xs
xsm
sm
md
lg

บนเส้นทาง ‘ธารสัมพันธ์ไทยจีน’ (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สัญญาณผูกมิตรจากจีน

ณ ที่ประชุมกลุ่มประเทศเอเชียและแอฟริกา (แอฟโฟรเอเชี่ยน) ที่เมืองบันดง ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนเมษายน พ.ศ.2498 (ค.ศ.1955) นายกรัฐมนตรีผู้นำคณะทูตจากสาธารณรัฐประชาชนจีน นายโจวเอินไหล ได้ประกาศหลักปัญจศีลแห่งการอยู่ร่วมกันของกลุ่มประเทศในเอเชียและแอฟริกา เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศต่างๆ บนหลักการ ‘แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง’ (อ่านบทความประกอบ ‘โจวเอินไหล สุภาพบุรุษนักการทูต’ )

สารในที่ประชุมที่โจวเอินไหลสื่อถึงชาวโลก บ่งบอกถึงความปรารถนาในการสถาปนาความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ด้วยท่าทีอ่อนน้อมในการเปิดรับ ‘ความแตกต่าง’ นานาประการ สร้างความตื่นเต้นประหลาดใจมาสู่ผู้แทนจากประเทศต่างๆ รวมถึง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (หรือ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในเวลาต่อมา พระนามย่อ พระองค์วรรณฯ หรือเสด็จในกรมฯ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งเป็นท่านหนึ่งที่ร่วมอยู่ในที่ประชุมนั้น ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ในวาระนั้น พระองค์วรรณฯยังได้สนทนากับนายกฯโจวเป็นการส่วนพระองค์ด้วย นาย วรรณไว พัธโนทัย บุตรบุญธรรมของนายโจวเอินไหล เคยบันทึกถึง การสนทนาระหว่างเสด็จในกรมฯ ในโอกาสพบปะสนทนากับนายกฯโจวเอินไหลในการประชุมที่บันดุง ไว้ในหนังสือ ‘โจวเอินไหล ผู้ปลูกไมตรีไทยจีน’ โดยสรุปความว่า

“ ทั้งสองฝ่ายได้หยิบยกประเด็นความขัดแย้งอันเนื่องมาจากข่าวลือในขณะนั้นว่า จีนกำลังให้การสนับสนุนขบวนการบ่อนทำลายประเทศไทย ด้วยการให้อาวุธและฝึกคนอยู่ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา โดยยกให้ท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในประเทศจีนเป็นหัวหน้ากระทำการ มาเจรจากันอย่างละเอียด

หลังจบสิ้นการเจรจา เสด็จในกรมฯ ทรงคลายข้อข้องใจและทรงตระหนักถึงเจตนาบริสุทธิ์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อนายกฯโจวเอินไหล กล่าวอย่างหนักแน่นว่า “ ประเทศจีนไม่มีความจำนงที่จะทำใต้ดินบ่อนทำลายรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านเป็นอันขาด ไม่มีการฝึกฝนคนและอาวุธใดๆ ในมณฑลยูนนานเพื่อก่อการและแทรกซึมในประเทศไทยเลย.... สำหรับท่านปรีดี พนมยงค์นั้น ได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศจีนในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองเท่านั้น ” (อ่านบทสัมภาษณ์ประกอบ `’ครอบครัวนายปรีดี พนมยงค์กับความประทับใจจากแผ่นดินจีน’ ) พร้อมกันนี้ โจวเอินไหลยังได้เชื้อเชิญผู้แทนไทยเข้าไปสำรวจความเป็นไปในจีนให้เห็นกับตาด้วย ”

การสนทนาอย่างเปิดอกของบุคคลทั้งสองได้สร้างความเข้าใจระหว่างไทยและจีน และยังเปิดทางให้กับ ‘ภารกิจลับ’ ของคณะผู้แทนไทยในเวลาต่อมา โดยหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมที่บันดง ไทยได้ทบทวนถึงท่าทีของสาธารณรัฐประชาชนจีนและพิจารณาถึงผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองภายใต้ภาวการณ์ต่างๆของโลกอย่างรอบด้าน ท้ายที่สุด จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงมีดำริที่จะหันมาดำเนินการผูกมิตรกับจีน

รองศาสตราจารย์ ดร. จุลชีพ ชินวรรโณ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนมากว่า 3 ทศวรรษ เปิดเผยเหตุการณ์ในปีพ.ศ.2498 ว่า จากการพบปะกันครั้งนี้เอง ก็ทำให้พระองค์วรรณฯ มาเล่าให้นายกรัฐมนตรีจอมพล ป. ทราบว่า จีนมีท่าทีที่ไม่ได้คุกคามเหมือนอย่างที่เราเคยทราบ ทำให้ จอมพล ป. มีความสนใจอยากติดต่อกับจีนมากขึ้น ที่ปรึกษาของจอมพล ป. คนหนึ่งก็คือ นายสังข์ พัธโนทัย ซึ่งก็เป็นเจ้าหน้าที่กรมโฆษณาการ มีเพื่อนฝูงอยู่ในแวดวงสื่อมวลชนภาษาจีนหลายคน เมื่อรู้ว่าจอมพล ป. ต้องการติดต่อกับทางฝ่ายจีน ก็ไปหาคนที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อกับจีน ก็คือ คุณอารี ภิรมย์ และก็คุณกรุณา กุศลาสัย

กลุ่มคนที่นายสังข์ พัธโนทัย มอบหมายให้เดินทางไปจีนในเดือนธันวาคม พ.ศ.2498 (ค.ศ.1955) ได้แก่ นายอารี ภิรมย์ ผู้ควบคุมข่าววิทยุภาษาจีน เขามีความสนิทสนมกับสังข์ พัธโนทัย ทั้งสองเคยพบปะสนทนาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเกี่ยวกับการเมืองกันอยู่บ่อยครั้ง เพื่อนฝูงบางคนเรียกอารีว่า ‘เมาเซตุง’ และ นายกรุณา กุศลาสัย บรรณาธิการฝ่ายต่างประเทศ หนังสือพิมพ์เสถียรภาพ (อ่านบทสัมภาษณ์ประกอบ ‘ภารกิจแห่งเกียรติยศของทูตเชลยศักดิ์ กรุณา กุศลาสัย’ )

ในเวลาเดียวกันนั้น นายอัมพร สุวรรณบล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด และ นายสอิ้ง มารังกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นคนของฝ่ายจอมพลผิน ชุณหะวัณ และพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ก็เดินทางเข้าสู่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างลับๆ เพื่อสำรวจข้อเท็จจริงต่างๆในประเทศจีนตามคำเชิญของท่านโจวเอินไหลด้วย  ทั้งหมดได้เดินทางเข้าประเทศจีนผ่านทางฮ่องกง กว่างโจว และขึ้นเครื่องบินไปถึงกรุงปักกิ่งสำเร็จ ต่อมาทั้งสี่ถูกเรียกขานเป็น ‘คณะทูตใต้ดิน’ นอกกระทรวงบัวแก้ว

ภารกิจระดับชาติกับการเดินทางที่ปราศจากหลักประกัน

อารี ภิรมย์ หัวหน้าทูตใต้ดิน ได้เปิดเผยความรู้สึกเมื่อต้องเดินทางไปจีนเพื่อเบิกทางในการสร้างมิตรภาพไทย-จีน ไว้ในหนังสือ ‘เบื้องหลังการสถาปนาสัมพันธภาพยุคใหม่ ไทย-จีน’ หลังการเดินทางลับในปีนั้นผ่านไปกว่า 20 ปี ว่า เขาใช้ให้ไปทำงานด้านมิตรภาพไทย-จีน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการทำอยู่ตลอดเวลา เพราะถือว่านั่นเป็นความถูกต้องเข้าหลักธรรม เพราะเรารักษาหลักธรรมข้อนี้ ไม่ยอมร่วมกับฝ่ายขวาที่ถืออำนาจ จึงถูกเขาแกล้งจนถูกจับและถูกออกจากราชการ คราวนี้เขาให้ไปเบิกทางสัมพันธไมตรี ถูกต้องตามอุดมคติและไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์เช่นกัน คิดแล้วคิดอีก ถึงกลับมาถูกจับก็ต้องไป (หน้า 14-15)

นายอารีและนายกรุณาแยกเดินทางเข้าประเทศจีนมาสองคนโดยถือจดหมายรับรองจากเพื่อนชาวฮ่องกง 1 ฉบับ เพื่อมาพบคนแปลกหน้าชุดหนึ่ง ที่จะนำทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองสู่ดินแดงหลังม่านไม้ไผ่  ในสถานการณ์ที่น่าหนักใจนั้นแทบไม่มีหลักประกันใดใดในความปลอดภัย เนื่องจากการเข้าประเทศจีนของบุคคลทั้งสองไม่เป็นที่เปิดเผยหรือรับรองจากทางการ ทั้งนี้ นายอารีได้แสดงความกังวลต่ออุปสรรคขัดข้องที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างทางข้างหน้าอยู่หลายครั้งในระหว่างการเดินทางนั้น

แต่ในที่สุดด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนฝูงฝ่ายซ้ายของนายอารี ที่เคยรู้จักกันมาก่อนในประเทศไทยและตอนนั้นกลับไปเป็นใหญ่ในจีนแล้ว ทั้งคู่ก็เดินทางมาสมทบกับนายอัมพรและนายสอิ้ง และเดินทางต่อไปจนถึงกรุงปักกิ่งโดยสวัสดิภาพ คณะทูตใต้ดินได้มีโอกาสเข้าพบผู้นำของจีน นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศ ข้าราชการระดับสูงของจีน นายกฯโจวเอินไหล ไปจนถึงประธานเหมาเจ๋อตง ผู้นำสูงสุดแห่งประเทศจีน เพื่อถ่ายทอดสถานการณ์ต่างๆในไทย และรับทราบความเป็นไปในจีนตลอดจนทัศนะแง่มุมต่างๆของผู้นำจีนเกี่ยวกับประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน  ทั้งนี้ เหมาเจ๋อตงยังได้เชิญคณะทูตใต้ดินแวะชมมณฑลยูนนาน (หยุนหนัน) เพื่อล้างภาพข่าวลือที่จีนเตรียมการรุกรานไทยด้วย

ข้อความตอนหนึ่งจาก หนังสือพิมพ์มหานคร ฉบับที่ 193 -200 หัวเรื่อง ‘ไปปฏิบัติภารกิจลับที่ปักกิ่ง’  ที่รายงานโดยนายกรุณา กุศลาสัย กล่าวถึงการเข้าพบประธานเหมาของคณะทูตใต้ดิน ว่า ประธานเหมาทราบเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยเราดีมาก และยังเห็นว่าประเทศไทยกับจีนสามารถแลกเปลี่ยนการค้าและการวัฒนธรรมกันได้ แม้นว่าประเทศจีนจะไม่เจริญ แต่ก็ยินดีช่วยเหลือประเทศไทยในด้านอุตสาหกรรมบางอย่าง และต้องการเป็นมิตรกับไทยเสมอ โดยท่านทราบดีว่าไทยอยู่ในฐานะลำบาก และยังเน้นย้ำให้ไทยอย่าแตกสามัคคี

โดยเฉพาะนายกฯโจวเอินไหลได้จัดงานเลี้ยงรับรองคณะทูตใต้ดินเป็นการส่วนตัว และได้ฝากความเคารพและรำลึกถึงมายังรัฐบุรุษของไทย เสด็จในกรมฯ และระลึกถึงผู้นำไทยในยุคนั้น และยังพูดคุยกับคณะฯอย่างเป็นกันเองอีกหลายเรื่อง ท่านยังนำเหล้าเหมาไถที่มีชื่อเสียงของจีนมาเลี้ยง และกล่าวกับคณะผู้แทนไทยเชลยศักดิ์ในค่ำวันนั้น ตอนหนึ่งว่า “ เหล้าเหมาไถค่อนข้างจะแรงอยู่ซักหน่อย ต้องดื่มช้าๆ ดื่มเหมาไถก็เหมือนการสร้างมิตรภาพนั่นแหละ ต้องค่อยๆดื่ม ค่อยๆสร้าง อย่าใจร้อน มิตรภาพจึงจะยั่งยืน ”

อารี ภิรมย์ เล่าไว้ถึงตอนท้ายของภารกิจดังกล่าวใน ‘เบื้องหลังการสถาปนาสัมพันธภาพยุคใหม่ ไทย-จีน’ ว่า คณะทูตใต้ดินประสบความสำเร็จในการบุกเบิกสร้างมิตรภาพไทย-จีนด้วยดี ประตูมิตรภาพได้เริ่มแง้มออกแล้วจากการไปเยือนประเทศจีนของคณะเรา.....ทุกคนรู้สึกว่า การมาครั้งนี้ถึงแม้จะเสี่ยงอันตรายและยุ่งยากลำบากเพียงใดก็คุ้มค่า และปลื้มใจที่ไม่เสียชาติเกิดได้ทำงานใหญ่ให้ชาติทั้งสองในครั้งนี้ (หน้า 119) .........................................................................

รศ.ดร. จุลชีพ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวย้ำถึงความจริงในประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวว่า  นี่ถือเป็นการดำเนินการติดต่ออย่างไม่เป็นทางการ ไม่ได้มีการลงข่าวให้คนรู้ ทั้งหมดนี่เป็นเรื่องลับหมดและเพิ่งมาเปิดเผยในภายหลัง ขณะนั้น เรายังไม่มีความสัมพันธ์กับจีนเลย เพียงแต่ว่ามีความพยายามของจอมพล ป. ที่จะส่งคนไปติตต่อกับจีนเท่านั้นเอง เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ขึ้นมามีอำนาจ ก็ต่อต้านคอมมิวนิสต์ คำว่า ต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็คือต่อต้านจีนด้วยในขณะเดียวกัน เพราะฉะนั้น ใครที่เคยไปจีนก็ถูกจับ ทุกคนก็รู้ดีว่าถ้าขืนไปจีนโดนจับแน่ เพราะฉะนั้นก็เป็นช่วงที่ไม่มีการติดต่อกับจีนเลย การติดต่อกับจีนซึ่งได้เริ่มต้นเพียงเล็กน้อยในสมัยจอมพล ป. ก็ยุติลงไป

ความจริงแล้ว หลังจากที่คุณสังข์ ส่งคนไปติดต่อไปเมืองจีนนี้ ก็ยังมีพวกศิลปินอีกหลายคนที่เดินทางไปเมืองจีน อย่างเช่น คุณสุวัฒน์ วรดิลก คุณสุเทพ วงศ์กำแหง คุณสุพรรณ บูรณพิมพ์....พอเดินทางกลับมาก็มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองเกิดขึ้น พวกนี้ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งๆที่พวกนี้ก็ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์อะไร ศ.ดร.จุลชีพ กล่าว (อ่านบทความประกอบ ‘แด่คนขุดบ่อน้ำ ผู้เชื่อมกระแสธาร’ )

เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในปีพ.ศ.2501 รัฐบาลทหารชุดใหม่หวั่นเกรงต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย จึงมีนโยบายต่อต้านและปราบปรามอย่างรุนแรง และหันมากระชับมิตรกับสหรัฐฯอย่างแน่นแฟ้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนนายสังข์ พัธโนทัย ถูกกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกจับเข้าคุก

และเมื่อมีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 53 วันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2502 ห้ามมิให้มีการค้าขายติดต่อกับจีน กอปรกับทางรัฐบาลจีนก็มีท่าทีแข็งกร้าวเช่นกัน ประตูบ้านทั้งสองฝ่ายจึงถูกปิดลง !


อ่านบทสัมภาษณ์ประกอบ ‘ชีวิตดั่งเครื่องบรรณาการในอ้อมกอดจีน ของวรรณไว พัธโนทัย’ และ ‘ภารกิจแห่งเกียรติยศของทูตเชลยศักดิ์ กรุณา กุศลาสัย’

หนังสือและแหล่งข้อมูลอ้างอิง :
- หนังสือ ‘เบื้องหลังการสถาปนาสัมพันธภาพยุคใหม่ ไทย-จีน ’ โดย อารี ภิรมย์ มิตรนราการพิมพ์
- หนังสือ ‘คณะทูตใต้ดินสู่ปักกิ่ง’ โดย ดร.กรุณา กุศลาสัย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พ.ศ.2545
- หนังสือ ‘โจวเอินไหล ผู้ปลูกไมตรีไทย-จีน’ โดย วรรณไว พัธโนทัย
- บทความ ‘สัมพันธไมตรีไทย-จีน ทศวรรษแห่งมิตรภาพ พ.ศ.2518-2528’ โดย จุลชีพ ชินวรรโณ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- วารสาร ‘วารสารเอเชียตะวันออกศึกษา’ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2533 สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขอขอบคุณ :
รองศาตราจารย์ ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น