xs
xsm
sm
md
lg

บนเส้นทาง ‘ธารสัมพันธ์ไทยจีน’ (จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การลงนามครั้งประวัติศาสตร์

เหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทย ระหว่างพ.ศ.2514 – 2516 ทำให้การดำเนินการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนที่ได้แง้มประตูออกแล้วกลับต้องชะงักลงชั่วคราว จนเมื่อการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลเผด็จการทหารประสบผลสำเร็จ และรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป จนประเทศไทยได้รัฐบาลพลเรือนที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดำริในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนก็ได้ฤกษ์เปิดศักราชใหม่อย่างเป็นทางการ

“ ......เดี๋ยวนี้สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนไปไม่เหมือนก่อน ถ้าเรายืนอยู่บนที่วิ่งแล้วเราไม่วิ่งตาม เราก็ต้องล้ม.....
.....ประเทศไทยเหมือนร้านขายข้าวแกง ก็ต้องหาลูกค้ามาซื้อข้าวแกงมากๆ จึงจะอยู่ได้.....
......จีนแดงเป็นประเทศใหญ่ เราจะมานั่งหลับตา แล้วบอกว่าไม่มีประเทศจีนแดงอยู่ในโลกไม่ได้.....
ตลอดเวลาที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศของจีนแดงเป็นชั้นๆมา เช่นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม กระทั่งบัดนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่จะเปิดสัมพันธ์กัน...... ”


ความข้างต้น คือ ส่วนหนึ่งในถ้อยแถลงของ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ประกาศต่อประชาชนชาวไทยทางสถานีโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2518 (ค.ศ.1975) ในโอกาสอำลาพี่น้องชาวไทยเพื่อเดินทางไปลงนามเปิดสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม 2518 (ค.ศ.1975)

ก่อนหน้าที่การเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของผู้นำฝ่ายไทยจะเกิดขึ้น รัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้มีการติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศของจีน โดยส่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน นาย อานันท์ ปันยารชุน เดินทางไปแผ้วถางทางและหารือเกี่ยวกับร่างคำแถลงร่วมระหว่างไทยกับจีน ณ กรุงปักกิ่ง

การเจรจาระหว่างคณะผู้แทนไทยและจีน ก่อนหน้าการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีของไทยหนึ่งสัปดาห์ ได้มีความพยายามทำความเข้าใจและประนีประนอมกันในปัญหาที่ทั้งสองฝ่ายต่างวิตกกันมาโดยตลอด อาทิ ปัญหาชาวจีนถือสองสัญชาติ และการให้ความสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ในไทยของจีน ซึ่งที่แล้วมายังไม่มีการเจรจากันอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา นอกจากนี้ยังมีการตกลงกันถึงแนวทางปฏิบัติต่อไต้หวัน ฯลฯ

ผลการเจรจาในครั้งนั้นทั้งสองฝ่ายสามารถประนีประนอมกันได้ในหลายประเด็น โดยจีนได้ยืนหยัดในแนวทางที่จะ สนับสนุนให้คนจีนถือสัญชาติของประเทศที่ตนเองตั้งภูมิลำเนาอยู่ ส่วนปัญหาเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์นั้น จีนมีจุดยืนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับพรรคก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่จะไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับพรรคมากระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล

โดยไทยและจีนตกลงระงับกรณีพิพาททั้งปวงโดยสันติ รัฐบาลจีนรับรองรัฐบาลไทยและเคารพในอธิปไตยเหนือดินแดนประเทศไทย ส่วนไต้หวันนั้นไทยจะตัดขาดความสัมพันธ์ทางการทูต และรับรองรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเท่านั้น ยกเว้นการติดต่อทางการค้ายังคงดำเนินต่อไปได้

เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในร่างคำแถลงร่วมในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2518 รุ่งขึ้น พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ได้เชิญเอกอัครราชทูตจีนไต้หวันประจำประเทศไทย พลเรือโท หม่าจีจ้วง (หม่าจี้จ้วง) เข้าพบ เพื่อยื่นบันทึกช่วยจำอย่างเป็นทางการแจ้งให้ทราบว่า ราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนตกลงในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ฉะนั้น เมื่อการลงนามในแถลงการณ์ร่วมสำเร็จลง จะเป็นผลให้ความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันที่มีมายาวนานกว่า 30 ปี หมดสภาพลงไปด้วย 

หม่าจีจ้วง ต้องเดินทางกลับไต้หวันในวันที่ 28 มิถุนายน 2518 โดยมีนักการเมือง ข้าราชการไทย ชาวจีนในไทย และพ่อค้านักธุรกิจไปส่งที่สนามบินกันอย่างคับคั่ง

ผู้นำไทยสู่จีนแดง

คณะผู้นำของไทยนำโดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เดินทางจากท่าอากาศยานกรุงเทพ โดยสารการบินไทย ชื่อ ‘สุดาวดี’ ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2518 แวะพักที่ท่าอากาศยานฮ่องกงหนึ่งคืน แล้วจึงเข้าสู่เขตประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในเช้าวันรุ่งขึ้น

การไปถึงกรุงปักกิ่งของคณะผู้แทนไทยในวันที่ 30 มิถุนายน ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและสมเกียรติ โดยมีผู้นำคนสำคัญของจีน เติ้งเสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรี หลี่เซียนเนี่ยน และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ เฉียวกวนฮวา ฯลฯ ไปให้การต้อนรับ หนังสือพิมพ์ ‘เหรินหมินยื่อเป้า’  (人民日报) ยังได้ลงบทความต้อนรับคณะทูตไทยที่ไปเจริญสันถวไมตรีในปีนั้นอย่างครึกโครม

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และเติ้งเสี่ยวผิงได้พบปะเจรจากันในวันบ่ายวันนั้น โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีของไทย พร้อมด้วย พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ และนายอานันท์ ปันยารชุน ยังได้เข้าเยี่ยมนายโจวเอินไหล ซึ่งขณะนั้นเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล (ท่านโจวเอินไหลเวลานั้นป่วยด้วยโรคมะเร็ง) และร่วมสนทนากับท่านเกี่ยวกับสภาพการณ์ในเอเชียอาคเนย์กว่าครึ่งชั่วโมง

งานเลี้ยงต้อนรับการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งแรกของคณะผู้แทนไทย ที่จัดขึ้นโดย ประธานสภาประชาชนจีน นายจูเต๋อ ในค่ำคืนนั้น ได้รับการถ่ายทอดเสียงโดยสถานีวิทยุกระจายเสียงปักกิ่ง และสร้างความประทับใจให้กับแขกในงานด้วยการอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ ‘สายฝน’ มาบรรเลงโดยกองทัพปลดแอกด้วย

และที่เป็นข่าวเกรียวกราวในหน้าหนังสือพิมพ์วันต่อมา คือการเข้าพบประธานเหมาของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่สร้างความประหลาดใจให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนเป็นอย่างมาก  เนื่องจากท่านเหมาเจ๋อตงได้เปิดโอกาสให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เข้าพบที่ทำเนียบจงหนันไห่ และสนทนากับท่านนานเป็นพิเศษ ซึ่งจากการเปิดเผยในภายหลังระบุว่า หัวข้อสนทนาของบุคคลทั้งคู่ส่วนหนึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์ในไทยด้วย

และแล้วในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518 คณะผู้แทนทั้งสองฝ่าย โดยนายกรัฐมนตรีของจีน นายโจวเอินไหล และนายกรัฐมนตรีของไทย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  ก็ลงนามในแถลงการณ์ร่วมสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ  ซึ่งสำเร็จลงอย่างทรงเกียรติพร้อมด้วยความชื่นมื่น หลังจากรอคอยมากว่า 2 ทศวรรษ

โดยประเทศไทยเป็นประเทศลำดับที่ 101 ที่เปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน (ต่อจากประเทศฟิลิปปินส์) ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือทางการเมือง การค้า เศรษฐกิจและวัฒนธรรม และนับเป็นก้าวย่างสำคัญในการเปิดศักราชใหม่ของการทูตระหว่างไทยกับจีนอย่างแท้จริง .

หมายเหตุ :
นามบุคคล และชื่อเฉพาะต่างๆ(ภาษาจีน)ที่ปรากฏในบทความชิ้นนี้ อ้างอิงจากเอกสารที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ในประเทศไทย ซึ่งอาจมีบางคำที่เรียกไม่ตรงกับการอ่านภาษาจีนกลางตามระบบสัทอักษรในปัจจุบัน ผู้เขียนมิได้แก้ไขแต่อย่างใดทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับเอกสารดั้งเดิม โดยได้วงเล็บเสียงตามระบบออกเสียงในปัจจุบันข้างท้ายกำกับไว้แทน รวมถึงยศและตำแหน่งต่างๆของบุคคลก็ใช้ตามเวลาของสถานการณ์ในขณะนั้น

หนังสือและแหล่งข้อมูลอ้างอิง :
- หนังสือ ‘โจวเอินไหล ผู้ปลูกไมตรีไทย-จีน’ โดย วรรณไว พัธโนทัย
- หนังสือ ‘คึกฤทธิ์ เปิดม่านไม้ไผ่’ โดย กลุ่มนักข่าวการเมือง อักษรบัณฑิต สำนักพิมพ์สวนอักษร พ.ศ.2518
- วารสาร ‘วารสารเอเชียตะวันออกศึกษา’ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2533 สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น