xs
xsm
sm
md
lg

แด่ ‘คนขุดบ่อน้ำ’ ผู้เชื่อมกระแสธาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป็นเวลากว่า 20 ปี ก่อนที่รัฐบาลไทยโดยหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช จะนำคณะผู้แทนไทยเดินทางไปเปิดสัมพันธ์ไมตรีอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518 (ค.ศ.1975) การคบค้ากับจีนโดยมิได้มีการรับรองทางการทูตจากฝ่ายรัฐบาลถูกมองในแง่ลบและถือเป็นภัยบ่อนทำลายชาติ

การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างญาติมิตรก็กระทำได้อย่างยากลำบาก และต้องเสี่ยงอันตรายนานาประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินทางเข้าประเทศจีนเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีที่เป็นไปอย่างลับๆ ยิ่งต้องใช้ความกล้าหาญและความบริสุทธิ์ใจอย่างยิ่งยวด จนอาจถือเป็นวีรกรรมได้เลยทีเดียว

คณะบุคคลที่ได้เดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับจีนตามคำเชิญของสมาคมวิเทศสัมพันธ์ สมาคมวิเทศน์วัฒนธรรมประชาชนจีน และหน่วยงานต่างๆของจีน ภายหลังการเดินทางอย่างลับๆของคณะทูตใต้ดินโดยนายอารี ภิรมย์ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ค.ศ.1955) ได้แก่ คณะส่งเสริมสัมพันธไมตรีไทย-จีน นำโดยคุณเทพ โชตินุชิต คณะบาสเกตบอลแดงเหลือง นำโดย คุณอดุลย์ ภุมรานนท์ คณะผู้แทนกรรมกรไทย โดย คุณทองย้อย ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา โดยเฉพาะคณะผู้แทนศิลปินไทย โดย คุณสุวัฒน์ วรดิลก ที่ไปในฐานะทูตเผยแพร่วัฒนธรรมไทยคณะใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นข่าวเกรียวกราวทั่วประเทศจีน เพราะมีการเดินสายแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านของไทยตามหัวเมืองสำคัญๆของจีน และได้รับการต้อนรับจากผู้ชมชาวจีนแน่นขนัดทุกรอบ

คณะผู้แทนไทยที่เดินทางไปจีนทั้งอย่างเปิดเผยและไม่มีการเปิดเผย หรือไม่เป็นข่าวในประเทศไทยเหล่านี้ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและสมเกียรติจากรัฐบาลจีน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน นายโจวเอินไหล ยังสละเวลามาพบปะกับคณะฯและแสดงไมตรีจิตระลึกถึงผู้นำของไทยด้วยทุกครั้ง

แต่ในทางกลับกัน สืบเนื่องจากแรงกดดันจากประเทศมหาอำนาจ รัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงดำเนินนโยบายสกัดกั้นการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ดังนั้น เหล่า ‘คณะทูตเชลยศักดิ์’ หรือคณะราษฎรไทยกลุ่มต่างๆนี้ เมื่อกลับสู่มาตุภูมิหลังจากเดินทางไปเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีกับประชาชนจีนแล้ว ล้วนถูกเจ้าหน้าที่สันติบาลเชิญตัวไปสอบสวน และเข้าไปอยู่ในคุกด้วยข้อหา ‘คอมมิวนิสต์’ ทั้งสิ้น

ทว่า เมล็ดพันธุ์แห่งมิตรภาพที่ท่านทั้งหลายได้บากบั่นไปบ่มเพาะลงในหัวใจชาวจีนในยามที่แห้งแล้งนั้นเอง ก็ยังได้งอกงามเป็นดอกผลในฤดูกาลต่อมา คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า ผลของวีรกรรมตลอดห้วงเวลานั้น ได้หล่อเลี้ยงมิตรภาพระหว่างไทยและจีนให้ดำรงสืบเนื่องต่อมาไม่ขาดสาย และได้แสดงถึงไมตรีจิตอันแน่วแน่ของราษฎรไทยที่จะสานสัมพันธ์กับราษฎรชาวจีนอย่างจริงใจ จนมีส่วนให้เกิดเป็นอานิสงส์ต่อการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตประสบผลสำเร็จในเวลาต่อมา

ในวาระที่ราชอาณาจักรไทยกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการมาครบ 30 ปี ในวันที่ 1 กรกฎาคม ศกนี้ ผู้จัดการออนไลน์ ขอร่วมสำนึกในความกล้าหาญของเหล่าวีรชนผู้เปรียบเสมือน ‘คนขุดบ่อน้ำ’* ผู้ไม่เพียงเพียรพยายามสร้างสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนอย่างไม่ย่อท้อ แต่ยังทำให้สายสัมพันธ์นี้ดำรงสืบมา นับเนื่องแต่โบราณกาลตราบเท่าทุกวันนี้กว่า 700 ปี

รายนามราษฎรไทยที่เดินทางไปเชื่อมสัมพันธ์กับจีนในช่วงยุคมืด

1) คณะส่งเสริมสัมพันธไมตรีไทยจีน (เดินทางไปอย่างเปิดเผย)
เทพ โชตินุชิต ทิม ภูริพัฒน์ แคล้ว นรปติ ล้วน ปั้นน้อย สว่าง ตราชู ประภาส คงสมัย ประชุม จุลลภมร ยุกต์ เจียรพันธ์ เจริญ กนกรัตน์ กระแสร์ มหาผล อารี สุชาโต เอี่ยม เจริญสุข
2) คณะบาสเกตบอล
อดุลย์ ภุมรานนท์ สุรกิจ รักพานิช พัฒนรงค์ วิทยา มงคล อ่อนโอนน้อม เอนก สมศิริรัตน์ กวง แซ่ตั้ง ประมินทร์ แซ่อี้ วรสิทธิ์ แซ่เซียว ทา อรุโณทอง ซูซิน แซ่ลี้ เทียนเป็ก แซ่โค้ว วิศิษฐ์ แซ่คู ฮังซ้ง แซ่ยัง ต๊ะ ศรีรัตน์
3) คณะผู้แทนกรรมกรไทย
(คณะแรก) ทองย้อย ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ประกอบ โตลักษณ์ล้ำ ศุภชัย ศรีสติ ประเสริฐ ขำปลื้มจิต ขจร วัจนดิลก ทองใบ เที่ยงสู่สุข สันต์ อึ้งตระกูล สุวิทย์ เนียมสา สมปอง จิตระจินดา
(คณะสอง) เสนอ สว่างพันธ์ ประภาส สุคนธ์
(คณะสาม) จรัล โยบรรยงค์ วีระ ถนอมเลี้ยง ณรงค์ แซ่เตียว

4) คณะผู้แทนศิลปินไทย
สุวัฒน์ วรดิลก เล็ก เล็กสกุลไชย สันติ์ สันติพลารักษ์ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี สุพรรณ บูรณพิมพ์ เพ็ญแข กัลย์จารึก แน่งน้อย แสงสุวิมล สมาน กาญจนผลิน สุเทพ วงศ์กำแหง ชาญ เย็นแข ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา บุญยง เกตุคง ถวัลย์ วรวิบูลย์ ประสิทธิ์ ยุวพุกกะ มงคล จันทนบุปผา สายัณห์ สอนค้าคล่อง หม่อมสุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต ม.ร.ว.พรพุฒิ วรวุฒิ ประสิทธิ์ พยอมพงค์ ฯลฯ
5) ลิ่วละล่อง บุนนาคและชิต เวชประสิทธิ์ เดินทางไปพบท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ขณะนั้นลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงในฐานะทนายความของจำเลยในคดีสวรรคต
6) โกวิท อิทธิกุล ไปร่วมงาน ‘แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านภาพยนตร์แห่งเอเชีย’ ณ กรุงปักกิ่ง ในฐานะนักแสดงในภาพยนตร์เรื่อง ‘ชีวิตใหม่’
7) คณะผู้แทนเยาวชนไทย
สุวิทย์ เผดิมชิต อนุกูล รัตนพันธ์ บุญสิน จตุรพฤกษ์ วิจิตร ศิวิโรจน์ ผสม เพชรจำรัส นิพนธ์ มาศะวิสุทธิ์ กำจร สุนพงษ์ศรี
8) คณะหนังสือพิมพ์ไทย
อิศรา อมันตกุล เลื่อน วีรภัทร ทวี เกตะวันดี สำราญ เทศสวัสดิ์ เจน นิมมานนิตย์ หงษ์ อึ้งตระกูล สุจินต์ อัครสมิต สมเจตน์ วัฒนาธร ทองมาก พูนภิญโญ

9) คณะผู้แทนราษฎรไทย
คณะของนายสอิ้ง มารังกูล โต๊ะ แก้วเสมา บรรเจิด สายเชื้อ บูรณะ จำปาพันธ์ ทวีศักดิ์ ตรีพลี
คณะของพล.ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ ญวง เอี่ยมศิลา พรชัย แสงชัช เปลื้อง วรรณศรี สุธี ภูวะพันธ์ เจริญ ปราบ ณ ศักดิ์ มนัส พรหมบุญ ถาวร คะโยธา ( คณะสุดท้ายที่เดินทางไปจีนก่อนการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ )
10) คณะผู้แทนนักประพันธ์ไทย
กุหลาบ สายประดิษฐ์ บรรจบ ชุวานนท์ ชวน รัตนวราหะ ถวัลย์ วรดิลก อำพัน ไชยวรศิลป์ ทองใบ ทองเปาด์ สมาน คำพิมาน เจือจันทร์ ฐาปโนสถ เฉลิม คล้ายนาค ประเวศ บูรณะกิจ สุชาติ ภูมิบริรักษ์

ระหว่างที่คณะของนายสอิ้ง นายกุหลาบ และพล.ร.ต. ทหาร กำลังเยือนจีน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม และได้ออกหมายจับแก่ทุกคนที่ร่วมอยู่ในคณะฯ ทั้งนี้ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นายสอิ้ง มารังกูล และนายสุชาติ ภูมิบริรักษ์ ได้ตัดสินใจพำนักอยู่ในประเทศจีนต่อมา .

หมายเหตุ :  ชื่อบุคคลอ้างอิงจากหนังสือ ‘โจวเอินไหล ผู้ปลูกไมตรีไทย-จีน’ โดย วรรณไว พัธโนทัย
* จากภาษิตจีน饮水思源 (หยินสุ่ย ซือหยวน) ดื่มน้ำอย่าลืมต้นธาร หรือ ดื่มน้ำอย่าลืมคนขุดบ่อ 饮水不忘挖井人 (หยินสุ่ย ปู๋วั่ง วาจิ่งเหริน)
กำลังโหลดความคิดเห็น