตรกันแล้ว คิดว่าเขาคงไม่ทำอะไรเราแน่ๆ เราเชื่อใจเขาเหลือเกิน  พอคุณอารีทราบว่าทางจีนตอบตกลงให้เดินทางเข้าไป ก็คิดว่าไม่กลัว เพราะทางจีนรู้ดีว่า เราเป็นมิตร  ตอนนั้นผมเป็นหัวหน้าฝ่ายข่าวต่างประเทศ ของหนังสือพิมพ์เสถียรภาพ ซึ่งในขณะนั้นคนไทยรู้ดีว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นมิตรของจีน 

แต่ตามที่ทราบกันดีอยู่ว่า การติดต่อกับประเทศคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้นถือว่าเป็นภัยคุกคามระดับชาติ ดังนั้นภารกิจครั้งนี้จะให้ใครล่วงรู้ไม่ได้ แม้แต่คนใกล้ตัว

อ.กรุณา “ เราไปไม่มีใครรู้เลย เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะเป็นอันตรายยังไง ใครจะฆ่าเราหรือเปล่า ต้องปิดเป็นความลับ ภรรยาก็ไม่ทราบ ครอบครัวไม่ทราบหลังจากไปแล้วจึงทราบ คนภายนอกไม่มีทางทราบ มาเปิดเผยตอนที่กลับมาแล้วหลายปี เมื่อแน่ใจว่าภัยเราไม่มีแล้วจึงกล้าเปิดเผย ตอนที่ไปนั้นคนเห็นด้วยก็มีเยอะเหมือนกัน แต่ที่ไม่เห็นด้วยก็มี แบ่งเป็นสองฝ่ายชัดเจน พวกนิยมฝรั่ง นิยมจีน 

หนทางเข้าสู่จีนแดงครั้งแรกในชีวิตของ ดร.กรุณา นั้นต้องไปทางฮ่องกง แล้วผ่านไปยังมาเก๊า ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลโปรตุเกส แล้วจึงมาเข้าเขตชายแดนจีนที่มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) โดยทางรถยนต์  ซึ่งใช้เวลาเดินทางราวครึ่งวันจนมาสมทบกับคณะของนายสอิ้ง และนายอัมพรที่นครกว่างโจว (กวางเจา)  จากนั้นทั้งหมดก็นั่งเครื่องบินต่อไปยังกรุงปักกิ่งพร้อมกัน

อ.กรุณา “ ก่อนเข้าไปจีน ต้องผ่านอุปสรรคการเดินทางที่ยากลำบากเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจในการเดินทางมาเชื่อมสัมพันธ์กับจีน แต่โชคดีที่ทางจีนนั้นเชื่อใจคุณอารีอยู่ก่อนแล้ว คณะจึงเข้าไปได้ ตอนนั้นมาเก๊าเป็นเหมือนปากประตูเข้าสู่จีน ต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะไปถึงปักกิ่ง และกว่าจะทำให้จีนเชื่อใจว่าเราไม่ได้เป็นศัตรูของเขา ไม่ได้เป็นฝ่ายอเมริกันที่จะเข้ามายุแหย่ให้จีนแตกกัน จนเขาให้เราเข้าไป 

ตอนนั้นการติดต่อลำบากมากเลย ต่างคนต่างกลัวอเมริกัน จีนกับอเมริการะหองระแหงกันมาก คณะทั้งคณะก็มีความรู้สึกกลัวอเมริกันจะมาฆ่าเรา แต่ก็ถือว่าทางจีนเองเชื่อใจเรา เชื่อคำพูดคุณอารีมาก พวกเราถือว่าเราเป็นมิตรกับจีน แล้วพอทางจีนทราบความประสงค์ของเรา และสภาพอันแท้จริงของเรา เขาก็ไม่เป็นอันตรายต่อเรา ยินดีให้เข้าเลย

เมื่อคณะทูตเชลยศักดิ์ของไทย ‘ดำดิน’ ไปถึงกรุงปักกิ่ง ก็ได้มีโอกาสเข้าพบเจ้าหน้าที่ต่างประเทศของจีน และผู้นำระดับสูงทั้งประธานเหมาและนายกฯโจวเอินไหล ซึ่งได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความเป็นไปของทั้งสองฝ่ายต่อกัน  ทำให้ฝ่ายไทยได้รับรู้สภาพการณ์ต่างๆในจีนอย่างถ่องแท้ขึ้น  ขณะเดียวกัน ฝ่ายจีนก็เข้าใจสถานการณ์และความจริงใจของไทยมากขึ้นเช่นกัน

อ.กรุณา “ เข้าไปในจีนแล้ว ได้พบกันผู้ใหญ่ของเขา ทั้งเหมาเจ๋อตง และโจวเอินไหล ได้มีการเจรจา ให้คำมั่นกัน เรื่องความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองชาติ ไทย – จีน เราไม่เป็นศัตรูกัน จริงอยู่นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯอาจจะเป็นศัตรูกับจีน แต่ไทยไม่ใช่ เราเป็นมิตรกับจีน

อ.กรุณา ได้เปิดเผยถึงการเจรจากันระหว่างคณะผู้แทนไทยกับประธานเหมาในเวลานั้นเพิ่มเติมว่า
ได้คุยกับท่านประธานเหมาตั้งหลายชั่วโมง ตั้ง 2 ชั่วโมงกว่า ยาวนานมาก ประธานเหมายังได้ฝากมาบอกผู้นำไทยว่า จีนสมัยก่อนถูกข่มเหงมาก จีนไม่เคยมีนโยบายที่จะรุกรานใครและต่อให้ในอนาคตจีนเติบใหญ่ขึ้น จีนก็จะไม่รุกรานใคร ฝากประโยคนี้แก่ทั้งกษัตริย์ และผู้นำประเทศของไทย จีนถูกรุกรานมาเยอะแล้วแต่จะไม่รุกรานเพื่อนบ้าน 

เมื่อกล่าวถึงการเข้าพบผู้นำสูงสุดของจีน อ.กรุณา เล่าต่อถึงความประทับใจที่มีต่อเหตุการณ์ในคราวนั้นว่า เหมาเจ๋อตุง เป็นผู้ใหญ่มาก พูดจาอ่อนน้อมถ่อมตน โจวเอินไหล และ เหมาเจ๋อตุงสองคนนี้ มักจะมาพร้อมกันไม่ว่าจะเป็นการประชุม หรือการปรากฏกายในงานเลี้ยงต่างๆ อย่างตอนที่จีนจัดงานกินเลี้ยงต้อนรับคณะทูตใต้ดินของไทยยังจดจำบรรยากาศได้ดี มีคำภาษาจีนอยู่หนึ่งคำ ที่มักจะใช้ในการดื่มระหว่างร่วมงานเลี้ยง อย่างคำว่า ’กันเปย’ หมายถึงการดื่มให้หมดก้นแก้ว อย่าให้เหลือ ก็ใช้คำว่า ‘กันเปย’ ดื่มให้หมด (หัวเราะ)

เมื่อเสร็จสิ้นภาระการพบปะกับผู้ใหญ่ของจีนแล้ว ก็ต้องเดินทางกลับซึ่งก็ใช้วิธีเดินทางแบบเล็ดลอดกลับดินแดนมาตุภูมิ เหมือนขาไป 4 คนแยกทางกัน 2 สาย เพื่อหลบหลีกสายตาที่จ้องมองเราของพวกอเมริกัน ตอนนั้นอเมริกามีอิทธิพลมาก ตอนกลับมาใหม่ๆต้องระวังตัวมาก เพราะมีคนจ้องจะทำร้ายเรา

หลังจากกลับมาถึงเมืองไทยแล้ว อ.กรุณาก็ยังได้เดินทางกลับไปจีนอีก แต่เมื่อบ้านเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. รัฐบาลไทยก็ยิ่งดำเนินนโยบายคล้อยตามสหรัฐอเมริกามากยิ่งขึ้น อ.กรุณากล่าวถึงกรณีนี้ว่า พอเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ที่มีรัฐบาลที่โปรอเมริกัน ผมก็ยังไปจีนอีกหลายครั้ง กลับมาจากจีนก็ถูกจับ เพราะถูกกล่าวหาว่ามีหัวเป็นซ้าย เป็นคอมมิวนิสต์ 

หลังจากนั้น การติดต่อระหว่างไทยและจีนที่ได้เริ่มแง้มประตูขึ้นแล้วจากภารกิจลับของคณะทูตใต้ดินทั้ง 4 ในนามของรัฐบาลไทยก็ขาดช่วงลง  คงมีแต่การไปมาหาสู่ในระหว่างประชาชนจีนและไทยเท่านั้น  แต่อย่างไรก็ตามคณะบุคคลเหล่านั้นก็ยังต้องเดินทางกันอย่างลับๆเช่นกัน ( อ่านบทความประกอบ ‘แด่คนขุดบ่อน้ำ ผู้เชื่อมกระแสธาร’ )

ถึงวันนี้ ดร.กรุณา ก็ยังคงติดตามเรื่องราวข่าวสารของโลก โดยระยะหลังยังคงติดตามข่าวสารของจีนด้วยเช่นกัน โดยท่านชี้แจงว่า อาชีพผมเป็นนักหนังสือพิมพ์เก่า เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอยู่ ก็ยังคงติดตามข่าว ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ก็ยังรู้ความเป็นไปของโลกดี เดี๋ยวนี้อเมริกากลัวจีนมาก (หัวเราะ) เพราะจีนเป็นมหาอำนาจแล้ว 

เมื่อถามถึงความประทับใจที่มีต่อประเทศจีน ดร.กรุณา เปิดใจว่า ผมชอบความเก่าแก่ของเขา จีนเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม อารยธรรมสูง ซึ่งเขาให้แก่โลกภายนอกแยะด้วย สิ่งนี้ผมประทับใจมาก ...ไปขึ้นกำแพงเมืองจีนน่าตื่นเต้นมาก ต้องค่อยๆขึ้นไปนะ มันดีอย่างกำแพงเมืองจีนนี่ พอขึ้นไปแล้วเราพักได้มีที่พักให้ โอย...อากาศก็หนาวมากเลย

ผมไปจีนหลายครั้ง แต่ละครั้งอยู่นานเหมือนกัน หลายคนผมขอแนะนำให้ไปสักครั้งเลย เป็นประโยชน์ ให้ความรู้กับตัวเรา เพราะจีนเป็นประเทศกว้างใหญ่ไพศาล มีแหล่งอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ ทั้งจีนและอินเดียเก่าแก่มาก เปรียบเทียบจีนกับอินเดีย ทั้งจีนกับอินเดียมีวัฒนธรรมที่เก่าแก่มาก ให้ประโยชน์กับโลกเยอะ แต่ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนมีมากกว่า  อย่างชนชาติไทยมีสืบเชื้อสายมาจากจีนก็เยอะ เรียกว่าใกล้ชิดกว่า ลึกซึ้งกว่า   

แม้ว่าวันนี้ชื่อของคณะทูตใต้ดินทั้ง 4 จะมีคนไทยไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้จัก และล่วงรู้ถึงวีรกรรมระดับชาติของพวกเขาในครั้งนั้น  แต่ทว่าทางรัฐบาลจีนก็ยังคงเห็นคุณค่าของการเดินทางไปเชื่อมสัมพันธ์ครั้งแรก ที่ทางการจีนถือว่าเป็นน้ำใจจากมิตรที่มีต่อจีนอย่างลึกซึ้ง

อ.กรุณา “ สถานทูตจีนมีงานอะไรก็เชิญไปร่วมตลอด เขายังนึกถึงเรามาก จีนเป็นชาติเก่าแก่เป็นชาติที่ไม่ลืมเพื่อน เพื่อนตายก็ยังคงเป็นเพื่อนตาย  ตอนหลังได้ไปกับครอบครัว เขาเชิญครอบครัวด้วย ... เพื่อนๆที่ไปด้วยกันคราวนั้นก็เสียชีวิตหมดแล้ว...

คุณกัมปนาท กุศลาสัย บุตรชาย ดร.กรุณา เล่าเสริมในตอนท้ายว่า ตอนสถานทูตเขาเปิดเขาเชิญพวกผมไปทานข้าว ตอนนั้นผมยังเป็นเด็กนักเรียน ทูตจีนท่านก็ออฟเฟอร์ให้ผมไปเรียนหนังสือฟรีที่นั่น ให้เครดิตในการทำน้ำมัน ทำการค้าฟรี แต่คุณพ่อคุณแม่เป็นนักวิชาการค้าขายไม่เป็น เขาเชิญในฐานะมิตรเก่าแก่ มี 3 ครอบครัวใหญ่ที่เขายังนึกถึง คือ ครอบครัวพัธโนทัย โดยคุณสังข์ พัธโนทัย และคุณอารี ภิรมย์ คุณกรุณา กุศลาสัย 3 ท่าน ... 

ปัจจุบัน ดร.กรุณา ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายที่บ้านและยังศึกษาด้านธรรมะ ท่านยังคงมีมิตรสหายมาเยี่ยมเยือนอยู่บ่อยครั้ง  แม้ว่าการสนทนาจะเป็นไปอย่างสั้นๆ เนื่องจากสุขภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย  และแม้ว่ารายละเอียดต่างๆจะพร่าเลือนไม่แจ่มชัด  ทว่า ตลอดการสนทนาเรารับรู้ได้ถึงความรู้สึกภาคภูมิใจที่ท่านได้ร่วมฝ่าฟันมาพร้อมกับเพื่อนตายทั้ง 3   ซึ่งนั่น คือ สิ่งที่ยังคงฝังลึกอยู่ในความทรงจำของชายชรา

สำหรับหนทางผูกมิตรกับจีนที่ผ่านมาตั้งแต่อดีต กว่าจะมาถึงวันสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการในอีก 20 ปีต่อมา กระทั่งจนในปีนี้ที่ดำเนินมาครบ 30 ปี ในฐานะที่ท่านคือผู้หนึ่งที่ได้เริ่มบุกเบิกปลูกสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนมาในยุคที่ยากลำบากนั้น อ.กรุณา หยุดนิ่งครุ่นคิด และกล่าวทิ้งท้ายไว้สั้นๆ เพียงว่า “ ลำบากกันมากตอนนั้น ต้องระวังตัวมาก แต่มาถึงขั้นนี้แล้ว ก็มาไกลแล้ว ”

คำพูดของท่านเหมือนกับจะย้ำเตือนให้คนรุ่นหลังตระหนักว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนนั้นได้เดินทางมาไกลเหลือเกิน นับจากจุดเริ่มต้นที่หลายชีวิตผู้ล่วงลับได้ทุ่มเทบากบั่นช่วยกันแผ้วถางปลูกสร้างกันขึ้นมา  สมควรอย่างยิ่งที่พวกเรารุ่นหลังจะต้องทนุถนอมหวงแหนมิตรภาพอันมีค่านี้ไว้ให้ดำรงอยู่สืบไปยืนนาน .


หมายเหตุ :
* เหตุจูงใจที่นำไปสู่การตัดสินใจของจอมพล ป. พิบูลสงครามในการปรับเปลี่ยนท่าทีหันมาเป็นมิตรกับจีน สืบเนื่องมาจากการประชุมที่เมืองบันดง ประเทศอินโดนีเซีย ที่ฝ่ายไทยมีพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรณ์ ฯ เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยเข้าร่วม และได้พบกับนายกรัฐมนตรีของจีน นายโจวเอินไหล ครั้งนั้นท่านได้ทรงรับทราบเกี่ยวกับทัศนะของผู้นำจีนอย่างถ่องแท้ ว่า มิได้ปรารถนาจะเป็นศัตรูกับไทย ทั้งยังยินดีที่จะผูกมิตรกับทุกประเทศในอาเซียน ดังนี้แล้วจึงนำความมาเล่าให้จอมพล ป. รับทราบ จอมพล ป.จึงมีดำริจะติดต่อกับจีน โดยการนี้ต้องปฏิบัติอย่างไม่เปิดเผย เพื่อมิให้เกิดความขัดเคืองใจกับประเทศฝ่ายตรงข้าม ( อ่านบทความประกอบ ‘บนเส้นทาง ธารสัมพันธ์ไทย-จีน’ ตอน 2 )
หนังสืออ้างอิง :  ‘คณะทูตใต้ดินสู่ปักกิ่ง’ โดย ดร.กรุณา กุศลาสัย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น