xs
xsm
sm
md
lg

บนเส้นทาง ‘ธารสัมพันธ์ไทยจีน’ (3)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ปิงปองลูกน้อยๆเปลี่ยนโลกได้”

พ.ศ.2514 (ค.ศ.1971) เส้นทางธารสัมพันธ์ไทยจีนดำเนินมาถึงจุดหักเหอีกครั้ง เมื่อเดือนตุลาคม 2514 จีนเข้าเป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแทนที่ไต้หวันเป็นผลสำเร็จ ด้วยคะแนนเสียงท้วมท้นจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นิวยอร์ก เท่ากับว่า ประชาคมโลกให้การยอมรับบทบาทและฐานะของสาธารณรัฐประชาชนจีน ท่าทีของจีนต่อประเทศในเอเชียอาคเนย์และประเทศไทยก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโจวเอินไหลเริ่มเดินหมาก ‘การทูตปิงปอง’ เปิดความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ตามความเห็นชอบของเหมาเจ๋อตง รัฐบุรุษสูงสุดของจีนผู้เคยกล่าวไว้ว่า “ปิงปองลูกน้อยๆนี่แหละ จะเปลี่ยนโลกได้”  โดยจีนเปิดฉากเชิญคณะนักกีฬาสหรัฐฯไปแข่งขันปิงปองที่จีน สหรัฐฯส่งนักกีฬาไปจีนและตามมาด้วยการส่ง เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ไปเจรจาอย่างลับๆเพื่อปูทางสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนในลำดับต่อมา

รองศาสตราจารย์ ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนมากว่า 30 ปี ขยายความถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ช่วงเวลานั้นว่า   มีการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ภายนอกเกิดขึ้นที่ทำให้ไทยเราจำเป็นต้องปรับตัว การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ อันที่หนึ่ง จีนกับโซเวียตมีความขัดแย้งกัน พอจีนกับโซเวียตมีความขัดแย้งกัน เนื่องจากจีนสู้โซเวียตไม่ได้ จีนก็จำเป็นที่จะต้องหาใครมาคานอำนาจโซเวียตเอาไว้ จีนมองดูแล้วว่าในโลกนี้มีอยู่เพียงชาติเดียวที่จะคานอำนาจโซเวียตได้ ก็คือ อเมริกา เพราะฉะนั้นจีนจึงเริ่มติดต่อกับอเมริกา..

..จีนขัดแย้งกับโซเวียต มีการปะทะกันทางทหารในปี 1969 พอ 1970 จีนติดต่อไปยังอเมริกาโดยผ่านปากีสถาน ส่งสัญญาณอยากจะดูซิว่า อเมริกาสนใจจีนหรือเปล่า ส่งสัญญาณไปว่าจีนกำลังจะจัดการแข่งขันปิงปองโลกขึ้นในประเทศจีน ก็อยากจะชวนอเมริกามาด้วย พอดีในปี 1969 อเมริกาเปลี่ยนประธานาธิบดี มาเป็นประธานาธิบดีนิกสัน มีที่ปรึกษาคือ เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ซึ่งก็เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการต่างประเทศ พอรู้ว่าทางฝ่ายจีนติดต่อมา คิสซิงเจอร์ก็วิเคราะห์ได้เลยว่า จีนต้องการจะส่งสัญญาณมาถึงอเมริกา ถ้าหากว่าอเมริกาไม่ส่งคนไปเล่นปิงปอง ก็เท่ากับเป็นการปิดช่องทางการติดต่อกับจีน เพราะฉะนั้น เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ จึงเสนอว่า ต้องส่งทีมปิงปองไป..

..เมื่ออเมริกาตอบไปเล่นก็ทำให้จีนรู้ว่าอเมริกาสนใจจีน เพราะฉะนั้นปี 1971 จีนจึงเสนอว่าให้อเมริกาส่งตัวแทนมาพูดคุยกัน อเมริกาก็ส่งเฮนรี่ คิสซิงเจอร์เดินทางไปเยือนในปี 1971(พ.ศ.2514) แต่คิสซิงเจอร์ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ จีนก็รุกต่อ ให้เชิญผู้นำสูงสุดของอเมริกาไป ปี 1972 (พ.ศ.2515) นิกสันก็ไปเยือนจีน

การดำเนินการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯกับจีนเป็นผลสำเร็จอย่างเป็นทางการ และเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการทูตระหว่างประเทศในระดับสากลอย่างสะเทือนเลื่อนลั่น เมื่อประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน เยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรก วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2515 (ค.ศ.1972) และสามารถจับมือกับรองนายกรัฐมนตรี เติ้งเสี่ยวผิง ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ร่วมลงนามใน ‘แถลงการณ์ร่วมเซี่ยงไฮ้’  《上海联合公报》 ปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นผลสำเร็จ

ที่ปรึกษาทีมปิงปองถูกส่งไปดูท่าทีในจีนแดง

การที่จีนเข้าเป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในปีพ.ศ.2514 กอปรกับสหรัฐอเมริกาเริ่มลดบทบาทในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยลดการให้ความช่วยเหลือแก่เวียดนามใต้ และหันมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนได้เป็นผลสำเร็จ  เหล่านี้ยังผลให้เกิดคลื่นอันทรงพลังที่ดึงดูดให้ประเทศเล็กๆในเอเชียอาคเนย์อย่างไทยต้องหันมาใคร่ครวญบทบาทใหม่ของจีนในเวทีโลก ตลอดจนปรับท่าทีและนโยบายต่างประเทศที่เคยมีต่อจีน โดยจะต่อต้านจีนเหมือนเช่นอดีตไม่ได้อีกแล้ว  ผู้แทนฝ่ายไทยในสหประชาชาติจึงได้มีความพยายามติดต่อกับจีนในเบื้องต้น

คนที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการปรับนโยบายโดยไม่มีใครรู้ ก็คือ พันเอก ถนัด คอมันตร์ ในปี 1971(พ.ศ.2514) พันเอก ถนัด คอมันตร์ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ แล้วไปร่วมประชุมที่ยูเอ็น เห็นเลยว่ายูเอ็นรับจีนเข้ามา ฉะนั้น พันเอก ถนัด จึงสั่งทูตไทยประจำยูเอ็น ในตอนนั้นก็คือ คุณอานันท์ ปันยารชุน ให้เริ่มติดต่อกับจีนที่ยูเอ็นก่อน ฉะนั้น จากการติดต่อระหว่างคุณอานันท์กับฝ่ายทูตจีนประจำยูเอ็น ทำให้จีนรู้ว่า ไทยเราสนใจในการติดต่อกับจีน อันนี้ก็ทำให้จีนส่งสัญญาณมาว่า อยากจะติดต่อกับไทย..

จีนสนใจอยากจะติดต่อกับไทย เพราะว่าจีนต้องการเอาไทยมาเป็นพวกเพื่อต่อต้านอิทธิพลของโซเวียตซึ่งแผ่เข้ามาในภูมิภาคนี้ ด้วยเหตุนี้เอง ก็นำมาสู่การทูตปิงปองเหมือนกัน จีนก็ส่งเทียบเชิญให้เราไปเล่นปิงปอง เราก็ไปโดยการส่งคุณ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ไป คุณประสิทธิ์สนิทกับจอมพล ประภาส จารุเสถียร ซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และคุมเรื่องการต่อต้านคอมมิวนิสต์ คุณประภาสไว้ใจคุณประสิทธิ์มากจึงส่งคุณประสิทธิ์ไป  รศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ เปิดประเด็นถึงที่มาของคณะทูตปิงปองของไทย ช่วงเข้าสู่ศักราชใหม่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน

คณะทูตปิงปองของไทยได้เดินทางไปจีนตามคำเชิญของสหภาพปิงปองแห่งเอเชีย เมื่อ 30 สิงหาคม – 7 กันยายน พ.ศ.2515 (ค.ศ.1972) มีพลตำรวจโท ชุมพล โลหะชาละ ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายกิจการพิเศษ (หรือฝ่ายกิจการคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น) ควบตำแหน่งนายกสมาคมปิงปองแห่งประเทศไทยเป็นผู้นำทีม มี พ.ต.ต. โกวิท ภู่พานิช เลขานุการคณะ ร่วมด้วย พิชัย วาสนาส่ง ไปทำหน้าที่เป็นช่างภาพประชาสัมพันธ์คณะ  ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีกิจ วีรานุวัตร เป็นนายแพทย์ประจำทีม และคณะนักกีฬาชายหญิงจำนวนหนึ่ง

หนึ่งในรายชื่อคณะปิงปองของไทยนี้ยังมีนาย ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจการคลัง และอุตสาหกรรม แห่งรัฐบาลคณะปฏิวัติ โดยเขาถูกเรียกตัวไปร่วมคณะดังกล่าวในฐานะ ‘ที่ปรึกษาทีม’

นายประสิทธิ์ รำลึกถึงเหตุการณ์เยือนจีนร่วมกับคณะปิงปองในคราวนั้น ในงานครบรอบ 15 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน เมื่อปีพ.ศ.2533 ว่า   พอผมถูกแยกออกจากคณะปิงปองที่สนามบินแล้ว ผมก็ทราบในทันทีว่า ผมได้แปลงร่างจากที่ปรึกษาคณะปิงปองเป็นอื่นไปแล้ว แต่จะเป็นอะไรผมก็ไม่รู้ เมื่อเป็นเช่นนี้ผมก็จำเป็นต้องระมัดระวังโดยเฉพาะการพูดจา เพราะตลอดเวลาผมได้ถูกจัดให้พบกับท่านรัฐมนตรีฝ่ายจีนหลายท่าน ซึ่งเห็นชัดว่าเป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น.....ภาระหน้าที่ของผมคือ ไปรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายจีนว่ามีต่อประเทศไทยอย่างไร

นายประสิทธิ์ถูกแยกตัวจากคณะปิงปองตั้งแต่ย่างเท้าเข้าสู่อาณาจักรกำแพงแดง โดยมีเจ้าหน้าที่จีนซึ่งต่อมาทราบภายหลังว่าเป็นรองอธิบดีกรมการเอเชียให้การรับรอง และมีผู้ติดตามไปด้วย 2 คน คือ วรรณไว และนวลนภา พัธโนทัย (ทำหน้าที่ล่ามของนายประสิทธิ์) ในขณะนั้นพำนักอยู่ในประเทศจีน ซึ่งนายประสิทธิ์เป็นผู้ขออนุมัติจากจอมพล ประภาส ให้บุคคลทั้งสองเดินทางติดตามไปด้วย

นายประสิทธิ์ได้มีโอกาสพบปะกับบุคคลสำคัญของจีนหลายท่าน อาทิ เลี่ยวเฉิงจื้อ กรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศจีน ซีเผิงฟุ่ย ( จีเผิงเฟย – 姬鹏飞 ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ , หานเหนียนหลง ( หานเนี่ยนหลง – 韩念龙 ) รัฐมนตรีช่วยฯ , หลี่เฉียน ( หลี่เฉียง) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศ , ไฉเจอะหมิน ( ไฉเจ๋อหมิน - 柴泽民 ) รองนายกสมาคมการทูต (ซึ่งต่อมาเป็นเอกอัครราชทูตคนแรกประจำประเทศไทย) และบุคคลสำคัญของประเทศ นายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล

ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ได้ถ่ายทอดความทรงจำเมื่อได้สนทนากับโจวเอินไหลในค่ำวันนั้น แก่ รศ.ดร.จุลชีพ ขณะท่านยังมีชีวิตอยู่ ว่า  “ วันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับ คุณประสิทธิ์ ก็ไปพบโจวเอินไหล ที่จงหนันไห่ ประมาณเวลาค่ำๆดึกๆหน่อย เพราะโจวเอินไหลทำงานหนักมาก ประโยคแรกที่โจวเอินไหลถามคุณประสิทธิ์ก็คือ พระองค์วรรณไวทยากรณ์ฯสุขภาพเป็นอย่างไร เพราะคนไทยคนแรกที่โจวเอินไหลรู้จักก็คือ พระองค์วรรณไวทยากรณ์ฯผู้ได้พบกันที่บันดง แล้วท่านก็มีความประทับใจกับพระองค์วรรณ คุณประสิทธิ์ก็เล่าว่า พระองค์วรรณได้มาเป็นเลขาธิการธรรมศาสตร์ ก็คืออธิการบดีในสมัยนั้น มันเป็นการเปิดฉากถึงเมมโมรี่เก่าๆที่เป็นเมมโมรี่ที่ดี

หลังกลับจากเยือนจีนของคณะทูตปิงปอง นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ได้เปิดเผยถึงการพบปะกับผู้นำของจีนในปีนั้นโดยสรุปว่า  เขาได้ชี้แจงให้ฝ่ายจีนรับทราบถึงภัยก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย และอุปสรรคที่ไทยยังไม่สามารถติดต่อกับจีนได้อย่างทันที รวมถึงตระหนักดีต่อความปรารถนาที่จีนจะแสวงหาลู่ทางในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับไทย

ด้านฝ่ายจีนก็ได้แสดงเจตนาโต้ตอบอย่างตรงไปตรงมา ในการไม่เข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศไทย และเข้าใจในปัญหาของไทยดี ดังนั้นจึงยินดีที่จะให้มีการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้า วัฒนธรรม กีฬา การแพทย์และวิทยาศาสตร์ไปพลางก่อน

เหนือสิ่งอื่นใด จีนได้แสดงจุดยืนที่ยินดีจะเปิดสัมพันธ์กับนานาประเทศภายใต้เงื่อนไขเพียงข้อเดียว คือ รัฐบาลประเทศนั้นต้องรับรองรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า เป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายของประเทศจีนแต่เพียงรัฐบาลเดียว และต้องตัดสัมพันธ์กับไต้หวันโดยเด็ดขาด จะต้องรับรองว่า ไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งที่มิสามารถแยกออกจากประเทศจีนได้

หลังจากการเจรจาของนาย ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ผู้สวมบทบาทที่ปรึกษาทีมปิงปองกับคณะผู้นำของจีนเสร็จสิ้นลง คณะผู้แทนทั้งฝ่ายไทยและจีนก็มีโอกาสพบปะเจรจากันในวาระต่างๆตามมาอีกหลายครั้ง อาทิ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนายพจน์ สารสิน พร้อมด้วยนาย อานันท์ ปันยารชุน ผู้แทนถาวรไทยในสหประชาชาติ กับนาย เฉียวกวนฮวา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน เกี่ยวกับปัญหาที่กระทบกระเทือนความสัมพันธ์ในขณะนั้น และต่อมา ก็มีข้าราชการกระทรวงพาณิชย์และพ่อค้าไทยเดินทางไปชมการแสดงสินค้าที่เมืองกวางเจา มณฑลกวางตุ้ง

ภายหลังเมื่อรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรสิ้นอำนาจ ไทยประสบวิกฤตการณ์น้ำมัน คณะรัฐมนตรีได้นำประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 53 ซึ่งห้ามมิให้มีการค้าขายระหว่างไทยและจีนมาพิจารณาใหม่ และมีมติออกพระราชบัญญัติแก้ไขประกาศดังกล่าว เพื่อเปิดทางให้ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ เดินทางไปเจรจาซื้อน้ำมันจากจีน ในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2516 และสามารถนำเข้าน้ำมันจากจีนได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

วีรกรรมของนาย ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ในสมัยการทูตปิงปองถูกนำมาเปรียบเทียบกับปฏิบัติการลับของ เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้เคยปูทางให้กับการปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น เขาจึงได้รับการยกย่องจากผู้คนในสมัยนั้นให้เป็น ‘คิสซิงเจอร์ แห่งประเทศไทย ผู้เปิดประตูเมืองจีน’ .

หมายเหตุ :
นามบุคคล และชื่อเฉพาะต่างๆ(ภาษาจีน)ที่ปรากฏในบทความชิ้นนี้ อ้างอิงจากเอกสารที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ในประเทศไทย ซึ่งอาจมีบางคำที่เรียกไม่ตรงกับการอ่านภาษาจีนกลางตามระบบสัทอักษรในปัจจุบัน ผู้เขียนมิได้แก้ไขแต่อย่างใดทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับเอกสารดั้งเดิม โดยได้วงเล็บเสียงตามระบบออกเสียงในปัจจุบันข้างท้ายกำกับไว้แทน รวมถึงยศและตำแหน่งต่างๆของบุคคลก็ใช้ตามเวลาของสถานการณ์ในขณะนั้น

หนังสือและแหล่งข้อมูลอ้างอิง :
- หนังสือ ‘โจวเอินไหล ผู้ปลูกไมตรีไทย-จีน’ โดย วรรณไว พัธโนทัย
- บทความ ‘สัมพันธไมตรีไทย-จีน ทศวรรษแห่งมิตรภาพ พ.ศ.2518-2528’ โดย จุลชีพ ชินวรรโณ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- วารสาร ‘วารสารเอเชียตะวันออกศึกษา’ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2533 สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขอขอบคุณ :
รองศาตราจารย์ ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น