xs
xsm
sm
md
lg

มองจีนผ่านสายตาคนรุ่นใหม่ วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจบการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ วริษฐ์ ลิ้มทองกุล ก็เข้าไปเป็นนักข่าวสายการเมืองของหนังสือพิมพ์ “ผู้จัดการ” อยู่ 2 ปี ปัจจุบันเขากำลังศึกษาระดับปริญญาตรีด้านภาษาจีน เอกวัฒนธรรมจีน อยู่ที่มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง (BLCU) ซึ่งจะจบการศึกษาในปี พ.ศ.2549

วริษฐ์เป็นคนรุ่นใหม่อีกคนหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์ทำงานใกล้ชิดกับประเทศจีน เพราะได้ใช้เวลาว่างจากการเรียนไป ‘เรียนรู้ชีวิตของชาวจีนนอกรั้วมหาวิทยาลัย’ ทำให้มีผลงานเขียนส่งมาให้ผู้อ่านชาวไทยได้สัมผัสกับประเทศจีนผ่านทางเว็บไซต์และสิ่งพิมพ์ต่างๆในเครือผู้จัดการ

โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเขามีงานเขียนคอลัมน์และการรายงานข่าว ที่เด่นๆ ได้แก่ คอลัมน์ ‘ก่อนตะวันจะตกดิน’ ‘ริมจัตุรัส’ ในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ และการรายงานข่าวผ่านทางวิทยุเกี่ยวกับเหตุการณ์โรคซาร์ส และข่าวจีนส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่อวกาศ เป็นต้น


ทำไมคุณจึงมีความสนใจเรื่องเกี่ยวกับเรื่องจีน และมีความสนใจในเรื่องใดเป็นพิเศษ

สาเหตุที่ผมสนใจเกี่ยวกับเรื่องจีน มีอยู่สองเหตุผลด้วยกันก็คือ หนึ่ง เรื่องส่วนตัว และ สอง เรื่องงาน  เรื่องส่วนตัวก็คือ ผมมีเชื้อสายจีนปนไทย สังเกตจากนามสกุลก็คงทราบ คุณทวดผมเดินทางมาจากไหหลำมาแต่งงานกับสาวไทยที่ฉะเชิงเทรา แล้วย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอทุ่งหลวง จังหวัดสุโขทัย หลังจากนั้นมาก็จะมีการส่งลูกหลานในทุกๆ รุ่นอย่างน้อยรุ่นละหนึ่งคน มาเรียนต่อที่เมืองจีน คุณปู่ กับ น้องชายคุณปู่ (บิดาของคุณสนธิ) ก็เคยมาเรียนที่เมืองจีน ส่วนรุ่นพ่อแม้ตอนเด็กจะเรียนภาษาจีนมาหลายปี แต่เนื่องจากปัญหาทางการเมือง ลุง พ่อ อา จึงไม่มีโอกาสศึกษาเรื่องจีนเพิ่มเติม ดังนั้นคุณสนธิซึ่งมีศักดิ์เป็นอาก็ถือว่าเป็นตัวแทนของรุ่นพ่อที่เรียนภาษาจีนและศึกษาเรื่องจีน

ส่วนเรื่องงาน ก็คือ ผมทำงานในสายสื่อสารมวลชน เมื่อผู้บริหารเห็นว่า ภาษาจีน การศึกษาเรื่องจีน และข่าวสารที่รับจากทางสายจีนมีความสำคัญต่อวงการสื่อสารมวลชนไทย และประเทศไทยในอนาคต บริษัทจึงมีนโยบายส่งให้มาเรียน ศึกษา หาประสบการณ์ และทำงานในประเทศจีนไปพร้อมๆ กัน  พูดตามตรงผมอยากรู้เรื่องจีนทุกเรื่อง และก็พยายามศึกษาทุกเรื่องเท่าที่พอจะมีความสามารถ

คุณคิดว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีนในปัจจุบันเอื้อประโยชน์อย่างไรต่อคนไทย (หรือคนไทยที่อาศัยอยู่ในจีน)

ผมเห็นด้วยกับคำว่า "จีน-ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" นั้นเป็นคำพูดที่ถูกต้อง และเมื่อศึกษาจากประวัติศาสตร์ จีนกับไทยก็มีความใกล้ชิดกันจริงๆ  ผมสังเกตว่า คนไทยบางส่วนยังค่อนข้างมีทัศนคติที่ผิดเกี่ยวกับจีนในหลายๆ เรื่อง อาจด้วยการโฆษณาชวนเชื่อจากลัทธิทางการเมืองในยุคก่อนที่บิดเบือนให้คนไทยรู้สึกไม่ดีกับคำว่า "จีน" และ "คอมมิวนิสต์" นัก แต่หากเราย้อนกลับมาดู ผมเชื่อว่าคนที่พูดก็คงมีเชื้อจีน หรือมีความสัมพันธ์กับคนจีนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ในเรื่องการทูตนั้น ผู้ใหญ่หลายคนบอกว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยจีนที่ดำเนินมาครบรอบ 30 ปีในปี 2548 นี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายขึ้นถึงจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นในระดับเจ้านาย ทางภาครัฐ หรือภาคเอกชนก็ตาม ซึ่งผมก็เห็นด้วย  ในประเด็นนี้ จริงๆ แล้ว ผมอยากแนะนำให้ลองกลับไปหา "ปาฐกถาพิเศษ เนื่องในโอกาสความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน:ครบรอบ 25 ปี โดย คุณอานันท์ ปันยารชุน" (วารสารเอเชียปริทัศน์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2543 ซึ่งหาได้จากเว็บไซต์ หรือ ใครหาไม่เจอจะอีเมล์มาหาผมก็ได้ แล้วผมจะส่งไปให้ที่ varit@manager.co.th) มาอ่าน ก็จะได้ความรู้ และมุมมองของมิติทางการเมือง การทูต ระหว่างไทยกับจีน เพิ่มเติม
แน่นอนว่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด การทูตที่แนบแน่น ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้การค้าขาย การเดินทาง การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ความรู้ และเทคโนโลยี ระหว่างสองฝ่าย มีมากขึ้นอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในทางกลับกันผมก็เชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน จะพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้ หากเศรษฐกิจจีนพัฒนาขึ้น และคนไทยหันมาศึกษาเรื่องจีนอย่างจริงจังทั้งสองด้านน่าจะเป็นสิ่งที่ส่งเสริมกันและกัน

งานที่คุณทำอยู่ มีส่วนช่วยให้คนไทยได้รู้จักกับประเทศจีนเพียงพอแล้วหรือไม่ เพราะเหตุใด

สิ่งที่ผมทำอยู่นั้นน้อยนิดมากๆ ผมคิดว่าเรื่องเกี่ยวกับประเทศจีน เขียนอย่างไร รายงานอย่างไรก็ไม่หมด เนื่องด้วย จีนเป็นประเทศใหญ่ ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีรากฐานทางวัฒนธรรมอันแข็งแกร่ง มีเรื่องราว มีข้อมูล มีข่าวสาร ที่น่าสนใจมากมาย รอให้คนทำความเข้าใจ ค้นหา ศึกษา นอกจากนี้ พลวัตในความเปลี่ยนแปลงทาง การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของคนจีน 1,300 ล้านคนในปัจจุบันก็มีเรื่องที่คนไทยควรทราบอีกมาก   งานทางด้านข่าวสาร เกี่ยวกับไทยและจีน ยังมีช่องว่างและมีโอกาสรอให้ผู้สนใจผู้มีความสามารถมาเติมเต็มอีกมหาศาล

คุณคิดว่า ปัจจุบันความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในด้านสื่อสารมวลชนมีมากน้อยเพียงใด

เท่าที่ทราบมีค่อนข้างน้อย สังเกตได้จาก การที่สื่อไทยรับข่าวจีนโดยผ่านการรายงาน และการกลั่นกรองจากสื่อตะวันตก และสื่อภาษาอังกฤษเป็นหลัก มีค่อนข้างน้อยที่รับจากสื่อจีนและภาษาจีนโดยตรง

อุปสรรคน่าจะอยู่ที่ หนึ่งการที่ผู้บริหารองค์กรจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องสื่ออย่างถ่องแท้ มีวิสัยทัศน์ และ สอง การขาดแคลนในเรื่องบุคคลากรผู้มีความรู้ด้านภาษาจีน ความรู้เรื่องประเทศจีนในทุกๆ ด้าน รวมถึงความรู้เกี่ยวกับทวีปเอเชียด้วย แต่ผมก็เชื่อว่า ในอนาคตเมื่อจีนเปิดประตูกว้างขึ้น เศรษฐกิจจีนพัฒนามากขึ้น ความร่วมมือด้านสื่อสารมวลชนก็ย่อมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ก็แน่นอนว่า ต้องมีการส่งเสริมพัฒนาอย่างถูกทางด้วย

ขณะเดียวกันหากมองจากมุมของจีน รัฐบาลจีนเองนั้นมีสื่อขนาดใหญ่อยู่ในมือตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวซินหัว โทรทัศน์กลาง (CCTV) หรือ สถานีวิทยุนานาชาติ โดยองค์กรที่กล่าวมาเหล่านี้เขามีนักข่าวของเขาเองกระจายไปทุกภูมิภาคทั่วโลก อย่างเช่น สำนักข่าวซินหัวนั้นถ้าผมจำไม่ผิด ถือเป็นสำนักข่าวใหญ่เป็นอันดับสามของโลก และเขาก็มีนักข่าวของเขาอยู่ที่ประเทศไทย ทำข่าว รายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยโดยเฉพาะ เกาะติดสถานการณ์ในประเทศไทยโดยตรง CCTV และ สถานีวิทยุนานาชาติจีน (CRI) เองก็เช่นกันต่างก็มีทีมข่าวของตนเองประจำในประเทศไทยทั้งสิ้น

หันมาดูทางฝ่ายไทย แม้เราจะไม่ได้เป็นประเทศยักษ์ใหญ่ของโลก และแม้รัฐบาลไทยจะไม่ได้มีงบประมาณมหาศาลพอที่จะส่งนักข่าวไปได้ทุกประเทศ หรือทุกภูมิภาคทั่วโลก แต่เราก็ควรที่จะให้ความสำคัญกับด้านสื่อสารมวลชน อย่างน้อยๆ ก็น่าจะให้ความสนใจ และพยายามทำความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้านมากกว่านี้ เริ่มจากภูมิภาคอินโดจีน อาเซียน กระเถิบไป เอเชียตะวันออก และเอเชียในภาพรวม  เราควรจะมองเพื่อนบ้าน มองเอเชีย จากสายตาของคนเอเชียด้วยกัน มากกว่ามองเพื่อนบ้าน มองเอเชีย ผ่านสายตาสื่อตะวันตกดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

คุณมีความคิดเห็นอย่างไรต่อคนจีนและประเทศจีนในปัจจุบัน

ประเทศจีนเป็นประเทศมหาอำนาจ เป็นประเทศกำลังพัฒนา การเริ่มปฏิรูประบบเศรษฐกิจก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดบนพื้นฐานของประเทศสังคมนิยม โดยท่านเติ้งเสี่ยวผิงเมื่อปลายทศวรรษที่ 1970 ทำให้จีนมีวันนี้

ถึงปัจจุบันระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเอง นำความเจริญ และกระแสพัฒนามาเปลี่ยนแปลงจีนอย่างใหญ่หลวง อย่างไรก็ตาม ความเจริญนั้นก็มาพร้อมกับปัญหามากมาย สิ่งที่พิเศษก็คือ จีนเป็นประเทศใหญ่ เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก เมื่อจีนขยับตัวทุกประเทศในโลกต่างก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ผลกระทบนั้นก็มีทั้งดี มีทั้งเสีย อาจเกิดการแย่งทรัพยากร การกดดันทางการเมือง ปัญหาการเอาเปรียบทางการค้า ฯลฯ

เช่นเดียวกัน ชาวจีนเองในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน ก็มีทั้งดีมีทั้งเสีย มีทั้งคนดี มีทั้งคนเลว ปะปน เหมือนกับประเทศไทย และทุกประเทศทั่วโลก แต่ด้วยความที่ จีนกำลังอยู่ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผมคิดว่า สถานการณ์ และ ประสบการณ์ของจีนในปัจจุบันสามารถสะท้อน และเป็นบทเรียนที่ดีต่อประเทศไทยได้ในหลายๆ ด้าน

อย่างเช่น ประเทศจีนเองเป็นประเทศที่ปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ มีการผูกขาดอำนาจ ส่งผลให้มีการคอร์รัปชั่นกันอย่างรุนแรงมาก แต่ในทางกลับกันเขาก็มีกฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่รุนแรงมากด้วยเช่นกัน มีโทษประหารชีวิตสำหรับข้าราชการคอร์รัปชั่น มีการประณามกันอย่างรุนแรง ลงตามหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หากมีการจับได้และศาลตัดสินว่าข้าราชการผู้ใดมีการคอร์รัปชั่นจริง
ภาพเช่นนี้ วัฒนธรรมเช่นนี้ ผมอยากให้ประเทศไทยมีบ้าง เพราะเราต้องยอมรับว่า การคอร์รัปชั่นของนักการเมืองนั้นส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชน และเป็นอุปสรรคที่ฉุดดึงการพัฒนาของประเทศ

แต่ก็แน่นอนด้านไม่ดีของเขาเราก็ต้องเอามาเป็นบทเรียนด้วย อย่างเช่นที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน รัฐบาลจีนเองเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างที่เรียกได้ว่า 'ไม่ลืมหูลืมตา' (แม้หลังหูจิ่นเทาขึ้นมาจะมีการประกาศนโยบาย Soft Landing แล้วก็ตาม) สิ่งนี้สะท้อนออกมาสู่สังคมจีนทาง ทัศนคติของคนในสังคมที่เห็นแก่ตัว และสังคมกลายสภาพเป็นสังคมบริโภคนิยมมากขึ้นทุกวัน  ขณะเดียวกัน คนจีนเองก็ไม่นับถือศาสนา แม้โดยลึกๆ แล้วสังคมจีนจะผูกอยู่กับ ลัทธิขงจื๊อ เต๋า และศาสนาพุทธก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่แข็งแกร่งพอที่จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจหรือเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้

คนจีนในปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าขาดสิ่งที่เรียกว่า คุณธรรม เมตตาธรรม ไปมาก จนในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการรณรงค์ให้เอาคำสอนเรื่องคุณธรรมขงจื๊อกลับมาเผยแพร่อีกครั้ง ทั้งๆ ที่หลังจากการปฏิวัติล้มล้างระบอบศักดินา รวมไปถึงการปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อไม่กี่สิบปีก่อนยังปฏิเสธแนวคิดเหล่านี้อย่างรุนแรง

ความพยายามเพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจน ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันของจีน ผมเชื่อว่าจะไม่มีทางทำสำเร็จ หนึ่งในเหตุผลก็คือ ระบบกฎหมายของประเทศจีน นอกจากจะไม่เอื้อต่อสังคมที่เท่าเทียมกันแล้ว ยังขาดเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจดังที่ว่า และสิ่งที่ตามมาก็จะเป็นความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรง
การขาดเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ในสังคมที่มุ่งสู่สังคมแห่งบริโภคนิยมอย่างนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่อันตราย และน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ประเด็นนี้ผมก็เห็นว่าเป็นบทเรียนที่ดีให้แก่ประเทศไทยได้

ในฐานะคนรุ่นใหม่ คุณมองว่าประเทศจีนในอนาคตจะเป็นเช่นไร และเราคนไทยจะได้รับประโยชน์อะไรจากการเป็นมิตรกับจีน

ยอมรับตรงๆ ว่า ผมไม่กล้าทำนายอนาคตจีน และก็ไม่รู้ด้วยว่าจะทำนายว่าอย่างไรดี เพราะความรู้ตัวเองยังไม่มากเพียงพอ   สำหรับประเด็นความเป็นมิตรระหว่างสองประเทศ พูดอย่างตรงไปตรงมา ผมเชื่อ ในประโยคหนึ่งของ Lord Palmerston อดีตนายกรัฐมนตรี อังกฤษ ที่กล่าวว่า "Nations have no permanent friends or enemies, only permanent interests"  จีนเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกในปัจจุบัน และกำลังขยายอำนาจของตัวเองในทุกปริมณฑล การเป็นพันธมิตรกับจีน แน่นอนว่าย่อมเป็นเรื่องที่ 'ต้องกระทำ' ด้วยประการทั้งปวง

ผมคิดว่า อุปสรรคในการรักษาความสัมพันธ์กับจีน (รวมถึงประเทศอื่นๆ) ก็คือ จะสร้างความสมดุลของความสัมพันธ์อย่างไรให้ประเทศไทย และคนไทยได้รับผลประโยชน์มากที่สุด หรือ สูญเสียน้อยที่สุด อย่างเช่น ในอนาคตสมมติเล่นๆ ว่าเกิดเหตุการณ์การปะทะกันทางทหารระหว่าง จีน-สหรัฐฯ ประเทศไทยจะวางตัวอย่างไร ให้ประเทศไทยอยู่คงสถานะประเทศเพื่อนบ้านอันใกล้ชิดของจีน และมิตรอันดีของสหรัฐฯ พร้อมๆ กันได้   แต่ประเด็นนี้ย้อนมองจากประวัติศาสตร์ไทยแล้ว ก็ดูจะไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่นัก .
กำลังโหลดความคิดเห็น