xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมจีน ?

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

ผู้เขียนสนใจ ‘เรื่องจีน’ มานาน เขียนหนังสือเกี่ยวกับจีนไว้หลายสิบเล่ม ช่วงนี้ตั้งใจจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมอีกสักชุดหนึ่ง ทีแรกก็หวังจะให้เป็นทำนองหนังสือคู่มือง่ายๆ สำหรับทำความเข้าใจวัฒนธรรมจีน เพราะคนที่สนใจเรื่องจีนมีเพิ่มขึ้น ผู้คนที่ต้องมีปฎิสัมพันธ์กับชาวจีน ทั้งเรื่องการทำธุรกิจและเรื่องอื่นๆ มีเพิ่มขึ้น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีก่อนอื่นก็ต้องมีความเข้าใจวัฒนธรรมของกันและกัน

นึกว่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เมื่อมานึกสำรวจตรวจสอบว่า “รู้อะไร” “ไม่รู้อะไร” อย่างถี่ถ้วนแล้ว ผู้เขียนไม่แน่ใจเสียแล้วว่าตนเข้าใจวัฒนธรรมจีนจริง!

ความไม่รู้ มันมีมากกว่า ความรู้ !

ข้อเขียนชุดนี้จึงถือว่าเรามาสำรวจความรู้ความไม่รู้ ไปพร้อมๆ กันก็แล้วกัน

ผมเพิ่งจะอ่านหนังสือเรื่อง “River Town ” ของเฮลเลอร์มานน์ ฉบับแปลไทย (สำนักพิมพ์มติชน) จบไป เนื้อหาส่วนหนึ่งทำให้รู้สึกเห็นใจคนตะวันตกที่พยายามจะเข้าใจวัฒนธรรมจีน มันยากลำบากมากที่จะก้าวพ้น “กรอบความคิด” แบบตะวันตกมาเข้าใจความเป็นจีน

ผู้เขียนเป็นคนไทย อย่างน้อยกรอบความคิดก็ยังเป็นแบบตะวันออก แต่ก็ยอมรับว่า “กรอบไทย” มีความแตกต่างจาก “กรอบจีน” และผู้เขียนยังไม่ใช่ “คนใน” สำหรับวัฒนธรรมจีน

ถึงอย่างไรผู้เขียนก็ยังเป็นแค่ “คนนอก” สำหรับวัฒนธรรมจีน

แต่ในบางแง่มุม การเป็น “คนนอก” อาจทำให้มองอะไรได้ชัดเจนกว่า “คนใน” หรืออย่างน้อยก็มีมุมที่ต่างออกไปจาก “คนใน”

เมื่อมองวัฒนธรรมจีน ผู้เขียนอยากให้นึกถึงมิติของยุคสมัยไว้ด้วยเสมอๆ วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งมีพลวัต ไม่ใช่สิ่งคงที่ตายตัว

วัฒนธรรมจีนในปัจจุบันนี้ย่อมจะมีความแตกต่างไปจากวัฒนธรรมในยุคโบราณสมัยราชวงศ์ต่างๆ ดังนั้นเมื่อจะพิจารณาประเด็นทางวัฒนธรรมใดๆ เราควรระบุกาลสมัยประกอบไว้ด้วย

ข้อเตือนใจอีกประการหนึ่งคือ ประเทศจีนกว้างใหญ่ไพศาล ประชาชนจีนเกิดจากการหลอมรวมผสมผสานหลากหลายชนเผ่าหลากหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน เราอาจเสนอภาพวัฒนธรรมจีนโดยองค์รวมเป็นภาพกว้างๆ เพื่อง่ายต่อความเข้าใจเวลานำเสนอ แต่ก็อย่าลืมเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น

อย่างน้อยที่สุด จีนภาคเหนือกับจีนภาคใต้ก็มีจุดต่างกันมาก

แม้แต่จีนภาคใต้ด้วยกันเอง ในท้องถิ่นย่อยๆ ลงไปเรื่องวัฒนธรรมก็มีความแตกต่างกันอยู่ จีนแคะ จีนกวางตุ้ง จีนฮกเกี้ยน จีนแต้จิ๋ว จีนไหหลำ มีรายละเอียดทางวัฒนธรรมที่ต่างกันอยู่บ้าง การนำเสนอเรื่องราวทางวัฒนธรรมพึงระบุไว้ด้วยว่า ผู้เสนอกำลังเสนอภาพรวม หรือภาพเฉพาะท้องถิ่น พึงระมัดระวังอย่าเข้าใจผิดว่าวัฒนธรรมจีนที่ตนรู้มาเห็นมาปฏิบัติมาในครอบครัวของตนเป็นตัวแทนวัฒนธรรมจีน (โดยองค์รวม) เสมอไป สิ่งที่ตนเห็นหรือสิ่งที่บรรพบุรุษของตนปฏิบัติ อาจเป็นเรื่องราวความนิยมของคนในตำบลหนึ่ง ในอำเภอหนึ่งของท้องถิ่นหนึ่งเท่านั้น

ถ้าระลึกได้อย่างนี้ ก็จะไม่เกิดอาการหลง ‘เรื่อง ผิด-ถูก’

คนรุ่นใหม่ของจีนมีความแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนมากทีเดียว แต่ก่อนอื่นต้องอธิบายว่าอะไรคือ ‘คนรุ่นใหม่’ เสียก่อน ผู้เขียนแบ่งเส้นคนรุ่นใหม่ของจีนอย่างง่ายๆ ว่าคือคนที่เกิดมาตั้งแต่ช่วงที่รัฐบาลจีน (สมัยเติ้งเสี่ยวผิง) จำกัดให้คนจีนมีลูกได้คนเดียวเท่านั้น คนรุ่นนี้นี้เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับการเปิดประเทศ การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ชีวิตทางวัตถุดีขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก ซ้ำตนก็เป็นลูกคนเดียวที่พ่อ-แม่-ปู่-ย่า-ตา-ยาย รุมกันประคบประหงมอุ้มชูส่งเสียให้อยู่ดีกินดี ได้เรียนดีๆ ได้รับการสนองทางวัตถุอย่างดี

ขณะเดียวกันเสาสดมภ์หลักทางจิตวิญญาณที่เคยพึ่งพิงจริยศาสตร์แนวมาร์กซิสม์ก็เกิดการซวนเซ กระแสสังคมเกิดความนิยมทางวัตถุแบบเศรษฐกิจนิยมขึ้นมา จนอุดมคติแบบซ้ายเก่ากลายเป็นเรื่องเชยๆ ล้าสมัย

จริยธรรมแบบขงจื้อและหลักพุทธศาสตร์ที่ถูกกวาดล้างไปจนแทบไม่เหลือหรอ ที่เหลืออยู่ก็เป็นเพียง “รูปแบบ” และความเชื่อแนว “ไสยศาสตร์” (ผีสางเทวดา) โชคชะตา บุญวาสนา ฯลฯ

หลักแนวคิดของคนรุ่นใหม่จึงมีหลากหลายขึ้นกับสภาพแวดล้อมของแต่ละบุคคล

ซึ่งมีจำนวนมากที่ค่อนข้างจะเคว้งคว้าง คว้าแนวคิดตะวันตกสมัยใหม่กอดเอาไว้ก่อน แล้วก็เกิดความขัดแย้งในตนเอง กล่าวคือ คนจีนเกือบร้องเปอร์เซ็นต์มีความชาตินิยม ภูมิใจในวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของชาติตน (ชดเชยความรู้สึกที่ประเทศจีนยังด้อยกว่าประเทศทุนนิยมตะวันตก) แต่ทว่า “กระบวนทัศน์” ของตนกลับมีแต่ความเป็นตะวันตก คนรุ่นใหม่ที่กล้าท้าทายถึงกับกล้าตั้งคำถามต่อสังคมจีนว่าวัฒนธรรมแบบจีนในขณะนี้ มีด้วยหรือ ถ้ามีจริง มันคืออะไร?
กำลังโหลดความคิดเห็น